สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คาดเข็มขัดพร้อมรับ ทรัมป์ ความท้าทายของเอเชีย

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ มายาการเงิน โดย สันติธาร เสถียรไทย santitarn.sathirathai@gmail.com

สัปดาห์ที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเสร็จสิ้นลง มีสามเหตุการณ์ที่สร้างความฉงนให้กับวงการการเงินอย่างมาก

หนึ่ง-คืออย่างที่ทราบกัน ว่า โดนัลด์ ทรัมป์ โพลและบทวิเคราะห์ส่วนใหญ่บอกว่าไม่น่าจะชนะ กลับพลิกล็อกถล่มทลายกลายเป็นประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐอเมริกา

สอง-คือการที่ทรัมป์คนเดียวกันนั้นให้คำกล่าวรับชัยชนะการเลือกตั้งได้ดีผิดคาด เหมือนเป็นคนละคนกับที่ทุกคนเคยเห็นมา และสาม-คือตลาดการเงินทั่วโลกพลิกจากการเทขายติด "ตัวแดง" เพราะตื่นตกใจ หลังเลือกตั้ง พลิกกลับมาเป็น "ตัวเขียว" ภายในวันเดียว ก่อนที่จะพลิกกลับมาเป็นสีแดงอีกในวันต่อมา แต่ก็เฉพาะในเศรษฐกิจ ตลาดเกิดใหม่ เท่านั้น ขณะที่ตลาดหุ้นอเมริกายังเป็นบวกและดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ราวกับว่านักลงทุนเปลี่ยนใจไปเปลี่ยนใจมา ตัดสินใจไม่ได้ว่าทรัมป์จะมาในรูปไหนกันแน่

มองผ่านช่วง "ฝุ่นตลบ"
สู่ความเสี่ยงที่แท้จริง


จากประสบการณ์ที่เห็นวัฏจักรตลาดเงินหลังเหตุการณ์พลิกล็อกสำคัญๆ มาหลายรอบ ผมมองว่าเราต้องระวังอย่างมากในการอ่านสัญญาณตลาดเงินในช่วง "ฝุ่นตลบ" เพราะในระยะนี้ตลาดจะมีความผันผวนสูงมาก ราคาสินทรัพย์ต่าง ๆ จะขยับโดยไม่เกี่ยวกับพื้นฐานความเป็นจริง แต่จะถูกขับเคลื่อนด้วยสองปัจจัย

ข้อแรกคือ Positioning ว่า นักลงทุนต่าง ๆ ที่เข้าไปซื้อตลาดนั้นมีมากน้อยแค่ไหนในช่วงที่ผ่านมา ยกตัวอย่าง ค่าเงินรูเปียห์ของอินโดนีเซีย เนื่องจากทั้งตลาดหุ้นและพันธบัตรอินโดนีเซียมาแรงมากในปีนี้ จึงมีเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามามาก เสมือนมีนักลงทุนต่างชาติ "นั่ง" กันอยู่เต็ม "โรงหนัง" ซึ่งในยามปกติถือเป็นเรื่องที่ดี แต่พอมีสัญญาณเตือนไฟไหม้เกิดขึ้น คนพวกนี้ก็รีบวิ่งออกพร้อมกัน โดยบางครั้งยังไม่ทันดูว่าสัญญาณไฟจริงหรือไม่ โรงหนังมีระบบป้องกันดีแค่ไหน จาก "ที่รัก" ก็กลายเป็น "ที่ชัง" ไปทันใด

อีกปัจจัยก็คือ สภาพคล่อง (Liquidity) ซึ่งเปรียบเสมือนขนาดของประตูทางออกจากโรงหนัง หากมีประตูขนาดใหญ่หลาย ๆ บาน มีคนในโรงหนังมาก ก็ไม่มีปัญหารุนแรง แต่หากประตูเล็กแบบในกรณีตลาดอัตราแลกเปลี่ยนของอินโดนีเซีย ก็จะเกิดการเบียดเสียดเหยียบกันจนล้มเจ็บได้ ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนขยับรุนแรงกว่าที่ควร จนธนาคารกลางต้องเข้ามาช่วย "เปิด" ทางออกใหม่ให้

หากมองผ่านช่วงฝุ่นตลบนี้ไป ซึ่งอาจแค่ไม่กี่วันหรืออาจเป็นหลายสัปดาห์ก็ได้ เราสามารถแบ่งความเสี่ยงทางเศรษฐกิจการเงินโลกที่เกิดจากการเปลี่ยนประธานาธิบดีสหรัฐเป็นสองระยะ ระยะแรก คือ ความเสี่ยงจาก "ความไม่รู้" ว่า ประธานาธิบดีทรัมป์จะทำอะไร โดยเฉพาะในช่วง 100 วันแรกของเขา และระยะที่สอง คือ ความเสี่ยงจากนโยบาย

ประธานาธิบดีทรัมป์
ทำอะไรได้บ้าง


สิ่งแรกที่เราต้องถามคือทรัมป์สามารถทำอะไรได้บ้าง หลังเข้าทำเนียบขาวในเดือนมกราคม คำตอบมีมากกว่าที่หลายคนเข้าใจ ประการแรก คือ การเลือกตั้งคราวนี้ไม่ใช่ชัยชนะของทรัมป์เท่านั้น แต่เป็นการกลับมาคุมอำนาจอย่างสมบูรณ์ของ พรรครีพับลิกัน ที่ในยุคนี้สามารถคุมได้ทั้งสภาล่าง วุฒิสภา ตำแหน่งประธานาธิบดี และมีอำนาจในการแต่งตั้งผู้พิพากษาหลายตำแหน่งอีกด้วย ดังนั้น นโยบายอะไรก็ตามของทรัมป์ที่ไม่ได้ขัดกับนโยบายพรรคอย่างรุนแรง สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น

ประการที่สอง กฎหมายของอเมริกาในปัจจุบันมีการมอบอำนาจและความยืดหยุ่นให้กับประธานาธิบดีและฝ่ายบริหารค่อนข้างมาก ในเรื่องของนโยบายที่เกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ เพราะฉะนั้น ทรัมป์จึงมีช่องทางอยู่มากในการที่จะผลักดันนโยบายกีดกันทางการค้าต่าง ๆ รวมไปถึง "ภาษีศุลกากร" มาเป็นเครื่องมือกีดกันทางการค้า ดังที่เขาเคยพูดว่าจะใช้มาตรการนี้กับ "จีน" และ "เม็กซิโก" หรือการถอนตัวจาก FTA ที่มีอยู่ เช่น NAFTA

ส่วนในเอเชีย อเมริกามี FTA อยู่กับเกาหลีใต้และสิงคโปร์ โดยหากอเมริกาต้องการจะหลีกเลี่ยงการขัดกับ WTO โดยตรง ก็อาจใช้นโยบายกีดกันที่ไม่ใช่ภาษี เช่น Antidumping หรือ Countervailing Duties โดยอ้างว่าจีนทำการค้าแบบไม่แฟร์

แล้วจะทำจริง
หรือไม่ ? แค่ไหน ?


แน่นอนคำถามคือ ทรัมป์จะทำทั้งหมดนี้หรือไม่ ? ถ้าทำจะทำแค่ไหน ? หรือพอเป็นประธานาธิบดีแล้ว เขาจะถอยไม่ทำตามที่เคยพูด หากดูจากคำกล่าวของทรัมป์หลังรู้ผลเลือกตั้ง เราอาจสบายใจขึ้นว่าเขาอาจไม่ใช่คนที่สุดโต่งขนาดที่คนเคยเข้าใจ แต่ในขณะเดียวกันหากดูสถิติในอดีตว่าประธานาธิบดีสหรัฐ มักจะทำตามสัญญาที่ให้ไว้ตอนหาเสียงถึง 70% หลายคนคงหวั่น ๆ รวมทั้งเราต้องไม่ลืมว่า ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งครั้งนี้มาได้อย่างไร เขาชนะได้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีคนไม่น้อยในสหรัฐที่เชื่อจริง ๆ ว่าการค้าโลกทำให้พวกเขาตกระกำลำบาก คนกลุ่มนี้มองจีนและเม็กซิโกเป็นเสมือนผู้ร้ายที่แย่งงานไป ขนาด ฮิลลารี คลินตัน ยังถอยจาก TPP ที่ตัวเองเคยสนับสนุนเมื่อเจอกระแสนี้ 

แล้วทรัมป์จะแค่ถอยจาก TPP หรือจะทำมากกว่านั้น

คำตอบคือเรายังไม่รู้ และความไม่แน่นอนนี้เองอาจมีผลกระทบต่อการลงทุนและการค้าระหว่างประเทศที่อ่อนแออยู่แล้ว ลองสมมติว่าเราเป็นบริษัทเกาหลี จะลงทุนเปิดโรงงานชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ใหม่ ตั้งใจว่าจะไปลงทุนในจีน แต่ถ้าจีนเสี่ยงโดนกีดกันการค้าจากอเมริกา เราอาจเปลี่ยนไปลงทุนที่เวียดนามดีกว่าไหม ? หรือเวียดนามจะโดนหางเลขไปด้วย ? หรือทรัมป์อาจไม่ทำอะไรเลยก็ได้

สรุป คือรอดูนโยบายอเมริกาอีกหน่อยดีกว่า ชะลอลงทุนนำเข้าอุปกรณ์ต่าง ๆ ไปก่อน เพราะฉะนั้นในระยะแห่งความไม่แน่นอนนี้ เศรษฐกิจใดที่พึ่งพาการส่งออกมาก ๆ อย่างเช่นในกรณีของสิงคโปร์ ฮ่องกง มาเลเซีย เวียดนาม ก็จะถูกกระทบพอสมควร ขณะที่เศรษฐกิจไทยก็อ่อนไหวบ้าง แต่ไม่เท่ากับกลุ่มนี้

ความเสี่ยงที่เกิดขึ้น
ผลกระทบของนโยบาย


เมื่อทรัมป์เข้ารับตำแหน่งตั้งรัฐบาลพร้อมแสดงเจตนารมณ์ทางนโยบายชัดเจนขึ้นในช่วงต้นปีหน้า (2560) ความไม่แน่นอนของนโยบายสหรัฐน่าจะลดน้อยลง แต่เราต้องเตรียมรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากนโยบายเหล่านี้ ซึ่งน่าจะเป็นช่วงหลังของปี 2560 เป็นต้นไป โดยสำหรับเศรษฐกิจเอเชียแล้วมีนโยบาย 2 ข้อ ที่ต้องจับตาดูให้ดี

ข้อที่หนึ่ง
 คือเรื่องนโยบายการกีดกันการค้าระหว่างประเทศที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น โดยคาดว่าประเทศที่เสี่ยงที่สุด คือ จีน กับ เกาหลีใต้ เพราะนอกจากจะเป็นเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญของอเมริกา มีการค้าเกิน 5.5 หมื่นล้านดอลลาร์แล้ว ยังมีการค้าเกินดุลกับสหรัฐมากเกิน 4 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในเกณฑ์ที่อเมริกาใช้ในการดูว่าประเทศไหนจัดการอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อให้ได้เปรียบทางการค้ากับตน (Trade Facilitation and Trade Enforcement Act 2015) จึงอาจทำให้ตกเป็นเป้าหมายได้ง่าย

ทั้งนี้ ประเทศไทยยังไม่น่าจะอยู่ในกลุ่มเสี่ยงมากนักในประเด็นนี้ เพราะขนาดการค้ากับสหรัฐยังถือว่าน้อยในมุมมองของอเมริกา แต่สิ่งที่ต้องคอยจับตาดูก็คือผลกระทบทางอ้อม เพราะเราไม่รู้ว่าถ้าอเมริกาใช้มาตรการกีดกันทางการค้าเหล่านี้จริง ประเทศคู่กรณีโดยเฉพาะจีนจะตอบโต้กลับอย่างไร และจะมีผลอะไรกับภูมิภาคนี้

ข้อที่สอง คือประเด็นดอกเบี้ยอเมริกาว่าจะปรับเพิ่มเร็วขึ้นหรือไม่ ภายใต้นโยบายของทรัมป์ที่ต้องการจะกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายการคลัง ทั้งการลดภาษีและเพิ่มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่มีการคาดการณ์ว่า จะทำให้สหรัฐขาดดุลการคลังมากขึ้นจนอาจเพิ่มหนี้สาธารณะไปกว่า 5 ล้านล้านเหรียญภายใน 10 ปี ทั้งยังมีนโยบายที่จะผ่อนคลายกฎเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและ Global Warming ให้มีการลงทุนทางด้านพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลมากขึ้น ซึ่งในระยะสั้น อาจทำให้ทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น และ ทำให้เฟดต้องขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้นกว่าที่เคยคาดกันไว้

นี่คือประเด็นสำคัญที่นักลงทุนทั่วโลกกังวลหลังผลการเลือกตั้งออกมาจนทำให้อัตราแลกเปลี่ยนของเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ เช่น อินโดนีเซียรูเปียห์ มาเลเซียริงกิต และเงินวอนเกาหลีใต้ ล้วนหัวทิ่มกันอย่างไม่ทันตั้งตัว เพราะหากธนาคารกลางของอเมริกา หรือเฟด ปรับเพิ่มดอกเบี้ยเร็วขึ้นจริง จะทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งและส่งผลลบกับอัตราแลกเปลี่ยนของเศรษฐกิจในเอเชียทุกแห่ง รวมทั้งเงินบาทอ่อนตัวลง แม้ค่าเงินเราจะมีภูมิคุ้มกันดีกว่าเพื่อนบ้านก็ตาม

แต่เราคงต้องมาดูกันอีกทีว่า นักลงทุนนั้นใจร้อนด่วนสรุปเกินไปหรือไม่ เพราะในความเป็นจริง หนทางจากปัจจุบันไปถึงจุดที่รัฐบาลของทรัมป์จะจัดแผนลดภาษี จัดทำโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่จะลงทุนชงเข้าสภา จนลงมือทำให้เห็นผลต่อเศรษฐกิจจริง อาจต้องใช้เวลาพอสมควร โดยเฉพาะเรื่องการลงทุน เนื่องจากเกินกว่าครึ่งของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจะเป็นเรื่องของรัฐบาลระดับมลรัฐที่ต้องเป็นผู้นำไปปฏิบัติจริงทั้งภาคเอกชนเองก็ยังคงต้องใช้เวลา กว่าจะมีความมั่นใจที่จะลงทุนตาม เพราะฉะนั้น เฟดอาจยังไม่เร่งการขึ้นดอกเบี้ยในปีหน้า ไปมากอย่างที่หลายคนหวาดกลัวกัน

สรุป สิ่งที่เรารู้ตอนนี้คือเรากำลังเข้าสู่ดินแดนแห่งความ "ไม่รู้" อย่างแท้จริง เพราะประธานาธิบดีทรัมป์มีอำนาจที่จะทำในหลายอย่างที่เขาเคยกล่าวไว้ตอนหาเสียง แต่จะทำหรือไม่ แค่ไหน เป็นเรื่องที่ยังไม่มีใครแน่ใจ และนักลงทุนทั่วโลกก็ยังดูจะเปลี่ยนใจกลับไปกลับมาอยู่

ตอนนี้สิ่งที่เราทำได้ก็คือ "รัดเข็มขัด" เตรียมพร้อมกับ "กัปตัน" คนใหม่ของอเมริกา ที่อาจทำให้เศรษฐกิจโลกในสี่ปีข้างหน้าโลดโผน มีสีสัน และท้าทายไม่เบา


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : คาดเข็มขัดพร้อมรับ ทรัมป์ ความท้าทายของเอเชีย

view