สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

รายงาน : เงินอิเล็กทรอนิกส์เถื่อน? ฟิล์ม รัฐภูมิ ถูก แบงก์ชาติ แจ้งจับ

รายงาน : เงินอิเล็กทรอนิกส์เถื่อน? “ฟิล์ม รัฐภูมิ” ถูก “แบงก์ชาติ” แจ้งจับ

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

       เผยเหตุที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย แจ้งความดำเนินคดีกับ “เพย์ออล กรุ๊ป” ของนักแสดงดัง “ฟิล์ม รัฐภูมิ” เหตุขออนุญาตเงินอิเล็กทรอนิกส์ผิดประเภท และยังฝ่าฝืนให้บริการแอปพลิเคชัน
       
       กิตตินันท์ นาคทอง ... รายงาน
       
       ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ดำเนินคดีกับ บริษัท เพย์ออล กรุ๊ป จำกัด
       
       ซึ่งมีดารานักแสดงชื่อดัง “ฟิล์ม รัฐภูมิ โตคงทรัพย์” เป็นประธานบริษัท
       
       หลังพบว่าให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (อี-มันนี่) โดยไม่ได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมีโทษสูงสุด คือ จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำและปรับ
       
       ธปท.แจ้งเอาผิด “เพย์ ออล กรุ๊ป” ของ “ฟิล์ม รัฐภูมิ” รับชำระค่าสินค้าผ่านแอปฯ มือถือไม่ได้รับอนุญาต
       
       เงินอิเล็กทรอนิกส์ (อี-มันนี่) คือ มูลค่าเงินที่บันทึกในสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งผู้ใช้บริการได้ชำระเงินล่วงหน้าแก่ผู้ให้บริการ เพื่อนำไปใช้ชำระค่าสินค้าบริการได้ตามร้านค้าที่รับชำระโดยไม่ต้องพกเงินสด
       
       การทำธุรกิจ อี-มันนี่ จำเป็นต้องขออนุญาตจากทางแบงก์ชาติ แบ่งออกเป็น 3 ประเภท
       
       - บัญชี ก เป็นธุรกิจบริการที่ต้องแจ้งให้ทราบก่อนให้บริการ ใช้ซื้อสินค้าหรือรับบริการเฉพาะอย่างตามรายการที่กำหนดไว้ล่วงหน้าจากผู้ขายสินค้า หรือให้บริการเพียงรายเดียว
       
       ยกเว้น ใช้เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้บริโภคโดยไม่ได้แสวงหากำไรจากการออกบัตร เช่น บัตรศูนย์อาหาร บัตรโดยสารสาธารณะ บัตรโทรศัพท์สาธารณะ หรือ บัตรชำระค่าผ่านทางสาธารณะ
       
       ปัจจุบัน มีเพียงบริษัท พีทีที ไอซีที โซลูชั่นส์ จำกัด บริษัทย่อยของกลุ่ม ปตท. เป็นผู้ได้รับอนุญาตบัญชี ก เพียงรายเดียว
       
       - บัญชี ข เป็นธุรกิจบริการที่ต้องขอขึ้นทะเบียนก่อนให้บริการ เช่น เครือข่ายบัตรเครดิต, เครือข่ายเครื่องรูดบัตร (อีดีซี) หรือระบบสวิตชิง ในการชําระเงินระบบหนึ่งระบบใด
       
       - บัญชี ค เป็นธุรกิจบริการที่ต้องได้รับอนุญาตก่อนให้บริการ ทั้งการหักบัญชี ชําระดุล ชําระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านอุปกรณ์อย่างหนึ่งอย่างใดหรือผ่าน ทางเครือข่าย หรือระบบสวิตชิงแบบหลายระบบ
       
       รวมทั้ง บริการรับชำระเงินแทนเจ้าหนี้ ค่าสินค้า ค่าบริการ หรือเจ้าหนี้อื่นใด เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล ค่าประกันชีวิต ฯลฯ
       
       รวมทั้ง บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ ใช้ซื้อสินค้าและหรือรับบริการเฉพาะอย่างตามรายการที่กำหนดไว้ล่วงหน้า จากผู้ให้บริการหลายราย ไม่จำกัดสถานที่ และไม่อยู่ภายใต้ระบบการจัดจำหน่ายและการให้บริการเดียวกัน
       
       สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธปท. กล่าวว่า เพย์ ออล กรุ๊ป เคยยื่นขออนุญาตประกอบธุรกิจ อี-มันนี่ บัญชี ก
       
       แต่ปรากฎว่า บริการของเพย์ ออล เข้าข่ายต้องขออนุญาตในบัญชี ค คือ บัญชีใช้ซื้อสินค้าและบริการจากผู้ขายหลายราย โดยไม่จำกัดสถานที่
       
       โดยลักษณะคือ ให้บริการแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือภายใต้ชื่อ “Payall” โดยสมัครสมาชิก เติมเงินล่วงหน้าเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อนำไปใช้ชำระสินค้าหรือบริการจากร้านค้าต่างๆ ที่กำหนด
       
       ที่ผ่านมา ธปท. ได้แจ้งให้ บริษัท เพย์ออล กรุ๊ป ทำการยื่นเรื่องมาใหม่ แต่พบว่าบริษัทยังคงให้บริการแอปพลิเคชัน โดยที่ไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งถือเป็นความผิดประกอบกับ ประชาชนได้ร้องเรียนเข้ามาให้ ธปท. ตรวจสอบ
       
       ธปท. ย้ำว่า ธุรกิจ อี-มันนี่ รับเงินจากประชาชนทั่วไปในวงกว้าง ต้องได้รับอนุญาตจากทางการก่อน ต้องมีทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท และต้องดำรงฐานะทางการเงินสภาพคล่อง เพื่อให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง
       
       อีกทั้ง ต้องมีการเก็บรักษาเงินของผู้ใช้บริการอย่างรัดกุม โดยต้องฝากไว้กับสถาบันการเงินและแยกบัญชีไว้ต่างหากจากเงินทุนหมุนเวียน เพื่อไม่ให้ขาดสภาพคล่อง
       
       จึงเป็นเรื่องที่ประชาชนต้องระมัดระวัง ศึกษาสิทธิของตนเอง และใช้สิทธิที่มีเงื่อนไขและข้อตกลงที่มีกับบริษัท รวมถึงสิทธิอื่นที่เกี่ยวข้อง หากพบว่ามีผู้ให้บริการ อี-มันนี่ ไม่ได้รับอนุญาตให้แจ้งที่ 1213 ตลอดเวลา.
       
       

---


       
       รายชื่อผู้ประกอบธุรกิจบริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money บัญชี ค) ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน
       
       1. บริษัท ทรู มันนี่ จำกัด (บริษัทย่อยของกลุ่มทรู เครื่องหมายการค้า TrueMoney)
       2. บริษัท ทีทูพี จำกัด (เครื่องหมายการค้า DeepPocket)
       3. บริษัท ทูซีทูพี พลัส (ประเทศไทย) จำกัด (เครื่องหมายการค้า 2C2P)
       4. บริษัท ไทยสมาร์ทคาร์ด จำกัด (เครื่องหมายการค้า Smart Purse)
       5. บริษัท บางกอก สมาร์ทการ์ด ซิสเทม จำกัด (เครื่องหมายการค้า Rabbit)
       6. บริษัท เพย์สบาย จำกัด (บริษัทย่อยของดีแทค เครื่องหมายการค้า Paysbuy)
       7. บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (เครื่องหมายการค้า บุญเติม)
       8. บริษัท แรบบิท-ไลน์ เพย์ จำกัด (เครื่องหมายการค้า Rabbit LinePay)
       9. บริษัท เอ็มโอแอล เพย์เมนท์ จำกัด (เครื่องหมายการค้า MOL)
       10. บริษัท แอดวานซ์ เมจิคการ์ด จำกัด (บริษัทย่อยของเอไอเอส จำหน่ายบัตรแทนเงินสดวันทูคอล)
       11. บริษัท แอดวานซ์ เอ็มเปย์ จำกัด (บริษัทย่อยของเอไอเอส เครื่องหมายการค้า mPAY)
       12. บริษัท แอร์เพย์ (ประเทศไทย) จำกัด (เครื่องหมายการค้า AirPay)
       13. บริษัท ไอพี เพย์เมนท์ โซลูชั่น จำกัด (เครื่องหมายการค้า PayforU)
       14. บริษัท เฮลโลเพย์ จำกัด (เครื่องหมายการค้า Go!Hub)
       
       ที่มา : ธปท. 


งานเข้า! ธปท.เอาผิดธุรกิจอี-มันนี่ “ฟิล์ม รัฐภูมิ”ชี้ผิดกฎหมาย อาจโดนคุก2ปีหรือปรับ2แสน

จากประชาชาติธุรกิจ

นายพฤทธิพงศ์ ศรีมาจันทร์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายช่วยงานบริหาร ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ธปท.ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้ดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษเพื่อดำเนินคดีกับ บริษัท เพย์ออล กรุ๊ป จำกัด และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 

เนื่องจากบริษัทดังกล่าวให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์(อีมันนี่) ในการใช้ชำระค่าสินค้าและบริการโดยไม่ได้รับอนุญาตจากทาง ธปท. มีความผิดตามตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์พ.ศ. 2544 ประกอบพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์พ.ศ. 2551 (พ.ร.ฎ. อีเพย์เมนต์) และประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 58 ประกอบประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ 5 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 58 (การประกอบธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์) โดยผู้ที่ไม่ได้รับอนุญาตมีโทษสูงสุด คือจำคุก 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ธปท

“บริษัทดังกล่าวเคยยื่นขออนุญาตทาง ธปท. เพื่อดำเนินธุรกิจ แต่เป็นการยื่นมาผิดประเภท ธปท.จึงได้แจ้งให้ผู้ประกอบการมารับทราบรายละเอียด และให้ยื่นใบขออนุญาตมารอบใหม่ โดยจะต้องมีทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท มีการแยกบัญชีเงินลูกค้ากับบัญชีเงินของบริษัท มีการชี้แจงโครงสร้างองค์กร และแผนธุรกิจชัดเจนในระยะ 3 ปี เป็นต้น แต่บริษัทไม่ได้ดำเนินการ ซึ่งเมื่อปลายปี 2559 ที่ผ่านมา ธปท. ได้รับรายงานว่าบริษัทดังกล่าวมีการดำเนินธุรกิจอยู่ ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีประชาชนเข้าไปเป็นสมาชิก และกังวลว่าจะมีประชาชนเข้าไปเป็นสมาชิกเพิ่มขึ้น จึงได้มีการแจ้งความดำเนินการดังกล่าว ส่วนการสืบสวนจะใช้ระยะเวลาเท่าไรและจะเอาผิดกับใครบ้างนั้นต้องรอความชัดเจนจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ” นายพฤทธิพงศ์ กล่าว

นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า ธปท. ขอแนะนำให้ประชาชน ร้านค้า และสถานประกอบการ เลือกใช้บริการอีมันนี่จากผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตจากทางการเท่านั้น รวมทั้งมีการศึกษาเงื่อนไขการใช้บริการและการดำเนินการเพื่อรักษาสิทธิ์ตนเอง โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อได้จากเว็บไซต์ของธปท. หรือ ศูนย์คุ้มครองผู้บริโภคทางการเงิน โทร 1213 ทั้งนี้ หากพบเบาะแสเกี่ยวกับเครือข่ายผู้ให้บริการที่อาจจะเป็นผู้ที่ไม่ได้รับอนุญาต สามารถแจ้งรายละเอียดตามข้างต้นได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ บริษัท เพย์ออล ตามรายละเอียดที่แจ้งบนเว็บไซต์ มีสำนักงานอยู่ที่อาคาร ซีเอส ทาวน์เวอร์ เลขที่ 230 ชั้น 1 ถนนรัชดาภิเษก แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ 10310 เปิดตัวเมื่อปี 2558 มีนายสมคิด ลวางกูร เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร นายรัฐภูมิ โตคงทรัพย์ หรือ ฟิล์ม รัฐภูมิ เป็นกรรมการผู้จัดการ ให้บริการแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือภายใต้ชื่อ “PayAll” โดยให้ผู้ใช้บริการสมัครเป็นสมาชิกในแอพพลิเคชั่น และเติมเงินล่วงหน้าเข้ากระเป๋าอีมันนี่ ซึ่งสามารนำไปใช้ในการชำระค่าสินค้าหรือบริการจากร้านค้าต่าง ๆ ได้ ซึ่งก่อนหน้านี้เพย์ออล ตั้งเป้าหมายว่าจะมีผู้ใช้บริการแอพพลิเคชั่นมากถึง 1 ล้านคน


ธปท.เชือด‘PayAll’ บริการอีมันนี่ผิดประเภทใบอนุญาต แนะคู่ค้า-ลูกค้าสมาชิกศึกษาสิทธิด่วน

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ธปท.เชือด ‘PayAll’ ดำเนินคดีให้บริการ "อีมันนี่" ไม่ขออนุญาตตามผิดกฎหมาย 2 ฉบับ มีโทษจำคุกสูงสุด 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แจงบริษัทเคยมาขออนุญาตแล้ว แต่ผิดประเภทธุรกิจ แนะประชาชน-ร้านค้าที่เข้าเป็นสมาชิกเพย์ออลศึกษาสิทธิให้ชัด


นายพฤทธิพงศ์ ศรีมาจันทร์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายช่วยงานบริหาร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2560  ธปท.ได้ดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษกับ บริษัท เพย์ออล กรุ๊ป จำกัด หรือ (PayAll) ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิด เกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในความผิดตามกฎหมาย 2 ฉบับ เนื่องจากบริษัทดังกล่าวประกอบธุรกิจให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (อีมันนี่) โดยไม่ได้รับอนุญาต

โดย ธปท.ได้รับรายงานกรณีของบริษัท PayAll  มาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2559 ว่า PayAll ผู้ประกอบธุรกิจแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ โดยให้ผู้สมัครเป็นสมาชิกและเติมเงินล่วงหน้าเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (อีวอร์เล็ต) เพื่อใช้ซื้อสินค้า โดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจ บริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2551 และประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ประกอบประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ 5 ซึ่งมีบทลงโทษสูงสุดตามกฎหมายคือ จำคุกไม่เกิน 2 ปีและปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ  อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ทางบริษัท เพย์ออล กรุ๊ป จำกัด ได้มาติดต่อเพื่อขออนุญาตประกอบธุรกิจตามบัญชี ก. ช่วงกลางปี 2559 แต่จากรายงานพบว่า บริษัทประกอบธุรกิจเข้าข่ายการให้บริการตามบัญชี ค. ดังนั้น ธปท.จึงให้บริษัทกลับไปยื่นรายงานขออนุญาตให้ตรงตามประเภท แต่ช่วงปลายปี 2559 ธปท.ทราบว่าทางบริษัทได้เปิดให้บริการก่อนที่ได้รับอนุญาตจึงต้องดำเนินคดีกับทางบริษัท

“ช่วงกลางปี 2559 ทางบริษัท เพย์ออล กรุ๊ป ได้มายื่นขออนุญาตกับทาง ธปท.แต่เป็นการยื่นของประกอบธุรกิจผิดประเภทเป็นบัญชี ก.แต่ลักษณะธุรกิจที่ทำแผนมาไม่ตรงกับที่ยื่นขออนุญาตเพราะต้องลงบัญชี ค. ธปท.จึงได้แจ้งกับบริษัทให้ยื่นใหม่อีกครั้ง แต่ช่วงปลายปี 2559 ได้รับรายงานว่า บริษัทกลับเริ่มดำเนินธุรกิจไปแล้ว ด้วยการเติมเงินผ่านแอพพลิเคชั่นเพื่อใช้ซื้อสินค้าต่างๆ” 
นางสาวสิริธิดากล่าว


สำหรับมาตรการเยียวยาผู้เสียหายจากการให้บริการของ PayAll ขณะนี้ยังไม่มีมาตรการณ์เยียวยาแต่อย่างใด เนื่องจากยังไม่มีผู้ได้รับความเสียหายเข้ามาร้องเรียนกับทาง ธปท. อย่างไรก็ตาม ธปท. มีข้อแนะนำสำหรับประชาชนที่ใช้บริการของ PayAll ให้ศึกษาสิทธิของตนเอง รวมทั้งเงื่อนไขข้อตกลงที่มีกับทางบริษัท ส่วนร้านค้าและคู่ค้าของ PayAll หากมีข้อขัดข้องในการทำธุรกิจกับบริษัทให้ไปติดต่อกับบริษัทโดยตรง

ทั้งนี้ การให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (อี-มันนี่) ตามบัญชี ค. คือการบริการภายใต้นิติบุคคลที่หลากหลาย จึงต้องมีทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาทและจัดทำบัญชีแยกต่างหากจากบัญชีของบริษัท รวมทั้งยังต้องมีการรักษาความลับผู้ใช้บริการ มีกระบวนการคืนเงินให้กับผู้ใช้บริการ แตกต่างจากบัญชี ก.ที่ให้บริการนิติบุคคลรายเดียว ที่มีความเสี่ยงจำกัด

ผู้สื่อข่าวรายงานจากข้อมูลจากเว็บไซต์ http://www.payallgroup.com/ ของบริษัท PayAll พบว่ามี นายรัฐภูมิ โตคงทรัพย์ หรือ ฟิลม์ ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ และนายสมคิด ลวางกูร ดำรงตำแหน่งประธานบริหาร และประกอบด้วยรองประธานบริหาร 4 คน คือ นายธเนศ จัตวาพรวนิช นางสาวกัญญาลัคณ์ ภัคเครือพันธุ์ นายภูมิพัฒน์ ประเสริฐวิทย์ และ นายภูริทัต โตคงทรัพย์

สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : รายงาน เงินอิเล็กทรอนิกส์เถื่อน ฟิล์ม รัฐภูมิ แบงก์ชาติ แจ้งจับ

view