จากประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ ระดมสมอง โดย ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร
ชาติบ้านเมืองจะต้องพัฒนาไปเบื้องหน้า เพราะประชากรเพิ่มขึ้น ทรัพยากรธรรมชาติมีปริมาณจำกัดและถดถอยในความอุดมสมบูรณ์ ในขณะที่ความคาดหวังในคุณภาพชีวิตและมาตรฐานการดำรงชีพของพลเมืองมีแนวโน้มสูงขึ้น เหล่านี้คือเหตุผลในเชิงตรรกะ ที่ก่อให้เกิดความคิดและการตัดสินใจในการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเมื่อ 60 ปีมาแล้ว
แผนพัฒนาฯ 5 ปี กำหนดทิศทางการพัฒนาและการแก้ไขปัญหาในแต่ละช่วงเวลา ด้วยแนวนโยบายและมาตรการที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับการใช้ทรัพยากร ทั้งที่มีอยู่และที่จะจัดหามาให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า
ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ความเจริญทั้งในภาพรวมและด้านต่าง ๆ ของเมืองไทยในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา เป็นผลมาจากการวางแผนพัฒนาที่ต่อเนื่องกันมาอย่างมีนัยสำคัญ
เมื่อเริ่มการวางแผนพัฒนาฯ มีการพิจารณาความเหมาะสมที่จะให้มีการกำหนด"ยุทธศาสตร์" ที่มีมิติกาลเวลาซึ่งยาวไกล ครอบคลุมช่วงเวลาของแผนพัฒนาฯ 5 ปีหลาย ๆ แผน ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงในนโยบายและมาตรการ ทำให้การพัฒนาประเทศมีลักษณะเป็น เส้นตรงและชัดเจน
ไม่เบี่ยงเบนและชะงักงันไปกับปรากฏการณ์ระยะสั้นที่จะเกิดขึ้นเป็นธรรมชาติทั้งในบริบทของเหตุการณ์ภายในประเทศและในโลกกว้างเนื่องจากในขณะนั้นยังขาดข้อมูลและการศึกษาเกี่ยวกับศักยภาพในการพัฒนาประเทศสำหรับที่จะสร้างวิสัยทัศน์อันเป็นที่ยอมรับดังนั้นจึงได้ข้อยุติเป็นนโยบายว่าสมควรให้รอการดำเนินงานของแผนพัฒนาฯ 5 ปีไปสักระยะหนึ่งก่อน เพื่อสั่งสมข้อมูลและประสบการณ์อันจะเป็นฐานสำหรับวิสัยทัศน์ที่จำเป็นต่อการกำหนดยุทธศาสตร์
อย่างไรก็ตามกาลเวลาได้ผ่านไปหลายทศวรรษโดยที่ไม่มีโอกาสจะกระทำในเรื่องดังกล่าวจนกระทั่งมีการหยิบยกขึ้นมาพิจารณาดำเนินการในปัจจุบัน
การกำหนดยุทธศาสตร์ เป็นการวางแผนระยะยาว เพื่อให้บรรลุจุดหมายในเรื่องต่าง ๆ ที่มีความสำคัญในทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม โดยวางกรอบการดำเนินงานตามแนวทางที่จะไปสู่จุดหมาย ซึ่งมีความแตกต่างจากการวางแผนพัฒนาระยะ 5 ปี ที่ต้องมีความชัดเจนในเป้าประสงค์ นโยบายและมาตรการ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การวางแผนพัฒนาฯ จะต้องอยู่ในกรอบของยุทธศาสตร์ หากมีความยืดหยุ่นในการกำหนดเป้าประสงค์ นโยบายและมาตรการ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในช่วงเวลาของแผนพัฒนาฯ
ในขณะที่นโยบายและมาตรการของรัฐบาลให้ความสำคัญต่อการรักษาเสถียรภาพซึ่งเป็นปัญหาระยะสั้นการวางแผนพัฒนาฯระยะ 5 ปี เป็นการดำเนินการในระยะกลาง และการกำหนดยุทธศาสตร์ เป็นการวางแผนระยะยาว
สำหรับเมืองไทย ทั้งจากประสบการณ์ที่ผ่านมา และทั้งสภาวะความเป็นจริงในปัจจุบัน ยุทธศาสตร์ที่พึงกำหนดสำหรับระยะเวลา 2 ทศวรรษข้างหน้า ควรจะครอบคลุมด้านต่าง ๆ ดังนี้
ยุทธศาสตร์ที่ 1 การทำให้สถาบันทางการเมืองและการปกครอง มีความมั่นคงในระบอบประชาธิปไตย ที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมไทย
ยุทธศาสตร์ที่ 2 การทำให้ชีวิตและทรัพย์สินของคนในชาติมีความปลอดภัยในระดับสูงสุด
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การทำให้พลเมืองไทยมีสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคอย่างแท้จริง ตามเงื่อนไขในระบอบประชาธิปไตย
ยุทธศาสตร์ที่ 4 การทำให้พลเมืองไทยมีคุณภาพ ทั้งในด้านสุขอนามัย ในความรู้ความสามารถและในหลักที่ใช้คิด ตลอดจนจิตสำนึก
ยุทธศาสตร์ที่ 5 การทำให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่พึ่งตนเองได้ ในระยะที่เหมาะสม
ยุทธศาสตร์ที่ 6 การทำให้ทรัพยากรธรรมชาติ ได้รับการใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า ทั้งในทางเศรษฐกิจ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม
ยุทธศาสตร์ที่ 7 การทำให้ระบบการคมนาคม การขนส่ง และการสื่อสารในทุกรูปแบบ มีการพัฒนาที่ทันความก้าวหน้าของเทคโนโลยี
ยุทธศาสตร์ที่ 8 การบริหารจัดการที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจมีความพอเพียง ความสมดุล และมีเสถียรภาพ
ยุทธศาสตร์ที่ 9 การบริหารจัดการที่ทำให้สวัสดิการและความมั่นคงทางสังคมมีประสิทธิภาพและทั่วถึง
อย่างไรก็ตาม ยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้ในแต่ละด้าน จักมีโอกาสประสบความสำเร็จตามจุดหมาย ก็ต่อเมื่อได้ดำเนินการตามยุทธวิธีที่เหมาะสม ซึ่งรวมถึงประเด็นต่าง ๆ 3 ประการดังต่อไปนี้
ยุทธวิธีที่ 1 ยุทธศาสตร์ในแต่ละด้านควรจะกำหนดขึ้นในลักษณะที่เป็น"คุณภาพ" มากกว่าในลักษณะที่เป็น "ปริมาณ" ทั้งนี้ เพราะในช่วงเวลา 2 ทศวรรษ เป็นระยะเวลาที่ยาวนานเกินไปสำหรับการแสดงออกในเชิงปริมาณ แม้กระนั้น ยุทธศาสตร์ในแต่ละด้านก็จะต้องระบุให้ชัดเจน และให้เป็นที่เข้าใจตรงกันของเจ้าหน้าที่ทุกระดับและประชาชนทุกกลุ่ม โดยไม่มีการเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและขัดแย้ง
ยุทธวิธีที่ 2 ถึงแม้ว่าประชาชนควรจะต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดยุทธศาสตร์ก็ตาม แต่เนื่องจากยุทธศาสตร์เป็นเรื่องเทคนิค การวางแผน ดังนั้น ภารกิจในการจัดทำจึงเป็นความรับผิดชอบในวงจำกัด ต่อเมื่อได้จัดทำขึ้นมาแล้ว จะต้องอธิบายและชี้แจงให้ประชาชนได้ทราบ โดยบุคคลที่มีหน้าที่รับผิดชอบทางการเมือง จะต้องมีความสามารถโน้มน้าวให้มหาชนยอมรับและให้ความสนับสนุนในชั้นนี้
การกำหนดยุทธศาสตร์จะเป็นการพิสูจน์ระดับคุณภาพของบุคคลที่จะเป็นผู้นำประเทศ
สำหรับยุทธวิธีที่ 3นั้นมีลักษณะเป็น "วิชาการ" มากกว่ายุทธวิธีทั้งสองข้างต้นอยู่บ้าง ยุทธศาสตร์นี้เป็นการศึกษาวิเคราะห์ ให้พบว่าจะมีสิ่งใดบ้างที่จำเป็นจะต้องมี ก่อนที่การดำเนินการตามยุทธศาสตร์ในแต่ละด้านจะหวังได้ในความสำเร็จ
หากการศึกษาวิเคราะห์พบว่า "สิ่งนั้น ๆ" มีพร้อมอยู่แล้ว ก็จะเป็น "ความน่าจะเป็น" ในระดับสูง ที่ยุทธศาสตร์ในด้านนั้นจะบรรลุจุดหมาย หากการศึกษาวิเคราะห์พบว่า "สิ่งนั้น ๆ" ยังขาดอยู่ ก็จะต้องแสวงหาวิธีที่จะก่อให้เกิดขึ้น ก่อนที่จะคาดหวังในการบรรลุจุดหมายของวิทยาศาสตร์ ยกตัวอย่างง่าย ๆ ก็คือ จะทำฝนเทียมให้สำเร็จ ท้องฟ้าก็จะต้องมีเมฆฝน
สำหรับ "สิ่งนั้น ๆ" ที่กล่าวข้างต้นก็คือ prerequisite ในภาษาอังกฤษ ที่หมายถึงสิ่งที่จะต้องมี ก่อนที่สิ่งใดอื่นจะเกิดขึ้นได้ ความล้มเหลวของโครงการที่ผ่าน ๆ มาหลายโครงการ ก็เนื่องจากการมองข้ามความสำคัญของ prerequisite
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน