จากประชาชาติธุรกิจ
การที่ "ตัวแปร" สำคัญอย่าง "สหรัฐอเมริกา" กับประธานาธิบดีคนที่ 45 กำลังก้าวสู่ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ ในสมัย "ว่าที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์" ผู้ได้ขึ้นชื่อแห่งความสุดโต่งและบ้าบิ่นที่สุดในห้วงเวลานี้ ขณะที่ในปี 2560 ยุโรปหลาย ๆ ประเทศก็จะมีการเลือกตั้ง "ผู้นำ" ใหม่ และมีสัญญาณว่า "อนุรักษนิยม" กำลังมาแรง
ศ.ดร.สุรชัย ศิริไกร คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การที่ โดนัลด์ ทรัมป์ มองว่าโลกในยุคโลกาภิวัตน์นั้นทำให้สหรัฐเสียเปรียบในเชิงผลประโยชน์มหาศาล คือจุดเริ่มต้นแห่งการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะมีความสำคัญต่ออนาคตโลกและจะรุนแรงมากขึ้นอีก
มีความเป็นไปได้สูงที่ทรัมป์จะปัดฝุ่น ฟื้นเส้นทางการบริหารในสมัย "จอร์จ ดับเบิลยู. บุช" โดยเฉพาะปัญหาของกลุ่มมุสลิม ที่เคยเหมารวมว่าโลกอิสลามเป็นกลุ่มที่นิยมใช้ความรุนแรง
"ทรัมป์จะเปลี่ยนโลกใหม่ทั้งหมด อนาคตเราอาจจะเห็นระบบหลายขั้วในการเมืองโลก เช่น การที่ทรัมป์ประกาศจะไม่สนับสนุนด้านกลาโหมกับประเทศพันธมิตร พร้อมเปิดทางให้ประเทศเหล่านั้นสามารถเพิ่มงบประมาณพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์เพื่อปกป้องสถานภาพของตนเอง ส่งผลให้การแข่งขันด้านอาวุธอาจรุนแรงขึ้น" ศ.ดร.สุรชัยกล่าว
ประเด็นที่ควรติดตามต่อไป คือการเลือกตั้งของ 3 ประเทศยุโรป ได้แก่ เยอรมนี ฝรั่งเศส และอิตาลี ซึ่งเป็นไปได้สูงที่ผู้ชนะเลือกตั้งอาจมาจากพรรคขวาจัด ด้วยกระแสการต่อต้านกลุ่มผู้อพยพที่รุนแรงมากขึ้น เป็นจุดสำคัญของการพลิกโฉมการเมืองโลก อันเกิดจากความไม่พอใจจากหลาย ๆ เหตุการณ์ก่อการร้ายที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประเทศนั้น ๆ โดยคนยุโรปมองว่า การรับกลุ่มผู้อพยพไม่เพียงแต่จะสร้างความเดือดร้อน ทำให้คนท้องถิ่นตกงานมากขึ้น และเพิ่มภาระทางการเงินให้กับประเทศด้วย
โดยการเลือกตั้งของเยอรมนีน่าจับตามองมากที่สุด ซึ่งหาก "แองเกล่า แมร์เคิล" สามารถคว้าชัยในสมัยที่ 4 นั่นหมายถึง โลกอาจยังมีลุ้นอยู่บ้างว่า "นาซี" จะไม่ฟื้นคืนชีพท่ามกลาง "โลกหันขวา"เท่ากับว่ามีการถ่วงดุลไม่ให้เกิดการเผชิญหน้าและสงคราม อย่างไรก็ตาม หากผลการเลือกตั้งทั้ง 3 ประเทศปรากฏว่า พรรคฝ่ายขวาคือผู้กำชัย
แน่นอนว่าโลกจะดำดิ่ง, สหภาพยุโรป (EU) จะเสียงแตก และไม่มี "สิทธิมนุษยชน" ใด ๆ เกิดขึ้นบนโลกใบนี้
ขณะที่ บทบาทของจีนจะเพิ่มมากขึ้น และจะกลายเป็น "ตัวแปรหลัก" ของโลก โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชีย ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นว่า ประธานาธิบดี "สี จิ้นผิง" ให้ความสำคัญกับนโยบายต่างประเทศมากขึ้น รวมถึงการเปิดเสรีการค้า (FTA) เพื่อให้เกิดความร่วมมือ ดังนั้นหากไทยและสมาชิกอาเซียนเล่นเกมให้เป็น สามารถสร้างอำนาจต่อรองได้ โอกาสที่เราจะได้รับผลกระทบน้อยลงจะมีสูงขึ้น
ทั้งนี้ RCEP หรือความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค เป็นหนึ่งในตัวช่วยที่ดีที่สุดในเวลานี้
ด้าน รศ.ดร.ประภัสสร์ เทพชาตรี ผู้อำนวยการสถาบันอาเซียนศึกษา แสดงความคิดเห็นในทางเดียวกันว่า สถานการณ์โลกจะเป็นไปในทิศทางลบมากขึ้น นโยบายของทรัมป์ไม่เพียงแต่ด้านการเมืองที่จะสั่นคลอน แต่จะส่งผลกระทบในด้านเศรษฐกิจด้วย
"พูดง่าย ๆ คือโลกอาจเกิดการถดถอยเมื่อใดก็ได้ ประชาธิปไตยของกรีซโบราณพังทลายลง ก็เพราะเผชิญกับรัฐที่มีอำนาจทางทหารที่แข็งแรงกว่า ดังนั้น ความคิดที่ก้าวหน้าด้านการเมืองและเศรษฐกิจจะพัฒนารุ่งเรืองในโลกได้ จำเป็นต้องมีประเทศมหาอำนาจให้การสนับสนุน"
บวกกับสถานการณ์ในยุโรปที่เรายังไม่สามารถประเมินได้เลยว่า ปี 2560 จะมีประเทศไหนที่ต้องการจะทำประชามติออกจากสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) อีกหรือไม่ ท่ามกลางการดำเนินการกีดกันทางการค้าจากโลกตะวันตกที่จะหนักข้อขึ้น ไทยควรหันมาเพิ่มความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน และภูมิภาคเอเชียมากกว่าเดิม
ขณะที่ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประเมินว่า นโยบายของว่าที่ผู้นำสหรัฐแม้จะยังไม่มีความชัดเจนในเวลานี้ แต่ก็สามารถคาดเดาทิศทางได้ว่าโลกจะเผชิญกับหายนะ โดยเฉพาะนโยบาย "การค้าแบบปกป้อง"
ขณะเดียวกันเราจะเห็นขั้วอำนาจอีกสายมีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศจีน อินเดีย ญี่ปุ่น และรัสเซีย
สำหรับจุดยืนที่นายทรัมป์ ประกาศกร้าวจะทุบทิ้ง "ข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก" (TPP) สะท้อนว่า สหรัฐได้มาถึงจุดสิ้นสุดของการจัดระเบียบโลกแบบเดิมแล้ว
เพราะ TPP คือความพยายามของสหรัฐในการจัดระเบียบการค้าการลงทุนโลกให้มีความเข้มข้นขึ้น
ดังนั้นการที่สมาชิกอาเซียนพยายามที่จะบรรลุข้อตกลง RCEP ถือว่ามาถูกทางแล้ว เพราะข้อตกลงดังกล่าวถือเป็นหนึ่งในอำนาจต่อรองของภูมิภาคเอเชียที่พอจะผงาดสู้กับยุโรป ตะวันออกกลาง หรือแม้กระทั่งตะวันตกก็ตามได้สบาย การตั้งรับเกมการเมืองที่กำลังจะเปลี่ยนผ่านอย่างมีชั้นเชิง คือสิ่งที่เราต้องทำมากที่สุดในตอนนี้ รวมถึงต้องเข้าใจเล่นเกมการเมืองและเศรษฐกิจของจีนด้วย ในฐานะที่เป็นตลาดเศรษฐกิจใหญ่ของเอเชีย และอาจเป็นเบอร์หนึ่งของโลกแทนที่สหรัฐ
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน