จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
หลังจากการต่อสู้คดีอันยาวนานหลายปีของ “ครูจอมทรัพย์” หรือ นางจอมทรัพย์ แสนเมืองโคตร อดีตครูโรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.สกลนคร วัย 54 ปี ผู้รับราชการครูมา 31 ปี ในคดีขับรถโดยประมาท ทำให้ผู้อื่นถึงแก่ชีวิต เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2548 ทั้งๆ ที่วันเกิดเหตุ เจ้าตัวกำลังพักผ่อนนอนดูทีวีอยู่กับครอบครัว และรถจอดอยู่ที่บ้าน ก่อนที่ในเวลาต่อมาเธอจะถูกศาลชั้นต้นตัดสินถูกจำคุก 3 ปี 2 เดือน ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับยกฟ้อง และศาลฎีกาพิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ทำให้เธอต้องจำคุกตั้งแต่ปี 2556 และได้รับอภัยโทษออกมาเมื่อปี 2558 รวมเวลาอยู่ในคุก 1 ปี 6 เดือน ทีมข่าว MGR Online ขอนำคำพิพากษาศาลฎีกามาเผยแพร่ดังนี้ โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2548 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยขับรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน บค 56 สกลนคร ไปตามทางเดินรถถนนสายธาตุน้อย - นาเหนือ จากทางบ้านธาตุน้อยมุ่งหน้าไปทางบ้านนาเหนือ ถึงที่เกิดเหตุบริเวณบ้านสร้างเม็ก ซึ่งมีเครื่องหมายจราจรแบ่งทางเดินรถออกเป็นสองทางสำหรับรถเดินขึ้นทางหนึ่งล่องทางหนึ่ง ด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นจำเลยนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ กล่าวคือ ขณะนั้นเป็นเวลากลางคืนซึ่งทัศนวิสัยในการขับไม่ดีมองเห็นได้ในระยะใกล้กันเท่านั้น จำเลยต้องไม่ขับรถคันดังกล่าวด้วยความเร็งสูงเกินสมควรจนไม่สามารถหยุดรถได้ทัน หรือชะลอความเร็วของรถให้ช้าลงพอที่จะขับรถหลบหลีกไม่ชนรถคันอื่น หรือสิ่งอื่นที่กีดขวางอยู่ข้างหน้าได้ทัน และในการที่จำเลยจะขับรถแซงขึ้นหน้ารถจักรยานยนต์ซึ่งผู้มีชื่อขับแล่นอยู่ข้างหน้าในช่องเดินรถเดียวกับจำเลย จำเลยควรใช้ความระมัดระวังในการขับรถดังกล่าวด้วยการชะลอความเร็วของรถให้ช้าลง และเมื่อเห็นว่าทางเดินรถข้างหน้าปลอดภัยเพียงพอและไม่มีรถอื่นสวนทางมาจึงค่อยขับรถแซงขึ้นหน้าไป ทั้งนี้โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและความเดือดร้อนของผู้อื่น ซึ่งจำเลยอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ จำเลยกลับขับรถคันดังกล่าวด้วยความเร็วสูงเกินสมควร โดยไม่ชะลอความเร็วของรถให้ช้าลงพอที่จะหยุดรถได้ทัน หรือขับหลบหลีกไม่ให้ชนรถคันอื่นได้ และได้ขับรถแซงขึ้นหน้ารถจักรยานยนต์ของผู้มีชื่อซึ่งแล่นอยู่ข้างหน้าทางเดินรถของจำเลยล้ำเส้นแบ่งครึ่งของถนนเข้าไปในช่องเดินรถสวนกัน ซึ่งขณะนั้นมี นายเหลือ พ่อบำรุง ขี่รถจักรยานสองล้อสวนมาในช่องเดินรถสวน เป็นเหตุให้รถคันที่จำเลยขับชนรถจักรยานสองล้อคันที่นายเหลือขี่สวนทางมา ทำให้รถจักรยานสองล้อดังกล่าวได้รับความเสียหาย นายเหลือถึงแก่ความตาย เมื่อจำเลยขับรถยนต์กระบะคันดังกล่าว เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลและทรัพย์สินของบุคคลอื่นแล้วจำเลยไม่หยุดรถและให้ความช่วยเหลือตามสมควร และไม่ไปแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ใกล้เคียงทันที เหตุเกิดที่ตำบลทางลาด อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43, 47, 78, 157, 160 จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 (4) (8), 47, 78 (ที่ถูก มาตรา 78 วรรคหนึ่ง), 157, 160 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานขับรถโดยประมาทอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือเดือดร้อนของบุคคลอื่น ขับรถแซงรถอื่นล้ำเข้าไปในเส้นกึ่งกลางของทางเดินรถในขณะมีรถอื่นสวนทางมา และประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย อันเป็นบทที่มีอัตราโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 ปี ฐานไม่หยุดและให้ความช่วยเหลือตามสมควร และไม่ไปแสดงตัวกับแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที จำคุก 2 เดือน รวมจำคุก 3 ปี 2 เดือน จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง มีผู้ขับรถยนต์ชนรถจักรยานที่นายเหลือ พ่อบำรุง ผู้ตาย ขี่เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายและรถจักรยานได้รับความเสียหาย คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ โจทก์มีนางทัศนีย์ หาญพยัคฆ์ มาเป็นพยานเบิกความว่า รถยนต์กระบะแล่นแซงรถจักรยานยนต์ที่พยานขับล้ำเข้าไปชนกับรถจักรยานที่ผู้ตายขี่สวนมา แล้วคนขับรถยนต์กระบะหยุดรถ พยานหันหน้ารถจักรยานยนต์เพื่อให้ไฟหน้ารถส่องไปบริเวณที่เกิดเหตุพบว่ารถยนต์กระบะมีหมายเลขทะเบียน บค 56 สกลนคร และเห็นคนขับรถเป็นผู้ชายเปิดประตูรถลงมาไปดูผู้ตาย พยานก็ขับรถจักรยานยนต์ออกไป กับมีนายทวีเลิศ ท่อนทอง มาเป็นพยานเบิกความว่า มีผู้มาเล่าให้ฟังว่ารถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน บค 56 สกลนคร ขับแซงรถจักรยานยนต์ไปชนรถจักรยานที่ผู้ตายขี่ วันรุ่งขึ้นนางทัศนีย์มาเล่าเหตุการณ์ให้พยานฟังและบอกว่าเห็นผู้ชายลงมาจากรถยนต์กระบำ นอกจากนั้นโจทก์ยังมีพันตำรวจตรีทนงศักดิ์ โพธิ์โหน่ง พนักงานสอบสวนมาเป็นพยานเบิกความว่า ตรวจสอบหมายเลขทะเบียนรถยนต์กระบะดังกล่าวทราบว่านายประพัฒน์ แสนเมืองโคตร เป็นเจ้าของ จึงแจ้งให้นำรถยนต์มาตรวจสอบ นายประพัฒน์แจ้งว่าซื้อรถยนต์ดังกล่าวมาจากจำเลยในวันเกิดเหตุ แต่จำเลยยืมรถยนต์ไปใช้แล้วไม่นำมาคืน เมื่อนายประพัฒน์ไปรับรถในวันรุ่งขึ้นก็พบรอยครูดใหม่บริเวณใกล้โคมไฟหน้าด้านซ้าย และร้อยตำรวจเอกทศพล ธรรมวงศ์ ผู้ตรวจสถานที่เกิดเหตุมาเป็นพยานเบิกความว่า พยานตรวจพิสูจน์ร่องรอยการเฉี่ยวชนรถยนต์กระบะดังกล่าว พบรอยครูดเก่าและรอยครูดใหม่จากด้านหน้าลากไปถึงกระจกมองข้างด้านซ้าย บริเวณใกล้ไฟหน้าด้านซ้ายพบรอยกระทบด้วยวัตถุที่มีน้ำหนักและอ่อนนุ่มคล้ายส่วนใดส่วนหนึ่งของมนุษย์ซึ่งมีเส้นใยและมีรอยประทับของเส้นใยที่ฝากระโปรงด้านหน้ารถ พบสีเขียวติดอยู่ที่ตะเกียบหน้าซ้ายของรถจักรยานและบังโคลนหน้า พยานมีความเห็นว่ารถจักรยานกระทบกับรถยนต์กระบะบริเวณด้านหน้าข้างซ้ายบริเวณแผ่นป้ายทะเบียนของรถยนต์ แต่ไม่พบร่องรอยการบุบของแผ่นป้ายทะเบียน เห็นว่า คดีนี้มิได้มีการจับกุมผู้กระทำความผิดได้ในที่เกิดเหตุ
ดังนั้น จึงจำต้องพิจารณาเสียก่อนว่า รถยนต์กระบะคันเกิดเหตุมีหมายเลขทะเบียนอะไร ในข้อนี้โจทก์มีนางทัศนีย์ซึ่งเป็นประจักษ์พยานเบิกความยืนยันว่าพยานเห็นและจดจำหมายเลขทะเบียนรถยนต์กระบะคันที่ชนผู้ตายได้ว่ามีหมายเลขทะเบียน บค 56 สกลนคร เห็นว่า แม้ว่าเหตุคดีนี้จะเกิดในเวลากลางคืนและบริเวณที่เกิดเหตุไม่มีแสงไฟจากเสาไฟฟ้าข้างทางส่องสว่างก็ตาม แต่นางทัศนีย์ก็เบิกความว่าใช้แสงไฟของรถจักรยานยนต์คันที่ตนขับส่องไปบริเวณท้ายรถยนต์ที่จอดอยู่ห่างประมาณ 10 เมตร สามารถมองเห็นหมายเลขทะเบียนรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุได้อย่างชัดเจน โดยยืนยันด้วยว่าไฟส่องสว่างด้านหน้ารถจักรยานยนต์ของตนยังอยู่ในสภาพดี และคำเบิกความดังกล่าวนี้ก็สอดคล้องกับในบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของนางทัศนีย์ตามเอกสารหมาย จ.4 ที่ได้ให้การใกล้ชิดกับวันเวลาที่เกิดเหตุ จึงน่าเชื่อว่าข้อเท็จจริงเป็นไปตามคำเบิกความของนางทัศนีย์ เมื่อต่อมาพนักงานสอบสวนได้ตรวจสอบหมายเลขทะเบียนรถยนต์กระบะคันดังกล่าว จนกระทั่งทราบชื่อเจ้าของรถและนำรถมาให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบ โดยมีร้อยตำรวจเอกทศพล ธรรมวงศ์ เป็นผู้ตรวจพิสูจน์ ซึ่งก็ได้ตรวจพบว่าบริเวณฝากระโปรงด้านหน้าข้างซ้ายของรถมีรอยครูดซึ่งมีลักษณะของการครูด 2 ครั้ง ครั้งแรกเป็นรอยครูที่เกิดขึ้นเป็นเวลานานแล้ว มีสนิมเกาะบางส่วน ครั้งที่สองเป็นรอยครูดใหม่ทับรอยครูดเก่าอีกชั้นหนึ่ง และบริเวณใกล้กับโคมไฟหน้ามีลักษณะกระทบกับวัตถุที่มีน้ำหนักและอ่อนนุ่มเช่นส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายมนุษย์ จนปรากฏรอยเส้นประทับอยู่ และตรวจพบสีเขียวที่บริเวณตะเกียบกับบังโคลนด้านหน้ารถจักรยานของผู้ตายตามรายงานการตรวจพิสูจน์เอกสารหมาย จ.7 ซึ่งความเห็นของร้อยตำรวจเอกทศพลก็สอดคล้องกับความเห็นของนายสุรพงษ์ ละมูลน้อย ผู้ตรวจสอบความเสียหายของรถยนต์กระบะที่มาเบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า พยานได้ทำการตรวจสภาพรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน บค 56 สกลนคร แล้ว พบว่าบนฝากระโปรงด้านซ้ายมีรอยครูดเก่าและรอยครูดใหม่จากด้านโคมไฟส่องหน้าเฉียงยาวไปถึงกระจกมองข้างด้านซ้าย ตามบันทึกการตรวจสภาพรถเอกสารหมาย จ.2 และคำเบิกความของนายประพัฒน์ที่ว่า เมื่อรับรถยนต์กระบะจากจำเลยพบรอยครูดใหม่ซึ่งไม่เคยเห็นมาก่อน ความเห็นของร้อยตำรวจเอกทศพลตามรายงานการตรวจพิสูจน์เอกสารหมาย จ.7 มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ นอกจากนั้นยังปรากฏข้อเท็จจริงต่อไปว่า ต่อมาพนักงานสอบสวนได้ส่งชิ้นส่วนรถจักรยานของผู้ตายที่มีสีเขียวติดอยู่กับแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุไปตรวจพิสูจน์ที่กองพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งร้อยตำรวจเอกหญิงประทุม พรมมี ผู้ตรวจพิสูจน์ก็ได้ลงความเห็นว่า สีเขียวที่ปรากฏในชิ้นส่วนรถจักรยานของผู้ตายเป็นสีเขียวชนิดเดียวกับสีเขียวของแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์กระบะตามรายงานการตรวจพิสูจน์เอกสารหมาย ป.จ.1 (ศาลอาญากรุงเทพใต้) เมื่อพิเคราะห์คำเบิกความของนางทัศนีย์ ประจักษ์พยานโจทก์ประกอบความเห็นของผู้ตรวจพิสูจน์ทั้งสองปากแล้ว ทำให้มีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้ว่า มีผู้ขับรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน บค 56 สกลนคร ด้วยความประมาทเลินเล่อเฉี่ยวชนกับรถจักรยานของผู้ตายเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงความตายจริง ส่วนในข้อที่ว่า ผู้ใดเป็นคนขับรถยนต์กระบะคันดังกล่าวชนผู้ตายนั้น โจทก์มีนายประพัฒน์มาเป็นพยานเบิกความยืนยันว่า จำเลยเป็นผู้ครอบครองรถยนต์กระบะคันดังกล่าวในช่วงเวลาเกิดเหตุ ซึ่งในข้อนี้จำเลยก็เบิกความรับว่าเป็นจริง ตามที่โจทก์นำสืบ แม้นางทัศนีย์จะเบิกความว่าพยานเห็นคนขับรถยนต์กระบะลงมาจากรถด้วยและยืนยันว่าคนขับเป็นผู้ชาย โดย นายทวีเลิศ และ นายสว่าง พ่อบำรุง ซึ่งเป็นน้องชายผู้ตายต่างเบิกความว่า นางทัศนีย์มาเล่าข้อเท็จจริงดังกล่าวให้นายทวีเลิศฟังด้วย และนายทวีเลิศก็มาเล่าให้นายสว่างฟังอีกต่อหนึ่ง แต่ในบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของนางทัศนีย์และนางทวีเลิศตามเอกสารหมาย จ.4 และ จ.6 ซึ่งได้ให้การใกล้ชิดกับวันเวลาที่เกิดเหตุก็ไม่ได้ระบุถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวเอาไว้ ทั้งๆ ที่เป็นข้อเท็จจริงในส่วนที่สำคัญ โดย นางทัศนีย์ เบิกความว่า ได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนได้แล้ว แต่พนักงานสอบสวนไม่ได้บันทึกไว้ ซึ่งเมื่อพิเคราะห์ข้อความในบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของนางทัศนีย์ตามเอกสารหมาย จ.4 แล้ว ปรากฏว่า มีการระบุรายละเอียดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างละเอียดเป็นขั้นตอน ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ขัดต่อเหตุผลและผิดปกติอย่างยิ่งที่พนักงานสอบสวนจะไม่ได้บันทึกว่าประจักษ์พยานเห็นผู้กระทำความผิดว่าเป็นชายหรือหญิง อีกทั้งจะสันนิษฐานว่าพนักงานสอบสวนกระทำการโดยจงใจไม่บันทึกคำให้การเช่นว่านั้นเพื่อให้เป็นผลร้ายแก่จำเลย ก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะในขณะสอบปากคำพยานดังกล่าวพนักงานสอบสวนก็ยังไม่ทราบว่าเจ้าของรถยนต์กระบะคันที่เกิดเหตุเป็นชายหรือหญิง เนื่องจากหนังสือแจ้งของสำนักงานขนส่งจังหวัดสกลนครตามเอกสารหมาย จ.13 ที่แจ้งชื่อของเจ้าของรถยนต์กระบะนั้น ลงวันที่ 16 มีนาคม 2548 แต่บันทึกคำให้การชั้นสอบสวนเอกสารหมาย จ.4 และ จ.6 ระบุว่าสอบคำให้การวันที่ 13 มีนาคม 2548 คำให้การชั้นสอบสวนในส่วนนี้จึงน่าเชื่อว่าจะเป็นความจริงยิ่งกว่าคำเบิกความของพยานในชั้นพิจารณา พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักมั่นคงให้รับฟังได้ว่า จำเลยเป็นคนขับรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน บค 56 สกลนคร ชนผู้ตายจริง ที่จำเลยนำสืบว่า ไม่ได้ขับรถไปในบริเวณที่เกิดเหตุนั้น ก็มีเพียงจำเลย และนางยุพิน ปรีจิตร ซึ่งเป็นญาติของจำเลยมาเบิกความเป็นพยานเท่านั้น ซึ่งง่ายแก่การกล่าวอ้างและมีน้ำหนักน้อย ส่วนที่จำเลยมี นายคึกฤทธิ์ สุนรบดี ซึ่งเป็นหัวหน้างานตรวจสภาพรถ สำนักงานขนส่งจังหวัดนครพนม มาเป็นพยานเบิกความว่า สีเขียวบริเวณตัวอักษรและขอยแผ่นป้ายทะเบียนของรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล หรือรถยนต์กระบะเหมือนกันทั้งประเทศนั้น เห็นว่า แม้จะเป็นจริงดังที่นายคึกฤทธิ์พยานจำเลยเบิกความ แต่คดีนี้โจทก์มีพยานหลักฐานเชื่อมโยงกันโดยตลอดตั้งแต่คำเบิกความของประจักษ์พยาน ผู้ตรวจพิสูจน์ร่องรอยการเฉี่ยวชน และผู้ทำการตรวจพิสูจน์ชิ้นส่วนรถจักรยานกับแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์กระบะดังที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยไว้โดยละเอียดแล้ว มิได้อาศัยเพียงผลการตรวจพิสูจน์ที่ระบุว่าสีเขียวที่ติดอยู่บริเวณชิ้นส่วนรถจักรยานเป็นสีเขียวชนิดเดียวกับสีเขียวของแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์กระบะเท่านั้น จึงไม่สามารถหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ และที่จำเลยนำสืบอ้างว่า บริเวณฝากระโปรงรถยนต์ด้านซ้ายเป็นรอยเก่า ไม่มีรอยครูดใหม่ โดยมีบันทึกยืนยันสภาพรถยนต์ตามเอกสารหมาย ป.ล.3 (ศาลจังหนวัดสกลนคร) มาประกอบการพิจารณาด้วยนั้น เห็นว่า ข้ออ้างของจำเลยดังกล่าวขัดแย้งกับความเห็นของผู้ตรวพิสูจน์ และไม่ปรากฏว่าบันทึกยืนยันสภาพรถยนต์ดังกล่าวได้จัดทำขึ้นเมื่อใด จึงยังไม่พอฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้อีกเช่นเดียวกัน พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมารับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่า จำเลยขับรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน บค 56 สกลนคร ชนผู้ตาย แล้วจำเลยไม่หยุดรถและให้ความช่วยเหลือตามสมควร และไม่ไปแสดงตัวกับแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที จำเลยจึงมีความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน