จากประชาชาติธุรกิจ
ในยุคที่เทคโนโลยีกำลังเจริญก้าวหน้า เชื่อได้ว่าคงไม่มีใครไม่รู้จักคำว่า ฟินเทค (FinTech) หรือ Financial Technology ที่แปลตรงตัวได้ว่า เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการเงิน และด้วยกระแสฟินเทคทั้งในและต่างประเทศกำลังมาแรง เหล่าสตาร์ตอัพที่หันมาทำฟินเทคกันเป็นจำนวนมาก รวมถึงสถาบันการเงินและภาครัฐที่เล็งเห็นว่าฟินเทคเป็นความท้าทายใหม่ที่จะนำเทคโนโลยีมาเปลี่ยนแปลงรูปแบบบริการทางการเงินและตลาดทุนไปอย่างสิ้นเชิง
สำหรับประเทศไทยเองก็ไม่พลาดเช่นเดียวกันกับกิจกรรมFinTechChallengeที่จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อประกวดผลงานนวัตกรรมด้านการเงิน การลงทุน และการประกันภัยให้พัฒนาต่อเนื่องอย่างมีประสิทธิภาพ ปลุกกระแสให้ทุกภาคส่วนในตลาดทุนตื่นตัวและเตรียมพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงด้านธุรกรรมการเงินและการลงทุนที่กำลังเกิดขึ้น
และก็ไม่ต้องเสียเวลารอเพราะก.ล.ต.ได้ประกาศรางวัลมอบแชมป์ให้กับทีมที่เป็นสุดยอดฟินเทคไทย3 ทีม เรียบร้อยแล้ว
ประชาชาติฯ ออนไลน์ จะพามารู้ลึก รู้จริง และรู้จักกับทั้ง 3 ทีมที่เป็นแชมป์สุดยอดฟินเทคไทย
ทีมสานฝัน…พาเกษตรกรทำเกษตรอย่างยั่งยืน (รางวัล Popular Vote)
ด้วยอาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพที่เป็นสันหลังของชาติแต่ทำไมไม่ว่าจะอย่างไรเกษตรกรก็ยังไม่รวยและผลผลิตที่เกษตรกรทำออกมาจำหน่ายก็ยังขาดทุนอยู่และจะดีกว่าไหมที่เราจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้ชาวนาเหล่านี้ทำการเกษตรอย่างถูกวิธี ใช้เงินลงทุน และมีเงินหมุนเวียนแบบไม่สูญเปล่า นี่เป็นแนวคิดของที่ทีมสานฝันได้คิดโครงการ Farmerhope ขึ้นมา โดย "เจนจิรา ธาราพันธ์" หัวหน้าทีม กล่าวอีกว่า ได้แรงบันดาลใจจากมูฮัมหมัด ยูนุส ผู้ที่ได้รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ พ.ศ. 2549
"เงินจากการกุศลช่วยคนได้แค่ครั้งเดียวแต่เงินจากองค์กรเพื่อสังคมจะหมุนกลับมาช่วยผู้คนได้ ...อย่างไม่รู้จบ"
Farmerhope จึงเป็นองค์กรเพื่อสังคมที่ผู้บริการในการเป็นตัวกลางระดมทุน และให้ความรู้เพื่อให้เกษตรกรบริหารจัดการได้ดีขึ้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการขอจดทะเบียนเป็นมูลนิธิแห่งแรกในประเทศไทยที่เปิดรับบริจาคเงินผ่านระบบบล็อกเชน (Blockchain) ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของระบบบริจาคออนไลน์ และเพิ่มความโปร่งใสผู้ที่บริจาคเงินสามารถตรวจสอบได้ทุกขั้นตอนว่าเงินที่เราบริจาคไหนไปอยู่ไหน องค์กรนำเงินไปใช้อย่างไรบ้าง
โดยองค์กรจะไม่ได้ให้เพียงเงินไปลงทุนแต่จะนำเงินที่ได้รับบริจาคมาไปซื้อของอุปกรณ์ที่จะสามารถสร้างอาชีพแล้วนำไปมอบให้เกษตรกร เพื่อป้องกันการนำเงินบริจาคที่ได้ไปใช้ในทางที่ไม่เกิดประโยชน์ ซึ่งคาดหวังว่าเมื่อเกษตรกรได้รับไป ทำผลิตผลออกมาขายแล้วจะต้องได้กำไรมากขึ้น และเมื่อขายได้กำไร ทุนที่ให้ยืมไปก็จะหมุนเวียนเข้าสู่ระบบ ทำให้ทุนที่จะต่อยอดไม่มีวันหมด และสามารถต่อยอดให้เกษตรกรรายอื่นๆ ต่อได้ อีกทั้งยังให้ข้อมูลกับเกษตรกรในการบริหารจัดการเงินลงทุน การเพาะปลูก หรือการทำการเกษตรที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต
Private Chain : ตลาดหลักทรัพย์รอง เพิ่มโอกาสระดมทุนสตาร์ตอัพ-เอสเอ็มอี แหล่งลงทุนใหม่ของนักลงทุน (รางวัล Innovative FinTech )
"Private Chain" (ไพรเวท เชน) ผู้ให้บริการระบบซื้อขายหลักทรัพย์ผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) เป็นอีกหนึ่งบริการระหว่างธุรกิจขนาดเล็ก หรือ SME รวมไปถึงธุรกิจสตาร์ตอัพที่กำลังมองหาแหล่งเงินทุนผ่านการระดมทุน โดย จะทำหน้าที่เสมือนตลาดหลักทรัพย์ที่เป็นสื่อกลางระหว่างนักลงทุนกับเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กที่ต้องการระดมทุนซึ่งนักลงทุนก็จะได้ผลตอบแทนกลับไปเป็นทางลัดให้นักลงทุนสามารถซื้อหุ้นจากเจ้าของกิจการต่างๆได้บนแพลตฟอร์มนี้ โดยไม่ต้องเสียเวลาซื้อขายหลายวันอย่างที่เคยเป็น และไม่ต้องผ่านโบรกเกอร์ โดยบริษัทนอกตลาด (private-equity) ก็สามารถเข้ามาร่วมลงทุนได้อีกด้วย
"จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา" หนึ่งในทีมผู้ก่อตั้งไพรเวท เชน เล่าไอเดียให้ฟังว่า จากการทำงานในวงการบล็อกเชนมา 3 ปีกว่า รวมถึงเป็นผู้ก่อตั้ง coins.co.th ทำให้เห็นปัญหาว่า บริษัทเล็กๆ ที่มีมูลค่าไม่มาก ไม่สามารถหาแหล่งเงินทุนได้ และประเทศไทยก็ยังมี Venture Capital น้อย ทำให้บริษัทเล็กๆ ยังขาดโอกาสเติบโต และนักลงทุนยังมีทางเลือกในการลงทุนน้อยกว่า นอกจากนี้ยังเห็นว่าตลาดหลักทรัพย์ในประเทศไทยยังมีน้อย แค่ 2 ตลาดเท่านั้น
ขณะที่ในต่างประเทศอย่างสหรัฐอเมริกามีประมาณ 5-6 ตลาด ทำให้ไม่เกิดการแข่งขันระหว่างตลาด ขณะเดียวกันบริษัทที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ก็ต้องมีขนาดใหญ่ระดับหนึ่ง นักลงทุนเองก็ต้องลงทุนในปริมาณมาก ทำให้นักลงทุนรายย่อยยังขาดโอกาสในการลงทุน
ปัญหาดังกล่าวทำให้ "จิรายุส" และทีม สร้างไพรเวท เชน ขึ้นมาเพื่อเป็นแหล่งเงินทุนใหม่ให้กับบริษัทขนาดเล็ก ที่กำหนดว่าต้องมีมูลค่าน้อยกว่าที่ตลาดหลักทรัพย์ของไทยกำหนด และเพื่อเป็นช่องทางการลงทุนให้กับนักลงทุนรายย่อย นอกจากนี้ ยังเป็นการพัฒนาระบบตลาดหลักทรัพย์ของไทยให้ทันสมัย ก้าวทันเทคโนโลยีมากขึ้น เพื่อให้ตลาดหลักทรัพย์หลักๆ ของไทยเริ่มเห็นว่ามีคู่แข็ง และปรับตัวให้ทันสมัย
โดย "จิรายุส" และทีมใช้เวลาในการพัฒนาไพรเวท เชน ประมาณ 2 เดือน ซึ่งเพิ่งพัฒนาเสร็จเมื่อไม่นานมานี้ ส่วนโมเดลรายได้ของไพรเวท เชน นั้นจะมาจาก Transaction fee นอกจากนี้ยังมาจากการเป็นพาร์ทเนอร์ในการปล่อยเงินกู้ รวมถึงให้คำปรึกษาด้านความเสี่ยงแก่นักลงทุน
C3.Finance : ดึงบล็อกเชนเชื่อมโลกการเงินแบบเรียลไทม์-อัจฉริยะ (รางวัล Rising Star FinTech )
"C3.Finance" (ซีสามดอทไฟแนนซ์) ผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานสำหรับทำธุรกรรมทางการเงินผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) ที่มีความปลอดภัยสูงสุด โดยการแปลงข้อมูลธุรกรรมเป็นโค้ดเข้าระบบ ช่วยให้สถาบันการเงิน รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องสามารถดึงข้อมูลต่างๆ มาใช้ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ประหยัดค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เป็นคลังข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ที่ช่วยให้ผู้กำกับดูแลกิจการ (Regulator) ที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมทางการเงิน สามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายขึ้น
ที่ได้ "ตฤบดี อรุณานนท์ชัย" กับเพื่อนร่วมทีมที่เป็นผู้เชี่ยวชาญชั้นนำด้านฟินเทคและอีกหลายสาขา ปลุกปั้นฟินเทคดังกล่าวขึ้นมา หลังเขาคร่ำหวอดในวงการการเงินมาเป็น 10 ปี และผ่านประสบการณ์ทำงานด้านไฟแนนซ์ในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นฮ่องกง สิงคโปร์ รวมถึงยังลงทุนในหลายบริษัท จนมองเห็นภาพใหญ่และปัญหาในแวดวงเทคโนโลยีด้านการเงิน ที่ยังอัจฉริยะไม่มากพอ และไม่สามารถตรวจสอบสิ่งที่เกิดขึ้นกับบัญชีธนาคารของเราได้แบบเรียลไทม์
ด้วยการที่สนใจเทคโนโลยีบล็อกเชนอยู่แล้วและเห็นปัญหาว่าปัจจุบันยังไม่มีตัวกลางเชื่อมระหว่างฟินเทคหน่วยงานรัฐธนาคารและผู้ประกอบการแบบเรียลไทม์จึงสร้างC3.Financeมาเพื่อตอบโจทย์ให้กับปัญหานี้โดยการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมากระจายโค้ดไปยังที่อื่นให้สามารถเชื่อมข้อมูลถึงกันได้อย่างเช่นการแจ้งเตือนการเข้าสู่ระบบของแอปพลิเคชั่นโมบายแบงกิ้งผ่านอีเมล์ที่จะต้องเชื่อมข้อมูลระหว่างธนาคาร ผู้ให้บริการอีเมล์ เครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ฯลฯ
โดยจุดแข็งของ C3.Finance ที่ทำให้เขาแตกต่างจากผู้ให้บริการด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน คือ การนำฐานข้อมูลที่มีอยู่มหาศาลของลูกค้ามายำและแบ่งย่อย ทำให้เหล่าแฮกเกอร์ไม่เห็นว่าภาพรวมของโค้ดข้อมูลคืออะไร ทำให้ไม่สามารถแฮกเข้ามาได้ จึงมีความปลอดภัยสูง นอกจากนี้ ยังแก้ไขปัญหาความล่าช้าของบล็อกเชนได้อีกด้วย
จุดเด่นอีกอย่างของ C3.Finance คือแตกต่างจากสตาร์ตอัพอื่นๆ ที่มักต้องการจะ disrupt ธุรกิจ แต่สิ่งที่ C3.Finance คาดหวังคือ connect the dot หรือต้องการให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้ และดีขึ้น เปรียบเสมือนเป็น highway ที่เชื่อมถนนทุกที่ให้ทุกคนไปถึงได้
สำหรับโมเดลรายได้นั้นจะหักออกจากการทำธุรกรรมในแต่ละทรานแซคชั่นโดยมีอัตราอยู่ที่0.25-0.5%ต่อทรานแซคชั่นปัจจุบันถึงแม้จะอยู่ในช่วงที่ทำตัวเดโมเสร็จแล้วและรอการอนุมัติจากธนาคารแห่งประเทศไทยแต่ก็มีลูกค้าจากหลายหน่วยงานให้ความสนใจไม่ว่าจะเป็นอีคอมเมิร์ซผู้ประกอบกิจการต่างๆเป็นต้น
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน