สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

พระสมาธิองค์ราชัน รัชกาลที่ 9

พระสมาธิองค์ราชัน รัชกาลที่ 9

โดย : 

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

พร้ะบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9

"เคยเห็นพระองค์ประทับทรงดนตรี ตั้งแต่หัวค่ำจนสว่าง โดยทรงนั่งไม่ลุกเลย แม้แต่จะเพื่อเสด็จฯ ไปห้องสรงใน"


ถ้าใครมีโอกาสศึกษาพระบรมราโชวาท และพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ก็จะเข้าใจชัดเจนว่า คำสอนที่พระองค์ทรงพระราชทาน ล้วนเกิดจากการที่พระองค์ ทรงไตร่ตรองพิเคราะห์ถึงปัญหานั้นอย่างถ่องแท้ และเป็นหนทางแห่งการแก้ปัญหา ดับทุกข์ได้ด้วยปัญญา

ผู้ที่เคยเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในงานหรือพิธีที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชต้องประทับอยู่เป็นเวลานานๆ เช่น ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร เมื่อทรงนั่งลงแล้ว จะประทับอยู่ในพระอิริยาบถนั้นตั้งแต่เริ่มพิธีไปจนกระทั่งจบ ไม่ทรงเปลี่ยนพระอิริยาบถเลย 
ในการประกอบพระราชกรณียกิจอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงปฏิบัติด้วยพระอาการที่แสดงว่า เอาพระราชหฤทัยจดจ่ออยู่กับพระราชกรณียกิจนั้นๆ อย่างต่อเนื่อง ไม่ทรงเหนื่อยหรือเบื่อหน่าย

พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร เล่าไว้ในหนังสือประตูสู่ธรรม ว่า "เคยเห็นพระองค์ประทับทรงดนตรี ตั้งแต่หัวค่ำจนสว่าง โดยทรงนั่งไม่ลุกเลย แม้แต่จะเพื่อเสด็จฯ ไปห้องสรงใน ขณะที่นักดนตรีอื่นๆ ลงกราบแล้วถอยหลังลุกไปเข้าห้องน้ำกันเป็นครั้งคราวทุกคน 
ในการทรงเรือใบก็เช่นเดียวกัน ทรงจดจ่ออยู่กับการบังคับเรืออย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งจบ ครั้งหนึ่งเสด็จฯ ออกจากฝั่งไปได้ไม่นาน ก็ทรงแล่นเรือใบเข้าฝั่ง ตรัสกับผู้ที่คอยมาเฝ้าฯ อยู่ ด้วยความฉงนว่าเสด็จฯ กลับเข้าฝั่ง เพราะเรือใบพระที่นั่งแล่นไปโดนทุ่นเข้า ซึ่งในกติกาการแข่งเรือใบถือว่า ฟาวล์ ทั้ง ๆ ที่ไม่มีใครเห็น

แสดงว่าการทรงดนตรีก็ดี ทรงเรือใบก็ดี สำหรับพระองค์แล้วเป็นงานอีกชนิดหนึ่งที่ต้องทำด้วยความจดจ่อและต่อเนื่องไปจนกว่าจะเสร็จ.." 
นอกจากนี้พระราชกรณียกิจอื่นๆ ทั้งน้อยและใหญ่ ทรงปฏิบัติแบบเดียวกัน คือ ด้วยการเอาพระราชหฤทัยจดจ่อ ไม่ทรงยอมให้ขาดจังหวะจนกว่าจะเสร็จ และไม่ทรงทิ้งขว้างแบบทำๆ หยุดๆ เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าพระราชกรณียกิจทั้งหลายนั้น สำเร็จลุล่วงไปเป็นส่วนใหญ่ ก็เพราะพระสมาธิ

“ผมไม่ทราบว่า พระองค์ทรงริเริ่มฝึกสมาธิตั้งแต่เมื่อใด แต่สันนิษฐานว่า คงจะเริ่มในเดือนตุลาคม พ.ศ.2499 เมื่อทรงผนวชที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) หลังจากทรงพระผนวชแล้ว ประทับจำพรรษาอยู่ที่พระตำหนักปั้นหยา วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงอยู่ในสมณเพศเป็นเวลา 15 วัน ครั้งนั้นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์จารย์ และเป็นที่ทราบกันดีว่า แม้จะทรงมีเวลาน้อยแต่ก็ทรงศึกษาและปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด และคงจะได้ทรงฝึกเจริญพระกรรมฐานในโอกาสนั้นด้วย”

นอกจากนี้ พล.ต.อ.วสิษฐ ยังเล่าว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงศึกษาเรื่องสมาธิด้วยการรวบรวมและประมวลคำสอนของครูบาอาจารย์ทุกคน แล้วก็ทรงพระกรุณาพระราชทานประมวลคำสอนนั้นแก่ผู้ที่ทรงทราบว่า กำลังปฏิบัติสมาธิอยู่

“ครั้งหนึ่ง ทรงพระกรุณาพระราชทานแถบบันทึกเสียงของสมเด็จพระญาณสังวรฯ ให้ผม รับสั่งว่าเป็นบันทึกเสียงการแสดงธรรมเรื่อง ฉฉักกสูตร (คือพระสูตรว่าด้วยธรรมะ หมวด 6 รวม 6 ข้อ ซึ่งอธิบายความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ และความไม่มีตัวมีตนของสิ่งต่างๆ มีอายตนะภายนอก อายตนะภายใน วิญญาณ ผัสสะ เวทนา และตัณหา พระสูตรนี้ เหมาะสำหรับผู้ที่ศึกษาและปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน) และ ทรงแนะนำให้ผมฟังธรรมบทนั้น” 
ครั้งหนึ่ง หลังจากที่นั่งสมาธิแล้ว พล.ต.อ.วิสิษฐ ได้มีโอกาสเฝ้ากราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชว่า ขณะที่นั่งสมาธิครั้งนั้น รู้สึกว่าตัวเองลอยขึ้นจากพื้นสูงประมาณศอกหนึ่ง

“ทีแรกก็ยังไม่รู้สึกอะไร แต่ครั้นหัวเริ่มคล้อยลงไปข้างหน้า ทำท่าเหมือนจะตีลังกา ผมก็ตกใจและต้องเลิกทำสมาธิ” 
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชวิจารณ์ว่า “ถ้าหากสติยังอยู่ ยังรู้ตัวว่า กำลังเกิดอะไรขึ้น ก็ไม่ควรจะเลิก แต่ควรจะปล่อยให้เป็นไปตามสภาพนั้น”

นอกจากนี้ พระองค์เคยตรัสเล่าให้ พล.ต.อ. วสิษฐ ฟังว่า “ครั้งหนึ่งขณะที่กำลังทรงทำสมาธิอยู่ พระจิตสงบและเกิดนิมิต ในนิมิตนั้น ทรงทอดพระเนตรเห็นพระกร (แขนท่อนล่าง) ลอกออกทีละชั้นๆ ตั้งแต่จากพระตจะ (หนัง) ลงไปจนถึงพระอัฐิ (กระดูก) ”

ส่วนการปฏิบัติธรรมตามแนวทางพระพุทธเจ้า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ยังเสด็จพระราชดำเนิน เพื่อนมัสการและสนทนาธรรมพระกรรมฐานหลายรูป เคยไปนมัสการหลวงปู่แหวน สุจิณโณที่วัดดอยแม่ปั๋ง จังหวัดเชียงใหม่ หลายครั้งหลายครา

ในหนังสือ“ตามรอยพระอริยเจ้า หลวงปู่แหวน สุจิณโณ” บันทึกไว้ว่า “แต่ละครั้งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จมากราบหลวงปู่แหวนจะอยู่ตั้งแต่บ่ายสองโมงจนถึงหนึ่งทุ่มสองทุ่มเป็นประจำ และการเสด็จมาวัดดอยแม่ปั๋งแต่ละครั้ง ถือเป็นการเสด็จส่วนพระองค์” 
และมีครั้งหนึ่งทรงพระประชวร และเสด็จไปที่วัดดอยแม่ปั๋ง หลวงปู่แหวนได้ทูลถวายตอนหนึ่งว่า

“พระองค์นั้นมัวแต่ห่วงคนอื่น ไม่ห่วงพระองค์เองเลย” 
เมื่อได้ฟังเช่นนั้นแล้ว ล้นเกล้าทรงสรวล และมีอีกครั้งหนึ่ง สมัยที่ทรงพระประชวรที่เชียงใหม่ ข้าราชบริพารได้นำเฮลิคอปเตอร์มานิมนต์หลวงปู่แหวนให้ไปที่พระตำหนัก เพื่อแผ่พลังจิตช่วยรักษาอาการประชวรของพระองค์ หลวงปู่ท่านปฏิเสธการนิมนต์ และได้บอกว่า 
“อยู่ที่ไหนเฮาก็ส่งใจไปถึงพระองค์ได้ ก็ส่งไปทุกวันอยู่แล้ว” 

.........................

บทสนทนาธรรม

เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2522 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จมานมัสการหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ที่วัดบูรพาราม ได้ตรัสถามหลวงปู่ดูลย์ที่วัดบูรพาราม จ.สุรินทร์ว่า 
“หลวงปู่ การที่จะละกิเลสให้ได้นั้น ควรจะละกิเลสอะไรก่อน” 
หลวงปู่ถวายวิสัชนาว่า 
“กิเลสทั้งหมดเกิดรวมอยู่ที่จิต ให้เพ่งมองดูที่จิต อันไหนเกิดก่อน ให้ละอันนั้นก่อน”

................ 
จากบันทึกส่วนพระองค์ ในสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (สุวัฑฒนมหาเถระ) เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2505, หนังสือ “ธรรมหฤทัยในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”, บรรณาธิการโดย รศ.สุเชาว์ พลอยชุม

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช : พระเครื่องคุ้มกันได้จริงไหม? ... คุ้มกันได้เพราะใจเชื่อมั่นว่า มีพระเครื่องอยู่กับตัวหรืออย่างไร?

สมเด็จพระสังฆราช : เป็นเครื่องทำให้ใจเชื่อมั่น

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช : ถ้าใจเชื่อมั่นแล้ว ก็ไม่จำเป็นหรือ?

สมเด็จพระสังฆราช : ไม่จำเป็น ... แต่ก็มีเชื่อกันว่า พระเครื่องให้อยู่คงจริง คือ ผู้ที่มีอยู่จะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ตาม หรือมิได้คำนึงถึง แต่พระเครื่องก็คงคุ้มกันผู้ที่ไม่เชื่อก็มี

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช : ก็เชื่อ ... มีคนให้...รับมาไว้ เขาก็ยินดี ... แต่วันนี้ไม่ได้ติดมา


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : พระสมาธิองค์ราชัน รัชกาลที่ 9

view