จากประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ ช่วยกันคิด โดย รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร ratthapong 2498@hotmail.com
การท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่มีบทบาทต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รัฐบาลของแต่ละประเทศจึงให้ความสำคัญในการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดท่องเที่ยวโลกให้เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศของตนเพิ่มขึ้น
ภารกิจการท่องเที่ยวจึงเป็นภารกิจที่ถูกผสมผสานไปกับการพัฒนาประเทศในทุกมิติดังนั้น การกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศต่าง ๆ จึงมีการบูรณาการงานด้านการท่องเที่ยวเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งหากประเทศใดมีแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศที่ชัดเจนบนพื้นฐานเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง โครงสร้างพื้นฐานที่ดี ทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ และบุคลากรท่องเที่ยวที่มีศักยภาพด้วยแล้ว จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะขับเคลื่อนผลักดันให้ประเทศนั้น ๆ มีข้อได้เปรียบในการแข่งขัน และสามารถพัฒนาการท่องเที่ยวของตนเองให้เติบโตได้อย่างมั่นคง
ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ตระหนักถึงความสำคัญของการท่องเที่ยวในฐานะเป็น "กลไกหลัก" กับการช่วยรักษาเสถียรภาพและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ คณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ จึงได้จัดทำแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ พ.ศ. 2558-2560 เพื่อเป็นแผนหลักในการพัฒนาการท่องเที่ยวของประเทศ
หากมองย้อนกลับไปในแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติพ.ศ. 2555-2559 จะพบว่าการดำเนินงานด้านการท่องเที่ยวประสบผลสำเร็จในแง่ของจำนวนและรายได้จากการท่องเที่ยว แต่ผลการศึกษาจากการดำเนินการแผนดังกล่าว พบว่าด้านการพัฒนาสินค้าและบริการ ยังมีข้อจำกัดหลายประการที่ไม่สามารถทำให้บรรลุผลตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
จากการศึกษาข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นจากตัวชี้วัดการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวและการเดินทาง (World Economic Forum หรือ WEF) โดยในปี 2558 ความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของไทยอยู่ในอันดับที่ 43 จาก 140 ประเทศทั่วโลก หรืออันดับที่ 9 จาก 25 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
โดยตัวชี้วัดด้านมาตรฐานการเดินทางและการท่องเที่ยว ยังเป็นจุดอ่อนสำคัญของประเทศ รองลงมาคือความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งแวดล้อมของภาคธุรกิจ อย่างไรก็ตาม ในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวไทย พ.ศ. 2558-2560 อาจถือได้ว่าจะเป็นมิติใหม่ของการพัฒนาการท่องเที่ยวไทยในระยะ 2-3 ปีจากนี้ไป โดยผู้กำหนดนโยบายในการเดินตามแผนยุทธศาสตร์ หวังว่ายุทธศาสตร์ที่กำหนดจะสามารถตอบโจทย์ทิศทางการพัฒนาการท่องเที่ยวของประเทศไทยได้
ซึ่งในแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวกำหนดจุดมุ่งหมายที่สำคัญ 3 ประการประกอบด้วย หนึ่ง-คือการจัดทำแผนพัฒนาในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ซึ่งจะเป็นช่วงรอยต่อไปสู่แผนพัฒนาปี 2560-2564 ต่อไป สอง-มุ่งเน้นกิจกรรมที่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรม สาม-ให้ความสำคัญกับการปรับปรุงกลไกขับเคลื่อนสู่แหล่งท่องเที่ยวคุณภาพ โดยกำหนดบทบาทของกลไกการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวทุกระดับให้มีความเชื่อมโยงกัน
ปัจจุบันหากมองไปที่สถานการณ์และแนวโน้มของการท่องเที่ยวยังคงมีปัจจัยหลายประการ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ อาทิ แนวโน้มและทิศทางการท่องเที่ยวตลาดโลก ภาวะการแข่งขัน ความเสี่ยง พฤติกรรมนักท่องเที่ยว และวิกฤตต่าง ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว โดยเฉพาะสถานการณ์ที่อยู่บนความไม่แน่นอน ทั้งจากภัยธรรมชาติ โรคระบาด ความปลอดภัย และโดยเฉพาะความไม่มั่นคงด้านเศรษฐกิจและการเมือง
จากการที่ภาครัฐตื่นตัวและให้ความสำคัญพัฒนาการท่องเที่ยวเพื่อนำรายได้สู่ประเทศ จะพบว่าในห้วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมักจะให้ความสำคัญกับ แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม โดยเฉพาะการส่งเสริมการเดินทางสู่พื้นที่ท่องเที่ยวที่มีความพร้อมอยู่แล้ว เช่น เมืองท่องเที่ยวหลักกลุ่มจังหวัด 8 คลัสเตอร์ 12 เมืองต้องห้ามพลาด หรือเมืองเศรษฐกิจพิเศษเท่านั้น
แต่ในทางกลับกัน พบว่าการท่องเที่ยวในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้กลับมีความซบเซา ทั้ง ๆ ที่พื้นที่ในปลายด้ามขวานไม่ว่าจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ล้วนแล้วแต่มีสถานที่ที่ถือได้ว่าเป็นมรดกหรือทรัพยากรที่สามารถนำรายได้และชื่อเสียงมาสู่ประเทศไม่น้อยกว่าพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะว่าที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้มีปัญหาด้านความมั่นคง นักท่องเที่ยวอาจจะมีความกลัวในด้านความปลอดภัยอันเกิดจากสถานการณ์ความไม่สงบที่ก่อตัวมานานวัน
ถึงแม้ว่าสถานการณ์ที่นำมาซึ่งความเกรงกลัวของนักท่องเที่ยวบ้านเราที่ไม่กล้าไปสัมผัสแหล่งท่องเที่ยวอันเป็นธรรมชาติที่น่าชื่นชมยิ่ง ในทางกลับกันวันนี้พบว่าในท้องถิ่นหรือพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กลับได้รับความนิยมและสนใจจากนักท่องเที่ยวของประเทศเพื่อนบ้านเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ หรือแม้กระทั่งอินโดนีเซีย โดยเฉพาะในเทศกาลสำคัญ ๆ ประชาชนในพื้นที่ยืนยันได้ว่านักท่องเที่ยวจากประเทศเหล่านั้นเดินทางเข้ามาทางด่านชายแดนอย่างไม่ขาดสาย
ใน3 จังหวัดชายแดนใต้ หากมองในแง่ของทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรม และประเพณี ซึ่งถือได้ว่าจะเป็นต้นทางการดึงดูดนักท่องเที่ยว และนำรายได้มาสู่ชุมชนและท้องถิ่นได้นั้น ในจังหวัดชายแดนใต้โดยภาพรวมถือได้ว่ามีความพร้อมไม่น้อยกว่าพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศ จึงเป็นช่องทางที่ผู้นำในชุมชนต่างแสวงหาโอกาสเรียกความนิยมด้านการท่องเที่ยวคืนสู่พื้นที่ของตน
ด้วยความตื่นตัวและตระหนักในการพัฒนาเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวที่นั่นวันนี้พบว่าผู้นำในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะนายกองค์การบริหารส่วนตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ต่างเล็งเห็นถึงความสำคัญในการที่จะบริหารจัดการให้พื้นที่ปลายด้ามขวานกลับมาเป็นที่นิยมและสนใจของนักท่องเที่ยว
ที่สำคัญคือการยกระดับรายได้และความเจริญมาสู่ชุมชนของตนเอง แต่เป็นที่น่าเสียดายที่บุคลากรซึ่งเป็นผู้นำเหล่านั้น ยังขาดองค์ความรู้และนวัตกรรมในการบริหารจัดการ ครั้นจะพึ่งพิงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ บางครั้งอาจจะไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร โดยเฉพาะองค์กรด้านการท่องเที่ยว ซึ่งมีบทบาทหน้าที่โดยตรง ทั้งนี้ ล่าสุดผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดชายแดนใต้ สะท้อนความรู้สึกและความต้องการในการที่จะส่งเสริมสนับสนุนนโยบายด้านการท่องเที่ยวของรัฐบาลผ่านคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์รายวันฉบับวันที่1 ตุลาคม 2559
โดย นายฮาและยูโซะ ได้สะท้อนความรู้สึกว่าปัจจุบันการท่องเที่ยวเป็นหัวใจสำคัญในการนำรายได้มาสู่ประเทศ ซึ่งรัฐบาลเองก็กำหนดให้การท่องเที่ยวเป็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ขณะที่การท่องเที่ยวในภาคใต้แต่ละปีสามารถนำรายได้มาสู่ประเทศได้มากมาย
แต่น่าเสียดายที่นักท่องเที่ยวสนใจและให้ความสำคัญในการไปท่องเที่ยวใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้น้อยมาก ทั้งนี้ อาจจะกลัวเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นเป็นระยะ ในขณะที่หน่วยงานภาครัฐก็ให้ความสำคัญรณรงค์เชิญชวนนักท่องเที่ยวให้เดินทางไปเที่ยวใน 3 จังหวัดภาคใต้น้อยมากเช่นเดียวกัน
แต่วันนี้ผู้บริหารท้องถิ่นที่เห็นว่าในท้องที่ของตนเองมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจและสามารถทำรายได้ให้ชุมชนได้ จึงต้องดำเนินการจัดการกันเอง ความรู้ความเข้าใจในการจัดการด้านนี้ก็ไม่ค่อยจะมีมากนัก แต่ล่าสุดเมื่อคณะผู้บริหาร อบต.ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้จำนวนหนึ่งได้เข้าร่วมฝึกอบรมหลักสูตรนวัตกรรมการจัดการการท่องเที่ยวชุมชน ที่จัดโดยศูนย์ฝึกอบรม มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ทำให้เห็นความสำคัญในการพัฒนาการท่องเที่ยวในชุมชนตนเองมากขึ้น
ซึ่งในการอบรมนอกจากมีวิทยากรมืออาชีพมาบรรยายให้ความรู้แล้วยังได้ไปศึกษาดูงานในแหล่งท่องเที่ยวชุมชนต้นแบบ ทำให้ผู้อบรมได้จุดประกายความคิดเกี่ยวกับการจัดการการท่องเที่ยวที่จะทำให้ชุมชนตนเองสามารถสร้างรายได้อย่างเป็นระบบ
ผู้นำท้องถิ่นคนดังกล่าวยังฝากข้อคิดไปยังหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งน่าสนใจไม่น้อยว่าที่สำคัญเมื่อมองมาที่ภาครัฐในนามของผู้นำท้องถิ่น อยากฝากไปถึงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ควรให้ความสำคัญในการส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัดชายแดนใต้ให้มากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะที่นั่นมีสถานที่สวยงามน่าท่องเที่ยวมากมาย จะทำอย่างไรที่นักท่องเที่ยวไม่กลัวเรื่องความปลอดภัย พร้อมที่จะไปสัมผัสธรรมชาติที่มีอยู่ทั่วไป ไม่แพ้แหล่งท่องเที่ยวอันมีชื่อเสียงของประเทศ
เมื่อผู้นำท้องถิ่นและประชาชนในพื้นที่ตระหนักและตื่นตัวเพื่อสนับสนุนนโยบายการท่องเที่ยวของรัฐ โดยเฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ด้วยแล้ว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งเป็นองค์กรหลักที่มีความพร้อมทั้งด้านยุทธศาสตร์ งบประมาณ และบุคลากร ควรจะเร่งตอบสนองความต้องการด้วยการผลักดันและรณรงค์ให้พื้นที่ในปลายด้ามขวานกลับมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมมีทิศทางอนาคตที่ชัดเจน จะส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมใน 3 จังหวัดชายแดนใต้โดยรวม ที่สำคัญเป็นการเรียกขวัญและกำลังใจให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ได้เป็นอย่างดี
การท่องเที่ยวในจังหวัดชายแดนใต้จะพัฒนาได้ตามความมุ่งหวังของประชาชน ผู้นำท้องถิ่น ในอันที่จะตอบสนองและสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาประเทศของรัฐบาล ซึ่งจะส่งผลต่อการสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนได้นั้น หน่วยงานภาครัฐที่สำคัญและมีบทบาทอีกหน่วยงานหนึ่ง ไม่ควรมองข้ามคือ "ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้" จำเป็นที่จะต้องบูรณาการการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวไปพร้อมกับแนวทางการพัฒนาเพื่อสร้างความสงบและสันติภาพให้เกิดขึ้นโดยพลัน
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน