สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การบังคับใช้อำนาจรัฐในสังคมไทย: ไร้ประสิทธิภาพ ขาดความเท่าเทียม และไม่เป็นธรรม

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

ปัญญาพลวัตร
       โดย พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
       
       รัฐไทยเป็นรัฐที่ค่อนข้างมีปัญหากับการใช้อำนาจรัฐและการบังคับใช้กฎหมายอย่างมาก กล่าวคือผู้ที่ถือสิทธิใช้อำนาจรัฐหรือผู้ถือกฎหมายไม่สามารถทำให้อำนาจรัฐมีพลังความสามารถและมีความเข้มข้นอย่างสม่ำเสมอทั่วทุกปริมณฑลของสังคมได้ การ บังคับใช้อำนาจรัฐจึงมีระดับความเข้มข้นต่างกัน มีการบังคับแบบเสี่ยงเสี้ยว และมีการเลือกบังคับกับบางกลุ่ม
       
       ผมมองการบังคับใช้อำนาจรัฐที่เกิดขึ้นและเป็นอยู่ในสังคมไทยปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ออกเป็นห้าลักษณะด้วยกัน ซึ่งเป็นภาพสะท้อนความเป็นจริงที่ดำรงอยู่ในสังคมไทย และหากลักษณะทั้งห้าประการของการบังคับใช้อำนาจที่จะกล่าวต่อไปไม่ได้รับการแก้ไข ก็ยากที่จะบรรเทาความขัดแย้งในสังคมไทยได้
       
       ลักษณะแรกคือ อำนาจรัฐเจือจางตามระยะห่างจากศูนย์กลาง เปรียบเสมือนการเจือจางของแสงเทียน ที่เจือจางลงไปตามระยะห่างของต้นกำเนิดแสง บริเวณใกล้แท่งเทียนแสงสว่างจะมีความเข้มข้นสูง แต่ความเข้มข้นค่อยๆเจือจางลงไปในบริเวณที่ห่างออกไป ดังที่เราเห็นเป็นประจำจากการบังคับใช้กฎหมายหลายฉบับ เช่น การบังคับใช้กฎจราจร ซึ่งเป็นไปอย่างเข้มข้นในเขตเมืองอย่างกรุงเทพมหานคร แต่กลับค่อยๆเจือจางลงในเขตเมืองของแต่ละจังหวัด อำเภอ และแทบจะไม่มีผลบังคับใช้ในเขตชนบทระดับตำบลและหมู่บ้าน
       
       ลักษณะที่สอง ประสิทธิภาพการใช้อำนาจรัฐแปรผันสถานภาพทางเศรษฐกิจ กล่าวคือยิ่งบุคคลที่ละเมิดอำนาจรัฐหรือทำผิดกฎหมาย มีฐานะทางเศรษฐกิจสูงเท่าไร ก็ยิ่งทำให้ประสิทธิภาพของการบังคับใช้อำนาจรัฐยิ่งต่ำลงไปเท่านั้น ดังที่เราพบได้บ่อยครั้งในสังคมไทยว่า กฎหมายมีไว้สำหรับลงโทษคนจนเท่านั้น เมื่อชาวบ้านหรือคนธรรมดาที่มีทรัพย์สินเงินตราน้อยทำผิดกฎหมายพวกเขามีโอกาสสูงที่จะถูกจับและลงโทษอย่างเต็มพิกัดตามอัตราที่กฎหมายกำหนด หรือบางทีอาจจะมากกว่าด้วยซ้ำไป ด้วยการยัดเยียดข้อหาเพิ่มขึ้นจากผู้บังคับใช้กฎหมายบางคนที่ไร้จริยธรรม
       
       ส่วนคนที่มีสถานภาพทางเศรษฐกิจสูงมีโอกาสน้อยมากที่จะตกลงไปในร่างแหของกฎหมาย และยิ่งร่ำรวยจนติดอันดับมหาเศรษฐีระดับประเทศ ก็ยิ่งมีโอกาสน้อยลงไปอีกที่กฎหมายจะเอื้อมไปถึง ดังที่เราแทบไม่เห็นข่าวเลยว่ามหาเศรษฐีของประเทศไทย ซึ่งครอบครองที่ดินจำนวนมหาศาลนับหมื่นหรือแสนไร่ถูกตรวจสอบเกี่ยวกับที่ดินที่พวกเขาครอบครอง
       
       คำถามคือ ผู้บังคับใช้กฎหมายไม่อยากรู้หรือไม่สนใจตรวจสอบเลยหรือว่า ในท่ามกลางที่ดินนับหมื่นหรือแสนไร่ที่มหาเศรษฐีเหล่านั้นครอบครองมีที่ดินแปลงใดอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ หรือ เป็นที่สปก.บ้าง ที่เห็นอยู่เสมอก็คือ ผู้บังคับใช้กฎหมายชมชอบตรวจสอบที่ดินของชาวบ้านธรรมดาผู้ซึ่งมีที่ดินเพียงสิบไร่บ้าง ยี่สิบไร่บ้าง จนทำให้ชาวบ้านถูกไร่รื้อและถูกจับกุมกันอย่างมากมาย แต่เราแทบไม่เคยได้ยินข่าวเลยว่าบรรดา “เจ้าสัว” ทั้งหลายจะโดนตรวจสอบและจับกุมแต่อย่างใด
       
       บางกรณีมีเหตุสุดวิสัยที่คนรวยบังเอิญตกอยู่ในร่างแหกฎหมาย กรณีแบบนี้เกิดขึ้นได้ หาก เรื่องที่พวกเขาทำผิดกฎหมายเป็นเรื่องชัดเจน อื้อฉาวและได้รับความสนใจจากสาธารณะ หรือบังเอิญว่าคนรวยนั้นเล่นการเมืองและทุจริตเอาไว้มาก เมื่อพวกเขาหมดอำนาจทางการเมือง จึงมีความเป็นไปได้ที่จะถูกเล่นงานจากฝ่ายตรงข้ามที่ครองอำนาจรัฐต่อจากพวกเขา
       
       กระนั้นก็ดี พวกเขาก็สามารถใช้พลังทางเศรษฐกิจจำนวนมหาศาลที่ครอบครองอยู่กระชากและทำลายร่างแหกฎหมายให้ฉีกขาดและหลุดรอดออกไปได้ไม่ยากนัก พวกเขาบางคนก็ใช้ชีวิตอย่างอิสระในต่างประเทศ หรือไม่ก็หลุดรอดจากคดีความ ออกมาเดินลอยหน้าลอยตาในสังคมได้ตามปกติ
       


       ลักษณะที่สาม การบังคับใช้อำนาจรัฐมีแนวโน้มเป็นหมันเมื่อเผชิญกับบุคคลและกลุ่มที่อยู่ในเครือข่ายของผู้ใช้อำนาจรัฐ กล่าวคือหากผู้ละเมิดอำนาจรัฐหรือทำผิดกฎหมายเป็นตัวบุคคลผู้มีตำแหน่งสูงในรัฐบาลหรือองค์การของรัฐ เป็นเครือญาติหรือเป็นพวกพ้องของผู้มีอำนาจรัฐ การบังคับใช้อำนาจรัฐกับกลุ่มคนเหล่านี้จะเป็นไปอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย แสร้งทำเป็นมองไม่เห็นการละเมิดนั้นบ้าง หรือบางกรณีก็จะช่วยกันปกป้องและปกปิด หากจวนตัวด้วยเป็นเรื่องที่กระจายสู่สังคมแล้ว ก็พยายามช่วยกันบรรเทาจากเรื่องใหญ่ ให้กลายเป็นเรื่องเล็ก หรือหากเป็นเรื่องเล็กก็จะทำให้หายไปและกลายเป็นเรื่องปกติ
       
       ลักษณะที่สี่ การบังคับใช้อำนาจรัฐจะถดถอย เมื่อเผชิญกับกลุ่มอิทธิพลที่มีเครือข่ายและศักยภาพในการใช้ความรุนแรง กรณีแบบนี้เราพบได้บ่อยในสังคมไทย ผู้มีอิทธิพลเถื่อนจำนวนมากที่ละเมิดกฎหมาย หรือประกอบอาชญากรรมร้ายแรงมักจะหลุดรอดจากการบังคับใช้กฎหมายเสมอ เพราะว่าพวกเขาอาศัยศักยภาพในการใช้ความรุนแรงข่มขู่พยาน หรือไม่ก็เหิมเกริมไปข่มขู่ผู้บังคับใช้กฎหมายเสียเอง ดังข่าวที่ผู้บังคับใช้กฎหมายบางคนที่ทำคดีค้ามนุษย์ถูกข่มขู่จนถึงขนาดต้องลาออกจากตำแหน่งและหลบไปอยู่ในต่างประเทศ หรือ กรณีคดียิงแกนนำประชาชน กลางกรุงเทพมหานครเมื่อหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งมีข่าวว่าเจ้าหน้าที่รัฐผู้รับผิดชอบทำคดีนี้เผชิญกับการคุกคามจากอำนาจมืดจนทำให้คดีไม่คืบหน้าและอาจหายไปในที่สุด
       
       ลักษณะที่ห้า การบังคับใช้กฎหมายอ่อนล้า เมื่อเผชิญกับกลุ่มหรือบุคคลที่มีมวลชนผู้งมงายให้การสนับสนุน กรณีแบบนี้มีมากขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงของสังคม เพราะว่าตรรกะการใช้อำนาจรัฐแห่งยุคสมัยใหม่คือ การใช้ความรุนแรงกับมวลชนเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและไม่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ ดังนั้นหากมีบุคคลหรือกลุ่มใดที่มีมวลชนผู้งมงายให้การสนับสนุนเป็นจำนวนมากกระทำการละเมิดกฎหมาย พวกเขาก็จะใช้มวลชนเป็นเกราะกำบัง และหากรัฐจะบังคับใช้กฎหมาย พวกเขาก็จะใช้ชีวิตของมวลชนเป็นเครื่องมือเพื่อต่อสู้และทำลายความชอบธรรมของอำนาจรัฐ
       
       ดังนั้นหากรัฐจะดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาดโดยการเข้าไปจับกุมผู้กระทำผิดหรือสลายการชุมนุม พวกหัวหน้าลัทธิและสาวกที่เป็นแกนนำก็กล่อมเกลาให้มวลชนผู้งมงายยอมสละชีวิตเลือดเนื้อเพื่อปกป้องตนเอง หรือบางกรณีก็กระทำยิ่งกว่านั้นคือการวางแผนทำร้ายและทำลายชีวิตของมวลชน แล้วป้ายความผิดไปยังผู้ใช้อำนาจรัฐ กรณีแบบนี้ล้วนเกิดในสังคมไทยมาแล้วทั้งสิ้น
       
       เมื่อเผชิญกับยุทธวิธีที่ใช้ชีวิตมวลชนเป็นเครื่องมือ ผู้ใช้อำนาจรัฐในยุคใหม่จึงค่อนข้างจะระมัดระวัง และไม่กล้าดำเนินการบังคับใช้กฎหมายให้เด็ดขาดลงไป ยิ่งในยุคปัจจุบันที่การสื่อสารเป็นไปอย่างรวดเร็วและกว้างขวางผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เรื่องใดที่ได้รับความสนใจจากสาธารณะ ก็จะทำให้ผู้ใช้อำนาจรัฐระมัดระวังในการใช้อำนาจมาก จนกระทั่งในบางกรณี สังคมเกิดความรู้สึกว่าอำนาจรัฐได้หายสาบสูญไปชั่วคราว
       
       กล่าวโดยสรุป การบังคับใช้อำนาจรัฐแทบจะไร้ประสิทธิภาพอย่างสิ้นเชิงหากต้องเผชิญกับบุคคล กลุ่ม หรือองค์การที่ครอบครองคุณลักษณะสี่ประการไว้ครบ อันได้แก่ การมีสถานภาพทางเศรษฐกิจสูงหรือมีทรัพย์สินเงินทองมหาศาล การมีตำแหน่งในรัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐและมีพวกพ้องที่สืบทอดตำแหน่งอย่างต่อเนื่อง การมีอิทธิพลและศักยภาพในการใช้ความรุนแรง และการมีมวลชนผู้งมงายอยู่ใช้สังกัดที่เชื่อฟังและสละชีวิตเพื่อปกป้อง 
       
       เงื่อนไขหนึ่งของการพัฒนาสังคมให้มีความเป็นประชาธิปไตยที่มีคุณภาพก็คือ การบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ เท่าเทียม และเป็นธรรม แต่สังคมไทยที่เป็นอยู่ในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ดูเหมือนจะมีเงื่อนไขที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนาประชาธิปไตยมากนัก อย่างไรก็ตามเงื่อนไขเหล่านั้นไม่ใช่เป็นเหตุที่จะนำมาอ้างต่อการละเลยหรือไม่บังคับใช้กฎหมาย หากแต่ต้องทำความเข้าใจกับสิ่งเหล่านี้ให้กระจ่างว่า อุปสรรคในการบังคับใช้กฎหมายและอำนาจรัฐมีอะไรบ้าง เพื่อที่จะหาทางแก้ไขปฏิรูป และพัฒนาต่อไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สังคมไทยหลุดพ้นจากวังวนนี้ให้ได้
       
       ประชาชนธรรมดาสามัญย่อมคาดหวังว่า รัฐจะบังคับใช้อำนาจอย่างเป็นธรรม เท่าเทียม และมีประสิทธิภาพ นั่นเป็นสิ่งที่ผู้ใช้อำนาจรัฐทั้งหลายต้องพิสูจน์ให้เห็นอย่างสม่ำเสมอ แต่หากประชาชนพบเห็นการเกิดขึ้นของเหตุการณ์ที่ตรงข้ามกับความคาดหวังบ่อยครั้ง ย่อมไม่ใช่เรื่องดีต่อผู้ครอบครองอำนาจรัฐและผู้ใช้อำนาจรัฐเป็นแน่


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : การบังคับใช้อำนาจรัฐ ในสังคมไทย ไร้ประสิทธิภาพ ขาดความเท่าเทียม ไม่เป็นธรรม

view