สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

Stereo Type คืออะไร

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ เอชอาร์คอร์เนอร์ โดย ธำรงศักดิ์ คงคาสวัสดิ์ http://tamrongsakk.blogspot.com

ก่อนหน้านี้ผมเคยเขียนเรื่อง Halo Effect คืออะไรไปแล้ว และเล่าให้ฟังว่าคำคำนี้มาจากไหน พร้อมทั้งยกตัวอย่างของ Halo Effect เพื่อให้ท่านระวังอคติชนิดนี้ที่จะมีผลมาถึงการทำงานที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลในเรื่องต่าง ๆ ตั้งแต่การสรรหาคัดเลือกคนเข้ามาทำงาน การแก้ปัญหาและตัดสินใจที่ผิดพลาดเพราะอคติชนิดนี้ ท่านที่ยังไม่ได้อ่านก็ไปอ่านย้อนหลังใน Blog หรือใน Facebook ของผมได้นะครับ

วันนี้ผมพาท่านมาพบกับอคติอีกตัวหนึ่งที่ท่านควรจะต้องระวังเช่นเดียวกับ Halo Effect แต่ก็ไม่เหมือน Halo Effect ซะทีเดียวนัก คือคำว่า "Stereo Type"


เอาที่มาของคำนี้ก่อนก็แล้วกันนะครับ

"Stereo Type" มาจากคำว่า "Stereos" แปลว่าแข็ง และคำว่า "Tupos" แปลว่าแน่น หรือเป็นรอย คำนี้คิดมาโดยช่างพิมพ์ชาวฝรั่งเศสชื่อ "Firmin Didot" (แฟร์แมง ดิโดต์) หมายถึงภาพพิมพ์จากต้นฉบับที่นำมาใช้ในการพิมพ์แทนที่จะใช้ต้นฉบับเป็นต้นแบบโดยตรง (ข้อมูลจาก Wikipedia)

ต่อมานักหนังสือพิมพ์ชาวอเมริกันคือ "Walter Lippmann" นำคำนี้มาใช้อุปมาว่าเป็นภาพลักษณ์ในสมองของคน เป็นจินตนาการของคนที่เป็นรูปแบบรูปร่างขึ้นมาจากสิ่งที่ประสบ ทำให้เกิดการเหมารวมว่าเป็นอย่างนั้นทั้งหมด

"Stereo Type" มักจะเกิดจากประสบการณ์หรือทัศนคติ รวมถึงการรับรู้ในอดีตที่สั่งสมมาในตัวคนคนนั้นจนกระทั่งเกิดเป็นกรอบความคิดแบบเหมาเข่งรวมไปว่าถ้า...จะต้อง...เป็นอย่างนี้แหงๆซึ่งความจริงอาจจะไม่เป็นอย่างที่คิดเหมารวมนั้นก็ได้นะครับ


หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ "Stereo Type" เป็นการเหมารวมลักษณะของคนจากกรอบความคิดของคนที่มีอคติแบบ Stereo Type เช่น

- ผู้หญิงมักจะขับรถไม่เก่งเท่าผู้ชาย

- คนผิวดำจะร้องเพลงและเต้นเก่ง

- ฝรั่งฉลาดกว่าคนเอเชีย

- ฝรั่งต้องพูดภาษาอังกฤษได้ดีทุกคน

- คนไทยต้องกินเผ็ดได้ทุกคน

- เป็นนักดนตรีต้องติดยาเสพติด

- คนทำบุญเข้าวัดบ่อย ๆ ต้องเป็นคนดีไม่คดโกงใคร

- พวก Gen Y เป็นคนไม่สู้งาน

- ฯลฯ

อคติชนิดนี้จึงเป็นเรื่องที่คนทำงาน HR ควรจะต้องระวังและบอกเล่าให้กับ Line Manager เข้าใจ และเท่าทันความคิดเหมารวมแบบ "Stereo Type" เอาไว้ด้วยเช่นเดียวกัน

เพราะถ้ามีอคติแบบนี้เกิดขึ้นมาเมื่อไหร่และไม่เท่าทันอคติชนิดนี้ ก็จะเกิดปัญหาตั้งแต่การสัมภาษณ์รับคนเข้าทำงานได้ง่าย ๆ เช่น ถ้าเห็นผู้สมัครที่มีรอยสักก็จะคิดไปทันทีว่าคนที่สักเป็นนักเลงและจะต้องมีนิสัยไม่ดี ดังนั้นก็จะไปเลือกรับผู้สมัครที่ไม่ได้สัก

ซึ่งคนที่สักที่มีจิตใจดีนิสัยดีกว่าคนไม่ได้สักก็มีไม่น้อยจริงไหมครับแต่ทำไงได้ก็เจ้าStereo Type มันครอบงำความคิดไปแล้วนี่ครับ

เห็นไหมครับว่า "Stereo Type" หรือความคิดแบบเหมารวมมีอิทธิพลต่อคนที่ไม่เท่าทันอคติชนิดนี้มากแค่ไหน ?

ซึ่งกรอบความคิดแบบ "Stereo Type" นี้อาจจะเป็นจริงหรือไม่จริงก็ได้ ไม่ใช่สิ่งที่แน่นอนว่า "จะต้อง" เป็นไปอย่างที่เราคิดเสมอไป

ลองคิดดูเล่น ๆ สิครับ ถ้าเราเจอเพื่อนใหม่สักคนที่ขับรถสปอร์ตหรูมาทำงาน แล้วเรามีความคิดแบบ "Stereo Type" ว่าคนรวยจะต้องเย่อหยิ่ง นิสัยไม่ดีและดูถูกคนอื่น เราก็จะไม่คบหรือไม่พูดกับเพื่อนใหม่คนนี้ ซึ่งเพื่อนคนนี้ถ้าเราคบไปแล้วอาจจะพบว่าเขาไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิดไว้แต่แรกเลยก็ได้

ถ้าเราไม่เปิดใจและปล่อยให้ความคิดแบบ"StereoType" เข้ามามีอิทธิพลกับเราแล้ว เราก็จะพลาดโอกาสที่จะมีเพื่อนดี ๆ เพิ่มขึ้นอีกคนหนึ่งไปแล้วจริงไหมครับ

พูดมาถึงตรงนี้แล้วเชื่อว่าท่านคงจะเข้าใจและเท่าทันอคติแบบนี้เพื่อระมัดระวังไม่ให้เกิดความผิดพลาดในการแก้ปัญหาตัดสินใจและบริหารคนบ้างแล้วนะครับ


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : Stereo Type

view