จากประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ ช่วยกันคิด โดย PMG′s Data and Analytics Global
KPMG"s Data and Analytics Global มอบหมายให้บริษัท Forrester Consulting สำรวจข้อมูลและวิเคราะห์จากบุคลากรในระดับผู้บริหารที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการกำหนดกลยุทธ์ การบริหารธุรกิจ เทคโนโลยีสำหรับการรวบรวมข้อมูลที่ใช้ในการตัดสินใจ จำนวน 2,165 คน จากประเทศจีน เยอรมนี อินเดีย อังกฤษ สหรัฐอเมริกา แคนาดา แอฟริกาใต้ ฝรั่งเศส บราซิล และออสเตรเลีย โดยการสำรวจครอบคลุมถึงธุรกิจธนาคาร ผู้ให้คำปรึกษาทางการเงิน ธุรกิจประกัน โทรคมนาคม ธุรกิจด้านสุขภาพ และธุรกิจค้าปลีก ซึ่งปัจจุบันธุรกิจเหล่านี้มีการใช้ข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อจัดการกับความเสี่ยง ต้นทุน การเจริญเติบโตของธุรกิจ ตลอดจนมีส่วนช่วยในการตัดสินใจในเรื่องที่ไม่มั่นใจ และนำไปสู่ความเชื่อมั่นในการทำธุรกิจ
ผลการสำรวจที่ได้น่าสนใจอย่างยิ่ง เมื่อพบว่าครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสำรวจเผยว่า ผู้บริหารระดับสูงสุด (C-Level) ไม่ให้การสนับสนุนกลยุทธ์ในด้านข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลขององค์กรเท่าที่ควร
การเติบโตอย่างรวดเร็วของข้อมูลดิจิทัลในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาส่งผลให้มีองค์กรจำนวนมากขึ้นที่เข้าใจถึงประโยชน์ของข้อมูลจำนวนมหาศาลที่หน่วยงานของตนเก็บรักษาไว้หากองค์กรสามารถทำการวิเคราะห์ได้อย่างเหมาะสม ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้เข้าใจถึงความต้องการของลูกค้า ช่วยพัฒนาประสิทธิภาพของกระบวนการทำงาน และบอกถึงสัญญาณเตือนภัยเบื้องต้น (red flags) ต่อความผิดปกติของรายการทางบัญชี การทุจริต และการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบได้
อย่างไรก็ดี "ผู้บริหารส่วนใหญ่" ที่เห็นคุณค่าของการใช้ข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลยังขาดความเชื่อมั่นในการวัดประสิทธิภาพและผลกระทบของข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลรวมทั้งยังไม่มั่นใจที่จะนำการวิเคราะห์ข้อมูลมาช่วยในการตัดสินใจและยังขาดเครื่องมือในการประเมินคุณภาพและประสิทธิภาพของการวิเคราะห์ข้อมูลที่เหมาะสมอีกด้วย
คริสเตียนรัสต์(ChristianRast) กรรมการบริหาร Global Head of D&A เคพีเอ็มจี เยอรมนี ให้ความเห็นว่า การวิเคราะห์ข้อมูลมีบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างมากต่อการตัดสินใจ และมีผลกระทบต่อทั้งตัวบุคคล ธุรกิจ และสังคม จึงจำเป็นที่ธุรกิจจะต้องมุ่งเน้นเพิ่มความเชื่อมั่นต่อข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล และการควบคุมเพื่อให้มั่นใจว่าจะได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ
องค์กรที่ยังลงทุนในการวิเคราะห์ข้อมูลโดยไม่ได้ประเมินถึงประสิทธิภาพของการวิเคราะห์ข้อมูลย่อมส่งผลให้มีการตัดสินใจบนข้อมูลที่ไม่ถูกต้องและก่อให้เกิดวงจรของความไม่มั่นใจในกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูล
ขณะที่บิลล์ โนว์กี (Bill Nowcki) กรรมการผู้จัดการด้าน Decision Science เคพีเอ็มจี อเมริกา มองว่ากระบวนการตัดสินใจในรูปแบบเดิมที่มีพื้นฐานจากความคิดเห็นส่วนบุคคล หากมีการนำข้อมูลเชิงลึกจากการวิเคราะห์ข้อมูลมาช่วยประกอบการตัดสินใจ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าจะส่งผลให้องค์กรสามารถให้บริการลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพ รวมถึงสามารถบริหารความเสี่ยงได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม จากผลสำรวจระดับความเชื่อมั่นของผู้บริหารที่มีต่อการวิเคราะห์ข้อมูล ไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ที่ควรจะเป็นนัก โดยเฉพาะถ้าคำนึงถึง "เงินลงทุน" ที่องค์กรต่าง ๆ วางแผนที่จะลงทุนเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการจากการวิเคราะห์ข้อมูล
ดักลาส เว็บบ์ (Douglas Webb) กรรมการผู้บริหารด้านที่ปรึกษาธุรกิจ เคพีเอ็มจี ประเทศไทย เห็นว่าความไม่มั่นใจในข้อมูล มักจะเริ่มต้นที่กระบวนการเลือกข้อมูลที่เหมาะสมเพื่อใช้ในการวิเคราะห์ หลายองค์กรไม่ได้ตระหนักถึงข้อมูลปริมาณมหาศาลที่หน่วยงานของตนมีอยู่แล้วในระบบ ยิ่งไปกว่านั้น หลายครั้งที่ข้อมูลมักถูกเก็บอยู่ในระบบปฏิบัติการที่แตกต่างกัน และจำเป็นต้องใช้เวลาพอสมควรในการเตรียมข้อมูลให้สมบูรณ์ และทำการเชื่อมโยงข้อมูลจากฐานข้อมูลที่ต่างกัน เพื่อให้สามารถทำการวิเคราะห์ในเชิงลึกได้
องค์กรมักจะประเมินเวลาสำหรับกระบวนการเหล่านี้ไว้ต่ำเกินไปอย่างไรก็ตามเมื่อองค์กรสามารถระบุถึงปัญหาและจัดการกับกระบวนการเตรียมข้อมูลได้แล้วก็จะสามารถใช้การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ได้อย่างคุ้มค่า และแก้ปัญหาได้อย่างชาญฉลาด เนื่องจากการวิเคราะห์ข้อมูลเป็นการตรวจสอบรายการทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่ามีประสิทธิภาพมากกว่าวิธีการแบบเดิม ๆ คือการสุ่มตรวจสอบเพียงไม่กี่รายการ
กระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลนั้นมีขั้นตอน คือ ขั้นตอนแรก-กระบวนการจัดหาข้อมูล (Data Sourcing) จากผลสำรวจผู้ตอบแบบสอบถามมีความเชื่อมั่นในกระบวนการจัดหาข้อมูลมากที่สุด ซึ่งเป็นกระบวนการกำหนดข้อมูลเพื่อนำมาใช้ในการวิเคราะห์ ขั้นตอนที่สอง-กระบวนการวิเคราะห์ (Analysis/Modeling) และขั้นตอนที่ 3-การเตรียมข้อมูลและการเชื่อมโยงข้อมูล (Data preparation and Blending) สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ ความมั่นใจของผู้ตอบแบบสอบถามลดลงอย่างมากในกระบวนการที่ 4 และ 5 ของวงจรการวิเคราะห์ข้อมูล มีเพียง 11 เปอร์เซ็นต์ที่มีความเชื่อมั่นสูงสุดในกระบวนการใช้ผลจากการวิเคราะห์ (Use/Deploying Analytics) และ 10 เปอร์เซ็นต์สุดท้ายมีความเชื่อมั่นสูงสุดต่อการวัดประสิทธิภาพของกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูล
การที่องค์กรไม่มีความเชื่อมั่นต่อข้อมูลเชิงลึกที่ได้จากการวิเคราะห์ข้อมูลถือว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจและท้าทายมากหากองค์กรเพียงแค่ใช้ข้อมูลในการขับเคลื่อนนั้นนับว่าไม่เพียงพอ แต่จะต้อง ผลักดันให้เกิดความเชื่อมั่นในข้อมูลเพื่อสร้างมูลค่า องค์กรมีความจำเป็นที่จะต้องจัดการกับเรื่องนี้ โดยวางแผนกระบวนการทำงานและตัวชี้วัดเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการมากที่สุด
การประเมินว่าองค์กรยังขาดความเชื่อมั่นต่อกระบวนการใดในการวิเคราะห์ข้อมูลผู้ตอบแบบสอบถามได้ประเมินกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลองค์กรของตนในแต่ละด้านตามหลัก4 ประการ ได้แก่ คุณภาพ ประสิทธิภาพ ความถูกต้อง และความยืดหยุ่น กล่าวคือ
คุณภาพ-แน่ใจว่าข้อมูลที่ใช้และกระบวนการในการวิเคราะห์ข้อมูลมีคุณภาพตามมาตรฐาน และเหมาะสมกับความต้องการที่จะนำผลลัพธ์ไปใช้งาน แต่ผลสำรวจนี้กลับพบว่า มีเพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่คิดว่ากระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลโดยรวมขององค์กรมีคุณภาพตามมาตรฐาน
ประสิทธิภาพ-ผลลัพธ์ที่ได้จากการวิเคราะห์ข้อมูลเป็นไปตามที่ต้องการและก่อให้เกิดมูลค่าผลสำรวจแสดงว่าผู้ตอบแบบสอบถามเพียง16เปอร์เซ็นต์ มีความมั่นใจต่อความถูกต้องของผลลัพธ์ที่ได้จากการวิเคราะห์ข้อมูล
จรรยาบรรณและความถูกต้อง-การวิเคราะห์ข้อมูลเป็นกระบวนการที่ยอมรับได้ เป็นไปตามกฎระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อมูลส่วนตัว และประเด็นต่าง ๆ ทางด้านจริยธรรม แม้ว่าผู้ตอบแบบสอบถามจะมองว่ากระบวนการการวิเคราะห์ข้อมูลของตนเป็นไปตามกฎระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างไรก็ตามพวกเขากลับมองว่าองค์กรยังทำได้ไม่ดีนักในด้านการรักษาข้อมูลส่วนตัวและด้านจริยธรรมในการใช้งานข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูล มีเพียง 13 เปอร์เซ็นต์ที่ตอบว่า องค์กรของตนทำได้ดีในกระบวนการนี้
ความยืดหยุ่น-การเพิ่มประสิทธิภาพของการวิเคราะห์ข้อมูล กระบวนการ และวิธีการในระยะยาว รวมไปถึงกรอบการกำกับดูแล สิทธิการเข้าถึง และความปลอดภัย มีเพียง 18 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถามที่กล่าวว่า พวกเขามีกรอบการทำงานที่เหมาะสมในการกำกับดูแลกระบวนการการวิเคราะห์ข้อมูล
ในการพัฒนาความเชื่อมั่นต่อกระบวนการการวิเคราะห์ข้อมูลขององค์กรเพื่อให้มีผลในการบริหารธุรกิจนั้นประกอบไปด้วยส่วนสำคัญ7ประการ ได้แก่
1.การประเมินเพื่อระบุถึงกระบวนการที่ยังขาดความเชื่อมั่น 2.การกำหนดเป้าหมายและวัตถุประสงค์
3.การสร้างความตระหนัก เพื่อเพิ่มการทำงานร่วมกันภายในองค์กร 4.การพัฒนาวัฒนธรรมภายในเพื่อให้เป็นองค์กรแห่งการใช้ข้อมูลและการวิเคราะห์
5.การสร้างความโปร่งใสต่อกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูล6.การเพิ่มมุมมองให้เป็น360องศา โดยใช้หลักการระบบนิเวศ
7.การจำลองนวัตกรรม การวิจัยและพัฒนา เพื่อสร้างความคิดใหม่ ๆ และรักษาความสามารถในการแข่งขัน
ทั้ง 7 ประการนี้ องค์กรที่เป็นผู้นำในการวิเคราะห์ข้อมูลจะต้องให้ความสำคัญ และการจะพัฒนาไปเป็นองค์กรที่ใช้การวิเคราะห์ข้อมูลเป็นตัวขับเคลื่อน เพื่อพร้อมรับการแข่งขัน ผู้บริหารจะต้องจัดการกับกระบวนการที่ซับซ้อน จัดการระบบ การปฏิบัติตามข้อบังคับและกฎหมาย และการกำกับดูแล จึงสามารถพาองค์กรไปข้างหน้าด้วยความมั่นใจและมั่นคง
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน