จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
โดย โรม บุนนาค
การสร้างพระเมรุมาศในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ แต่แรกก็ดำเนินการแบบอย่างกรุงศรีอยุธยามาตลอด จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๖ จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นตามพระราชดำริในรัชกาลที่ ๕ ซึ่งก็เป็นแบบฉบับต่อมาจนถึงทุกวันนี้ โดยยกพระเมรุชั้นนอกที่สร้างสูงขึ้นไปหลายสิบเมตรนั้นออกเสีย สร้างแต่พระเมรุภายใน ซึ่งก็คือพระเมรุทองซึ่งเป็นที่ตั้งพระจิตกาธาน แท่นสำหรับถวายพระเพลิงพระบรมศพ หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่าเชิงตะกอน สำหรับประดิษฐานพระโกศพระบรมศพ ซึ่งทำให้พระเมรุมาศของกรุงรัตนโกสินทร์ในยุคหลังนี้มีขนาดเล็กลงมาก งานพระเมรุมาศพระบรมอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก พระเมรุมาศแรกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ก็คือ พระเมรุมาศพระบรมอัฐิพระปฐมบรมมหาชนกแห่งราชวงศ์จักรี ซึ่งขึ้นไปรับราชการอยู่เมืองพิษณุโลก และสวรรคตขณะบ้านเมืองกำลังเกิดจลาจล ต้องพลัดพรากจากกัน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และสมเด็จพระพี่นาง สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ก็หาได้ถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระชนกาธิบดีไม่ จนแผ่นดินว่างศึกในปี ๒๓๓๘ หลังจากตั้งกรุงรัตนโกสินทร์มาได้ ๑๓ ปี พระเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้สร้างเมรุมาศขนาดใหญ่ พร้อมเครื่องมหรสพสมโภช เหมือนอย่างพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดินครั้งกรุงศรีอยุธยา ครั้น ณ เดือน ๕ ปีมะโรง จุลศักราช ๑๑๕๘ (พ.ศ.๒๓๓๙) การพระเมรุมาศสร้างเสร็จแล้ว วันขึ้น ๑๓ ค่ำ โปรดให้แห่พระบรมสารีริกธาตุออกมาสู่พระเมรุ มีการมหรสพสมโภช ๓ วัน ๓ คืนแล้ว ครั้นวันแรม ๑ ค่ำ จึงแห่พระบรมอัฐิสมเด็จพระชนกาธิบดีสู่พระเมรุ กระบวนแห่พระบรมอัฐิครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จทรงพระราชยานโยงพระบรมอัฐิเอง สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ก็ทรงพระราชยานโปรยข้าวตอกนำมาในกระบวน และพระบรมวงศานุวงศ์ทรงรูปสัตว์สังเค็ตประคองผ้าไตรเข้าในกระบวนแห่หลายองค์ ส่วนในการมหรสพสมโภชพระบรมอัฐินั้น มีโขนชักรอกโรงใหญ่ ทั้งโขนจากวังหลวงและวังหน้า ประสมโรงเล่นกลางแปลงตอนทศกรรฐ์ยกทัพ โขนวังหลวงเป็นทัพพระราม ยกไปแต่ทางพระบรมมหาราชวัง โขนวังหน้าเป็นทัพทศกรรฐ์ ยกออกมาจากพระราชวังบวร มาแล่นรบกันในท้องสนามหลวงหน้าพลับพลา ลากปืนบาเรียมรางเกวียนออกมายิงกันสนั่น ครั้นถึงวันแรม ๔ ค่ำ เชิญพระบรมธาตุแห่กลับแล้ว เวลาบ่ายถวายพระเพลิงพระบรมอัฐินั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ช่วยกันทรงเชิญพระจิตกาธาน ซึ่งประดิษฐ์ฐานพระบรมอัฐิไว้ด้วยพระหัตถ์ จนถวายพระเพลิงเสร็จ รุ่งขึ้นโปรดให้แห่พระอังคารไปลอยตามพระราชประเพณี งานพระเมรุมาศกรมพระราชวังบวรสถานมงคลมหาสุรสิงหนาท (วังหน้า) ครั้น ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๑๒ แรม ๔ ค่ำ ปีกุน เบญจศก เวลา ๒ ยามเศษ กรมพระราชวังบวรสถานมงคลสวรรคตในพระที่นั่งบูรพาภิรมย์ พระชนม์พรรษา ๖๐ พรรษา ดำรงพระเกียรติยศมหาอุปราช ๒๑ ปี ๔ เดือน ๕ วัน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกพร้อมด้วยพระราชวงศานุวงศ์ และข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยฝ่ายวังหลวงที่ตามเสด็จเข้าไปสรงและทรงเครื่องพระศพ ต้องขัดดาบไปทุกพระองค์ เหตุที่ฝ่ายวังหลวงต้องติดอาวุธเข้าไปด้วย ก็เพราะตอนนั้นวังหลวงกับวังหน้ามีเหตุตึงเครียดกันอยู่ จากนั้นเชิญพระศพประดิษฐานในพระโกศไม้สิบสอง ซึ่งทรงพระราชดำริให้จัดเตรียมไว้เมื่อประชวรหนัก โปรดให้รื้อเอาทองคำที่หุ้มพระโกศกุดั่นใหญ่ กุดั่นน้อย ที่เคยทรงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอทั้ง ๒ มาหุ้มพระโกศกรมพระราชวังบวรสถานมงคล และพระโกศกุดั่นใหญ่กุดั่นน้อยนั้น โปรดให้ลงรักปิดทองประดับกระจกไว้สำหรับทรงศพเจ้านาย เชิญพระศพไว้ในพระที่นั่งศิวโมกข์พิมาน โปรดให้มีหมายประกาศให้โกนผมทั้งแผ่นดิน เว้นแต่คนผมยาว ผมเปีย ผมจุก ความตึงเครียดระหว่างวังหลวงกับวังหน้าในครั้งนั้น เนื่องจากทรงพระโทมนัสกรมพระราชวังบวรฯ ตรัสว่ารักลูกยิ่งกว่าแผ่นดิน ให้ลูกกำเริบจนคิดประทุษร้ายต่อแผ่นดิน จะไม่เผาผีกันเสียแล้ว แต่เสนาบดีข้าราชการหลายนายช่วยกันกราบทูลทัดทานว่า ซึ่งจะไม่ทำพระเมรุพระราชทานเพลิงนั้นไม่ควร ด้วยราษฎรและหัวเมืองเป็นอันมากที่ทราบก็มี ที่ไม่ทราบก็มี จะติเตียนไปต่างๆ จึงรับสั่งว่าขุนนางจะให้เผาก็จะเผา แต่ทำพระเมรุนั้นจะทำบูชาพระบรมธาตุ เมื่อสมโภชพระบรมธาตุแล้ว จึงจะเผากันความนินทา ครั้นมาถึง ณ เดือน ๗ ปีชวด ฉศก จุลศักราช ๑๑๖๖ (พ.ศ.๒๓๔๗) เมื่อถึงการพระเมรุ จึงเชิญพระบรมธาตุออกไปสมโภชเวียนเทียนแล้ว ได้เชิญพระบรมศพไปยังพระเมรุ มีการมหรสพสมโภช ๗ วัน ๗ คืนแล้ว จึงเสด็จพระราชทานเพลิง มีการสมโภชพระอัฐิอีกวัน ๑ กับคืน ๑ รวมเป็น ๘ วัน ๘ คืน แห่พระอัฐิกลับ งานพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ตั้งแต่ฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดารามแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกก็ทรงพระประชวรด้วยพระโรคชรา พระอาการทรุดลงโดยลำดับ ครั้นวันพฤหัสบดี เดือน ๙ แรม ๑๓ ค่ำ ปีมะเส็ง เอกศก จุลศักราช๑๑๗๑ (พ.ศ.๒๓๕๒) เวลา ๓ ยาม ๗ บาท ก็เสด็จสวรรคตในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระชนมายุ ๗๔ พรรษา ดำรงอยู่ในราชสมบัติได้ ๒๘ ปี สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชได้รับมอบสิริราชสมบัติ โปรดให้มีท้องตราเกณฑ์หัวเมืองเอก โท ตรี จัตวา ปักษ์ใต้ และฝ่ายเหนือทั้งปวง ให้จัดหาเสาและเครื่องสร้างพระเมรุมาศส่งเข้ามายังกรุงเทพมหานคร และสร้างเสร็จในต้นปี ๒๓๕๔ พระเมรุมาศครั้งนี้ สร้างตามแบบพระเมรุมาศพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครั้งกรุงเก่าเต็มตามตำรา ขนาดเสาใหญ่สูงเส้นหนึ่ง ขื่อยาว ๗ วา พระเมรุสูงตลอดยอดนั้น ๒ เส้น ภายในมีพระเมรุทองอีกชั้นหนึ่งสูง ๑๐ วา ตั้งพระเบญจาทองคำรับพระโกศ มีเมรุทิศทั้ง ๘ ทิศ มีสำส้าง หรือที่พระสงฆ์สวดพระอภิธรรมตามระหว่างเมรุทิศ ชั้นในมีราชวัติ หรือรั้วพิธี ปักฉัตรเงินฉัตรทองฉัตรนาคสลับกัน หลังสำส้างชั้นนอกมีโรงรูปสัตว์หิมพานต์รายรอบ มีราชวัติไม้จริงทรงเครื่องฉัตรเบญจรงค์ล้อมโรงรูปสัตว์อีกชั้นหนึ่ง ต่อออกมาตั้งเสาดอกไม้พุ่มรายรอบราชวัติอีกชั้นหนึ่ง แล้วมีระทาดอกไม้สูง ๑๒ วา ๑๖ ระทา เครื่องมหรสพสมโภชมีโรงรำระหว่างระทา ๑๕ โรง โรงโขนโรงละครโรงงิ้ว สิ่งละ ๒ โรง โขนโรงใหญ่ ๑ โรง มีต้นกัลปพฤกษ์ทั้ง ๘ ทิศ มีร้านหอกร้านดาบคาบบ่วงเพลิงอีกหลายอย่าง โรงมหรสพครั้งนั้นปลูกตั้งแต่ป้อมมณีปราการไปจนถึงสะพานคูเมืองเดิมข้างวังหน้า และตั้งโรงทานเลี้ยงอาหารคาวหวาน พระราชทานเป็นทานแก่ไพร่บ้านพลเมืองที่มาในงานพระบรมศพทั่วกัน ครั้นวันเสาร์ เดือน ๖ ขึ้น ๕ ค่ำ เชิญพระบรมสารีริกธาตุแต่ในพระบรมมหาราชวัง ตั้งกระบวนแห่ออกไปยังพระเมรุมาศ ประดิษฐานบนพระเบญจาทอง พระสงฆ์ราชาคณะ ฐานุกรมเปรียญ ฝ่ายคามวาสีอรัญวาสี ๘๐ รูป เจริญพระพุทธมนต์ มีหนัง จุดดอกไม้เพลิง เป็นการสมโภชพระบรมสารีริกธาตุวันกับคืน รุ่งเช้าพระสงฆ์รับพระราชทานฉัน และรับพระราชทานเครื่องไทยธรรม และมีงานสมโภช เวลาบ่ายทิ้งทาน เวลาค่ำจึงแห่พระบรมสารีริกธาตุกลับเข้าพระบรมมหาราชวัง รุ่งขึ้นวันขึ้น ๗ ค่ำ เชิญพระบรมศพจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ขึ้นพระยานมาศที่ทำขึ้นใหม่สำหรับพระบรมศพ เพราะพระยานมาศองค์เก่าครั้งกรุงศรีอยุธยาสูญเสียไปคราวเสียกรุง ปักพระมหาเศวตฉัตร ๙ ชั้นกั้นพระบรมโกศ แห่ออกประตูศรีสุนทรไปขึ้นพระมหาพิชัยราชรถที่ถนนสนามไชยหน้าวัดพระเชตุพน แห่เป็นกระบวนอย่างใหญ่ เมื่อถึงพระเมรุมาศแล้วเชิญพระบรมโกศลงจากพระมหาพิชัยราชรถ เข้าสู่พระเมรุมาศด้านบูรพาทิศ แห่เวียนโดยอุตตรวัตร ๓ รอบ แล้วเชิญพระบรมโกศขึ้นบนเกรินบันไดนาคที่กรมหลวงพิทักษ์มนตรีคิดขึ้นใหม่ แต่ก่อนใช้เป็นไม้ล้มลุก ไม่เหมือนกับเกรินบันไดนาค จึงเป็นแบบอย่างจนถึงทุกวันนี้ ขันฉ้อกว้านเกรินเลื่อนขึ้นไปจนสุดบันไดนาค จากนั้นเจ้าพนักงานกรมภูษามาลาเลื่อนพระบรมโกศไปประดิษฐานเหนือพระเบญจาทอง ภายใต้พระมหาเศวตฉัตรในพระเมรุทอง ตั้งเครื่องสูงและเครื่องราชูปโภคพร้อมตามราชอิสริยศแล้ว พระสงฆ์ราชาคณะ ฐานานุกรมสดับปกรณ์ และพระสงฆ์สวดอภิธรรมที่เมรุทิศทั้ง ๔ เป็นพระสงฆ์ประจำสวด ๖๔ รูป ถวายไตรจีวรเครื่องบริขารไทยธรรมแก่พระสงฆ์ราชาคณะฐานุกรมเปรียญ เจ้าอธิการพระสงฆ์อันดับในพระนครและหัวเมืองเป็นจำนวนพระสงฆ์หมื่นเศษ ครั้นเวลาเช้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินออกทรงปฏิบัติพระสงฆ์ พระสงฆ์ทำภัตตกิจเสร็จแล้วสดับปกรณ์ แล้วเสด็จไปประทับทรงสดับพระธรรมเทศนา ณ พระที่นั่งทรงธรรม ครั้นเวลาเย็นเสด็จพระราชดำเนินเข้าไปในพระเมรุ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลแล้วเสด็จออกพลับพลาสนามมวย มีพระราชดำรัสให้ทิ้งทานทั้ง ๘ ทิศ แล้วทรงโปรดโปรยผลกัลปพฤกษ์แหวนฉลาก นาค ทอง เงิน และพระราชทานเงินตราผ้าเสื้อแก่คนสูงอายุ ๗๐ ปีขึ้นไปทุกคนทั่วกัน ที่สนามหน้าพลับพลานั้นมีการเล่นต่างๆ ครั้นเวลาค่ำมีหนังรอบพระเมรุ ๑๒ โรง จุดดอกพุ่ม ระทาใหญ่ กับดอกไม้เพลิงต่างๆ เมื่อจุดระทาใหญ่เสร็จแล้วจึงได้จุดลาบผ้ามีเพลิงแก้วเป็นที่สุดแล้ว จุดดอกไม้พุ่มรอบพระเมรุอีกคราวหนึ่งตามประเพณีการพระศพ ครั้นจุดดอกไม้เพลิงเสร็จแล้ว จึงเสด็จพระราชดำเนินกลับพระราชวัง
ครั้นเดือน ๖ ขึ้น ๑๓ ค่ำ งานพระบรมศพครบ ๗ วัน ๗ คืนแล้ว เวลาบ่ายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระราชวงศ์ฝ่ายหน้าฝ่ายใน เสนาบดีท้าวพระยาประเทศราช ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ผู้น้อย พร้อมกันถวายพระเพลิงพระบรมศพเสร็จ รุ่งขึ้นเชิญพระบรมอัฐิประดิษฐานในพระโกศลงยาราชาวดี แล้วเชิญพระอังคารขึ้นสู่พระยานุมาศ ตั้งกระบวนแห่ทางประตูพระเมรุด้านตะวันตก ออกประตูท่าพระ ทรงเรือพระที่นั่งกิ่ง กระบวนแห่เรือดั้ง เรือข้าราชการเป็นอันมาก ไปลอยพระอังคารที่หน้าวัดปทุมคงคา ส่วนพระบรมอัฐินั้นประดิษฐานไว้ที่พระเมรุ มีงานสมโภชพระบรมอัฐิอีก ๓ วัน ๓ คืน ครั้นเดือน ๖ แรม ๒ ค่ำ จึงเชิญพระบรมอัฐิขึ้นพระราเชนทรยาน ตั้งกระบวนแห่แต่ประตูพระเมรุด้านตะวันออก เข้าสู่พระบรมมหาราชวัง ประดิษฐานไว้บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท มีการสมโภชทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอีก ๔ วัน ๔ คืน รวมเป็น ๗ คืนแล้วจึงเชิญพระบรมอัฐิประดิษฐานไว้ในหอพระธาตุมณเฑียร งานพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงประชวร มีอาการมึนและเมื่อยพระองค์ เสวยพระโอสถหลายขนานพระอาการก็ไม่คลาย กลับเซื่องซึมลงไป สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชจึงสังให้สังฆการีอาราธนาสมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระวันรัต พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นอนุชิตชิโนรส และพระสงฆ์ราชาคณะฝ่ายคามวาสีอรัญวาสี ผลัดเปลี่ยนเข้าไปจำเริญพระปริตรในพระเฉลียงพระที่นั่งครั้งละ ๑๐ รูป ทั้งกลางวันกลางคืน ให้กรมพระราชวังเบิกพระราชทรัพย์ในพระคลังมหาสมบัติจัดซื้อสุกร ไก่ ปลา ปล่อยวันละชั่ง ให้เป็นพระราชกุศล ทรงประชวรอยู่เพียง ๘ วัน ถึงวันพุธที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๓๖๗ ก็เสด็จสวรรคตเมื่อเวลาย่ำค่ำเศษ ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานองค์ตะวันออก ในพระบรมมหาราชวัง สิริรวมพระชนมายุ ๕๗ พรรษา ๕ เดือน ๖ วัน สถิตในราชสมบัติ ๑๔ ปี ๑๐ เดือน ๑๕ วัน จดหมายเหตุรัชกาลที่ ๓ กล่าวไว้ว่า “ครั้นเวลาเช้า ๓ โมง สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเสด็จเข้าไป ณ พระที่นั่งมหามณเฑียร พร้อมด้วยพระบรมขัติวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้าฝ่ายใน ขณะนั้นพนักงานดุริยางค์แตรสังข์สิ่งประโคมทั้งปวงก็ประโคมขึ้นพร้อมกัน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้า พระบรมขัตติยวงศานุวงศ์ กราบถวายพระบรมศพ จึงเชิญพระบรมศพสรงพระอุทกธารสุคนธวิมลราชกิจ เป็นสุทธราชสารเสร็จแล้ว ถวายพระภูษาลายพระกระบวนพื้นขาวเขียนทอง ทรงนุ่งไว้พกเบื้องพระพักตร์ชั้นหนึ่ง ถวายพระภูษาลายพระกระบวนพื้นขาวเขียนทอง มีกรวยเชิง ทรงนุ่งไว้พกเบื้องพระปฤษฎางค์ชั้นสอง ถวายสนับเพลาเจียรบาดพื้นทอง ดอกเงิน ติดเชิงงอนตาดทอง แล้วทรงพระภูษาลายพระกระบวนพื้นขาวเขียนทอง มีกรวยเชิง ไว้พกเบื้องพระพักตร์อีกองค์หนึ่ง ทรงรัดพระองค์มั่น ประดับเพ็ชรสายสร้อยอ่อน แล้วทรงสะพักเฉียงตาดทอง แล้วทรงฉลองพระองค์ทรงประพาสตาดทอง มีสังเวียนหยักต้นพระศอ ปลายพระกรทำด้วยทองคำ ทรงฉลองพระองค์ครุยกรองทองพื้นขาว ทรงพระองค์ประดับเพ็ชรสายทอง มีประจำยาม และทรงพระมหาสังวาลประจำทิศประดับเพ็ชรองค์หนึ่ง ทรงพระสังวาลประดับเพ็ชรเฉวียงซ้ายพระองค์หนึ่ง พระเฟื่องประดับเพ็ชรหนึ่ง ทรงทองปรายพระกรประดับเพ็ชรซ้าย ๑ ขวา ๑ ทรงพระธำมรงค์เพ็ชรทั้งสี่นิ้วพระหัตถ์ พระหัตถ์ซ้ายทรงพระธำมรงค์ทับทิม มรกต ไพฑูรย์ บุษย์น้ำทอง รวม ๔ องค์ แล้วทรงพระกรองเชิงประดับเพ็ชรซ้าย ๑ ขวา ๑ ทรงฉลองพระบาทถมยาราชาวดี ซ้าย ๑ ขวา ๑ แล้วทรงพระหัตถ์โยลีตาดทอง (โยลีตาดทอง เป็นชื่อผ้าตาดชนิดหนึ่ง ใช้ทำถุงสรวมพระหัตถ์และพระบาท) ซ้าย ๑ ขวา ๑ ทรงพระบาทโยลีตาดทอง ซ้าย ๑ ขวา ๑ พระธำมรงค์เพ็ชรนราศูรใส่พระโอษฐ์องค์หนึ่ง ทรงพระสุพรรณแผ่นจำหลัก ปริมณฑลฉลองพระพักตร์ ทรงพระมาลาสุกรำตาดทองมีระบายสองชั้น ครั้นทรงเครื่องพระมหาสุกรำเสร็จแล้ว หลวงพิพิธภูษาถวายบังคมแล้ว เชิญพระปทุมบัตนิการ ทำด้วยเงินกาไหล่ทอง วางลงบนพื้นรองพระบาทยุคล มีก้านพระปทุมปัตนิการขึ้นมารองรับพระหนุ แล้วถวายพันธิการด้วยพระกัปปาสิกะสูตรเป็นบ่วงขันธ์ห้า แต่พระบาทเป็นปฐมขึ้นไปตามลำดับ แล้วถวายซองพระศรีทองคำถมยาราชาวดีใส่เครื่องสักการะพระจุฬามณี แล้วเชิญพระกัปปาสิกะเศวตพัสตร์ยาวหกศอก ปูซ้อนเป็นหกแสก แล้วเชิญพระบรมศพเสด็จทรงนั่งเหนือพระกัปปาสิกะเศวตพัสตร์หกชายหุ้มเป็นปริมณฑล รวบชายประชุมเป็นหนึ่งเหนือพระอุตมางลักขณา แล้วพันธิการด้วยพระกัปปาสิกะเศวตสูตรเป็นขันธบาศ แต่อโธภาคลำดับมั่นทุกชั้น ตลอดถึงที่ประชุมชายพระกัปปาสิกะพัสตร์ แล้วเหลือเศษพระกัปปาสิกะเศวตสูตรไว้พอผูกโยงสดับปกรณ์ แล้วเชิญพระเศวตกัปปาสิกะพัสตร์พับขนกกว้างคืบหนึ่ง โดยยาวตลอดตราเป็นมหาพันธิการแต่พระบาทตลา เหลื่อมกลีบมั่นขึ้นไปทุกชั้นถึงที่พระกัณฐา เหน็บตราไว้เป็นมหันตพันธนาวสาน เสร็จราชการพาหิรโกศแล้ว สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้า และพระบรมวงศานุวงส์ ชาวพระมาลาคณการ พากันกราบถวายบังคมพระบรมศพแล้ว เชิญเสด็จเข้าประดิษฐานลองในพระสุพรรณโกศ หนุนพระปฤษฎางค์ข้างซ้ายขวาหน้าพระบรมศพด้วยพระเขนยนวมกันเอียง สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าทรงถวายพระมหากฐิน เป็นอาภรณ์พิไสยราชปฎิการ ตามบุราณราชประเพณีพระมหากษัตราธิราชเจ้าแต่ก่อนสืบมา แล้วสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้า จึงมีรับสั่งให้ชาวที่เชิญพระเสลี่ยงแว่นฟ้าเข้าไปในระที่นั่งมณเฑียร จึงเชิญพระสุพรรณโกศกุดั่นประดับพลอยขึ้นตั้งเหนือพระเสลี่ยงแว่นฟ้า เชิญออกมาถึงเชิงอัฑฒจันทร์พระมหามณเฑียร เจ้ากรมพระตำรวจทั้งแปดกรมแต่งตัวนุ่งสมปักลาย ใส่เสื้อครุยขาวขัดกระบี่ แห่พระบรมโกศออกมาถึงประตูศาลายามค่ำ จึงเชิญพระบรมโกศขึ้นประดิษฐานเหนือพระมหายานุมาศสามคาน กระบวนแห่มหาดเล็กแต่งตัวเป็นเทวดานุ่งสมปักลาย ใส่เสื้อครุยขาว ใส่ลอมพอกมีเกี้ยวแห่หน้า ๑๐๐ หลัง ๕๐ ชาวอภิรมย์ใส่กางเกงมัศรู คาดเจียรบาดเชิญเครื่องสูง หน้าเจ็ดชั้น ๔ หลังห้าชั้น ๑๒ ชุมสาย ๑๐ บังแทรก ๑๐ บังสูรย์ ๑ กลองฉณะนุ่งกางเกงปัศตูแดง ใส่เสื้อ หมวกปัศตูแดง หน้าจ่าปี่ ๒ จ่ากลอง ๒ หลังกลองฉณะ ๖๐ ชาวแตรนุ่งกางเกงปัศตูแดง ใส่เสื้อ หมวกปัศตูแดง หน้าแตรงอน ๑๒ แตรฝรั่ง ๖ หลังสังข์ ๔ มหาดเล็กเชิญพระแสงหว่างเครื่องหน้า ๑๒ หลัง ๑ มหาดเล็กแต่งตัวเป็นอินทร์พรหม ถือจามร ๑๖ ชาวพระมาลาภูษา นุ่งสมปักลาย ใส่เสื้อครุย เชิญพระกรดปักทองเลื่อม ๑ ชาวพระราชยานหามพระพระยาภานุมาศ นุ่งกางเกงมัศรูริ้ว คาดผ้าลาย ๔๐ ข้าทูลละอองเคียงพระยานุมาศ นุ่งสมปักลายใส่เสื้อครุย คู่ที่ ๑ เจ้าพระยาอภัยภูธร ๑ เจ้าพระยาอัครมหาเสนา ๑ คู่ที่ ๒ เจ้าพระยาพลเทพ ๑ เจ้าพระยายมราช ๑ คู่ที่ ๓ เจ้าพระยาธรรมา ๑ เจ้าพระยาพระคลัง ๑ คู่ที่ ๔ พระยาอุไทยธรรม ๑ พระยามหาอำมาตย์ ๑ คู่ที่ ๕ พระยาท้ายน้ำ ๑ พระยามหาโยธา ๑ มหาดเล็กนุ่งผ้าขาว คาดครุยขาว เชิญพระเครื่องราชูปโภค ๒๐ คน ชาวที่หามพระเสลี่ยงแว่นฟ้า ๔ คน ศิริคู่แห่หน้าหลัง ๓๗๕ คน ตั้งกระบวนแห่พระบรมโกศแต่ประตูศาลายามค่ำ ไปตามถนนหน้าพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เลี้ยวไปตามถนนหน้าทิมดาบตำรวจ ถึงศาลาหน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท หยุดพระมหายานุมาศลงไว้ ชาวที่เชิญพระเสลี่ยงแว่นฟ้าเข้าไปรับพระบรมโกศ เชิญเสด็จขึ้นสู่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทมุขฝ่ายปราจีนทิศ แล้วเชิญพระบรมโกศขึ้นประดิษฐานเหนือพระแท่นแว่นฟ้า ๓ ชั้น ที่พนักงานสี่ตำรวจแต่งไว้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าเสด็จตามเสด็จพระบรมศพขึ้นไปทอดพระเนตรเจ้าพนักงานจัดแจงประดับพระโกศ และตั้งเครื่องราชูปโภคทั้งปวง ให้พนักงานทหารช่างในเจาะพื้นพระมหาปราสาท สนมพลเรือนเอาใบบัวดีบุกรองใต้พื้นพระบรมโกศ เอาไม้ไผ่ทะลวงข้อทำท่อหยั่งลงไปใต้พื้นพระมหาปราสาท ถึงพระถ้ำที่รองพระบุพโพ (น้ำเหลือง) ครั้น ณ วัน ค่ำ เพลาเช้า ๔ โมงเศษ สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว เสด็จออก ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พร้อมด้วยเจ้าพระยา พระยา พระ หลวง ขุน หมื่น ข้าทูลละอองฯ บังคมโดยขนาด จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสส่งเจ้าพระยาอภัยภูธร เจ้าพระยาอรรคมหาเสนา มีตราพระราชสีห์ คชสีห์ ออกไปบอกแก่หัวเมืองเอก โท ตรี จัตวา ปักษ์ใต้ฝ่ายเหนือ กำหนดจะตั้งการพระเมรุถวายพระเพลิงสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงในพระบรมโกศ ให้หัวเมืองตัดเสาพระเมรุใหญ่ ไม้กระยาเลย ไม้ไผ่ สำหรับจะใช้ในการพระเมรุ” (โปรดอ่าน งานพระเมรุมาศสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ต่อในตอนที่ ๒)
|
|
|
ระทาดอกไม้ไฟและโรงรำระหว่างระทา |
|
|
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน