สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

นโยบายเศรษฐกิจ ฟองสบู่ ของ โดนัลด์ ทรัมป์

จากประชาชาติธุรกิจ

นโยบายเศรษฐกิจของ "โดนัลด์ ทรัมป์" ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ ได้รับฉายาหลากหลายมากตั้งแต่ก่อนรับตำแหน่ง และแถลงนโยบายอย่างเป็นทางการในพิธีสาบานตน 20 มกราคมที่จะถึงนี้ เช่น นักเศรษฐศาสตร์บางคนเรียกขานว่า นโยบาย "วูดู" ชนิดที่ทำให้"ลาร์รี ซัมเมอร์ส" ศาสตราจารย์ฮาวาร์ด อดีตรัฐมนตรีคลังของ บิล คลินตันสำทับซ้ำว่าเป็นยิ่งกว่า "วูดู อีโคโนมิกส์" ทั้งหลายด้วยซ้ำไป

มีข้อวิพากษ์วิจารณ์บางชิ้นที่น่าสนใจ อย่างเช่น "พอล โรเซนเบิร์ก" นักเขียนและนักเคลื่อนไหวชาวอเมริกันจากแคลิฟอร์เนีย ที่เรียกขานแนวนโยบายเศรษฐกิจสำคัญ ๆ ของ โดนัลด์ ทรัมป์ ว่า เป็นนโยบาย "ฟองสบู่"

นโยบายเศรษฐกิจของทรัมป์เชื่อกันว่าเป็นผลงานร่วมของ "ปีเตอร์ นาวาร์โร"นักเศรษฐศาสตร์ที่ถูกกำหนดตัวให้ทำหน้าที่เป็นประธานสภาการค้าประจำทำเนียบประธานาธิบดีคนใหม่ ร่วมกับ "วิลเบอร์ รอสส์" ที่ถูกทรัมป์เลือกให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และกำลังเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาเรื่อย ๆ ในเวลานี้



โรเซนเบิร์กวิเคราะห์ว่า แนวนโยบายสำคัญ 3 อย่างของทรัมป์ ล้วนแล้วแต่เป็น "ฟองสบู่" ที่อาจมองดูสวยหรูและใหญ่โตในช่วงแรก แต่ก็เพียงเท่านั้น เพราะถึงที่สุดแล้ว ฟองสบู่ ไม่ว่าจะสวยงามแค่ไหน ใหญ่โตเพียงใด สุดท้ายก็ลงเอยแตกดังโพละทั้งนั้น

คุณลักษณะที่ "แย่" ที่สุดในบรรดานโยบายเศรษฐกิจของทรัมป์ ในสายตาของโรเซนเบิร์กก็คือ การที่ทรัมป์ประกาศจะขยายการผลิตพลังงานจากฟอสซิล(ในที่นี้หมายรวมถึงน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ) ซึ่งไม่เพียงสวนกระแสโลกเท่านั้น ยังเป็นนโยบายที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงแวดล้อมในเรื่องพลังงาน

โรเซนเบิร์กเรียกแนวทางนี้ว่าเป็นการสร้าง "ฟองสบู่คาร์บอน" ขนาดใหญ่ขึ้นมา

ข้อเท็จจริงที่สวนทางกับนโยบายของทรัมป์ก็คือ ความจริงที่ว่า 80% ของปริมาณพลังงานสำรอง (ในรูปน้ำมันและก๊าซ) ที่สหรัฐมีอยู่ในเวลานี้ ไม่มีวันถูกนำมาใช้และใช้ไม่ได้ เพราะสวนกระแสกับการพัฒนาพลังงานของโลก ผลก็คือคลังสำรองที่ว่านี้มีค่าเท่ากับ "ศูนย์" แต่ทรัมป์กำลังทำให้มันมีค่า "เกินจริง" ขึ้นมามหาศาลจากแนวนโยบายใหม่ที่จะสร้าง "แรงจูงใจเทียม" ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นก็คือ ธุรกิจอะไรก็ตามที่เกี่ยวพันเชื่อมโยงอยู่กับพลังงานจากซากฟอสซิล อาทิ กิจการท่อลำเลียงน้ำมัน, โรงไฟฟ้าใช้น้ำมันและก๊าซ เรื่อยไปจนถึงโรงกลั่นทั้งหลาย จะมีมูลค่าเกินความจริงตามไปด้วย

กลายเป็นฟองสบู่คาร์บอนที่แตกโพละออกมาเมื่อใด ทุกคนที่หลงเชื่อก็กลายเป็น"หน้าโง่" ไปเหมือนกันทั้งหมด

พอล โรเซนเบิร์ก ยกเหตุผลมากมายที่แสดงให้เห็นว่า "น้ำมันและก๊าซ" ถึงที่สุดจะกลายเป็นพลังงานที่ล้าสมัยและไม่มีใครใช้ เหตุผลแรกมาจากเอกสารแนะแนวทางการลงทุนด้านสาธารณูปการที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ ของ เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม (WEF) ที่แสดงให้เห็นว่า ในขณะที่ต้นทุนของพลังงานสะอาดลดต่ำลงฮวบฮาบใน 2-3 ปีที่ผ่านมา ในเวลาเดียวกับที่ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นเรื่อย ๆ

ดับเบิลยูอีเอฟประเมินว่า ในปี 2020 อีกเพียง 4 ปีข้างหน้า ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากแผงโซลาร์เซลล์จะมีต้นทุนต่ำกว่าไฟฟ้าที่ผลิตจากถ่านหินหรือก๊าซธรรมชาติทั่วทั้งโลก

รายงานชิ้นเดียวกันชี้ว่าภาคธุรกิจพลังงานสะอาดซึ่งกลายเป็นภาคธุรกิจเชิงเทคโนโลยีที่เกิดใหม่ยิ่งนับวันจะยิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้นตรงกันข้ามกับอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซที่นับวันจะแพงขึ้นเรื่อย ๆ เพราะน้ำมันที่สูบได้ง่าย ๆ เข้าถึงง่ายใช้กันหมดไปแล้ว ถึงปี 2030 พัฒนาการทางเทคโนโลยีจะทำให้ต้นทุนทางธุรกิจพลังงานสะอาดต่ำลง ทิ้งน้ำมันและก๊าซไปไม่เห็นฝุ่น

ดับเบิลยูอีเอฟชี้ว่า 1 ปีหลังมีการลงนามความตกลงปารีส มีการเลิกการลงทุนในธุรกิจพลังงานฟอสซิลสูงถึง 5 ล้านล้านดอลลาร์ ทั้งจากนักลงทุนประเภทสถาบันและนักลงทุนเอกชนใน 76 ประเทศ

เรื่องที่สอง โรเซนเบิร์ก ระบุว่า คือคำสัญญาของทรัมป์ที่ย้ำว่าจะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของสหรัฐขยายตัวให้ได้ 4% หรือ 3.5% ต่อปีไปให้ต่อเนื่องนานกว่าทศวรรษ ซึ่งถูก "แชด สโตน" หัวหน้าคณะนักเศรษฐศาสตร์ประจำศูนย์ศึกษางบประมาณและลำดับความสำคัญนโยบาย (ซีบีพีพี) ระบุว่า"เป็นความคาดหวังถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจเกินจริงของทรัมป์" ที่เป็นไปไม่ได้ ในยามที่ประชากรสูงอายุเพิ่มสูงขึ้น จำนวนแรงงานลดลง เพราะแรงงานอพยพถูกกีดกันจากนโยบายรัฐ

ความพยายามกระตุ้นด้วยการอัดฉีดโดยตรงอาจช่วยได้ แต่สิ่งที่จะเกิดตามมาคือภาวะงบประมาณขาดดุล ซึ่งที่ผ่านมารีพับลิกันเองนั่นแหละที่รับไม่ได้

สุดท้าย ทรัมป์ประกาศจะฟื้นฟูภาวะการจ้างงานในอุตสาหกรรมเหมืองถ่านหินและอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งโรเซนเบิร์กถามว่า จะเป็นไปได้อย่างไรกัน ในเมื่อแม้แต่อุตสาหกรรมการผลิตในประเทศอย่างจีน ยัง "เสียงาน" ให้กับตลาดแรงงานราคาถูกด้วยซ้ำไป


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : นโยบายเศรษฐกิจ ฟองสบู่ โดนัลด์ ทรัมป์

view