สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สมคิด ชูธงก้าวข้ามกับดักเศรษฐกิจยุคเก่า

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

       ‘สมคิด’ เดินเครื่องแผนผลักดันประเทศไทยสู่ไทยแลนด์ 4.0 ก้าวข้ามกับดักเศรษฐกิจยุคเก่า วางระบบไว้แล้วล่วงหน้า ทั้งคลัสเตอร์ ประชารัฐ สตาร์ทอัพ และวางกรรมการติดตามการทำงาน คุมกระทรวงสำคัญทั้งวิทย์ ดิจิทัล ได้เพิ่มเก้าอี้ รมช.พาณิชย์ แต่สัญญาณสะดุดเริ่มมีให้เห็น หลังไม่ได้คุมกระทรวงเกษตรฯ ที่เป็นสินค้าหลักของประเทศ หวั่นยุทธศาสตร์ 4.0 ไปไม่รอดหากก้าวไม่พ้นการเมืองแบบไทย ๆ

“สมคิด” ชูธงก้าวข้ามกับดักเศรษฐกิจยุคเก่า
        

        หลังจากที่มีรัฐมนตรีบางคนลาออกจากตำแหน่ง และบางรายได้รับโปรดเกล้าให้เป็นองคมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีการปรับคณะรัฐมนตรี เมื่อ 15 ธันวาคม 2559 จำนวน 12 ตำแหน่ง สำหรับโควตาสายตรงของทางทหารนั้นเป็นการหารัฐมนตรีหลักเข้าไปแทนที่กระทรวงยุติธรรมและกระทรวงศึกษาธิการ และได้รัฐมนตรีใหม่มาแทนในกระทรวงคมนาคม
       
       ส่วนรัฐมนตรีจากทีมเศรษฐกิจสายของ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มีการสสับตำแหน่งกันและได้เก้าอี้รัฐมนตรีช่วยในกระทรวงพาณิชย์เพิ่มขึ้น พร้อมด้วยการคุมกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นอันว่าทีมงานรัฐมนตรีสายเศรษฐกิจของรองนายกฯ สมคิด ดูแลกระทรวงดิจิทัล กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงการคลัง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
       
       นับได้ว่ารัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงไว้วางใจให้ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีคุมเสาหลักในการหารายได้ อย่างภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวเหมือนเดิม
       
       ปูฐานเปลี่ยนเศรษฐกิจ
       
       แต่ภายใต้สภาวะที่เศรษฐกิจทั่วโลกตกต่ำ รวมถึงปัจจัยภายในประเทศที่เคยมีการชุมนุมทางการเมืองกันมาอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นตัวฉุดรั้งอำนาจซื้อของคนในประเทศหดหายไปมาก แถมมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศยุโรปก็มีปัญหาทางเศรษฐกิจเช่นกัน ยักษ์ใหญ่ในเอเชียอย่างญี่ปุ่นก็ยังไม่ฟื้น ส่วนจีนก็ลดอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจลง
       
       กลายเป็นภาระหนักของรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เข้ามาเพื่อยุติปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ที่ต้องบริหารประเทศท่ามกลางเศรษฐกิจทั่วโลกที่ตกต่ำ สินค้าส่งออกลดลง ราคาสินค้าเกษตรที่ลดลงทั้งโลก แถมยังต้องเข้ามาแก้ปัญหาของรัฐบาลชุดก่อนในเรื่องโครงการรับจำนำข้าวที่มีปริมาณข้าวในสต๊อกมากกว่า 10 ล้านตัน
       
       เมื่อทุกอย่างตีบตันไปทั้งหมด ในช่วงที่มีการเปลี่ยนตัวรองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ จากหม่อมราชวงศ์ปรีดิยาทร เทวกุล มาเป็น ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ยังคงสานต่อแนวทางเดิมที่เคยสร้างไว้ในรัฐบาลพลเรือน คือ สนับสนุนและให้ความช่วยเหลือธุรกิจ SMEs เดินหน้าเรื่องโครงการเมกะโปรเจกต์และพยายามผลักดันให้เกิดระบบคลัสเตอร์ในภาคอุตสาหกรรมขึ้นมา
       
       ไม่เพียงแค่นั้น ภายใต้แนวทางการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศของรองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ มีความพยายามที่จะปลุกให้มีผู้ประกอบการรายใหม่เพิ่มขึ้น ที่เรียกว่ากลุ่ม Start Up ที่มีการนำเอานวัตกรรมใหม่ ๆ และความคิดสร้างสรรค์ใส่ลงไปในสินค้า เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าให้มากขึ้น
       
       ตามมาด้วยการจัดตั้งบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี (ประเทศไทย) จำกัด ที่ให้ภาคเอกชนเป็นแกนหลักในการจัดตั้ง โดยมีเป้าหมายคือการสร้างรายได้ให้กับชุมชนเพื่อให้ประชาชนมีความสุข และมี 5 ภาคส่วน คือ ภาครัฐ เอกชน วิชาการ ประชาสังคม และภาคประชาชน เข้ามาร่วมมือกันเพื่อการลดความเหลื่อมล้ำ การพัฒนาคุณภาพคน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
       
       ทั้งหมดเพื่อเป้าหมายใหญ่ในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ Thailand 4.0 ที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เตรียมผลักดันในเรื่องนี้อย่างจริงจัง 

“สมคิด” ชูธงก้าวข้ามกับดักเศรษฐกิจยุคเก่า
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี(ภาพจากเฟซบุ๊ก @ThaiChamber)
        

        ไทยแลนด์ 4.0 ก้าวข้ามเศรษฐกิจเก่า
       
       การวางยุทธศาสตร์ชาติภายใต้ชื่อ Thailand 4.0 ล้วนมาจากแนวคิดของ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และทีมงานด้านเศรษฐกิจ ที่ประเมินแล้วว่าหากประเทศไทยจะคงสภาพเศรษฐกิจอย่างที่เป็นอยู่แบบนี้ตลอดไป ไม่มีทางที่เศรษฐกิจของประเทศจะเติบโตไปได้มากกว่านี้
       
       ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หนึ่งในทีมงานคนสำคัญของ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้อธิบายถึงการที่ประเทศไทยต้องก้าวไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ว่า ยุคไทยแลนด์ 1.0 เป็นเรื่องภาคเกษตรกรรม จากนั้นเคลื่อนเข้าสู่ไทยแลนด์ 2.0 เป็นอุตสาหกรรมเบาจำพวกสิ่งทอ อาหาร และไทยแลนด์ 3.0 เป็นยุคอุตสาหกรรมหนัก
       
       ไทยแลนด์ 3.0 ทำให้ประเทศไทยต้องเผชิญกับกับดักด้านความเหลื่อมล้ำของความมั่งคั่ง ความไม่สมดุลในการพัฒนา ประเทศไทยไม่มีการปรับโครงสร้างด้านเศรษฐกิจอย่างจริงจัง ไม่มีการพัฒนาเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง แรงงานขาดทักษะด้านฝีมือ
       
       ดังนั้นจึงต้องพาประเทศก้าวไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 เป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เพื่อความมั่งคั่งอย่างมั่นคงและยั่งยืน หลุดพ้นจากกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนโมเดลเศรษฐกิจจากการพึ่งพาการลงทุนต่างประเทศ เพื่อเปลี่ยนประเทศไทยจากกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางขั้นสูง ให้กลายเป็นกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูง ด้วยนวัตกรรมที่นำเอาเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้
       
       คำอธิบายเพิ่มเติมของไทยแลนด์ 4.0 จะต้องมีการปรับเปลี่ยน 3 ด้าน ประกอบด้วย 1.เปลี่ยนจากการผลักดันสินค้าโภคภัณฑ์ไปสู่สินค้าเชิงนวัตกรรม 2.เปลี่ยนจากการขับเคลื่อนประเทศด้วยภาคอุตสาหกรรมไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์ 3.เปลี่ยนจากการเน้นภาคการผลิตสินค้าไปสู่การเน้นภาคบริการมากขึ้น
       
       โดยมีรายละเอียดของการเปลี่ยนแปลงที่ลึกลงไปดังนี้ 1.เปลี่ยนจากเกษตรแบบดั้งเดิม สู่เกษตรสมัยใหม่ เน้นบริหารจัดการและเทคโนโลยี เตรียมปั้นเกษตรกรเป็นผู้ประกอบการ ทั้งยังเป็นเกษตรกรที่มีฐานะร่ำรวย 2.เปลี่ยนจาก Traditional SMEs หรือ SMEs ที่มีภาครัฐคอยช่วยเหลือ เพื่อผลักดันสู่การเป็น Smart Enterprises และ Startups ที่มีศักยภาพสูง 3.เปลี่ยนจาก Traditional Services ที่มีมูลค่าต่ำสู่ High Value Services และ 4.เปลี่ยนจากแรงงานทักษะต่ำ สู่แรงงานที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญและทักษะสูง
       
       อุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะเป็นธงหลักในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเดินหน้าไปสู่ ไทยแลนด์ 4.0 ทีมเศรษฐกิจได้โฟกัสไปที่ 5 กลุ่ม ประกอบด้วย
       
       1.กลุ่มอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ
       
       2.กลุ่มสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์
       
       3.กลุ่มเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ และระบบเครื่องกลที่ใช้อิเล็กทรอนิกส์ควบคุม
       
       4.กลุ่มดิจิตอล เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตเชื่อมต่อและบังคับอุปกรณ์ต่างๆ ปัญญาประดิษฐ์และทคโนโลยีสมองกลฝังตัว
       
       5.กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และบริการที่มีมูลค่าสูง
       
       ใช้นวัตกรรมเพิ่มมูลค่า
       
       นับเป็นความพยายามที่จะปรับโฉมเศรษฐกิจของประเทศไทยให้หลุดพ้นจากแนวทางเดิม ๆ ซึ่งก่อนหน้านี้มีความพยายามผลักดันให้ประเทศไทยต้องเป็น Creative Economy แต่ไม่ได้มีการดำเนินการอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม ครั้งนี้จึงเป็นการวางยุทธศาสตร์ของประเทศไทยครั้งใหญ่เพื่อการปรับเปลี่ยน
       
       ถือเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ นักวางยุทธศาสตร์คนสำคัญของไทย ได้รับโอกาสให้ดำเนินการเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม
       

       สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว ได้ก้าวไปสู่การพัฒนาสินค้าและบริการให้มีมูลค่าที่สูงขึ้น อย่างสินค้าแบรนด์เนมต่าง ๆ ที่คนไทยนิยมซื้อ ล้วนเป็นการต่อยอดจากการพัฒนาสินค้าเดิมที่มีอยู่ หรือกลุ่มเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม แต่ละประเทศคิดค้นและพัฒนาขึ้นมาโดยยึดจุดแข็งของตัวเองที่มีอยู่
       
       ประเทศในเอเชียอย่าง เกาหลีใต้ เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในเรื่องของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ จนขึ้นมายืนเบียดกับยักษ์ใหญ่ Apple ของสหรัฐฯ และยังได้ออกสินค้าทางวัฒนธรรมอย่างกลุ่มนักร้องนักดนตรีจนโด่งดัง ภาพยนตร์จากแดนเกาหลี รวมไปถึงความเชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมความงามและเครื่องสำอาง
       
       ประเทศไทยมีจุดแข็งในสินค้าหลักของประเทศหลายด้าน ที่สามารถพัฒนาต่อยอดได้ แต่ยังไม่มีการส่งเสริมอย่างจริงจัง เช่น การแปรรูปสินค้าเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่า หรือไม่มีดีไซเนอร์ที่จะออกแบบหรือสร้างแบรนด์เสื้อผ้าเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมสิ่งทอ เหมือนในต่างประเทศ
       
       หากประเทศไทยสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ดั้งเดิมที่มีอยู่ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลได้ ย่อมเป็นการยกระดับรายได้ของผู้ประกอบการมากขึ้น และจะส่งต่อไปถึงราคาสินค้าที่เป็นต้นทางหลัก เท่ากับเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ผลิตไปพร้อม ๆ กัน 

“สมคิด” ชูธงก้าวข้ามกับดักเศรษฐกิจยุคเก่า
        

        ตั้งกรรมการ 3 ชุดขับเคลื่อน
       
       แนวทางดังกล่าวนับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนเข้ามาร่วมกันขับเคลื่อน และต้องใช้ระยะเวลาเพื่อการสานต่อการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจของประเทศในครั้งนี้ให้ประสบความสำเร็จ
       
       วันนี้ทีมเศรษฐกิจที่ผลักดันแนวทางดังกล่าวให้เกิดขึ้น มีทีมงานระดับรัฐมนตรีเข้ามาร่วมกันผลักดันในหลายกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ได้ ดร.อุตตมะ สาวนายน เข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการ หลังลาออกจากการเป็นรัฐมนตรีกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงพาณิชย์ที่ดูแลเรื่องการส่งออก ทั้งรัฐมนตรีว่าการและรัฐมนตรีช่วยว่าการอีก 2 ตำแหน่งถือว่าอยู่ในสายของรองนายกฯ สมคิดทั้งหมด
       
       ทั้งนี้การปรับสินค้าของไทยให้ก้าวเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 ต้องใช้ช่องทางการสื่อสารยุคใหม่ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระทรวงใหม่อย่างกระทรวงดิจิทัล ส่วนกระทรวงหลัก ๆ ที่เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจก็ยังคงอยู่ตามเดิมคือกระทรวงการคลังและกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
       
       ยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 นี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เน้นเรื่องการพัฒนาสู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน สร้างความเข้มแข็งจากภายใน ขับเคลื่อนตามแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ผ่านกลไกประชารัฐ
       
       ดังนั้นจึงมีการตั้งคณะกรรมการกำกับนโยบายและยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ในภาพรวม และมีคณะทำงานผลักดันวาระขับเคลื่อนตามนโยบายและยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 และอีกชุดคือ ทีมบริหารจัดการโครงการตามวาระขับเคลื่อน โดยมีการจัดตั้งสำนักงานประสานการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 เป็นตัวกลางในการสนับสนุนการดำเนินงานของทั้ง 3 ระดับให้ออกมาเป็นรูปธรรม
       
       ในการปรับเปลี่ยนประเทศไทยให้ไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 นั้นจะต้องเป็นการทำงานแบบบูรณาการของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งดึงเอาภาคเอกชนเข้าร่วมเป็นพี่เลี้ยงในการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า งานวิจัยและพัฒนาเพื่อปลุกความคิดสร้างสรรค์ การหานวัตกรรมใหม่ การใช้เทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อสร้างตลาดใหม่ ๆ นับเป็นเรื่องที่จำเป็น
       
       เห็นได้จากก่อนหน้านี้ แจ็ค หม่า เจ้าของร้านค้าออนไลน์อาลีบาบาของจีน ได้เข้าพบ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี หลังจากนั้นได้พบกันอีกครั้งในการเดินทางไปเยือนจีน จนเกิดความร่วมมือระหว่างกันที่จะช่วยเหลือสินค้าของไทย ตลอดจนถึงการอบรมความรู้ให้กับผู้ประกอบการไทย 

“สมคิด” ชูธงก้าวข้ามกับดักเศรษฐกิจยุคเก่า
สินค้าเกษตร สามารถต่อยอดเพิ่มมูลค่าให้กับเกษตรกรได้อีกมาก
        

        ต้องก้าวข้ามการเมืองแบบไทย
       
       อย่างไรก็ดีจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยปี 2559 ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดว่าจะเติบโตราว 3.3% และในปี 2560 คาดว่าจะเติบโตได้ในอัตราเดียวกันคือ 3.3% ซึ่งความพยายามขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเดินหน้าไปสู่ระบบเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่าไทยแลนด์ 4.0 นั้น ทีมงานของรองนายกฯ สมคิด ตั้งเป้าไว้ว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจนั้นจะเพิ่มจากระดับ 3-4% เป็น 5-6% ตามศักยภาพที่ควรจะเป็นของประเทศภายใน 5 ปี
       
       ในระยะ 10 ปีมีเป้าหมายที่สำคัญคือ ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นชาติการค้าและศูนย์กลางของธุรกิจในภูมิภาค ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางตลาดทุนของอาเซียนภายใน 10 ปี
       
       ไทยแลนด์ 4.0 นับเป็นความตั้งใจดีที่รัฐบาลต้องการขับเคลื่อนประเทศไทยให้เดินไปข้างหน้าและเป็นการปลุกความหวังให้กับคนไทยที่จะก้าวพ้นเศรษฐกิจเดิมที่เป็นอยู่ แต่การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่และต้องใช้เวลาดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
       
       ขณะที่ภายใต้สังคมและสภาพการเมืองแบบไทย กับแนวทางการปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจของประเทศที่ต้องอาศัยระยะเวลาค่อนข้างนานอย่างนี้ ทำให้อดเป็นห่วงไม่ได้ว่า หากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในอนาคตแนวคิดนี้จะได้รับการสานต่อหรือไม่ เพราะถือเป็นยุทธศาสตร์ใหญ่ของประเทศ
       
       หากมีรัฐบาลใหม่จากการเมืองภาคปกติกลับเข้ามาบริหารประเทศ โอกาสที่แนวทางดังกล่าวจะถูกยกเลิกไปย่อมมีความเป็นไปได้สูง เพราะอุปนิสัยของนักการเมืองไทยมักไม่อยากเห็นผลงานของใครมาเหนือกว่าผลงานในรัฐบาลของตัวเอง
       
       นั่นเป็นเพียงสถานการณ์ในอนาคตที่อาจเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นก็ได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลชุดนี้ จะเห็นได้ว่าทีมเศรษฐกิจสายพลเรือนนั้นแม้จะได้รับความไว้วางใจให้ดูแลในกระทรวงเศรษฐกิจหลายตำแหน่ง กลับพบว่ามีอุปสรรคไม่น้อยเช่นเดียวกัน หากสังเกตให้ดีจะพบว่ากระทรวงหลักอีก 1 กระทรวงที่ขาดหายไปนั่นคือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กลับอยู่ในความดูแลของรัฐมนตรีสายทหาร และมีรองนายกรัฐมนตรีสายทหารอีก 1 ท่านเป็นคนกำกับดูแล
       
       หมายความว่ากระทรวงเกษตรฯ ไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลของรองนายกฯ สมคิด
       
       ในการเดินหน้าไปสู่ระบบเศรษฐกิจใหม่ภายใต้ ไทยแลนด์ 4.0 นั้น สินค้าเกษตรถือว่าเป็นจุดแข็งของประเทศไทย สามารถนำไปสร้างนวัตกรรม เพื่อพัฒนาหรือต่อยอดได้หลากหลาย ทั้งด้านความงาม ด้านสุขภาพ หากมีการนำไปประยุกต์เข้ากับเรื่องงานวิจัยเพื่อต่อยอดพัฒนาเป็นสินค้าใหม่ ซึ่งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพืชเกษตรชนิดนั้นได้เป็นอย่างดี
       
       นี่เป็นเพียงแค่การเริ่มต้นภายในรัฐบาลเดียวกันก็ทำให้เห็นถึงโอกาสของอุปสรรคที่จะเกิดขึ้นได้บ้างแล้ว และหากการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดนี้ยังไม่สามารถทำให้เห็นชัดเจนว่า ฟื้นขึ้นได้จริง หรือเมื่อเดินเครื่องไทยแลนด์ 4.0 แล้วอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจไม่เป็นไปตามที่คาด
       
       สิ่งที่จะตามมานั่นคือ ความไม่พอใจของกลุ่มเกษตรกร หากยังไม่สามารถผลักดันให้ราคาพืชผลดีขึ้นมาได้ โดยเฉพาะกลุ่มพืชการเมืองที่เชื่อมไปถึงนักการเมืองเดิม ๆ อย่าง ข้าว อ้อย ยางพารา มันสำปะหลังและอื่น ๆ จะหวนกลับมาเป็นปัญหาให้รัฐบาลนี้ต้องแก้ไขกันอีกครั้ง

สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : สมคิด ชูธง ก้าวข้าม กับดักเศรษฐกิจยุคเก่า

view