จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
โดย โรม บุนนาค
|
เจ้าพระยาอภัยราชา |
|
|
ในประวัติศาสตร์ชาติไทย มีชาวต่างชาติเพียง ๒ คนเท่านั้นที่เข้ามารับราชการไทย แล้วได้รับบรรดาศักดิ์สูงสุดถึงขั้นเจ้าพระยา คนแรกก็คือ คอนสแตนติน ฟอนคอน กลาสีเรือพเนจร หรือ เจ้าพระยาวิชเยนทร์ เจ้าพระยาฝรั่งหนึ่งเดียวของกรุงศรีอยุธยา อีกคนหนึ่งก็คือ กุสตาฟ โรลัง ยัคมินส์ (Gustave Rolin Jaequemyns) หรือ เจ้าพระยาอภัยราชา เจ้าพระยาฝรั่งหนึ่งเดียวของกรุงรัตนโกสินทร์ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ไทยต้องเผชิญกับนักล่าอาณานิคมทั้งฝรั่งเศสและอังกฤษ ซึ่งใช้วิธีข่มขู่ต่างๆโดยไม่ยอมรับกฎหมายไทย ไทยจึงต้องการผู้เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศเป็นอย่างมาก เพื่อมาเจรจาข้อพิพาทต่างๆ ฉะนั้นในการเสด็จประพาสยุโรปในปี ๒๓๓๔ สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงทรงปรึกษากับ ลอร์ดเรย์ สหายชาวฝรั่งเศสที่ทรงมักคุ้นกันเป็นการส่วนตัว ว่าต้องการผู้เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศมารับราชการเป็นที่ปรึกษากฎหมายในเมืองไทย ซึ่งลอร์ดเรย์ก็รับปากจะหาให้ ตอนกลับจากยุโรปเที่ยวนั้น สมเด็จฯกรมพระยาดำรงฯทรงแวะดูงานที่อียิปต์ บังเอิญได้พักโรงแรมเดียวกันกับลอร์ดเรย์ และพอดีกับ มิสเตอร์กุสตาฟ โรลัง ยัคมินส์ ศาสตราจารย์ทางกฎหมายชาวเบลเยี่ยมคนหนึ่งไปอียิปต์พอดี ลอร์ดเรย์จึงนำมาเฝ้ากรมพระยาดำรงฯ โรลัง ยัคมินส์ เป็นนักกฎหมายมีชื่อเสียงคนหนึ่งของยุโรป เคยได้รับเลือกเป็นสภานายกของสภากฎหมายระหว่างประเทศถึง ๒ สมัย เป็นสมาชิกแห่งราชบัณฑิตสภาของเบลเยี่ยม เป็นศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์ของมหาวิทยาลัยบรัสเซลส์ เป็นด็อกเตอร์กิตติมศักดิ์ของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดและเคมบริดจ์ เป็นอดีตเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยของเบลเยี่ยม และยังเคยเป็นผู้พิพากษาในศาลอนุญาโตตุลาการที่กรุงเฮกด้วย แต่ในขณะนั้นโรลัง ยัคมินส์กำลังมีปัญหาชีวิต เนื่องจากน้องชายที่เป็นพ่อค้าขอให้ช่วยค้ำประกันเงินกู้ที่เอาไปลงทุน แต่ขาดทุนจนล้มละลาย โรลัง ยัคมินส์จึงต้องรับภาระหนี้แทนจนหมดตัวเมื่ออายุใกล้ ๖๐ และไม่ต้องการอยู่ในเบลเยี่ยมต่อไป เมื่อได้ทราบข่าวว่าทางการอียิปต์กำลังต้องการนักกฎหมายระหว่างประเทศ จึงเดินทางไปเพื่อหางานทำที่นั่น กรมพระยาดำรงฯทรงเห็นว่า กุสตาฟ โรลัง ยัคมินส์ เป็นผู้ที่มีความรู้และบุคลิกดี จึงทรงโทรเลขทูลสมเด็จฯกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศให้ทรงทราบ ซึ่งก็ทรงเห็นชอบด้วย จึงได้ชิงตัวตัดหน้าอียิปต์มา แม้กระนั้นรัฐบาลอียิปต์ก็ยังโทรเลขมาขอ แต่ไทยกำลังคับขันเรื่องนี้จึงให้ไปไม่ได้
|
กุสตาฟ โรลัง ยัคมินส์ เข้ารับราชการกระทรวงต่างประเทศในปี ๒๔๓๕ ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งอัครราชทูตประจำกระทรวง และเป็นที่ปรึกษาราชการทั่วไป
ในปี ๒๔๓๖ เกิดกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ซึ่งได้นำเรือรบมาปิดอ่าวไทย โรลัง ยัคมินส์ได้รับมอบหมายให้เจรจา แม้ท่านศาสตราจารย์ทางกฎหมายจะอ้างข้อบัญญัติของกฎหมายระหว่างประเทศ แต่ฝรั่งเศสที่ใช้ปืนเรือก็ไม่ยอมรับฟัง ข่มขู่จะเอาดินแดนให้ได้ ไทยซึ่งจะยึดถือกฎหมายสากล จึงต้องยอมสละดินแดนให้มหาอำนาจที่ใช้ปืนไป ด้วยคุณงามความดีที่มุ่งมั่นทำงานให้ประเทศไทยอย่างจริงจัง แม้จะเพิ่งเข้ารับราชการได้เพียง ๔ ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯจึงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๔๓๙ ว่า “...เมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกในการประชุมสมาชิกเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับตระกูลจุลจอมเกล้าฯ ได้พระราชทานสัญญาบัตรให้ท่านกุสตาฟ โรลิน ยัตมินส์ เป็น เจ้าพระยาอภัยราชาสยามนุกุลกิจฯ เป็นที่ปรึกษาราชการการแผ่นดินทั่วไป...” เจ้าพระยาอภัยราชา จึงเป็นเจ้าพระยาฝรั่งหนึ่งเดียวของกรุงรัตนโกสินทร์ นอกจากนี้ เจ้าพระยาอภัยราชาฯยังถวายโครงการศึกษาของเจ้าฟ้าชายต่างๆ รวมทั้งองค์รัชทายาท ว่าควรศึกษาวิชาใด ที่ประเทศใด เพื่อนำความรู้แขนงนั้นมาพัฒนาประเทศ และเชื่อมสัมพันธไมตรีกับประเทศที่พระเจ้าลูกยาเธอไปศึกษา ทั้งยังเป็นการเชื่อมสัมพันธ์กับพระราชวงศ์ต่างๆของยุโรปด้วย เจ้าพระยาอภัยราชาฯได้ทูลถวายคำแนะนำให้พระพุทธเจ้าหลวงเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมกษัตริย์และรัฐบาลของประเทศต่างๆในยุโรปครั้งแรกเมื่อปี ๒๔๔๑ เพื่อให้ประเทศต่างๆรู้จักประเทศไทยมากขึ้น หันมาสนับสนุนถ่วงดุลกับอิทธิพลของฝรั่งเศสที่ยังคุกคามเอาดินแดนไทยไม่ยอมหยุด นอกจากนี้ เจ้าพระยาอภัยราชาฯยังเป็นผู้ริเริ่มตั้งโรงเรียนกฎหมายขึ้นในประเทศไทย และยังทำตัวเหมือนผู้ตรวจราชการแผ่นดิน เมื่อเห็นเสนาบดีกระทรวงใดไม่เอาใจใส่ในหน้าที่ราชการ ทำงานอืดอาดล่าช้าเช้าชามเย็นชามตามแบบไทยๆ ก็นำความไปกราบบังคมทูลให้ทรงทราบ ทำให้เกิดความขุ่นเคืองไม่พอใจของเสนาบดีหลายคน เจ้าพระยาอภัยราชารับราชการสนองพระเดชพระคุณถึง ๙ ปีเต็ม จนสุขภาพทรุดโทรมจึงได้กราบถวายบังคมทูลลาออกกลับไปเบลเยี่ยมในปี ๒๔๔๔ หลังจากนั้นไม่กี่ปีก็ถึงอสัญกรรม เมื่อเจ้าพระยาอภัยราชาทูลลากลับไปนั้น พระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงพระยาสุริยานุวัติ (เกิด บุนนาค) อัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีส ลงวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๔๔๔ มีความตอนหนึ่งว่า “ตั้งแต่พระยาอภัยราชากลับออกไปแล้วนี้ สังเกตดูว่าการหงอยช้าลงไปแล้วทุกเดือน ที่เป็นสำคัญนั้นในกระทรวงต่างประเทศ แต่ถึงกระทรวงอื่นๆที่ไปอึดอัดอยู่ก็มี การที่ช้านั้นไม่ใช่ช้าเพราะขัดข้อง นึกไม่ออกอย่างเดียว ช้าโดยปกติของคนไทยนั้นมีเป็นอันมาก...” |
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน