จากประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ เปิดมุมมอง โดย ชวลิต จันทรรัตน์ Team Group
"หลักสำคัญว่า ต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิต อยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้..."
กระแสพระราชดำรัสนี้ พระราชทานไว้เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2529 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน มีความหมายชัดเจนถึงความสำคัญของน้ำต่อชีวิตและการยังชีพของผู้คน ทำให้ได้ตระหนักถึงความห่วงใยเกี่ยวกับ "น้ำ" ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีต่อพสกนิกรของพระองค์ ทั้งด้านการอุปโภค บริโภค การเกษตร การระบายน้ำ การป้องกันน้ำท่วม และการบำบัดน้ำเสีย
พระองค์ได้พระราชทานแนวทางต่าง ๆ ในการฟื้นฟู และอนุรักษ์ เพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้แก่ป่าไม้ พระราชทานคำแนะนำการสร้างฝาย เพื่อรักษาสร้างความชุ่มชื้นให้แก่ป่าไม้ และชะลอการไหลหลากของน้ำพื้นที่ลุ่มน้ำตอนบน การเก็บกักน้ำไว้ในอ่างเก็บน้ำบริเวณเชิงเขา การเชื่อมโยงแหล่งน้ำขนาดใหญ่ให้มาหล่อเลี้ยงอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง เชื่อมต่อไปยังสระเก็บน้ำขนาดเล็กประจำหมู่บ้าน เรียกรวมว่า "ระบบอ่างพวง"
ในส่วนพื้นที่ตอนกลางของลุ่มน้ำ มุ่งเน้นการเก็บกักไว้ใน "แก้มลิง" เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมและเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงปลายฤดูฝน นอกจากนั้น พระองค์ยังได้พระราชทานแนวทางในการป้องกันน้ำท่วม การระบายน้ำ ในพื้นที่ลุ่มต่ำต่าง ๆ จนไปถึงการพัฒนาชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน และการพัฒนาพื้นที่ชลประทานน้ำเค็ม
พระองค์พระราชทานแนวทางในการสร้างฝายต้นน้ำด้วย ว่าควรใช้วัสดุราคาถูกและหาง่ายในท้องถิ่น เพื่อเก็บกักน้ำและเก็บกักตะกอนดินไว้บางส่วน โดยน้ำที่เก็บไว้ก็จะสร้างความชุ่มชื้นแผ่ขยายออกไปในพื้นที่ทั้งสองข้างของตัวฝาย สร้างความชุ่มชื้นให้แก่ป่าไม้ เป็นการฟื้นฟูต้นน้ำลำธารให้มีสภาพสมบูรณ์ขึ้นเป็นลำดับ นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยทำให้อากาศมีความชุ่มชื้น ซึ่งเป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดมีฝนตกตามธรรมชาติอีกด้วย
ในการที่จะต้องจัดหาน้ำให้เพียงพอและเหมาะสมเพื่อการอุปโภคใช้ในครัวเรือนน้ำเพื่อการเกษตรอุตสาหกรรมการรักษาสภาพลำน้ำ และรักษาคุณภาพน้ำให้เป็นธรรมชาติ เพื่อให้ความเจริญก้าวหน้าของประเทศไม่ชะงักงัน
ทรงย้ำว่า การพัฒนาแหล่งน้ำอาจจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมบ้าง แต่หากว่าไม่มีการพัฒนาแหล่งน้ำที่ดี ไม่มีการควบคุมน้ำที่ดีเพียงพอ ก็จะทำให้เกิดภัยจากน้ำ ทั้งน้ำท่วมและภัยแล้ง กลับทำให้เกิดความเสียหายแก่สิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรงยิ่งกว่า
การพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริจึงมีอยู่ทั่วไปในประเทศยกตัวอย่างเช่นโครงการเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เป็นโครงการที่พระองค์ทรงมีกระแสพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2536 ซึ่งปี 2537 หลังจากนั้น รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณสร้าง เขื่อนดินตามแนวพระราชดำริ เพื่อเป็นแหล่งเก็บน้ำในฤดูมรสุม และบรรเทาอุทกภัย และเนื่องจากอ่างเก็บน้ำมีก้นอ่างแบน มีการขึ้นลงของน้ำตามฤดูกาล จึงเป็นแหล่งประมงอันอุดมสมบูรณ์ เป็นอาชีพเพิ่มพูนรายได้ให้แก่ราษฎรที่อาศัยอยู่รอบ ๆ และยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของภาคกลาง
เขื่อนขุนด่านปราการชล อยู่ในเขตพื้นที่ภาคกลาง แม่น้ำนครนายก มีต้นกำเนิดอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ปริมาณน้ำร้อยละ 93 ไหลลงทะเล หรือก่อให้เกิดอุทกภัยในฤดูน้ำหลาก และเกิดความแห้งแล้งในฤดูแล้ง พระองค์ได้พระราชทานพระราชดำริ เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2536 ให้สร้างอ่างเก็บน้ำ เพื่อบรรเทาอุทกภัยในเขตจังหวัดนครนายก เป็นแหล่งกักเก็บน้ำเพื่อการเกษตร เพื่ออุปโภคบริโภค และแก้ปัญหาดินเปรี้ยว ทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาขนาดใหญ่
เขื่อนขุนด่านฯมีลักษณะพิเศษ คือ สร้างโดยทฤษฎีคอนกรีตบดอัด มีส่วนผสมเถ้าลอยของลิกไนต์ ซึ่งหากสร้างด้วยเขื่อนดินจะต้องใช้ปริมาณดินจำนวนมาก เพราะฐานรากที่กว้างเพื่อรับแรงดันของน้ำ และหากสร้างด้วยคอนกรีตก็จะต้องใช้งบประมาณสูงมาก
โครงการแก้มลิงคลองมหาชัย-สนามชัย ปี 2538 ประเทศไทยประสบปัญหาน้ำท่วมรุนแรง พื้นที่ภาคกลางจมอยู่ใต้น้ำ พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสถึงเหตุที่มาของโครงการแก้มลิง จนถึงวิธีการบริหารจัดการระบบแก้มลิงที่สามารถรับมาปฏิบัติได้เป็นอย่างดี
โดยทรงใช้หลักการ การหาที่ว่างหรือแหล่งน้ำธรรมชาติที่สามารถรองรับและพักน้ำในช่วงน้ำหลาก ในช่วงน้ำทะเลขึ้น แล้วทำการระบายน้ำที่เก็บกักไว้ออกสู่ทะเลในช่วงที่น้ำทะเลลง เช่นเดียวกับลิงที่เก็บตุนกล้วยไว้ในกระพุ้งแก้ม
การพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีอีกหลายโครงการ เช่น โครงการพัฒนาลุ่มแม่น้ำปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่มักจะถูกน้ำทะเลหนุน เกิดน้ำท่วม ดินเค็ม สร้างความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกร จึงทรงให้สร้างประตูเก็บกักน้ำจืด ป้องกันน้ำทะเลไม่ให้เข้าสู่พื้นที่ ทำให้เกิดประโยชน์ต่อการเพาะปลูกในเวลาต่อมา โครงการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำ ก็เช่นกัน ที่นี่มีน้ำท่วมน้ำแล้งเป็นประจำ ก็ทำให้สามารถบรรเทาปัญหาน้ำท่วมได้ และสามารถเก็บกักน้ำไว้ในลำน้ำก่ำ ต่อเนื่องกันเป็นทอด ๆ เพื่อใช้ในการเพาะปลูก โดยมีน้ำใช้อย่างมั่นคง
นับเป็นความปลื้มปี ติที่สุดในชีวิต ที่มีโอกาสได้ร่วมปฏิบัติงานโครงการที่พระองค์ได้มีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานฝีพระหัตถ์เป็นแนวทาง ได้มีส่วนในการวางโครงการ ศึกษาความเหมาะสม ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และร่วมออกแบบในโครงการพระราชดำริ เพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชนชาวไทยมาตลอด นับต่อเนื่องมาตั้งแต่การก่อตั้งบริษัท ทีมฯ เมื่อปี 2521 ดังตัวอย่างที่ได้ยกมากล่าวข้างต้น
ทีมฯ ยังได้แบ่งปันความรู้ ประสบการณ์ ความชำนาญที่มีแก่สังคม ด้วยการเผยแพร่องค์ความรู้ทางหลักวิชาการ ร่วมกับการใช้แบบจำลองชลศาสตร์-อุทกวิทยา ให้ข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อสาธารณะแขนงต่าง ๆ เพื่อรับมือกับวิกฤตภัยน้ำและบรรเทาความเดือดร้อน เช่น เมื่อปี 2554 จากวิกฤตมหาอุทกภัย และในปี 2555 แม้ว่าจะไม่รุนแรง แต่เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและตระหนักถึงความสำคัญในการรับรู้ข้อมูล ก็ได้จัดสัมมนาในหัวข้อ รับรู้-สู้ภัยน้ำ
พระองค์ทรงมีพระอัจฉริยภาพด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ ทีมกรุ๊ป ได้มีส่วนในการตามรอยเบื้องพระยุคลบาทแม้เป็นส่วนเพียงน้อยนิด และด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ จะขอน้อมนำและสืบสานพระราชปณิธานพระบิดาแห่งการจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อความอยู่ดีมีสุขของประชาชนและประเทศชาติต่อไป
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน