จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
เรากำลังเข้าสู่ยุคที่เรียกว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หรือยุคที่การพลิกโฉมธุรกิจด้วยดิจิทัล ได้ทำให้เส้นแบ่งแยกระหว่างโลกทางกายภาพ ชีวีภาพและดิจิทัลแทบจะมองไม่เห็น ธุรกิจหลายอุตสาหกรรมกำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ คนที่ขาดทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานในอนาคตกำลังเผชิญกับความเสี่ยง จากผลการศึกษาของ World Economic Forum พบว่า ผู้หญิงได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมากกว่าผู้ชาย สาเหตุหลักสาเหตุหนึ่งก็คือ ผู้หญิงที่ทำงานในสาขาอาชีพที่คาดว่าจะเติบโตเร็วที่สุดในอีก 5 ปีข้างหน้า คือ สาขาสเต็ม - STEM: Science (วิทยาศาสตร์) Technology (เทคโนโลยี) Engineering (วิศวกรรมศาสตร์) Mathematics (คณิตศาสตร์) มีจำนวนค่อนข้างน้อย ความหลากหลายในองค์กรเป็นสิ่งที่ได้รับการยอมรับว่า เป็นข้อได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจ ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญสำหรับผู้หญิงให้สามารถพลิกบทบาทเป็นผู้พัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีในอนาคต สำหรับ 20 อาชีพติดอันดับดีที่สุดด้านความก้าวหน้าในอาชีพและเงินเดือนในปี 2017 เผยแพร่โดย LinkedIn เป็นอาชีพที่ต้องใช้ทักษะทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์ อย่างไรก็ตาม ยูเนสโกคาดการณ์ว่า สตรีนักวิจัยในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ STEM มีอยู่เพียง 3 ใน 10 ของนักวิจัยทั้งหมด ในขณะที่ LinkedIn คาดการณ์ว่า สตรีที่ทำงานเกี่ยวกับไอทีมีเพียง 2 ใน 10 เท่านั้น นอกจากนี้ จากการสำรวจ ยังพบว่า ทั่วโลกสตรีที่ทำงานอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาชีพในสายไอทีมีจำนวนถึง 52% โดยบุรุษที่ทำงานอาชีพที่ไม่ใช่สายไอทีมีจำนวน 48% และสตรีที่ทำงานเกี่ยวกับไอทีมีเพียงแค่ 20% โดยบุรุษที่ทำงานไอทีมีถึง 80%
|
จากข้อเท็จจริงข้างต้นทำให้เกิดคำถามขึ้นว่า อะไรที่ทำให้เด็กผู้หญิงและสตรีในวัยแรกรุ่นไม่สนใจที่จะเข้าเรียนในสาขาวิชาที่จะทำให้พวกเขามีทักษะและความรู้ที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ และนี่คือความเข้าใจผิด 4 ประการที่ตอบคำถามดังกล่าว #1: สเต็มศึกษามีความสำคัญสำหรับการศึกษาขึ้นสูงเท่านั้น ในความเป็นจริง สเต็มเป็นการแนวทางการศึกษาแบบสหวิทยาการ ซึ่งเป็นพื้นฐานการเรียนรู้แบบองค์รวมที่สามารถนำองค์ความรู้มาใช้ได้ในโลกแห่งความเป็นจริง นอกจากสเต็มจะเป็นทักษะพื้นฐานของการศึกษาและการประกอบอาชีพทั่วไปแล้ว ยังเป็นบันไดสำหรับเด็กผู้หญิงในการก้าวสู่การศึกษาขั้นสูงและอาชีพที่น่าตื่นเต้นอีกมากมาย ที่สำคัญในระดับความรู้ขั้นพื้นฐาน การเรียนรู้วิชาเสต็มจะช่วยสร้างทักษะการคิดอย่างเป็นระบบและทักษะการแก้ปัญหา ซึ่งเป็นทักษะสำคัญที่ต้องใช้ในทุกอาชีพ #2: ทักษะสเต็มมีประโยชน์เฉพาะอาชีพด้านสเต็ม ในโลกที่เทคโนโลยีเป็นผู้ขับเคลื่อนสิ่งต่างๆ อาชีพส่วนใหญ่ต้องอาศัยทักษะด้านสเต็ม ไม่ว่าด้านใดก็ด้านหนึ่ง ในระดับโลก บริษัทและองค์กรต่างๆ ได้เปลี่ยนแปลงวิธีการดำเนินธุรกิจ โดยส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงคือ การจ้างงานบุรุษและสตรีที่มีความสามารถสูง ที่สำคัญมีไหวพริบดี ความคิดเฉียบคม เพื่อช่วยให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ สำหรับเด็กและเยาวชนหญิงที่ศึกษาในสาขาสเต็ม ทักษะการคิดและการแก้ไขปัญหาที่ได้มาจากการเรียนสาขานี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการประกอบอาชีพของพวกเขาในอนาคต โดย World Economic Forum คาดการณ์ว่า 1 ใน 3 ของอาชีพในอนาคตในทุกอุตสาหกรรมต้องอาศัยทักษะเหล่านี้ และด้วยทักษะเหล่านี้ ประกอบกับมุมมอง ไอเดียใหม่ๆ และความสามารถในการแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน จะทำให้ผู้หญิงสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งใหญ่ได้
|
#3: สเต็มน่าเบื่อและไม่เกี่ยวข้องกับความคิดสร้างสรรค์ จากการสำรวจของบริษัทมาสเตอร์การ์ด [4] 84% ของเด็กหญิงอายุระหว่าง 12 ถึง 19 ปี จำนวนประมาณ 1,500 คนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีความเห็นว่า ความคิดสร้างสรรค์เป็นคุณสมบัติที่จำเป็นอย่างยิ่ง แต่มีเพียง 43% ที่คิดว่าเด็กหญิงที่ศึกษาในสาขาสเต็มจำเป็นต้องมีคุณสมบัตินี้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความคิดสร้างสรรค์เป็นคุณสมบัติสำคัญที่จะทำให้ประสบความสำเร็จในสาขาอาชีพนี้ ดังนั้น การกระตุ้นให้เด็กๆ มีความคิดสร้างสรรค์จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เมื่อได้รับคำถามว่า คิดอย่างไรกับการเรียนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และหากสามารถสร้างสรรค์แอพพลิเคชั่นอะไรก็ได้ จะสร้างอะไร ด.ญ. พรไพลิน จุลกะสุทธิ์ อายุ 12 ปี ตอบว่า “หนูชอบเรียนวิชาวิทยาศาสตร์เพราะหนูสามารถจินตนาการ คิดค้นอะไรที่แปลกใหม่ นอกเหนือจากที่เรียนในหนังสือเรียนและในห้องเรียน ถ้าสร้างแอพบนมือถือได้ หนูอยากสร้างแอพที่ช่วยคนหูหนวกระวังภัยได้ โดยใช้เครื่องหมายต่างๆ แทนเสียง แอพนี้จะอยู่บนแว่นพิเศษที่พัฒนาขึ้นมา เช่น เมื่อมีเสียงแตรรถดังใกล้ตัว ก็จะมีสัญลักษณ์รูปรถยนต์สีแดงป๊อปอัพขึ้นมา จะได้ช่วยระวังภัยได้” #4: ผู้ชายมีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จในอาชีพสาขาสเต็มมากกว่าผู้หญิง แนวคิดดังกล่าวยังคงอยู่ แม้เราจะก้าวเข้าสู่โลกสมัยใหม่แล้วก็ตาม แต่ด้วยการเข้าถึงเทคโนโลยี การศึกษาและโอกาสที่เพิ่มขึ้น ผู้หญิงจึงเปี่ยมด้วยพลังที่จะเปลี่ยนแปลงแนวคิดดั้งเดิม และสร้างทางเดินใหม่ให้กับอนาคตของพวกเธอด้วยความสามารถและความรู้ที่สั่งสมมา นางสาวณัฎฐณิชา ภัทรมาลัย หนึ่งในสาววงการไอทีคนเก่ง ผู้ก่อตั้ง GirlsWhoDev องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่สนับสนุนให้เด็กหญิงและสตรีก้าวเข้าสู่อาชีพในสายไอที ให้ความเห็นเกี่ยวกับอาชีพในสายนี้ว่า “วงการเทคโนโลยี เป็นวงการที่มีผู้ชายเยอะกว่าผู้หญิง ทำให้ผู้หญิงที่จะเข้ามาสู่วงการนี้เหมือนเป็นคนกลุ่มเล็กๆ หรือบางคนอาจจะไม่กล้าเข้ามาเลยเพราะนึกว่าเป็นเรื่องของผู้ชาย Girls Who Dev จะขอเป็นหนึ่งแรงผลักดันให้ผู้หญิงที่มีความฝันที่จะทำงานในสายนี้ เพื่อที่จะให้วงการเทคโนโลยีสำหรับผู้หญิงกว้างขึ้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุด"
|
นางสาวศิริพร พัชรวัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย กล่าวว่า “การชูเรื่องสัดส่วนหรือความเท่าเทียมของสตรีที่ประกอบอาชีพในอุตสาหกรรมไอทีและในสาขาสเต็ม ไม่ได้เป็นเพียงแค่ประเด็นเรื่องความยุติธรรมเท่านั้น แต่เรื่องใหญ่ใจความคือระบบเศรษฐกิจและสังคมจะเสียเปรียบหากเราไม่สามารถนำปัญญาชนครึ่งหนึ่งของโลกให้เป็นผู้ขับเคลื่อนนวัตกรรมได้ สถานการณ์เช่นนี้จะยังคงดำเนินต่อไปถ้าเราไม่ลงทุนเวลาลงแรงและทรัพยากรในสิ่งที่จำเป็น ด้วยเหตุผลนี้ ไมโครซอฟท์จึงริเริ่มโครงการเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กหญิงทั้งหลาย รวมทั้งผู้ปกครอง สถาบันการศึกษาและองค์กรไม่แสวงผลกำไรต่างๆ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้พวกเขาทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ให้เกิดขึ้นได้” ในช่วงสัปดาห์แห่งวันสตรีสากลโลกนับเป็นช่วงเวลาที่ดีที่เราจะร่วมกันเฉลิมฉลองความหลากหลาย และศักยภาพอันเต็มเปี่ยมของเด็กหญิงและสตรี ในการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ให้กับโลก ไมโครซอฟท์หวังเป็นอย่างยิ่งว่า กิจกรรมและโอกาสอันดีต่างๆ ที่เราได้สร้างขึ้น จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กหญิงทั้งหลาย ให้มีความกล้าและความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ที่จะก้าวข้ามผ่านเส้นที่ขีดจำกัดไว้ เพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่ยิ่งใหญ่ให้กับโลก #MakeWhatsNext สามารถรับชมวิดิโอสร้างแรงบันดาลใจ “เด็กผู้หญิงกับเสต็มศึกษา” ได้ที่https://www.youtube.com/watch?v=aSCreWQTdoM |
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน