จากประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ เอชอาร์คอร์เนอร์ โดย วัลลภา ซึ้งกมลพิสุทธิ์
ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2016 มีงานวิจัย และผลสำรวจจากต่างประเทศทั้งทางด้านสหรัฐอเมริกา และฝั่งยุโรปหลายสำนัก เสนอรายงานต่าง ๆ และการคาดคะเนว่า HR Trends ที่จะเกิดขึ้นมีเรื่องใดบ้างที่น่าสนใจ ผู้เขียนจึงขอสรุปประเด็นที่น่าสนใจสำหรับ HR Trends ในปี 2017 ที่คาดว่าน่าจะเกิดขึ้น
ผลสำรวจนี้ได้รวบรวมข้อมูลจากการส่งแบบสอบถามรวมถึงการสัมภาษณ์ผู้บริหารองค์กรชั้นนำในต่างประเทศและผู้เขียนหวังว่าผลสำรวจนี้จะช่วยจุดประกายไอเดียให้กับท่านทั้งหลายสำหรับการเตรียมความพร้อมในการวางกลยุทธ์รองรับสำหรับปีนี้
ประการแรกแนวโน้มการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับพนักงานและผู้สมัครองค์กรชั้นนำต่างๆโดยใช้กลยุทธ์และศาสตร์ของการตลาดมาช่วยผสมผสานงานของ HR กล่าวคือ ทำอย่างไรให้ทั้งพนักงาน และผู้สนใจร่วมงานกับองค์กรมีความรู้สึกเชิงบวกกับองค์กร (Improving Their Candidate and Employee Experience)
เมื่อเร็ว ๆ นี้มีงานวิจัยสรุปมาว่ากลุ่มผู้สมัครงานจำนวนไม่น้อยกว่า 70% ให้ความเห็นว่าได้รับประสบการณ์ที่ไม่ดีต่อองค์กรที่ตนยื่นใบสมัคร และได้โพสต์ความรู้สึกนี้ผ่านทาง Social Media โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นที่ว่าองค์กรที่ผู้สมัครไปสมัครงานนั้น ไม่แจ้งผลของสถานะใบสมัคร หรือผลการสัมภาษณ์ สิ่งเหล่านี้เอง ท่านคงปฏิเสธไม่ได้ว่ามีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ขององค์กรเป็นอย่างมาก สำหรับการดึงดูดผู้สมัครที่มีความสามารถเข้ามาสู่องค์กร
ประการที่สอง แนวโน้มเกิดการผสมผสานรูปแบบการจ้างงานประจำ และการจ้างงานแบบสัญญาชั่วคราว เนื่องจากในปีที่ผ่านมาธุรกิจออนไลน์มีแนวโน้มที่จะเติบโตมากขึ้น และมีพนักงานจำนวนไม่น้อยที่ตัดสินใจออกจากงานประจำ และเริ่มทำธุรกิจเล็ก ๆ ของตนเองผ่าน Social Media เนื่องจากได้อิสระด้านการบริหารจัดการเวลาด้วยตนเอง
ด้วยเหตุนี้หลาย ๆ องค์กรจึงนำแนวความคิดนี้มาปรับนโยบายจ้างงานแบบผสมผสานระหว่างพนักงานประจำ และพนักงานสัญญาจ้างชั่วคราว หรือสัญญาจ้างในรูปแบบการกำหนดระยะเวลาโครงการ ซึ่งผลสำรวจของ SHRM สหรัฐอเมริกาพบว่าการจ้างงานผสมผสานในรูปแบบ Flexible Working Employment นี้จะเพิ่มขึ้นในอนาคตนั้น เนื่องจากตอบโจทย์ทั้งกลุ่มพนักงานที่ต้องการเวลาให้กับตนเองและครอบครัวมากขึ้น (Work-Life Integration) และตอบโจทย์องค์กรในมุมของการประหยัดค่าใช้จ่ายในด้านสวัสดิการ และค่าเช่าพื้นที่สำนักงาน รวมถึงอุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงาน
โดยรูปแบบการบริหารพนักงานกลุ่มนี้กล่าวคือเน้นที่ผลสำเร็จของงานเป็นหลัก และส่งมอบงานผ่านทางอีเมล์
ประการที่ 3 แนวโน้มการปรับระบบงาน HR หรือ HR Practices ให้สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มพนักงานรุ่นใหม่ เจเนอเรชั่น ซี (Generation Z) เริ่มเพิ่มจำนวนเข้ามาสู่ตลาดแรงงาน นั่นหมายถึงกลุ่มคนที่เกิดหลังปี พ.ศ. 2540 ซึ่งเติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีต่าง ๆ และเรียนรู้ได้รวดเร็ว ด้วยเหตุนี้ไม่ว่าระบบประเมินผล การให้ฟีดแบ็ก (Feedback) ต่าง ๆ ควรจะปรับให้มีความรวดเร็ว และมีความถี่มากขึ้น
เนื่องจากกลุ่มเจเนอเรชั่น ซี ต้องการความรวดเร็วในทุก ๆ เรื่อง เช่น ให้หัวหน้างานฟีดแบ็กในเรื่องผลการทำงานที่มีทั้งมุมที่เป็นคำชมเพื่อให้กำลังใจ และสิ่งที่ต้องการพัฒนาเพิ่มเติมทันที, ช่องทางการรับสมัครและการแจ้งผลต้องรวดเร็ว รวมถึงสวัสดิการต่าง ๆ ต้องเป็นสิ่งที่น่าสนใจและเหมาะไลฟ์สไตล์ เป็นต้น
ประการที่ 4 แนวโน้มการดูแลพนักงานด้านสุขภาพแบบองค์รวม (Holistic Workplace Wellness) องค์กรต่าง ๆ จะมีรูปแบบการออกแบบสวัสดิการในเรื่องของการดูแลสุขภาพพนักงานเชิงป้องกันมากกว่าสวัสดิการค่ารักษาพนักงานเพียงอย่างเดียว
และเน้นให้ความรู้พนักงานในด้านการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ของตนในเรื่องของการใช้ชีวิตประจำวันอาทิอาหารการกินการออกกำลังกาย การบริหารจัดการความเครียด เป็นต้น
โดยผลสำรวจ CIPD-RAND Employer Survey พบว่าทุก ๆ 1 USD (35 บาท) สำหรับการลงทุนในโครงการ Corporate Wellness จะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนถึง 1.5-4 USD (52.50-140 บาท) เป็นต้น
ประการสุดท้าย แนวโน้มการบริหารจัดการแบบยืดหยุ่นเวลา (Flexible Workplace) อย่างไรก็ดีผลสำรวจจาก Forbes พบว่าพนักงานส่วนมากต้องการให้องค์กรพิจารณาเรื่องของความยืดหยุ่นในเวลาทำงาน
เน้นที่ผลของงานมากกว่าการนั่งทำงานประจำเต็มเวลาที่ออฟฟิศ และใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสื่อสารต่าง ๆ มาช่วยในการติดต่อสื่อสาร เช่น การประชุมผ่าน Video Conference, Face Time, Line เป็นต้น
ทั้งนี้เพื่อวัตถุประสงค์การสร้างความผูกพันระหว่างองค์กรกับพนักงาน, สร้างความต่างระหว่างองค์กรของท่านกับคู่แข่ง และใช้เป็นกลยุทธ์สำหรับการดึงดูดผู้สมัครที่มีความสามารถเข้ามาในองค์กรของท่าน
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน