สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เจ๋ง! พารู้จัก 10 สุดยอดฟินเทคไทย พลิกโฉมนวัตกรรมการเงิน-ลงทุน-ประกันภัย

จากประชาชาติธุรกิจ

รายงานโดย 
กนกวรรณ มากเมฆ
นลิศา เตชะศิริประภา 

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

เชื่อว่าวินาทีนี้หลายคนคงต้องรู้จักคำว่า"ฟินเทค" (FinTech หรือ Financial Technology) มาบ้างไม่มากก็น้อย ด้วยกระแสในต่างประเทศที่ฟินเทคกำลังมาแรง โดยเฉพาะในเหล่าสตาร์ตอัพที่หันมาทำฟินเทคกันเป็นจำนวนมาก รวมถึงสถาบันการเงินและภาครัฐที่เล็งเห็นว่าฟินเทคเป็นความท้าทายใหม่ที่จะนำเทคโนโลยีมาเปลี่ยนแปลงรูปแบบบริการทางการเงินและตลาดทุนไปอย่างสิ้นเชิงจนทั้งรัฐและสถาบันการเงินต้องหันมาให้ความสำคัญกับ"ฟินเทค"มากขึ้น

อย่างเช่นสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)ที่ได้จัดการแข่งขันFinTech Challenge เพื่อประกวดผลงานนวัตกรรมด้านการเงิน การลงทุน และการประกันภัย โดยมี 10 ทีมสุดท้ายที่ได้เข้ารอบสุดท้าย "ประชาชาติฯออนไลน์" จึงขอพาไปรู้จักสุดยอดฟินเทค 10 ทีมดังกล่าว ว่าพวกเขาสร้างอะไรเพื่อจะพลิกโฉมวงการการเงินไทยกันบ้าง

สานฝัน : พาเกษตรกรทำเกษตรอย่างยั่งยืน

อาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพที่เป็นสันหลังของชาติ แต่ทำไมไม่ว่าจะอย่างไรเกษตรกรก็ยังไม่รวย และผลผลิตที่เกษตรกรทำออกมาจำหน่ายก็ยังขาดทุนอยู่ และจะดีกว่าไหมที่เราจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้ชาวนาเหล่านี้ทำการเกษตรอย่างถูกวิธี ใช้เงินลงทุน และมีเงินหมุนเวียนแบบไม่สูญเปล่า นี่เป็นแนวคิดของที่ทีมสานฝันได้คิดโครงการ Farmerhope ขึ้นมา โดย "เจนจิรา ธาราพันธ์"หัวหน้าทีม กล่าวอีกว่า ได้แรงบันดาลใจจากมูฮัมหมัด ยูนุส ผู้ที่ได้รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ พ.ศ. 2549 

"เงินจากการกุศลช่วยคนได้แค่ครั้งเดียว แต่เงินจากองค์กรเพื่อสังคม จะหมุนกลับมาช่วยผู้คนได้ ...อย่างไม่รู้จบ" 



Farmerhope องค์กรเพื่อสังคมจะเป็นตัวกลางระหว่างผู้บริจาคเงิน และเกษตรกร โดยองค์กรจะไม่ได้ให้เพียงเงินไปลงทุน แต่จะนำเงินที่ได้รับบริจาคมาไปซื้อของอุปกรณ์ที่จะสามารถสร้างอาชีพ แล้วนำไปมอบให้เกษตรกร เพื่อป้องกันการนำเงินบริจาคที่ได้ไปใช้ในทางที่ไม่เกิดประโยชน์ ซึ่งคาดหวังว่าเมื่อเกษตรกรได้รับไป ทำผลิตผลออกมาขายแล้วจะต้องได้กำไรมากขึ้น และเมื่อขายได้กำไร ทุนที่ให้ยืมไปก็จะหมุนเวียนเข้าสู่ระบบ ทำให้ทุนที่จะต่อยอดไม่มีวันหมด และสามารถต่อยอดให้เกษตรกรรายอื่นๆ ต่อได้

นอกจากนี้ยังเป็นองค์กรเพื่อสังคมองค์กรแรกที่ได้นำเทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของระบบบริจาคออนไลน์และเพิ่มความโปร่งใสผู้ที่บริจาคเงินสามารถตรวจสอบได้ทุกขั้นตอนว่าเงินที่เราบริจาคไหนไปอยู่ไหนตรวจสอบได้และยังมีผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมจะให้ความรู้ในการทำการเกษตรรวมถึงให้ข้อมูลด้านการบริหารจัดการเงินทุนด้วย



PetInsure : ประกันภัยเพื่อสัตว์เลี้ยงแสนรัก ให้เจ้าของหมดกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย

สัตว์เลี้ยงแสนรักที่ต้องการดูแลเอาใจใส่เฉกเช่นเดียวกับคนเราจะดีกว่าไหมที่จะมีบริการดีๆมาช่วยดูแลสัตว์ให้ไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายหมดปัญหากับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น



"พลอยพิชชา บุญทวีพิทักษ์" ผู้จัดการฝ่ายการตลาด เล่าว่า ด้วยความที่ซีอีโอของ "PetInsure" ทำงานเกี่ยวกับธุรกิจไฟแนนซ์ และเลี้ยงสัตว์อยู่แล้ว บวกกับตลาดธุรกิจสัตว์เลี้ยงในไทยมีสูงถึง 2.2 หมื่นล้านบาท คิดแยกเป็นค่ารักษาพยาบาลสัตว์เลี้ยงอย่างเดียวเป็นเงิน 7 พันล้านบาท ถือเป็นตัวเลขที่สูงมาก จึงเป็นที่มาให้เกิด PetInsure หรือประกันภัยสัตว์เลี้ยงที่อยู่บนออนไลน์ แพลตฟอร์ม เจ้าแรกในเมืองไทย

ทำให้เข้าถึงลูกค้าได้อย่างกว้างขวาง และลดขั้นตอนความยุ่งยากในการทำประกัน รวมถึงยังให้คำแนะนำและข้อมูลเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงผ่านเทคโนโลยีอย่าง Chatbot หรือระบบตอบโต้อัตโนมัติที่จะทำให้เจ้าของสัตว์เลี้ยงเข้าพูดคุยได้ตลอดเวลา



จับจ่าย : ชำระเงินง่ายๆ ...เพียงปลายนิ้วมือ

"นรินทร์ คูรานา" ซีอีโอ "จับจ่าย" เริ่มต้นแนวคิดจากตัวเองที่เป็นคนไม่ชอบพกเงิน พกกุญแจ กระเป๋า จึงหาโซลูชั่นที่ตรงกับความต้องการของตนเอง บวกกับเอาเทคโนโลยีมาใช้ และคิดว่าสิ่งที่ติดตัวเรามากที่สุดคือนิ้วมือ จึงเกิดโมเดลเทคโนโลยีระบบชำระเงินด้วยลายนิ้วมือขึ้น



"ถ้าผมเดินเข้าไปเสนอให้ห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆก็คงไม่มีใครสนใจเห็นด้วยกับผมหรอก"นรินทร์กล่าวและว่าตนจึงคิดไอเดียที่เริ่มเป็นโมเดลเล็กๆก่อนก็คือจับจ่าย For School ที่สามารถซื้อของในโรงเรียน ก่อนจะพัฒนาให้สามารถตรวจเช็กเวลาเข้า-ออกโรงเรียน ซึ่งผู้ปกครอง อาจารย์ หรือแม้แต่ตัวนักเรียนสามารถตรวจสอบเวลาเข้าเรียนได้จากแอปพลิเคชั่น ทำให้โรงเรียนสามารถเก็บข้อมูลของนักเรียนได้ง่ายและรวมเร็วมากขึ้น

สำหรับความปลอดภัยถึงการใช้ลายนิ้วมือนั้นซีอีโอบอกว่าระบบมาตรฐานการสแกนลายนิ้วมือของจับจ่ายนั้นใช้ระบบเดียวกับFBISystemและเซิร์ฟเวอร์จากไมโครซอฟท์ที่มีความความปลอดภัยระดับบัตรเครดิตทำให้ผู้ใช้มั่นใจได้ว่าทุกๆ การดำเนินการรวดเร็ว และมีความปลอดภัยสูง 



นอกจากนี้ จุดเด่นอีกสิ่งคือตัวเครื่องระบบของจับจ่ายนั้น สามารถใช้งานได้ผ่านไวไฟ ที่ไม่ต้องเชื่อต่อกับสายแลน เรียกว่าเป็นแอปฯ และระบบสแกนลายนิ้วมีที่รองรับเทคโนโยลีสมัยใหม่มากที่สุด

CoinEX : เปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็น e-wallet


เวลาไปเที่ยวต่างประเทศ แล้วช็อปปิ้งจนเหลือแค่เหรียญ แม้จะพยายามใช้ให้หมดเพื่อที่จะไม่ต้องนำเงินเหล่านั้นกลับมา เก็บกลับมาก็ไม่สามารถแลกคืนกับธนาคารได้ เพราะมีจำนวนน้อยเกินไป และถ้าเราสามารถเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเหล่านั้นให้เป็นเงินสลุกของบ้านเราอีกครั้งกับ "CoinEX" ตู้แลกเปลี่ยนเงินตราที่ให้เงินกับสู่กระเป๋าด้วยรูปแบบเงินดิจิทัล (Digital Currency) ไม่ว่าจะเป็น e-wallet Alipay linepay paypal 

นอกจากจะให้เงินกลับมาสู่กระเป๋าแล้ว ตู้แลกเปลี่ยนเงินนี้ยังสามารถช่วยรัฐบาลลดต้นทุนการผลิตเหรียญที่ใช้หมุนเวียนภายในประเทศอีกด้วย



ในด้านของเทคโนโลยีนั้นก็ได้นำบล็อกเชนมาใช้เช่นกันเพื่อเพิ่มความปลอดภัยของข้อมูลและป้องกันการฟอกเงินด้วย

ถึงแม้ว่าในประเทศอาเซียนมีการทำตู้แลกเปลี่ยนเงินตราที่คล้ายกันแต่จะออกมาในรูปแบบบัตรของบัตรกำนัลของร้านอาหารและเครื่องดื่มแต่โมเดลCoinEx ตู้แลกเปลี่ยนเงินตรานี้ถือเป็นเจ้าแรกในไทย และประเทศอาเซียนที่ทำในรูปแบบของเงินดิจิทัล และหากโมเดลนี้สำเร็จ ก็จะได้เห็นตู้แลกเปลี่ยนเงินตรานี้ตั้งอยู่ที่ฝั่งขาออกของสนามบินอย่างแน่นอน

FunRadars
 : แอปฯสุดเจ๋ง เก่งเรื่องกองทุน


ใครหลายคนอาจจะคิดว่าเรื่องหุ้น กองทุน เป็นเรื่องไกลตัว และยากต่อความเข้าใจ แต่ด้วยแนวคิดของซีอีโออย่าง "ธีระชาติ ก่อตระกูล" สตาร์ตอัพรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดที่ว่า "ทำให้การลงทุนเป็นเรื่องง่าย"

จึงเกิดไอเดียสร้างแอปพลืเคชั่น "FundRadars" แอปฯรุ่นน้องของ StockRadars ที่เป็นแอปพลิชั่นสำหรับนักลงทุนในกองทุน ไม่ว่าจะเป็นมือใหม่หรือมือโปรก็สามารถเข้าใจได้ไม่ยาก  เพราะในแอปฯมี "เรดาร์" ที่คอยสอดส่องกว่า 10 เรดาร์ ที่จะคัดเลือกกองทุนให้ตามต้องการ รวมถึงสถิติที่สำคัญต่างๆ ของกองทุนเหล่านั้นอย่างครบถ้วน และรู้จักกองทุนมากขึ้นใน 3 นาที



"ศุภกร เจียรรุ่งสิน"
 ตัวแทนของทีม กล่าวว่า สิ่งที่ทำให้สามารถเข้าถึงผู้ใช้งานได้อย่างรวดเร็วก็คือ Line ที่ปัจจุบันมีผู้ใช้งานมากกว่า 30 ล้านบัญชี การทำเพิ่มในส่วนของ Official Account จะสามารถอำนวยความสะดวกให้นักลงทุนได้มากขึ้น  รวมถึงได้พัฒนา Chatbot ที่สามารถให้ข้อมูล และตอบคำถามนักลงทุนได้ตลอดเวลา นอกจากนี้ยังเป็นมีโมเดลเด่นที่สามารถให้นักลงทุนสามารถเลือกเปิดบัญชีกองทุนได้กับทุกธนาคาร ด้วยการสร้างบัญชีกองทุนแบบ universal account 


ด้านความปลอดภัยนั้นมีการนำบล็อกเชนเข้ามาใช้ และผู้ใช้จะมีพินโค้ดที่สามารถรู้ได้คนเดียว ซึ่งรองรับความปลอดภัยแบบขีดสุด ใช้งานง่าย สะดวกสบายในแอปฯเดียว

SmartContract : ระบบเก็บสัญญาอัจฉริยะ ลดต้นทุน ลดข้อผิดพลาด เพิ่มความปลอดภัยขีดสุด

SmartContrat หรือระบบจัดเก็บสัญญาอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน ที่ "สถาพน พัฒนะคูหา" เอ็มดีบริษัทฯ กล่าวถึงจุดเริ่มต้นว่า มองเห็นปัญหาของการทำธุรกรรมทางการเงิน จึงได้คิดรวมกลุ่ม และนำเทคโนโลยีมาใช้ให้สะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น รวมถึงลดข้อผิดพลาดที่เกิดจากการทำของมนุษย์ และลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้วย

โดยนำเอาคุณสมบัติความปลอดภัย น่าเชื่อถือ และโปร่งใสตรวจสอบได้ของบล็อกเชน ร่วมกับคุณสมบัติการบังคับใช้สัญญาโดยอัตโนมัติของสมาร์ทคอนแทร็กต์ มาพัฒนาเป็นระบบการทำธุรกรรมแบบอัตโนมัติที่น่าเชื่อถือและมีประสิทธิภาพ รวมถึงเพิ่มความโปร่งใสในการทำธุรกรรม ที่จะช่วยให้การกำกับดูแลของหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน




ซึ่งข้อดีของการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ใด้วยกัน3อย่างคือข้อมูลที่เข้าไปอยู่ในระบบนั้นจะไม่สามารถแก้ไขได้สามารถตรวจสอบได้แบบโปร่งใส และระบบสามารถทำงานได้ตลอดเวลาถึงแม้จะมีสิ่งรบกวน หรือมีการเข้าใช้งานจำนวนมากในพร้อมกัน

โดย SmartContract จะเริ่มให้บริการเชิงพาณิชย์ในเดือนมีนาคมปีนี้ และอยู่ในระหว่างการเจรจาเพื่อเป็นพันธมิตรกับ 3 ธนาคารใหญ่ในไทย และต่างประเทศ




ABorrow : จับคู่สินเชื่อให้ตรงความต้องการ

เมื่อไม่รู้ว่าตัวเองเหมาะจะขอสินเชื่อแบบไหน กับธนาคารอะไร ลองมองหาตัวช่วยที่จะทำให้การขอสินเชื่อเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นดูสิ "วรภพ วิริยะโรจน์" ซีอีโอเอบอร์โรว์ กล่าวว่า เอบอร์โรว์เป็นเหมือนตัวกลางที่ช่วยจะเชื่อมระหว่างผู้ต้องการขอสินเชื่อกับธนาคารเข้าด้วยกัน เป็นเหมือนหน้าด่านแรกที่ตัวช่วยคัดกรองบุคคล เผื่อให้การกู้ยืมง่ายมากขึ้น ทั้งถูกใจดอกเบี้ย และตรงกับความต้องการ และยังลดต้นทุนในการจ้างบุคลากร ค่าโฆษณาต่างๆ และยังมีการให้บริการความรู้ทางการเงินเพื่อให้ลูกค้าเกิดความเข้าใจมากขึ้น




โดยบริษัทได้มีนโยบายแนวทางในการคุ้มกันด้านความปลอดภัยของข้อมูลตามมาตราฐานสากลเดียวกันกับความปลอดภัยของสถาบันการเงินชั้นนำและมีการเข้ารหัสแบบเดียวกับบริการ Internet Banking ของธนาคารชั้นนำและยังมีนโยบายที่จะไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวให้กับบุคคลภายนอก



C3.Finance
 : ดึงบล็อกเชนเชื่อมโลกการเงินแบบเรียลไทม์-อัจฉริยะ

"C3.Finance" (ซีสามดอทไฟแนนซ์) ผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานสำหรับทำธุรกรรมทางการเงินผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) ที่ได้ "ตฤบดี อรุณานนท์ชัย" กับเพื่อนร่วมทีมที่เป็นผู้เชี่ยวชาญชั้นนำด้านฟินเทคและอีกหลายสาขา ปลุกปั้นฟินเทคดังกล่าวขึ้นมา หลังเขาคร่ำหวอดในวงการการเงินมาเป็น 10 ปี และผ่านประสบการณ์ทำงานด้านไฟแนนซ์ในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นฮ่องกง สิงคโปร์ รวมถึงยังลงทุนในหลายบริษัท จนมองเห็นภาพใหญ่และปัญหาในแวดวงเทคโนโลยีด้านการเงิน ที่ยังอัจฉริยะไม่มากพอ และไม่สามารถตรวจสอบสิ่งที่เกิดขึ้นกับบัญชีธนาคารของเราได้แบบเรียลไทม์




ด้วยการที่สนใจเทคโนโลยีบล็อกเชนอยู่แล้วและเห็นปัญหาว่าปัจจุบันยังไม่มีตัวกลางเชื่อมระหว่างฟินเทคหน่วยงานรัฐธนาคารและผู้ประกอบการแบบเรียลไทม์จึงสร้างC3.Financeมาเพื่อตอบโจทย์ให้กับปัญหานี้โดยการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมากระจายโค้ดไปยังที่อื่นให้สามารถเชื่อมข้อมูลถึงกันได้ อย่างเช่น การแจ้งเตือนการเข้าสู่ระบบของแอปพลิเคชั่นโมบายแบงกิ้งผ่านอีเมล์ ที่จะต้องเชื่อมข้อมูลระหว่างธนาคาร ผู้ให้บริการอีเมล์ เครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ฯลฯ ซึ่ง C3.Finance จะเป็นตัวกลางที่เชื่อมข้อมูลระหว่างองค์กรดังกล่าว ทำให้ผู้ใช้ก็รับรู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับบัญชีธนาคารเราบ้าง เป็นต้น

โดยจุดแข็งของ C3.Finance ที่ทำให้เขาแตกต่างจากผู้ให้บริการด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน คือ การนำฐานข้อมูลที่มีอยู่มหาศาลของลูกค้ามายำและแบ่งย่อย ทำให้เหล่าแฮกเกอร์ไม่เห็นว่าภาพรวมของโค้ดข้อมูลคืออะไร ทำให้ไม่สามารถแฮกเข้ามาได้ จึงมีความปลอดภัยสูง นอกจากนี้ ยังแก้ไขปัญหาความล่าช้าของบล็อกเชนได้อีกด้วย




จุดเด่นอีกอย่างของ C3.Finance คือแตกต่างจากสตาร์ตอัพอื่นๆ ที่มักต้องการจะ disrupt ธุรกิจ แต่สิ่งที่ C3.Finance คาดหวังคือ connect the dot หรือต้องการให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้ และดีขึ้น เปรียบเสมือนเป็น highway ที่เชื่อมถนนทุกที่ให้ทุกคนไปถึงได้

สำหรับโมเดลรายได้นั้นจะหักออกจากการทำธุรกรรมในแต่ละทรานแซคชั่นโดยมีอัตราอยู่ที่0.25-0.5%ต่อทรานแซคชั่นปัจจุบันถึงแม้จะอยู่ในช่วงที่ทำตัวเดโมเสร็จแล้วและรอการอนุมัติจากธนาคารแห่งประเทศไทยแต่ก็มีลูกค้าจากหลายหน่วยงานให้ความสนใจไม่ว่าจะเป็นอีคอมเมิร์ซผู้ประกอบกิจการต่างๆ เป็นต้น

Private Chain : ตลาดหลักทรัพย์รอง เพิ่มโอกาสระดมทุนสตาร์ตอัพ-เอสเอ็มอี แหล่งลงทุนใหม่ของนักลงทุน

"Private Chain" (ไพรเวท เชน) เป็นอีกหนึ่งบริการระหว่างธุรกิจขนาดเล็ก หรือ SME รวมไปถึงธุรกิจสตาร์ตอัพที่กำลังมองหาแหล่งเงินทุนผ่านการระดมทุน โดยไพรเวท เชน จะสร้างตลาดหลักทรัพย์รอง (Secondary Market) ขึ้นมา ขณะที่นักลงทุนเองก็จะมีแหล่งลงทุนใหม่ที่จะมีโอกาสได้ผลตอบแทนกลับไป โดยทุกๆ ธุรกรรมจะอยู่บนเทคโนโลยีบล็อกเชน เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการข้อมูล ลดขั้นตอนยุ่งยากและความล่าช้าที่จะต้องผ่านระบบฐานข้อมูลของหลายหน่วยงาน ซึ่งจะทำให้เสียค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น แต่การใช้บล็อกเชนจะทำให้ค่าธรรมเนียมเหล่านี้ถูกลง



"จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา"
 หนึ่งในทีมผู้ก่อตั้งไพรเวท เชน เล่าไอเดียให้ฟังว่า จากการทำงานในวงการบล็อกเชนมา 3 ปีกว่า รวมถึงเป็นผู้ก่อตั้ง coins.co.th ทำให้เห็นปัญหาว่า บริษัทเล็กๆ ที่มีมูลค่าไม่มาก ไม่สามารถหาแหล่งเงินทุนได้ และประเทศไทยก็ยังมี Venture Capital น้อย ทำให้บริษัทเล็กๆ ยังขาดโอกาสเติบโต และนักลงทุนยังมีทางเลือกในการลงทุนน้อยกว่า นอกจากนี้ยังเห็นว่าตลาดหลักทรัพย์ในประเทศไทยยังมีน้อย แค่ 2 ตลาดเท่านั้น ขณะที่ในต่างประเทศอย่างสหรัฐอเมริกามีประมาณ 5-6 ตลาด ทำให้ไม่เกิดการแข่งขันระหว่างตลาด ขณะเดียวกันบริษัทที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ก็ต้องมีขนาดใหญ่ระดับหนึ่ง นักลงทุนเองก็ต้องลงทุนในปริมาณมาก ทำให้นักลงทุนรายย่อยยังขาดโอกาสในการลงทุน



ปัญหาดังกล่าวทำให้ "จิรายุส" และทีม สร้างไพรเวท เชน ขึ้นมาเพื่อเป็นแหล่งเงินทุนใหม่ให้กับบริษัทขนาดเล็ก ที่กำหนดว่าต้องมีมูลค่าน้อยกว่าที่ตลาดหลักทรัพย์ของไทยกำหนด และเพื่อเป็นช่องทางการลงทุนให้กับนักลงทุนรายย่อย นอกจากนี้ ยังเป็นการพัฒนาระบบตลาดหลักทรัพย์ของไทยให้ทันสมัย ก้าวทันเทคโนโลยีมากขึ้น เพื่อให้ตลาดหลักทรัพย์หลักๆ ของไทยเริ่มเห็นว่ามีคู่แข็ง และปรับตัวให้ทันสมัย




โดย "จิรายุส" และทีมใช้เวลาในการพัฒนาไพรเวท เชน ประมาณ 2 เดือน ซึ่งเพิ่งพัฒนาเสร็จเมื่อไม่นานมานี้ ส่วนโมเดลรายได้ของไพรเวท เชน นั้นจะมาจาก Transaction fee นอกจากนี้ยังมาจากการเป็นพาร์ทเนอร์ในการปล่อยเงินกู้ รวมถึงให้คำปรึกษาด้านความเสี่ยงแก่นักลงทุน

Peer Power : ตลาดสินเชื่อออนไลน์ เชื่อมผู้กู้และนักลงทุน

"Peer Power" (เพียร์ เพาเวอร์) แพลตฟอร์มตลาดสินเชื่อออนไลน์ที่ให้นักลงทุนปล่อยกู้แก่ผู้ที่ต้องการขอสินเชื่อเพื่อไปต่อยอดธุรกิจได้โดยตรงในลักษณะสินเชื่อส่วนบุคคลโดยอาศัยหลักทรัพย์ในการค้ำประกันเปรียบเสมือนเป็นตัวกลางระหว่างนักลงทุนและผู้ต้องการแหล่งเงิน

โดย"วรพลพรวาณิชย์"หนึ่งในทีมผู้ก่อตั้งเพียร์เพาเวอร์ระบุว่า ได้ไอเดียปลุกปั้นเพียร์ เพาเวอร์ มาจากกระแสความนิยมการให้กู้ยืมแบบคนต่อคน (Peer to Peer Lending) ที่กำลังแพร่หลายในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ สเปน จีน เป็นต้น นอกจากนี้ยังเกิดจากการมองเห็นปัญหาช่องว่างทางดอกเบี้ยที่ค่อนข้างสูงระหว่างดอกเบี้ยเงินฝากและดอกเบี้ยเงินกู้ซึ่งโมเดลของระบบPeertoPeerLendingจะเป็นการปล่อยสินเชื่อในอัตราที่ต่ำกว่าสถาบันการเงินจึงสามารถแก้ปัญหาช่องว่างทางดอกเบี้ยที่แตกต่างกันมากได้รวมถึงช่วยกระจายความเสี่ยงได้มากขึ้น




โดยเพียร์ เพาเวอร์ จะกำหนดให้นักลงทุนปล่อยสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ย 8-15% ซึ่งรายได้ของพวกเขาจะมาจากค่า origination fee จากผู้กู้ ซึ่งเป็นค่าสกรีนประวัติ ดูความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ โดยคิดในอัตรา 3-4% ของยอดกู้ นอกจากนี้จะมีรายได้จากค่าบริการ servicing fee ที่จะเก็บจากนักลงทุนในอัตรา 1-1.5% ของยอดเงินต้นที่นักลงทุนได้รับคืนในแต่ละเดือน

ซึ่งนอกจากจะเป็นตัวกลางในการขอสินเชื่อแล้ว เพียร์ เพาเวอร์ จะเข้าไปมีบทบาทตั้งแต่การสกรีนผู้ขอสินเชื่อ นำสินเชื่อที่อนุมัติแล้วขึ้นตลาด จนถึงขั้นตอนการติดตามหนี้ เรียกได้ว่ามีการดูแลตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ




สำหรับเพียร์ เพาเวอร์ เริ่มพัฒนามาตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน 2559 โดยทีมงานทั้งหมด 7 คนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน ด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ รวมถึงนักลงทุนส่วนบุคคล เป็นต้น ปัจจุบันพัฒนาระบบเวอร์ชั่นที่ 2 เสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะมีความเสถียรมากขึ้น แต่ยังอยู่ในช่วงระหว่างการทดสอบ ขณะเดียวกันก็ยังรอกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่จะผ่านออกมาในไตรมาสนี้ รวมถึงใบอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย ก็จะสามารถเปิดให้บริการได้ โดยในระยะแรกจะให้บริการในรูปแบบเว็บไซต์ ก่อนจะพัฒนาเป็นโมบายแอปพลิเคชั่นในเฟสถัดไป

สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เจ๋ง พารู้จัก สุดยอดฟินเทคไทย พลิกโฉม นวัตกรรมการเงิน ลงทุน ประกันภัย

view