จากประชาชาติธุรกิจ
สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ศึกษาวิเคราะห์สถานภาพของประชากรไทย สรุปว่าภายใน 20 ปีข้างหน้า สถานภาพประชากรไทยจะเป็นดังนี้ คือ อัตราการเพิ่มของประชากรไทยจะเท่ากับ "ศูนย์"เพราะอัตราการเกิดและอัตราการตายจะเท่า ๆ กัน เช่น ร้อยละ 1 หรือต่ำกว่าอัตราการตาย ได้ลดลงเป็นลำดับมาหลายทศวรรษแล้ว อันเนื่องมาจากความก้าวหน้าทางการแพทย์และสาธารณสุข ขณะที่อัตราการเกิดก็ลดลงมาโดยตลอด นับตั้งแต่มีการวางแผนครอบครัว คาดว่าจำนวนประชากรไทยจะมีความอิ่มตัวที่ประมาณ 65 ล้านคน
ในระยะเวลาเดียวกัน อายุขัยที่คาดหมายเมื่อแรกเกิดของผู้ชายไทยจะอยู่ที่ 75 ปี ขณะที่อายุของผู้หญิงจะอยู่ที่ 80 ปี กล่าวคือ คนไทยจะมีอายุยืนยาวขึ้น เพราะความเจริญทางการแพทย์และการสาธารณสุข อีกทั้งมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สำหรับจำนวนบุตรโดยเฉลี่ยของผู้หญิงไทยจะอยู่ที่ประมาณ 1.45 คน
เมื่อประชากรไทยเข้าสู่ความอิ่มตัวที่ 65 ล้านคน โครงสร้างของประชากรจะประกอบด้วย เด็กอายุไม่เกิน 15 ปีประมาณร้อยละ 15 หรือประมาณ 9 ล้านคน, ผู้หญิงอยู่ในวัยทำงานอายุระหว่าง 15 ปีถึง 60 ปี ประมาณร้อยละ 60 หรือประมาณ 40 ล้านคน ขณะที่ผู้มีอายุเกินกว่า 60 ปี หรือผู้สูงวัยจะมีประมาณร้อยละ 25 หรือประมาณ 16 ล้านคน ซึ่งสรุปได้ว่าจะมี "ผู้สูงอายุ" มากกว่า "เด็ก" สำหรับอัตรา "พึ่งพิง" คืออัตราที่เด็กและผู้สูงอายุต้องพึ่งพิงประชากรที่อยู่ในวัยทำงานสำหรับการเลี้ยงดู ก็จะลดลงในกรณีการเลี้ยงดูเด็ก แต่จะเพิ่มขึ้นในการดูแลผู้สูงอายุ
จากข้อมูลการศึกษาวิเคราะห์ข้างต้น จะเห็นได้ว่าในอนาคตอันใกล้ประเทศไทยจะมีสถานภาพเป็นสังคมผู้สูงอายุ คือเป็นสังคมที่มีคนแก่มากกว่าเด็ก ซึ่งการณ์นี้ได้ก่อให้เกิดความกังวลใจ ว่าเมืองไทยจะมีภาระหนักในการดูแลผู้สูงอายุจำนวนมากถึง 16 ล้านคน และเรียกร้องให้ทำการ ปฏิรูปประเทศ เพื่อรองรับปัญหาดังกล่าว
ข้อเรียกร้องมีอยู่ด้วยกัน 3 ประเด็น ประเด็นแรก ให้เตรียมขยายสวัสดิการสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการแพทย์และการสาธารณสุข ตลอดจนที่อยู่อาศัยสำหรับประชากรสูงอายุที่กำลังเพิ่มจำนวนมากขึ้นเป็นลำดับ นับเป็นข้อเรียกร้องที่สมควรได้รับการตอบสนองอย่างเต็มที่ ด้วยการปฏิรูประบบที่มีอยู่ให้มีประสิทธิผลมากขึ้น
ประเด็นที่สอง คือ ปฏิรูปเศรษฐกิจการเงินและการคลัง ให้ประเทศมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างพอเพียงสำหรับสวัสดิการสังคมที่ดูแลประชากรผู้สูงอายุ เช่นเดียวกันว่าเป็นข้อเรียกร้องที่ไม่อาจปฏิเสธได้ แต่สำหรับข้อเรียกร้องประเด็นสุดท้าย ที่สนับสนุนให้สตรีไทยสมรสเร็วขึ้นและมีบุตรมากขึ้น เพื่อให้อัตราการเกิดสูงขึ้น จะได้มีประชากรในวัยเด็กมากขึ้นนั้น เป็นข้อเรียกร้องที่ไม่อาจรับได้ เพราะไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ย้อนไปในอดีตจนกระทั่งถึงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 ประเทศไทยมีจำนวนประชากรเบาบาง และมีจำนวนน้อยเกินไป ที่จะใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติอันสมบูรณ์และพื้นที่อันกว้างใหญ่ แต่ในช่วงเวลาต่อมาสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่ออัตราการตาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอัตราการตายของ ทารกแรกเกิด (infant mortality rate) ได้ลดลงอย่างรวดเร็ว เป็นผลมาจากการพัฒนาทางการแพทย์ การสาธารณสุขและสุขาภิบาล ประชากรของไทยมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องประมาณร้อยละ 3 ต่อปี มีผลทำให้จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นเท่าตัวทุก ๆ 25 ปี
เมื่อประเทศไทยเริ่มวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯภายหลังกึ่งพุทธกาล ประชากรไทยได้เพิ่มขึ้นจากประมาณ 5 ล้านคน
ในตอนปลายรัชกาลที่ 5 เป็น 12 ล้านคนในรัชกาลที่ 7 และ 18 ล้านคนหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็น 25 ล้านคนในปี พ.ศ. 2504 ในการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ต่อเนื่องมาครึ่งศตวรรษ ได้พบว่า อัตราการเพิ่มที่สูงของประชากรเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายของแผนพัฒนาฯ ทั้งในด้านการออม การลงทุน และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
อีกทั้งได้ก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ อาทิ ปัญหาการศึกษา การสาธารณสุข การคมนาคมขนส่งและที่อยู่อาศัย ตลอดระยะเวลาดังกล่าวประชากรของไทยได้เพิ่มขึ้นถึง 40 ล้านคน กว่าจะสามารถสกัดเอาไว้ได้ด้วยการวางแผนครอบครัวที่มีประสิทธิภาพ และประสบความสำเร็จอย่างสมบูรณ์
จริงอยู่ การที่ประชากรของประเทศที่พัฒนาแล้วได้บรรลุถึงสภาพความอิ่มตัว เพราะอยู่คงที่ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ประกอบกับการสิ้นสุดของยุคการขยายอาณานิคมไปทั่วจักรวาล และการเพิ่มขึ้นของเงินออมสะสมในประเทศดังกล่าว ได้ทำให้วิตกกันว่าเศรษฐกิจของโลกจะตกอยู่ใน สภาพชะงักงัน (Economic Stagnation) เพราะโอกาสในการลงทุนมีน้อยลง หากการณ์ก็มิได้เป็นไปเช่นนั้น เพราะเทคโนโลยีได้ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว มีผลทำให้ทั้งอุปสงค์และอุปทานในภาพรวมเพิ่มขึ้น
ดังนั้นเศรษฐกิจของประเทศที่พัฒนาแล้ว จึงเติบโตและก้าวหน้าต่อไปพร้อมกับคุณภาพชีวิตของประชากรที่สูงขึ้นเป็นลำดับ การที่ประเทศไทยจะมีอัตราการเพิ่มของประชากรเป็นศูนย์ในระยะเวลาข้างหน้า จึงไม่มีสิ่งใดที่ต้องกังวลใจ
อีกทั้งการจะมีประชากรสูงอายุถึงร้อยละ 25 ของประชากรทั้งหมด ก็มิได้เป็นปัญหาแต่อย่างใด นอกจากนั้น แม้ว่าประชากรในวัยทำงานอาจจะลดจำนวนหรือสัดส่วนลงบ้าง ก็มิได้เป็นปัจจัยที่จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศถดถอย
หัวใจของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อยู่ที่คุณภาพของประชากรประการหนึ่ง และขีดความสามารถทางเทคโนโลยีอีกประการหนึ่ง การที่ประชากรอิ่มตัวทำให้เป็นโอกาสในการพัฒนาคุณภาพมากขึ้น ทั้งในด้านการศึกษาและสาธารณสุข ทั้งนี้ โดยไม่ต้องกล่าวถึงทางด้านเศรษฐกิจโดยตรง ขณะที่ความก้าวหน้าและการพึ่งตนเองได้ทางเทคโนโลยีจะทำให้ประชากรมีผลิตภาพเพิ่มขึ้น และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากขึ้น
แทนที่จะให้ความสนใจไปที่การให้สตรีไทยมีบุตรมากขึ้น ก็ควรจะให้ความเอาใจใส่ต่อการเลี้ยงดูบุตรจำนวนเท่าเดิมแต่ให้มีคุณภาพมากขึ้น สำหรับประชากรสูงอายุนั้น หากดูแลในเรื่องของสุขภาพอย่างจริงจัง ก็สามารถทำงานต่อไปได้จนสิ้นอายุขัย โดยไม่เป็นภาระเพิ่มเติมอย่างมีนัยสำคัญ
ปัญหาของประชากรผู้สูงอายุ อยู่ที่สุขภาพ มิใช่อยู่ที่อายุ การศึกษาสำหรับประชากรในวัยเด็ก ขีดความสามารถทางเทคโนโลยีสำหรับประชากรในวัยทำงาน และสุขภาพอนามัยสำหรับประชากรผู้สูงอายุ คือปัจจัย 3 ประการ ที่ผู้มีหน้าที่ รับผิดชอบบ้านเมืองจะต้องให้ความเอาใจใส่ โดยเลิกกังวลใจกับปรากฏการณ์ธรรมชาติว่าด้วยการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน