จากประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ มองข้ามชอต โดย ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
ทุกวันนี้ "ธุรกิจบริการ" ถือเป็นเครื่องยนต์สำคัญของเศรษฐกิจไทย แต่ในอนาคตเครื่องยนต์นี้อาจต้องถึงคราวสะดุดลง จากการเผชิญกับอุปสรรคสำคัญ คือการขาดแคลนแรงงาน ดังนั้น การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับแรงงาน จึงเป็นทางออกที่ประเทศไทยควรหันมาใส่ใจอย่างเร่งด่วน
หากมองย้อนไปในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ธุรกิจบริการของไทยเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยมีแรงสนับสนุนจากรายได้ของชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้น ทั้งในไทย จีน และประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน ทำให้ประชากรกลุ่มนี้ที่มีมากกว่า 280 ล้านคน อยากเดินทางท่องเที่ยวหาประสบการณ์ใหม่ ๆ รวมถึงใช้จ่ายเพื่อสุขภาพมากขึ้นตามไปด้วย
ความต้องการเหล่านี้ยังมีศักยภาพที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกมากเพราะคนจีนที่เดินทางออกนอกประเทศมีจำนวนแค่10%ของประชากรทั้งหมดเท่านั้นเองนักท่องเที่ยวชาวจีนจึงยังขยายตัวได้อีกมากอย่างไรก็ตาม การเติบโตของธุรกิจบริการต้องการแรงงานสนับสนุนจำนวนมาก ทำให้ปัจจัยแรงงานกลายเป็นข้อจำกัดด้านอุปทานที่สำคัญที่สุดสำหรับอนาคตของธุรกิจบริการไทย ซึ่งมองว่าจะเป็นตัวชี้ขาด ว่าเราจะสามารถเติบโตได้ตามความต้องการหรือไม่
ทุกวันนี้ภาคธุรกิจมีความยากลำบากในการหาแรงงานให้เพียงพอจากการสำรวจของอีไอซีเรื่องปัญหาทรัพยากรมนุษย์พบว่ากว่าครึ่งของธุรกิจทั้งหมดไม่สามารถหาแรงงานที่ต้องการได้ภายในช่วงเวลา3เดือน โดยจะขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรงในธุรกิจท่องเที่ยว รวมถึงบริการอาหารและเครื่องดื่ม
แต่ทราบหรือไม่ว่า จริง ๆ แล้ว จำนวนแรงงานของไทยกำลังอยู่ในจุดพีก
ประชากรวัยแรงงานของไทย จะมีจำนวนมากที่สุดในปี 2561 หลังจากนั้นจะลดลงเรื่อย ๆ นอกจากนี้ บริษัท PwC ประเมินว่าประชากรวัยแรงงานของไทยจะลดลงอย่างรวดเร็วถึง 0.5-1% ต่อปีในช่วง 25 ปีข้างหน้า จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้นึกถึงภาพของประเทศญี่ปุ่น โดยประชากรวัยแรงงานในญี่ปุ่นลดลงราว 13% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้ญี่ปุ่นมีแรงงานไม่พอในหลายธุรกิจบริการ เช่น ธุรกิจการขนส่งสินค้าที่กำลังโต เนื่องจากคนหันมาสั่งซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น การสำรวจของหอการค้าญี่ปุ่นพบว่า 2 ใน 3 ของธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กมีปัญหาขาดแคลนแรงงาน และนี่คือสาเหตุที่ทำให้หลายคนมองว่า การนำเทคโนโลยีมาใช้ในภาคบริการเป็นทางออกที่น่าสนใจทางหนึ่งของปัญหาขาดแคลนแรงงาน เพราะเริ่มมีการใช้เทคโนโลยีเป็นตัวอย่างให้เห็นเพิ่มขึ้นในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธุรกิจโรงแรมและภัตตาคาร และธุรกิจบริการสุขภาพ ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตสูงของไทย
ในธุรกิจโรงแรมและภัตตาคาร โรงแรม Henn-na ของญี่ปุ่น คือตัวอย่างสำคัญของการนำร่องเทคโนโลยี Robotics Process Automation มาให้บริการเพื่อทดแทนแรงงาน โดยนำหุ่นยนต์ที่สามารถสื่อสารได้หลายภาษามาใช้ในการต้อนรับ และ Check in/Check out รวมทั้งรับฝากและจัดส่งกระเป๋าเข้าห้องพัก เพื่ออำนวยความสะดวกกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ
นอกจากนี้ ยังได้นำระบบ ตรวจสอบใบหน้า มาใช้แทน การไขกุญแจ เพื่ออำนวยความสะดวกและป้องกันลูกกุญแจสูญหาย ถือว่าเป็นวิธีการที่ช่วยลดอัตราการจ้างงานและเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการด้วย ส่วนธุรกิจบริการสุขภาพ มีการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์มาใช้อย่างแพร่หลายเช่นกัน ทั้งการผ่าตัด การดูแลคนไข้ และการจัดส่งอาหารและยาให้กับผู้ป่วยใน
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ หุ่นยนต์ da Vinci ที่นำมาใช้ผ่าตัด โดยเฉพาะเคสที่มีความเสี่ยงสูง เช่น การผ่าตัดหัวใจ เพื่อให้สามารถควบคุมการทำงานได้อย่างเต็มที่ มีความยืดหยุ่น และสามารถผ่าตัดในอวัยวะที่มีขนาดเล็กได้ หรือการนำหุ่นยนต์ Anybots Inc มาใช้สอบถามอาการและดูแลผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่พักรักษาตัวที่บ้าน ซึ่งนอกจากจะช่วยลดแรงงานแล้ว ยังช่วยรักษาความเป็นส่วนตัวให้กับผู้ป่วยอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม การนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์มาใช้ในธุรกิจบริการ คงตอบโจทย์การขาดแคลนแรงงานของไทยไม่ได้ทั้งหมด เพราะงานบริการส่วนมากเป็นงานที่ต้องใช้ทักษะด้านการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งทดแทนด้วยหุ่นยนต์ได้ยาก
การศึกษาโดยมหาวิทยาลัย Oxford พบว่างานที่ต้องการทักษะดังกล่าวมีโอกาสทดแทนด้วยหุ่นยนต์ต่ำกว่า 15% แม้แต่ในญี่ปุ่นยังพบว่าธุรกิจที่มีปัญหามากที่สุด คือธุรกิจที่ไม่สามารถทดแทนแรงงานด้วยหุ่นยนต์หรือแรงงานต่างชาติได้ง่ายนัก เช่น ธุรกิจเดย์แคร์ เป็นต้น
แล้วแรงงานสำหรับภาคบริการไทยจะมาจากไหน ?
ประเทศไทยจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการจัดสรรแรงงานให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต การที่แรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมมีโอกาสถูกทดแทนด้วยหุ่นยนต์ได้สูงกว่า 80% เป็นการเปลี่ยนแปลงที่น่ากลัวสำหรับหลาย ๆ คน แต่ก็แปลว่าแรงงานเหล่านี้อาจจะเป็นคำตอบของการขาดแคลนในภาคบริการ นอกจากนี้ ยังมีแรงงานในภาคเกษตรอีกจำนวนมาก ซึ่งสามารถย้ายไปสู่ภาคบริการได้ ทั้งนี้ อยู่ที่ว่าแรงงานเหล่านี้จะมีทักษะตรงตามที่ภาคบริการต้องการหรือไม่
ดังนั้น การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จึงเป็นกุญแจสำคัญในการรับมือปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ด้วยการใช้เทคโนโลยี และจำเป็นต้องมีการพัฒนาอย่างเป็นระบบสำหรับแรงงานศักยภาพสูง ในภาคอุตสาหกรรมจำเป็นต้องได้รับการศึกษาและอบรมเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถทำงานร่วมกับเทคโนโลยีใหม่ในยุค 4.0 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
งานศึกษาของธนาคารโลกชี้ว่า แรงงานผู้ชำนาญการของไทย ยังมีทักษะต่ำกว่าความคาดหวังของนายจ้างในด้าน IT คณิตศาสตร์ ด้านความเป็นผู้นำ และด้านความคิดค้นนวัตกรรม ซึ่งล้วนเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับการทำงานร่วมกับเทคโนโลยีในอนาคตทั้งสิ้น
ในขณะที่แรงงานที่จะย้ายไปสู่ภาคบริการก็จำเป็นต้องได้รับการเตรียมพร้อมในทักษะที่แตกต่างกันออกไปซึ่งจากการศึกษาของอีไอซีในปีที่ผ่านมาพบว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยต้องการบุคลากรที่มีทักษะเฉพาะมากขึ้นเช่นการใช้ภาษาอังกฤษและภาษาจีนรวมถึงบุคลากรทางการแพทย์และบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านการจัดประชุมและนิทรรศการ เป็นต้น นอกจากนี้ เราควรให้ความสำคัญมากที่สุดคือนักเรียนและนักศึกษา ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานในอนาคต
เพราะระบบการศึกษาของไทยในปัจจุบันค่อนข้างน่าเป็นห่วง เห็นได้จากผลตอบแทนจากการศึกษาในระดับต่าง ๆ ลดลงจนน่าตกใจในช่วงเวลาแค่ 10 ปี ยิ่งเมื่อเทียบกับต่างประเทศแล้ว การวัดผลโดยใช้คะแนน PISA ซึ่งเป็นแบบทดสอบมาตรฐาน พบว่าคะแนนของนักเรียนระดับมัธยมของไทยอยู่อันดับที่ 55 จาก 72 ประเทศที่เข้าร่วมทดสอบ และจากรายงาน World Economic Forum ก็พบว่าคุณภาพของการศึกษาไทยอยู่ลำดับที่ 68 จาก 138 ประเทศ ในขณะที่คู่แข่งสำคัญของเรา เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ มีคุณภาพดีกว่า
ดังนั้น การปฏิรูปการศึกษาจึงเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น โดยนำประเด็นการศึกษา ผนวกเข้ากับการพิจารณานโยบายพัฒนาประเทศทุกด้าน เพื่อให้แรงงานไทยมีทักษะที่เหมาะสมกับบริบทใหม่ของโลก และมีความยืดหยุ่น พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทั้งทางเทคโนโลยีและโครงสร้างการค้าโลก เทคโนโลยี จึงจะได้ไม่เป็นศัตรูต่อแรงงานไทย และเป็นเครื่องมือทำให้ภาคบริการเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน