จากประชาชาติธุรกิจ
นโยบายเศรษฐกิจของ "โดนัลด์ ทรัมป์" ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ ได้รับฉายาหลากหลายมากตั้งแต่ก่อนรับตำแหน่ง และแถลงนโยบายอย่างเป็นทางการในพิธีสาบานตน 20 มกราคมที่จะถึงนี้ เช่น นักเศรษฐศาสตร์บางคนเรียกขานว่า นโยบาย "วูดู" ชนิดที่ทำให้"ลาร์รี ซัมเมอร์ส" ศาสตราจารย์ฮาวาร์ด อดีตรัฐมนตรีคลังของ บิล คลินตันสำทับซ้ำว่าเป็นยิ่งกว่า "วูดู อีโคโนมิกส์" ทั้งหลายด้วยซ้ำไป
มีข้อวิพากษ์วิจารณ์บางชิ้นที่น่าสนใจ อย่างเช่น "พอล โรเซนเบิร์ก" นักเขียนและนักเคลื่อนไหวชาวอเมริกันจากแคลิฟอร์เนีย ที่เรียกขานแนวนโยบายเศรษฐกิจสำคัญ ๆ ของ โดนัลด์ ทรัมป์ ว่า เป็นนโยบาย "ฟองสบู่"
นโยบายเศรษฐกิจของทรัมป์เชื่อกันว่าเป็นผลงานร่วมของ "ปีเตอร์ นาวาร์โร"นักเศรษฐศาสตร์ที่ถูกกำหนดตัวให้ทำหน้าที่เป็นประธานสภาการค้าประจำทำเนียบประธานาธิบดีคนใหม่ ร่วมกับ "วิลเบอร์ รอสส์" ที่ถูกทรัมป์เลือกให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และกำลังเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาเรื่อย ๆ ในเวลานี้
โรเซนเบิร์กวิเคราะห์ว่า แนวนโยบายสำคัญ 3 อย่างของทรัมป์ ล้วนแล้วแต่เป็น "ฟองสบู่" ที่อาจมองดูสวยหรูและใหญ่โตในช่วงแรก แต่ก็เพียงเท่านั้น เพราะถึงที่สุดแล้ว ฟองสบู่ ไม่ว่าจะสวยงามแค่ไหน ใหญ่โตเพียงใด สุดท้ายก็ลงเอยแตกดังโพละทั้งนั้น
คุณลักษณะที่ "แย่" ที่สุดในบรรดานโยบายเศรษฐกิจของทรัมป์ ในสายตาของโรเซนเบิร์กก็คือ การที่ทรัมป์ประกาศจะขยายการผลิตพลังงานจากฟอสซิล(ในที่นี้หมายรวมถึงน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ) ซึ่งไม่เพียงสวนกระแสโลกเท่านั้น ยังเป็นนโยบายที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงแวดล้อมในเรื่องพลังงาน
โรเซนเบิร์กเรียกแนวทางนี้ว่าเป็นการสร้าง "ฟองสบู่คาร์บอน" ขนาดใหญ่ขึ้นมา
ข้อเท็จจริงที่สวนทางกับนโยบายของทรัมป์ก็คือ ความจริงที่ว่า 80% ของปริมาณพลังงานสำรอง (ในรูปน้ำมันและก๊าซ) ที่สหรัฐมีอยู่ในเวลานี้ ไม่มีวันถูกนำมาใช้และใช้ไม่ได้ เพราะสวนกระแสกับการพัฒนาพลังงานของโลก ผลก็คือคลังสำรองที่ว่านี้มีค่าเท่ากับ "ศูนย์" แต่ทรัมป์กำลังทำให้มันมีค่า "เกินจริง" ขึ้นมามหาศาลจากแนวนโยบายใหม่ที่จะสร้าง "แรงจูงใจเทียม" ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นก็คือ ธุรกิจอะไรก็ตามที่เกี่ยวพันเชื่อมโยงอยู่กับพลังงานจากซากฟอสซิล อาทิ กิจการท่อลำเลียงน้ำมัน, โรงไฟฟ้าใช้น้ำมันและก๊าซ เรื่อยไปจนถึงโรงกลั่นทั้งหลาย จะมีมูลค่าเกินความจริงตามไปด้วย
กลายเป็นฟองสบู่คาร์บอนที่แตกโพละออกมาเมื่อใด ทุกคนที่หลงเชื่อก็กลายเป็น"หน้าโง่" ไปเหมือนกันทั้งหมด
พอล โรเซนเบิร์ก ยกเหตุผลมากมายที่แสดงให้เห็นว่า "น้ำมันและก๊าซ" ถึงที่สุดจะกลายเป็นพลังงานที่ล้าสมัยและไม่มีใครใช้ เหตุผลแรกมาจากเอกสารแนะแนวทางการลงทุนด้านสาธารณูปการที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ ของ เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม (WEF) ที่แสดงให้เห็นว่า ในขณะที่ต้นทุนของพลังงานสะอาดลดต่ำลงฮวบฮาบใน 2-3 ปีที่ผ่านมา ในเวลาเดียวกับที่ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นเรื่อย ๆ
ดับเบิลยูอีเอฟประเมินว่า ในปี 2020 อีกเพียง 4 ปีข้างหน้า ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากแผงโซลาร์เซลล์จะมีต้นทุนต่ำกว่าไฟฟ้าที่ผลิตจากถ่านหินหรือก๊าซธรรมชาติทั่วทั้งโลก
รายงานชิ้นเดียวกันชี้ว่าภาคธุรกิจพลังงานสะอาดซึ่งกลายเป็นภาคธุรกิจเชิงเทคโนโลยีที่เกิดใหม่ยิ่งนับวันจะยิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้นตรงกันข้ามกับอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซที่นับวันจะแพงขึ้นเรื่อย ๆ เพราะน้ำมันที่สูบได้ง่าย ๆ เข้าถึงง่ายใช้กันหมดไปแล้ว ถึงปี 2030 พัฒนาการทางเทคโนโลยีจะทำให้ต้นทุนทางธุรกิจพลังงานสะอาดต่ำลง ทิ้งน้ำมันและก๊าซไปไม่เห็นฝุ่น
ดับเบิลยูอีเอฟชี้ว่า 1 ปีหลังมีการลงนามความตกลงปารีส มีการเลิกการลงทุนในธุรกิจพลังงานฟอสซิลสูงถึง 5 ล้านล้านดอลลาร์ ทั้งจากนักลงทุนประเภทสถาบันและนักลงทุนเอกชนใน 76 ประเทศ
เรื่องที่สอง โรเซนเบิร์ก ระบุว่า คือคำสัญญาของทรัมป์ที่ย้ำว่าจะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของสหรัฐขยายตัวให้ได้ 4% หรือ 3.5% ต่อปีไปให้ต่อเนื่องนานกว่าทศวรรษ ซึ่งถูก "แชด สโตน" หัวหน้าคณะนักเศรษฐศาสตร์ประจำศูนย์ศึกษางบประมาณและลำดับความสำคัญนโยบาย (ซีบีพีพี) ระบุว่า"เป็นความคาดหวังถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจเกินจริงของทรัมป์" ที่เป็นไปไม่ได้ ในยามที่ประชากรสูงอายุเพิ่มสูงขึ้น จำนวนแรงงานลดลง เพราะแรงงานอพยพถูกกีดกันจากนโยบายรัฐ
ความพยายามกระตุ้นด้วยการอัดฉีดโดยตรงอาจช่วยได้ แต่สิ่งที่จะเกิดตามมาคือภาวะงบประมาณขาดดุล ซึ่งที่ผ่านมารีพับลิกันเองนั่นแหละที่รับไม่ได้
สุดท้าย ทรัมป์ประกาศจะฟื้นฟูภาวะการจ้างงานในอุตสาหกรรมเหมืองถ่านหินและอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งโรเซนเบิร์กถามว่า จะเป็นไปได้อย่างไรกัน ในเมื่อแม้แต่อุตสาหกรรมการผลิตในประเทศอย่างจีน ยัง "เสียงาน" ให้กับตลาดแรงงานราคาถูกด้วยซ้ำไป
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน