จากประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ Thai Startup Cafe โดย พงศ์พีระ ชวาลาธวัช www.facebook.com/thaistartupcafe
ทราบไหมครับว่า Startup ส่วนใหญ่นั้นจะมีลักษณะหนักไปทาง "B2C" ถามว่าทำไมนะเหรอครับ ก็เพราะการทำแบบนี้ Startup สามารถเจริญเติบโตได้เร็วกว่าครับ แต่ก็มี Startup บางราย ที่หาช่องทางในตลาดเจอ โดยไปในทางของ "B2B" ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะเป็นตลาดที่มี Royalty สูงกว่า กำไรก็ดีกว่า
เพียงแต่ว่าการเข้าถึงตลาดยากและการขายก็ยากกว่าครับ
หนึ่งในตัวอย่างของStartupที่กลายมาเป็นหนึ่งในB2BPlatform ที่ดังมากในปัจจุบัน น่าจะพูดได้ว่าเป็น LinkedIn นั่นเป็นเพราะว่าเริ่มมีการขายข้อมูลประวัติ ฐานข้อมูลของ Platform ตัวเอง เพราะการสร้างเบาะแสการขายผ่าน Feature ที่ชื่อว่า Sales Navigation เป็นต้น วันนี้ผมเลยถือโอกาสเล่าเรื่องของ B2B Startup ในเมืองไทย เป็นอีกรายหนึ่งซึ่งยังไม่ดัง แต่นับว่าเป็นการเริ่มต้นที่กล้าหาญทีเดียว
คือ บริษัท DifferSheet ก่อตั้งโดย คุณธกรกฤษ ธนธราโภคิน
ผมรู้จักกับ "น้องฟรี-ธกรกฤษ ธนธราโภคิน" ผ่านทางเพื่อนคนหนึ่งแนะนำ เพราะเห็นว่าเรื่องของน้องฟรีเป็นเคสที่น่าสนใจ ดังนั้น DifferSheet เป็น Startup ที่เราจะมาเล่าให้ฟังกัน
น้องฟรีได้รับทุนการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ในคณะวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ และเคยผ่านการทำงานมาหลายอย่าง ตั้งแต่รับจ้างทั่วไป ยันเปิดกิจการขายของเอง แล้วเจ๊งหมดตัวไปกับการเปิดร้านขายเสื้อผ้าในศูนย์การค้าแห่งหนึ่ง สิ่งเหล่านี้ทำให้น้องเขาได้ฝึกฝนตัวเองจากประสบการณ์การทำงานจริง จึงทำให้มองเห็นความต้องการของตลาดบางอย่าง และตัวของฟรีเองมีจุดมุ่งหมายอยากจะพัฒนาศักยภาพของเยาวชนไทยโดยเฉพาะ ในเรื่องการมีนิสัยรักการเขียนและการอ่าน
ฟรี เล่าให้ฟังถึงความคิดของเขา ว่าถ้าตัวเขาเองเป็นครู ก็จะสามารถสอนเด็ก ๆ ได้เพียงครั้งละ 30 คน แต่ถ้าหากเขานำเทคโนโลยีมาพัฒนาเด็ก เขาจะสามารถพัฒนาเด็ก ๆ ในประเทศได้พร้อมกันถึงหลักล้านคน ดังนั้น เขาจึงเริ่มโครงการที่เขาคิดกับทางโรงเรียน ด้วยความที่ว่าโรงเรียนเป็นสถานที่ที่มีเด็ก ๆ อยู่รวมกันจำนวนมาก และสามารถทำกิจกรรมของ DifferSheet ไปพร้อม ๆ กันได้
DifferSheet เริ่มต้นตั้งแต่ฟรียังเป็นนักศึกษา ในช่วงปี 2013 เป็น Senior Project อยากให้การทำสมุดติดรูปหรือข่าวที่ตัดมาจากสื่อสิ่งพิมพ์ (Scrapbook) สามารถทำได้ง่าย และทำได้ทุกคน โครงการนี้มีโอกาสได้เข้าร่วมแข่งขันในเวทีระดับนานาชาติ ICT Student Project Conference 2013 ซึ่งในปีนั้น DifferSheet ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 โปรเจ็กต์นี้ผ่านการหาข้อมูลจากกลุ่มผู้ใช้จริง ทั้งเด็ก ผู้ปกครองและครู เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เพื่อให้งานสามารถแก้ปัญหาเรื่องการเขียน และทำให้เด็กสนุกกับการเขียนได้จริง ๆ
DifferSheet เป็น Platform สำหรับการเขียนบันทึกของเด็ก ๆ ในรูปแบบ Social Network โดยการเขียนบันทึกเป็นสิ่งที่จะทำให้เด็ก ๆ ได้รับประโยชน์มากมาย ไม่แค่เรื่องของการเขียน แต่ยังมีการอ่าน การเล่าเรื่องตามมาด้วย ซึ่งจะทำให้เกิดมีกระบวนการคิดที่เป็นลำดับขั้นตอน ฝึกสมาธิ เสริมสร้างการจดจำที่ดี ช่วยเยียวยาความรู้สึกเจ็บป่วยทางใจ รวมถึงการช่วยให้รู้จักและเข้าใจตนเอง
แต่ในทางปฏิบัติกลับเป็นอะไรที่ยากมาก เพราะการโยนสมุดเล่มหนึ่งกับดินสอให้เด็ก ไม่สามารถชักชวนให้เขาอยากเขียนบันทึกได้ ยิ่งในยุคที่มีสิ่งเร้าต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเกม, Tablet, Smart phone ฯลฯ สิ่งเหล่านี้สามารถดึงเวลาไปจากเด็ก ๆ ได้ทั้งหมด
แต่ DifferSheet จะสามารถทำให้เด็ก ๆ สนุกไปกับการเขียนในแบบที่สมุดธรรมดาไม่สามารถทำได้ เมื่อเด็ก ๆ ส่งบันทึกให้ครูอ่าน จะมีการให้รางวัล และมีการสะสมรางวัลภายใน Platform ทำให้พวกเขารู้สึกภูมิใจในงานที่ทำ และอยากเขียนบันทึกต่อไปเรื่อย ๆ ซึ่งจะนำไปสู่การมีนิสัยรักในการเขียนและการอ่านที่แท้จริงได้ โดยขณะนี้มี 4 โรงเรียนแรก ที่เริ่มใช้งาน DifferSheet แล้ว คือ โรงเรียนสุขฤทัย, โรงเรียนพัฒนวิทย์, โรงเรียนพระมารดานิจจานุเคราะห์ และโรงเรียนซิกข์วิทยาลัย และมีอีกหลายโรงเรียนอยู่ระหว่างการประชุมเพื่อสรุปการใช้ และวันเริ่มใช้งาน
อย่างไรก็ตาม ทางเดินของ Startup ก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ น้องฟรีเล่าว่า เขาพบเจอกับปัญหานับไม่ถ้วน ซึ่งปัญหาหลักคือการที่จะทำให้ผู้ใหญ่เปิดใจยอมรับในสิ่งใหม่ ๆ โดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยีซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ถึงกับเคยคิดว่าอยากจะเปลี่ยนวิธีในการเข้าถึงกลุ่มเด็ก ๆ แต่พอผมได้อ่านบันทึกที่เด็ก ๆ เขียนไว้ จากเริ่มต้นเขียนเรื่องละ 1-2 บรรทัด กลายเป็นเขียนยาว 1 หน้ากระดาษ และทำได้ดีมากขึ้นเรื่อย ๆ มันทำให้ผมคิดว่าสตาร์ตอัพตัวนี้มีประโยชน์อย่างยิ่ง ไม่สามารถจะทิ้งไปเฉย ๆ แต่ต้องเดินหน้าโครงการนี้ต่อ เพื่อช่วยเพิ่มทักษะด้านการเขียนและการอ่านของเด็กไทย
น้องฟรีเองก็ต้องการให้เด็กนักเรียนทุกคนในประเทศไทยมีโอกาสใช้DifferSheetและเข้าใจว่าDifferSheet ไม่ใช่เแค่เขียนบันทึกของเด็ก ๆ เท่านั้น แต่ยังเป็นสังคม เป็นพื้นที่ให้เด็ก ๆ รุ่นใหม่ ได้เข้ามาแสดงความสามารถในทางสร้างสรรค์ ในด้านที่ดี เพื่อให้พวกเขาได้รับการยอมรับ และเกิดความภูมิใจในทิศทางที่ถูกต้องอีกด้วย ซึ่งจะเป็นการบ่มเพาะให้เด็ก ๆ เหล่านั้น เติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพและมีคุณค่าต่อประเทศชาติและสังคม
ผมกับฟรีเคยลองคุยภาพสะท้อน ก่อนทำ Startup กับหลังทำ Startup น้องฟรีได้แชร์ให้ผมฟังว่ามันค่อนข้างแตกต่างกันมากกับสิ่งได้รับรู้ผ่านสื่อต่าง ๆ มาว่า "แค่มีไอเดียก็เป็นเจ้าของธุรกิจได้แล้ว" ซึ่งความจริงแล้ว ในความเห็นของเขา คำนี้มันใช้ไม่ได้เลยครับ สำหรับการทำ Startup ในประเทศไทย เพราะมันต้องมีทั้งทุนทรัพย์ มีความสัมพันธ์ที่ดี มีการติดต่อสื่อสารที่ดี มีเวลา มีความสามารถ มีไอเดีย ที่สำคัญคือมีโอกาส และมีองค์ประกอบอื่น ๆ อีกมากมายหลายอย่าง
"เมื่อรู้ว่าตนเองยังขาดปัจจัยอีกหลายอย่าง ผมจึงต้องลงทุนทางด้านความคิดและเวลามากกว่าคนอื่น ต้องใช้ความอดทน รวมถึงการวางแผนที่ดี และมีเป้าหมายที่ชัดเจน" นี่คือสิ่งที่น้องฟรีสะท้อนให้ฟัง
เพราะฉะนั้น น้องเขาจึงอยากฝากกับคนที่จะเริ่มทำ Startup ว่าการเริ่มทำ Startup ไม่ใช่แค่การเขียนโปรแกรมได้ แต่ปัจจัยสำคัญจริง ๆ คือการมอบคุณค่าที่แท้จริงให้กับผู้บริโภค เพราะฉะนั้น ถ้าใครที่ใฝ่ฝันอยากทำ Startup ขอให้สำรวจวัตถุดิบของตัวเองที่มีก่อนว่าพร้อมหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นความสามารถ งบประมาณ คอนเน็กชั่น ภาษา ประสบการณ์ เวลา และความอดทน
เพราะถ้าคุณไม่มีสิ่งเหล่านี้ การต่อสู้ในโลกธุรกิจจริง ๆ มันค่อนข้างยากมาก และยิ่งถ้าขาดความพร้อมในหลาย ๆ อย่าง อาจทำให้ความฝันนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยครับ
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน