สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การพัฒนา SME ไทย สู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ ช่วยกันคิด โดย จิตราพร ลีละวัฒน์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม

โลกของเรากำลังเข้าสู่ช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ภายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ยุคอุตสาหกรรม 4.0 คือยุคที่การประกอบการที่แทบเป็นไปไม่ได้ในอดีต สามารถเป็นไปได้ในปัจจุบัน อันเป็นผลลัพธ์จากการที่โลกมีผลมาจากการพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ อย่างรวดเร็วมากมาย โดยเฉพาะเทคโนโลยีสารสนเทศและ Internet of Things

ดังนั้น Internet of Things, Big Data, Cloud Computing, Communication Technology และ Digital Security ที่ดีขึ้น รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ด้านอื่น ๆ ที่มีประสิทธิภาพสูง และเป็นผลดีต่อผู้ประกอบการหน้าใหม่ เช่น เทคโนโลยีด้านชีวภาพ อาหาร การแพทย์ สปา ดิจิทัล และเครื่องมืออื่น ๆ เช่น เครื่องพิมพ์ 3 มิติ หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยีสมองกลฝังตัว เทคโนโลยีการเงิน เทคโนโลยีการออกแบบ การท่องเที่ยว และการให้บริการแบบอื่น ๆ ที่มีประสิทธิภาพ เป็นต้น ทำให้ยุคของอุตสาหกรรม 4.0 เกิดขึ้นมาได้จริง



ในยุคอุตสาหกรรม 4.0 นั้น ทุกประเทศบนโลกจะมีการเชื่อมต่อกันอย่างไร้พรมแดน ในทุกมิติ ทั้งทางกายภาพและแบบเสมือนจริง จึงย่อมเกิดการแข่งขันกันสูงขึ้นเรื่อย ๆ อีกด้วย อาชีพเดิมหลายอาชีพจะสูญหายไป เกิดอาชีพใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน ดังนั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องเตรียมพร้อมเพื่อปรับตัวสู่การพัฒนาในยุคอุตสาหกรรม 4.0 เพื่อเพิ่มศักยภาพของตนเองในการแข่งขัน ทั้งการแข่งขันในระดับประเทศ ระดับบริษัท และระดับผู้ประกอบการ


ในส่วนของ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) นั้น การเตรียมพร้อมสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 จึงไม่อาจละเลย ส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดของการพัฒนา SME คือการพัฒนาที่ต้องมุ่งไปที่การพัฒนาตัวผู้ประกอบการเป็นหลัก ผู้ประกอบการ SME คือผู้เห็นโอกาสทางธุรกิจและสร้างธุรกิจ SME ให้อยู่รอดและยั่งยืน อีกนัยหนึ่งผู้ประกอบการเอสเอ็มอี คือผู้ก่อตั้งธุรกิจ ยอมรับความเสี่ยงเพื่อผลแห่งกำไร ดังนั้น ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จึงเป็นองค์ประกอบหลักที่สำคัญที่สุดในกิจการ SME ที่ตนเองริเริ่มก่อตั้ง หรือต้องการปรับเปลี่ยนองค์กรของตนเองให้ก้าวสู่ความเป็นยุคอุตสาหกรรม 4.0 ได้สำเร็จ

ในสังคมผู้ประกอบการยุคใหม่นั้น คณะกรรมาธิการยุโรป เคยให้นิยามคำว่า"ความเป็นผู้ประกอบการ" (Entrepreneurship) ไว้ว่า "เป็นความสามารถส่วนตัวในการเปลี่ยนความคิดให้เป็นการกระทำ" ซึ่งรวมไปถึงการมีความคิดสร้างสรรค์ สามารถสร้างนวัตกรรม พร้อมกล้าได้กล้าเสีย อีกทั้งมีความสามารถในการวางแผนและจัดการโครงการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้

ซึ่งคุณลักษณะดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนการดำเนินชีวิตของบุคคลที่เป็นผู้ประกอบการทั้งในชีวิตประจำวันในสังคมและในการดำเนินธุรกิจช่วยให้ลูกจ้างในธุรกิจของบุคคลนั้นเข้าใจบริบทแวดล้อมของการทำงานอีกทั้งยังเป็นบุคคลที่สามารถคว้าโอกาสทางธุรกิจเมื่อมาถึง และช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการคนอื่น ๆ ในการจัดกิจกรรมทางสังคมหรือทางการค้า โดยจะต้องมีการปลูกฝังทัศนคติในเรื่องจิตวิญญาณและทักษะของความเป็นผู้ประกอบการ พร้อมกับเสริมประสบการณ์ในเชิงปฏิบัติจริงให้แก่เขา 

คณะกรรมาธิการยุโรปยังได้แนะนำว่า ในการศึกษาระดับมัธยม ควรจะเริ่มปลูกฝังให้นักเรียนตระหนักว่าการมีอาชีพอิสระหรือการมีกิจกรรมเป็นของตนเอง เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการประกอบอาชีพในอนาคต พร้อมทั้งปลูกฝังทัศนคติและทักษะที่จำเป็นสำหรับการเป็นผู้ประกอบการผ่านทางการปฏิบัติจริง ในโครงการหรือกิจกรรมต่าง ๆ เช่น เริ่มปลูกฝังให้นักเรียนมีประสบการณ์ในการทำงานจริงในเรื่องธุรกิจการค้า หรือให้นักเรียนรู้จักวิธีการก่อตั้งบริษัทเป็นของตนเอง โดยมีการฝึกงานทั้งในโรงเรียนและในบริษัทที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งการฝึกงานดังกล่าว ไม่เพียงแต่จะช่วยให้นักเรียนมีความสามารถในการจัดการ แต่ยังช่วยเสริมทัศนคติและทักษะในการทำงานในบรรยากาศการปฏิบัติงานจริงอีกด้วย

ส่วนในระดับมหาวิทยาลัยนั้นควรมีการควบรวมเรื่องความเป็นผู้ประกอบการเข้าเป็นส่วนสำคัญของหลักสูตรพร้อมส่งเสริมหรือบังคับให้นักศึกษาลงทะเบียนเรียนวิชาส่งเสริมความเป็นผู้ประกอบการซึ่งมีการเรียนการสอนอย่างละเอียดว่าจะจัดตั้งบริษัทหรือบริหารธุรกิจอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ และมีการสร้างนวัตกรรม ทั้งในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท

นอกจากนี้ ควรจะมีการเสริมวิชาความเป็นผู้ประกอบการในการศึกษาทางสายวิทยาศาสตร์และทางสายเทคนิคอีกด้วย พร้อมส่งเสริมความร่วมมือระหว่างนักศึกษาและบุคลากรในสายวิทยาศาสตร์และเทคนิค กับนักศึกษาและบุคลากรทางสายบริหารธุรกิจให้มากขึ้น เช่น การตั้งทีมงานหรือทีมวิจัย ที่มีทั้งนักศึกษาและนักวิจัยในระดับปริญญาเอก ทั้งด้านวิทยาศาสตร์และด้านธุรกิจอยู่ด้วยกันในทีมเดียวกัน ที่สำคัญทางภาครัฐจะต้องหามาตรการเพื่อให้บุคลากรในภาคการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย มีอิสระที่จะออกไปรับงานวิจัยจากภายนอกได้อย่างสะดวก และไม่เสียตำแหน่งงานในปัจจุบัน

ในประเทศไทย ระดับมหาวิทยาลัยมีการพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการส่วนหนึ่ง ผ่าน "สหกิจศึกษา" มากว่า 14 ปีแล้ว ซึ่ง "สหกิจศึกษา" ไม่ใช่เพื่อเตรียมตัวนักศึกษาไทยให้เป็นลูกจ้างที่ดีในอนาคต แต่เป็นรูปแบบการผสมผสานระหว่างความรู้ที่ใช้ในห้องเรียน กับการทำงานที่ใช้ประสบการณ์จริง โดยรูปแบบทั่วไปคือการให้นักศึกษาไปทำงานจริงในระหว่างภาคการเรียนการศึกษา ขณะเดียวกันก็มีการให้คะแนนและมีหน่วยกิตให้

จุดมุ่งหมายของสหกิจศึกษาเพื่อให้นักศึกษาสามารถทดลองประสบการณ์ทำงานจริงและมีการเตรียมตัวก่อนจบการศึกษาเพื่อพร้อมจะทำงานได้ดังนั้น"สหกิจศึกษา"จึงน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นอีกรากฐานหนึ่งที่สามารถส่งเสริมและขยายตัวต่อยอดเพื่อพัฒนา "ความเป็นผู้ประกอบการ" ให้แก่ผู้ประกอบการหน้าใหม่ และภาคธุรกิจอุตสาหกรรมไทยได้อีกเส้นทางหนึ่ง


ในทางวิชาการ Carree & Thurik, 2008 และ Thurik, Audretsch, Carree & Van Stel 2008 พบว่าความเป็น "ผู้ประกอบการ" นั้น มีความเชื่อมโยงที่สำคัญต่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย ความเป็นผู้ประกอบการถูกหยิบยกให้เป็นจุดศูนย์รวมหรือเป้าหมายของเครื่องมือของนโยบายเศรษฐกิจของรัฐ เพื่อการสร้างความเจริญเติบโต สร้างตำแหน่งงานใหม่ และการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ตลอดจนช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกอีกด้วย

สภาพปัญหาระยะยาวของประเทศไทย เป็นผลมาจากวิกฤตเศรษฐกิจและการเมืองในอดีตที่เกิดขึ้นและสะสมตัว ยังไม่สามารถแก้ไขให้ลุล่วงอยู่หลายปัญหา รวมทั้งการที่ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยลดลง เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งอื่น ๆ อีกหลายประเทศ ตลอดจนการที่ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องปรับโครงสร้างประเทศ ไปสู่เศรษฐกิจใหม่ในยุคอุตสาหกรรม 4.0 ที่มีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เป็นฐานรากที่สำคัญของภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม

ดังนั้น ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาระยะยาวของประเทศไทย จึงไม่อาจละเลยส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดของการพัฒนา SME ไทย นั่นคือการพัฒนาที่ต้องมุ่งไปสู่การพัฒนาตัวผู้ประกอบการ SME ไทย ทั้งรายใหม่และรายเดิมเป็นหลัก


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : การพัฒนา SME ไทย ยุคอุตสาหกรรม 4.0

view