สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

มุมมองและกลยุทธ์การลงทุนปี 2017

จากประชาชาติธุรกิจ

โดย ปวริส สุรกิตติดำรง 
ที่ปรึกษาการลงทุนทิสโก้ เวลธ์


    ปี 2017 นี้ ดูเหมือนจะเป็นปีที่สดใสสำหรับตลาดหุ้นอีกหนึ่งปีต่อเนื่องจากปี 2016 เนื่องจากในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะดัชนี Dow Jones และ S&P500 ได้ปรับตัวขึ้นไปทำ New High ได้สำเร็จ อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่าปี 2017 ตลาดหุ้นจะยังมีความผันผวน เนื่องจากยังมีปัจจัยที่ไม่แน่นอนรออยู่ข้างหน้า ซึ่งพอสรุปได้ ดังนี้

    นโยบายของ Donald Trump ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐ ที่เน้นการผลักดันนโยบาย "American First" หรือ "อเมริกาต้องมาก่อน" โดยมีเป้าหมายหลัก คือ เน้นการจ้างงานในอเมริกา และใช้สินค้าอเมริกาให้มากขึ้น เพื่อให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง โดยดำเนินการผ่านนโยบายต่าง ๆ ดังนี้ 

    1) การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน งบประมาณ 500,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

    2) การลดภาษีบุคคลธรรมดา จาก 39.6% เป็น 25% และการลดภาษีนิติบุคคล จาก 35% เป็น 15% 

    3) การตั้งกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าให้สูงขึ้นโดยเฉพาะกับจีน 

    4) การยกเลิกข้อตกลง TPP (Trans-Pacific Partnership) และขอเจรจาข้อตกลง NAFTA (North American Free Trade Agreement) ใหม่ เพื่อให้สหรัฐได้รับประโยชน์มากขึ้น 

ซึ่งจากนโยบายดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อประเทศต่าง ๆ ที่มีการค้ากับสหรัฐ โดยเฉพาะจีนที่เป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และมีการส่งออกสินค้าไปสหรัฐค่อนข้างมาก
    
การดำเนินนโยบายของธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) เพราะจากการประชุมล่าสุดของทางธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) นาง Janet Yellen ประธาน Fed ได้ปรับคาดการณ์การขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2017 ของสหรัฐ เป็น 3 ครั้ง เพื่อสะท้อนภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐที่แข็งแกร่ง และเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุน และความผันผวนของค่าเงินของประเทศต่าง ๆ เทียบกับดอลลาร์สหรัฐตามมา สำหรับธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก เพราะล่าสุดได้มีนโยบายที่จะลด QE จาก 8 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน เป็น 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน โดยเริ่มตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นไปจนถึงธันวาคม 2017 และสำหรับธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ล่าสุดยังคง QE ที่ 80 ล้านล้านเยนต่อปีเหมือนเดิม
    
ความเสี่ยงด้านการเมืองของประเทศในยุโรปที่จะขอออกจากสหภาพยุโรป ซึ่งจะกระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เนื่องจากส่งผลต่อการปฏิรูปเศรษฐกิจโดยรวม และทำให้การดำเนินนโยบายต่าง ๆ ไม่มีความต่อเนื่อง โดยนาง Theresa May นายกรัฐมนตรีของอังกฤษ จะดำเนินการขอแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการในช่วงเดือนเมษายนนี้ โดยจะให้ความสำคัญกับการควบคุมจำนวนผู้อพยพ จึงทำให้อังกฤษต้องขอออกจากการเป็นสมาชิกตลาดเดียว (Single Market) เพราะว่าสมาชิกตลาดเดียวต้องปล่อยให้การเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ ทุน และแรงงานเป็นไปอย่างเสรี และจะไม่เป็นสมาชิกสหภาพศุลกากร (Custom Union) เนื่องจากอังกฤษต้องการอิสระในการเจรจาต่อรองเขตการค้าเสรีกับประเทศอื่น ๆ ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดภาษีในอัตราที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ 
    
นอกจากนั้นยังมีการเลือกตั้งในเนเธอร์แลนด์ เดือนมีนาคม ที่ผลสำรวจล่าสุดชี้ว่า พรรคฝ่ายขวา PVV ที่ต้องการให้เนเธอร์แลนด์ออกจากสหภาพยุโรป มีคะแนนนำอยู่ และได้รับความนิยมเพิ่มต่อเนื่อง และการเลือกตั้งของฝรั่งเศส ในเดือนเมษายน ถึงแม้พรรค National Front ที่ต้องการให้ฝรั่งเศสออกจากสหภาพยุโรป จะมีคะแนนน้อยกว่าอีกพรรคหนึ่ง แต่มีความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะเป็นส่วนที่กระทบความเชื่อมั่นของเศรษฐกิจและการลงทุนทั่วโลก
    
จากปัจจัยหลัก ๆ ที่กล่าวมา เชื่อว่าจะเป็นสิ่งที่จะกระทบต่อตลาดหุ้น และจะทำให้ตลาดหุ้นมีการเคลื่อนไหวอย่างผันผวน อย่างไรก็ตามจากความเสี่ยงดังกล่าว เรามองว่ายังมีหุ้นที่ได้รับประโยชน์ หรือไม่กระทบจากปัจจัยดังกล่าวมากนัก ถ้าซื้อในราคาที่ไม่แพงจนเกินไป ดังนี้
    
หุ้นสหรัฐ (S&P500) ได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของนาย Donald Trump รวมทั้งกำไรของบริษัทจดทะเบียนมีแนวโน้มเติบโตที่ระดับ 10% (ที่มา Bloomberg และ TISCO ESU)
    
หุ้นญี่ปุ่น (NIKKEI225) ได้รับประโยชน์จากแนวโน้มค่าเงินเยนที่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ การเติบโตของกำไรอย่างต่อเนื่องที่ระดับประมาณ 9% กอปรกับ valuation ที่ยังถูก Forward P/E ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ 18 เท่า (ที่มา Bloomberg และ TISCO ESU)
    
หุ้นอินเดีย (INDA : US) เศรษฐกิจอินเดียได้รับผลกระทบเชิงลบจากการเลิกใช้ธนบัตร 500 และ 1000 รูปีชั่วคราว ซึ่งกระทบต่อการบริโภคในอินเดียช่วงไตรมาส 4 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจอินเดียจะกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้งในปีนี้ เนื่องจากมาตรการอื่น ๆ ของรัฐบาลยังคงสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายผ่านโครงการลงทุนภาครัฐ การเพิ่มเงินเดือนข้าราชการ การเปิดเสรีให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนมากขึ้น รวมทั้งธนาคารกลางอินเดีย (RBI) มีโอกาสลดดอกเบี้ยลงได้อีกราว 0.75% จากระดับปัจจุบันที่ 6.25% ซึ่งจะเป็นบวกต่อตลาดหุ้น การที่ตลาดหุ้นปรับตัวลงจากการยกเลิกธนบัตรเป็นโอกาสดีในการเข้าลงทุน
    
สรุป เรามองว่าในปี 2017 ตลาดหุ้นจะมีการเคลื่อนไหวที่ผันผวน ตามนโยบายของ Donald Trump และการตอบสนองของประเทศต่าง ๆ ต่อนโยบายดังกล่าว การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลาง และความเสี่ยงด้านการเมืองของประเทศในยุโรป ซึ่งถ้าตลาดหุ้นมีการปรับตัวลงจากเหตุการณ์ดังกล่าว เราเชื่อว่าเป็นโอกาสดีที่จะเข้าไปลงทุนในหุ้นสหรัฐ ญี่ปุ่น และอินเดีย ที่ยังมีแนวโน้มการเติบโตของกำไร และมีปัจจัยทางเศรษฐกิจมาสนับสนุน


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : มุมมอง กลยุทธ์การลงทุน ปี 2017

view