จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
โดย โรม บุนนาค
|
เหล่าเสือป่ากับรถเกราะ ๒ คันพร้อมรถโคมฉาย |
|
|
ความจริงคนไทยเราเก่งไม่น้อยหน้าใครถ้าตั้งใจจะทำจริง แต่ก็ไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนให้มีการต่อเนื่องและพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ อย่างเคยเล่ามาแล้วว่าเราสร้างฝูงบินรบเองถึง ๒๐๐ ลำเข้าทำสงครามเวหากับฝรั่งเศสในสงครามอินโดจีนเมื่อปี ๒๔๘๓ ส่วนปืนใหญ่ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยาก็ยังคำรามถึงญี่ปุ่น จนพระมหาจักรพรรดิส่งพระราชสาสน์มาขอไปใช้บ้าง วันนี้จะขอเล่าเรื่องความเก่งของคนไทยอีกอย่างที่สร้างรถเกราะขึ้นใช้เองในสมัย ร.๖ นายพลอังกฤษมาเห็นยังทึ่ง แค่ท้วงติงจุดอ่อนบางอย่าง แต่เมื่อผู้ออกแบบสร้างให้เหตุผล ท่านนายพลก็ยอมรับว่า “ผมโง่ไปหน่อย” ทั้งนี้เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนำประเทศเข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่ ๑ ส่งทหารไปช่วยรบในยุโรป ทรงเห็นว่าสงครามยุคใหม่ได้เปลี่ยนรูปแบบจากสงครามป้อมค่าย มาเป็นสงครามแบบประจัญบานกันในสนามรบ ซึ่งอาวุธที่จะได้เปรียบในการรบประเภทนี้ก็คือรถหุ้มเกราะที่จะเจาะทะลวงแนวของข้าศึกให้ทหารราบรุกตามเข้าไป ทรงนำแคตตาล็อครถหุ้มเกราะติดอาวุธแบบต่างๆที่ทรงสะสมมาจากยุโรป พระราชทานให้นายพลเอกเจ้าพระยารามราฆพ ขุนนางคู่พระทัย ไปพิจารณาหาทางจัดซื้อหรือว่าสร้างเองมาใช้ในกองเสือป่า แต่เมื่อเจ้าพระยารามฯนำเรื่องนี้ไปปรึกษาเสือป่าชั้นผู้ใหญ่ ทุกท่านก็ลงความเห็นว่าเรื่องซื้อคงเป็นไปไม่ได้ เพราะราคาสูงแต่งบประมาณกำลังขัดสน ส่วนการสร้างเอง ก็ยังมองไม่เห็นหน่วยงานหรือตัวบุคคลที่จะรับภาระนี้ได้ ในที่สุดเจ้าพระยารามฯก็มองไปที่ เสือป่าเภา วสุวัต แห่งกองเรือยนต์หลวง ซึ่งเป็นคนหนุ่มที่ฉลาดปราดเปรื่องและมีฝีมือทางงานช่างหลายประเภท ทั้งช่างเครื่องยนต์ ช่างไฟฟ้า ช่างวิทยุ และช่างภาพนิ่ง ตากล้องภาพยนตร์ เคยต่อเรือเร็วใช้ในราชนาวีเสือป่ามาแล้ว ๖ ลำ จึงได้เรียกมาปรึกษา เสือป่าเภาพิจารณาแคตตาล็อครถหุ้มเกราะแบบต่างๆแล้ว ก็บอกเจ้าพระยารามฯว่า “รถหุ้มเกราะติดอาวุธแบบนี้ กระผมคิดว่าสร้างได้แน่นอน และถ้าให้เวลาถึง ๘ เดือน กระผมก็จะสร้างได้ถึง ๔ คัน” เจ้าพระยารามฯจึงมีคำสั่งทันที ปลดระวางรถพระประเทียบเก่า ๔ คัน ยี่ห้อฟราเซีย ที่เครื่องยนต์ยังดี มีขนาด ๔๕ แรงม้าทั้ง ๔ คัน มอบให้เสือป่าเภาตามที่ขอเพียงชัชซีกับเครื่องยนต์ เสือป่าเภาได้รื้อตัวถังออกทั้งหมด โดยรื้อรถพระประเทียบที่มีชื่อ “ภาพยนตร์” ก่อน ต่อมาจึงรื้อคันที่มีชื่อว่า “กลกำบัง” เหลือแต่ชัชซีและเครื่อง แล้วสร้างเป็นรถเกราะไทยขึ้น รถเกราะที่เสือป่าเภาสร้างขึ้นนั้น แบ่งภายในออกเป็น ๒ ส่วน ส่วนหน้าเป็นของคนขับกับผู้ช่วย ส่วนหลังเป็นของพลปืน มีโดมกลมอยู่ด้านบน ติดปืนและหมุนได้รอบทิศทาง ส่วนปืนประจำรถเป็นปืนขนาดเพียง ๑ ปอนด์ ขอยืมมาจากกองทัพเรือ นอกจากนี้เสือป่าเภายังสร้างรถโคมฉายอีก ๑ คัน ติดไฟฉายขนาดใหญ่ สำหรับใช้ประลองยุทธในเวลากลางคืน ร.๖ ผู้ทรงสำเร็จวิชาทหารมาจากอังกฤษ ทอดพระเนตรรถเกราะและรถโคมฉายที่เสือป่าเภาสร้างขึ้นแล้ว ทรงพอพระทัยเป็นอย่างมาก ทรงโปรดปรานผู้สร้างยิ่งนัก เรียกใช้สอยราชการส่วนพระองค์เป็นประจำ และโปรดเกล้าฯให้สร้างรถสำหรับบันทมขึ้นอีกคันด้วย ในการประลองยุทธเสือป่าครั้งใหญ่ในปี ๒๔๖๒ รถหุ้มเกราะที่เสร็จเพียง ๒ คันพร้อมรถโคมฉายจึงได้เข้าร่วมประลองยุทธเป็นครั้งแรก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เชิญนายพลจัตวาสติมเวลส์สัน ทูตทหารบกอังกฤษประจำประเทศไทยให้ไปดูการประลองยุทธด้วย
เมื่อเจ้าพระยารามฯขี่ม้าตรวจพลคู่มากับทูตทหารบกอังกฤษ ท่านนายพลเห็นรถเกราะเสือป่าก็แปลกใจ ชักม้าเข้าไปดูใกล้ๆ แล้วลงจากหลังม้าขอดูอย่างใกล้ชิด เจ้าพระยารามฯก็เปิดประตูรถให้ดูถึงข้างใน นายพลอังกฤษเข้าไปดูอย่างพินิจพิเคราะห์ทุกซอกมุมแล้วหันมาถามว่า “สร้างที่บริษัทไหนนะรถคันนี้?” เจ้าพระยารามฯก็ตอบว่าเสือป่าสร้างเอง และนำเสือป่าเภา วสุวัตมาพบ ท่านนายพลจับมือแสดงความชื่นชม และหลังจากพินิจพิเคราะห์ขนาดของปืนเพียง ๑ ปอนด์ที่ใช้ ท่านนายพลเห็นว่าระยะกระสุนยิงไม่ได้ไกล จึงหันมาถามคนสร้างว่า “ขนาดปืนของท่านมิต้องเข้าใกล้แนวทหารราบไปหน่อยหรือ ฉันว่าน่าจะให้อยู่หลังแนวทหารราบมากกว่านี้” เสือป่าเภาก็ตอบทันทีว่า “ระยะของกระสุนปืน ๑ ปอนด์ กระสุนจะตกไม่ไกลกับระยะของปืนเล็กยาวมากนัก เวลาเข้าประจัญบานทหารราบที่ตามหลังรถเกราะไป จะได้มีอำนาจยิงในระยะเท่ากัน” ท่านนายพลชอบใจในความคิดรอบคอบ ขอจับมืออีกครั้ง และบอกด้วยอารมณ์ขันว่า “ฉันโง่ไปหน่อย”
|
|
หลวงกลการเจนจิต (เภา วสุวัต) |
|
|
เสือป่าเภาผู้นี้ ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงกลการเจนจิต และเป็นผู้มีผลงานอีกมากมาย โดยเฉพาะเป็นช่างภาพภาพยนตร์รุ่นบุกเบิกของไทย และเป็นทีมงานผู้ก่อตั้งบริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุงของตระกูลวสุวัต ซึ่งเป็นผู้สร้างภาพยนตร์ไทยเสียงในฟิล์มเป็นรายแรก โดยหลวงกลการเจนจิตเป็นผู้สร้างอุปกรณ์บันทึกเสียงขึ้นเอง ทั้งยังได้รับการบันทึกไว้ว่า เป็นคนไทยคนแรกที่ยกกองถ่ายหนังไปถึงทวีปยุโรป ทั้งนี้ใน พ.ศ.๒๔๗๘ กองทัพเรือได้ส่ง ร.ล.เจ้าพระยาไปอิตาลี นอกจากจะนำนักเรียนนายเรือไปฝึกภาคในต่างประเทศแล้ว ยังไปเพื่อรับเรือตอร์ปิโดใหม่ ๒ ลำ คือ ร.ล.ตราด และร.ล.ภูเก็ต กองทัพเรือจึงขอตัวหลวงกลการเจนจิต หัวหน้าแผนกภาพยนตร์ของกรมโฆษณาการ ไปถ่ายภาพยนตร์เก็บไว้เป็นประวัติศาสตร์ของกองทัพเรือ เมื่อต้องเดินทางไปต่างประเทศหลายเมืองพร้อมด้วยกล้องถ่ายภาพยนตร์คู่มือ แม้จะไปเพียงคนเดียว หลวงกลฯผู้มีวิญญาณของนักสร้างหนังก็เห็นว่าน่าจะถ่ายเป็นภาพยนตร์เพื่อความบันเทิงมาฉายด้วย โดยเป็นเรื่องเที่ยวเตร่ของทหารเรือตามเมืองท่าต่างๆ จึงได้เสนอขออนุญาตจากกองทัพเรือ ซึ่งก็ได้รับคำอนุญาต หลวงกลฯเลือก จ.ท.เอื้อม ชีวะกานนท์ เป็นพระเอก และ จ.ท.ว่อง โลหิตนาวี เป็นพระรอง ถ่ายการใช้ชีวิตของทหารในเรือระหว่างการเดินทาง พอขึ้นท่าเมืองไหนก็ติดต่อผู้หญิงเมืองนั้นมาแสดงประกอบ เริ่มตั้งแต่สิงคโปร์ โคลอมโบ ปอร์ตเสด เอเดน โรม เวนิช และกลับมาถ่ายฉากนางเอกไทยไปส่งไปรับพระเอกที่ท่าเรือ รวมทั้งฉากชกต่อยกับผู้ร้ายที่มาติดพันนางเอกด้วย ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็คือ “แก่นกลาสี” ของบริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุง ซึ่งเป็นหนังทำเงินเรื่องหนึ่ง หนังเรื่องนี้หลวงกลการเจนจิตแสดงฝีมือทั้งเป็นช่างภาพ คนเขียนบทสด ผู้กำกับการแสดงเสร็จสรรพ แต่ก็ยังไม่เท่ากับความสามารถที่เป็นพลเรือนเพียงคนเดียวเข้ากับทหารเรือได้ทั้งลำ คนที่ไม่ได้แสดงต่างก็ช่วยเป็นลูกมือ เป็นช่างเสียง ช่างเทคนิคต่างๆ ตลอดจนช่วยแบกกล้องแบกอุปกรณ์ ซึ่งแสดงถึงเป็นผู้มีมนุษย์สัมพันธ์ยอดเยี่ยมของหลวงกลฯ ซึ่งต่อมาบรรดาลูกมือของหลวงกลฯก็ได้เป็นนายพลเรือกันเป็นแถว นี่ก็เป็นเรื่องราวความเก่งของคนไทยอีกคนหนึ่ง แต่ก็น่าเสียดายที่การสร้างรถเกราะของไทยไม่มีการพัฒนาต่อหลังการสิ้นพระชนม์ของ ร.๖ ใน พ.ศ.๒๔๖๘ หวังว่าความเก่งของคนไทยและเด็กไทย ที่คว้ารางวัลสิ่งประดิษฐ์กันมากมายในวันนี้ แม้แต่รางวัลระดับโลก คงไม่เป็นแค่ตำนานความเก่งอย่างเรื่องที่เล่ามานี้อีก |
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน