จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
โดย โรม บุนนาค
|
|
ก่อนจะอ่านเรื่องนี้ ขอทำความเข้าใจเสียก่อนว่า ผู้เขียนไม่ได้เป็นผู้แต่งเรื่องนี้ แต่เก็บความหรือจะเรียกว่าคัดลอกมาก็ได้ จากหนังสือชื่อ “ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา” ฉบับแปลโดย พันตรีหลวงเรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนรัชต์) และยังแปลกใจว่ามีเรื่องอย่างนี้บันทึกไว้ในพงษาวดารของเขมรได้อย่างไร เมื่อวันก่อนเล่าพงศาวดารไทยที่จารึกเรื่องพระร่วงวาจาสิทธิ์มีกำเนิดเกิดจากต่อมโลหิตของพญานาคแล้ว เลยทำให้นึกถึงเรื่องนี้ที่อัศจรรย์ยิ่งกว่าพงศาวดารไทยเข้าไปอีก
ต้นฉบับเดิมของพงศาวดารฉบับนี้ ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดย์ ผู้เชี่ยวชาญโบราณคดีตะวันออกชาวฝรั่งเศส ซึ่งเคยรับราชการอยู่ในกรมศิลปากรของไทย ต่อมาไปทำงานให้สถาบันตะวันออกของฝรั่งเศสที่กรุงฮานอย ได้พบต้นฉบับที่เป็นภาษาเขมร จึงนำมามอบให้หอสมุดวชิรญาณเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๙ ซึ่งทางหอสมุดได้มอบให้ พันตรีหลวงเรืองเดชอนันต์ ผู้เชี่ยวชาญภาษาเขมรแปล แล้วจัดพิมพ์ครั้งแรกใน พ.ศ.๒๔๖๐ ต่อมาใน พ.ศ.๒๕๑๓ สำนักพิมพ์แพร่พิทยาได้จัดพิมพ์เป็นครั้งที่ ๒ และใน พ.ศ.๒๕๕๐ สำนักพิมพ์ศรีปัญญา จัดพิมพ์อีกครั้งที่ ๓
พันตรีหลวงเรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนรัชต์) ผู้นี้ ก็คือบิดาของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์นั่นเอง
ราชพงษาวดารฉบับนี้มีอยู่ ๓ ตอน ตอนที่ ๑ เป็นเรื่องตำนานครั้งดึกดำบรรพ์ กล่าวถึงเรื่องสร้างพระนครหลวง นครวัด เก็บมาจากเรื่องนิทานที่บอกเล่ากันมา ซึ่ง นักองค์นพรัตน์หริรักษ์ราชภูบดี ราชบุตรของสมเด็จพระนโรดม ทรงนิพนธ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๒๐ เสริมข้างต้นพงษาวดารเดิมที่มีอยู่เพียง ๒ ตอน
ในเรื่องแรกของตอนที่ ๑ เปิดประเดิมด้วยเรื่อง “พระพุทธทำนาย” กล่าวความว่า
ปางเมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธมีพระชนมายุจวนครบถ้วน ๘๐ พรรษา ซึ่งเป็นกาลใกล้ที่พระองค์จะเสด็จเข้าสู่นิพพาน ได้เสด็จพระราชดำเนินกระทำทักษิณาวัฏแห่งเกาะชมพูทวีป เลียบตามฝั่งมหาสาครเพียง ๒ องค์กับพระอานนท์ เมื่อเสด็จมาถึงเกาะใหญ่แห่งหนึ่ง กลางเกาะนั้นมีต้นหมันใหญ่ขึ้นอยู่ต้นหนึ่ง ที่ลำต้นมีโพรงที่พระยานาคมาทำไว้พัก ส่วนพื้นดินโคนต้นก็ราบเรียบดังหน้ากลอง ทรงนำพระอานนท์เข้าประทับที่โคนต้นหมันนั้น
ครั้นจวนถึงเพลาราตรี พระจันทร์แจ้งนภา รุกขเทวาผู้ซึ่งอภิบาลรักษาต้นหมันก็นิมิตเป็นสุวรรณปัจฐรณ์ที่บรรทม มีฟูกหมอนแพรพรมเครื่องปูลาดอันบริสุทธิ์สะอาด ถวายแด่องค์สมเด็จภควา
พอล่วงเข้าปฐมยาม พระยานาคได้นำบริวารขึ้นมาเล่นเช่นเคย ครั้นพบสมเด็จพระศาสดา จึงเข้าไปน้อมเศียรนมัสการขอพระธรรมวิเศษเทศนา ซึ่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธก็ทรงพระกรุณาสำแดงพระธรรมวิเศษเทศนาให้พระยานาคและบริวาร
ครั้นลุมัชฌิมยาม ฝูงเทพนิกรอมรเมฆ มีสมเด็จพระหัสไนยอินทราเป็นต้น ได้พากันเหาะเหินเดินอากาศมาเฝ้า พากันกราบทูลข้อธรรมปัญหาที่ยังกังขาต่างๆ
จนลุปัจฉิมยามเป็นที่สุด บรรดาฝูงเทวบุตรเทวดาแลฝูงนาคีนาคา บางตนที่มีบารมีแก่กล้าก็สำเร็จมรรคผล ต่างพากันถวายอัญชีลากลับไปสำนักแห่งตน
ลุเพลาปัจจุสมัยใกล้รุ่ง พระพุทธองค์จึงตื่นบรรทม ทรงรำพึงถึงนิสัยในสัตว์โลกทั้งปวงตามพุทธกิจแล้ว ตรัสสั่งพระอานนท์ให้คอยอยู่ใต้ต้นหมัน แล้วพระองค์จึงยุรยาตรปาฏิหาริย์เหาะขึ้นไปบิณฑบาตรยังดาวดึงส์ ครั้นได้อาหารจึงเสด็จกลับคืนมา ทรงพระกรุณาแบ่งอาหารบิณฑบาตรนั้นให้พระอานนท์ได้รับประทานฉันด้วย
ในขณะสมเด็จพระพุทธเจ้ากำลังเสวยพระกระยาหารอยู่นั้น สัตว์ตะกวดตัวหนึ่งที่อาศัยอยู่ในโพรงเก่าของพระยานาค ได้กลิ่นอาหารทิพย์จึงคลานเข้ามาเฝ้าพระผู้มีพระภาคย์เจ้า น้อมเกล้าฯถวายบังคม สมเด็จพระพุทธองค์ก็ทรงพระกรุณาปั้นพระกระยาหารปั้น ๑ แล้วทรงโยนไปประทานสัตว์ตะกวดนั้น
ครั้นสัตว์ตะกวดได้บริโภคอาหารทิพย์ รู้สึกมีรสโอชา จึงแลบชิวหาเลียปากของตนเอง สมเด็จพระพุทธองค์ทรงทัศนาเห็นลิ้นสัตว์ตะกวดที่แลบออกมาเลียปากนั้น แตกเป็น ๒ ซีก ก็ทรงแย้มพระโอษฐ์จะตรัสพยากรณ์
พระอานนท์เห็นพระพุทธเจ้าทรงแย้มพระโอษฐ์ ก็ยกอัญชลีน้อมกราบบังคมทูลถามว่า เมื่อได้ทรงเห็นสัตว์ตะกวดเลียปากแล้ว ทรงแย้มพระโอษฐ์ดังนี้ ยังจะมีเหตุการณ์เป็นฉันใดฤา
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธทรงปรารถตรัสทำนาย บอกพระอานนท์ว่า
ดูกรอานนท์เอ๋ย จำเดิมตั้งแต่นี้ต่อไปภายหน้า เกาะโคกหมันนี้แผ่นดินจะงอกขึ้นอีกกว้างใหญ่ แล้วจะเกิดเป็นนครหนึ่ง ซึ่งสัตว์ตะกวดมีจิตรเลื่อมใสศรัทธามากราบถวายบังคมต่อองค์ตถาคต โดยอำนาจกุศลที่โสตประสาทได้ยินศัพท์สำเนียงพระสัทธรรมเทศนาแห่งตถาคต ในเมื่อแสดงให้พระยานาคและฝูงเทวาได้สดับตรับฟังนั้น เมื่อสัตว์ตะกวดนี้สิ้นชีพแล้ว จะได้บังเกิดบนสวรรค์ แล้วจะได้จุติลงมาเป็นกษัตริย์องค์หนึ่ง ครองกรุงอินทปรัตนคร และพระราชบุตรของกษัตริย์องค์นั้นจะได้เสด็จมาที่ตรงนี้ จึงพระยานาคที่ได้มาฟังพระธรรมเทศนานี้เอง จะได้มาสร้างพระนครเป็นราชธานีใหญ่ ให้แก่พระราชบุตรของกษัตริย์องค์นั้นประทับ แล้วขนานนามพระนครว่า กรุงกัมพูชาธิบดี ส่วนนานาประเทศจะเรียก เขมระภาษา ลุกาลต่อไปภายหน้า พระอินทราธิราชจะได้มาสร้างปราสาทถวาย แล้วเรียกนามเมืองว่า อินทปรัตนคร เป็น ๒ ชื่อ แลบรรดามนุษยชาติในพระราชธานีนี้ จะพูดจาสิ่งใดๆไม่ค่อยยั่งยืนอยู่ในสัตยานุสัตย์ โดยบุรพกษัตริย์ผู้ตั้งต้นแผ่นดิน มีชาติกำเนิดเกิดจากสัตว์ตะกวด อันมีลิ้นแฝดแตกแยกออกเป็น ๒ ซีก
ครั้นทรงตรัสทำนายเหตุการณ์ ณ ที่นั้นเสร็จแล้ว เสด็จทรงพระราชดำเนินไปทรงทำนายเหตุการณ์ ณ ประเทศถิ่นที่อื่นๆต่อไป จนบรรลุถึงนครกุสินาราย เสด็จเข้าสู่ราชอุทยาน ประทับอยู่ภายใต้ต้นรังทั้งคู่ แล้วจะได้เสด็จเข้าสู่พระบรมนิพพาน
อ่านแล้วก็งงๆเหมือนกัน ทำไมพงศาวดารเขมรจึงเก็บเรื่องนิทานแบบนี้มาบันทึก ทั้งผู้บันทึกก็เป็นพระราชวงศ์ชั้นสูงของกัมพูชาเอง เป็นไปได้หรือไม่ว่า ความคิดและความหมายของคนโบราณ จะแตกต่างกับความคิดความเข้าใจของคนในยุคนี้ ก็เลยเก็บเอามาเล่าสู่กันอ่าน
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,#สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน