จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
เรวัต ตันตยานนท์
ในยุคที่ธุรกิจสตาร์ทอัพกำลังบูมและเป็นที่ใฝ่ฝันของหลายๆ คนที่อยากก้าวเข้ามาสู่โลกของธุรกิจสตาร์อัพด้วยไอเดียทีเด็ดหลายๆอย่าง
แต่ธรรมชาติของการสร้างธุรกิจใหม่ขึ้นมาให้ประสบความสำเร็จนั้น เรื่องของการมีไอเดียดีๆ เพียงอย่างเดียว ไม่อาจนำธุรกิจไปสู่ความสำเร็จได้ตามที่คิดไว้
ความจริงเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ทราบกันมาอยู่แล้ว และมีข้อเท็จจริงปรากฎให้เห็นมากมายว่า ธุรกิจสตาร์อัพที่ต้องประสบความล้มเหลว ไม่สามารถฝ่าด่านแห่งความสำเร็จไปได้ จะมีจำนวนมากมายกว่าสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จหลายเท่าตัว อาจเป็นถึงเกือบร้อยเท่าเลยก็เป็นได้
เรียกได้ว่า ใน 100 โครงการของสตาร์อัพ อาจมีธุรกิจที่ประสบความสำเร็จเพียงไม่กี่ราย
คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ อะไรที่เป็นปัจจัยสู่ความสำเร็จที่สำคัญของสตาร์อัพ นอกเหนือจากการมีไอเดียที่ดี???
อันดับแรกสุดก็น่าจะเป็นเรื่องของเทคโนโลยี เนื่องจากโดยคำนิยามแล้ว ธุรกิจสตาร์อัพจะต้องมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ประกอบกับธุรกิจที่นำเสนอ เป็นตัวชูโรงให้ธุรกิจมีความโดดเด่นเหนือคู่แข่ง และสามารถดึงดูดความสนใจหรือตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ซึ่งแสดงว่า ตัวของสตาร์อัพ เองจะต้องมีความเข้าใจพื้นฐานของเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ประกอบในธุรกิจอย่างดีพอควร ในระดับที่สามารถอธิบายได้ว่า เทคโนโลยีที่เลือก จะสามารถตอบโจทย์ธุรกิจตามไอเดียที่วางไว้ได้ และเป็นเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นแล้วจริง หรือเป็นเทคโนโลยีที่ต้องแสวงหา หรือต้องสร้างขึ้นมาใหม่ทั้งหมด
หากตัวของสตาร์ทอัพหลัก ไม่มีองค์ความรู้เรื่องเทคโนโลยีอยู่ด้วย ก็อาจจะต้องมีทีมงานที่รู้และเข้าใจเทคโนโลยีเป็นอย่างดีร่วมทีมอยู่ได้ ในลักษณะที่ช่วยทำงานเต็มเวลาให้กับธุรกิจได้
การหวังพึ่งองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีจากแหล่งภายนอกแต่เพียงอย่างเดียว อาจะเป็นทางเลือกที่ไม่ค่อยเหมาะสมนัก จนอาจเป็นอุปสรรคต่อการสร้างธุรกิจใหม่ โดยเฉพาะเมื่อต้องมีการปรับแต่งเทคโนโลยีให้เหมาะสมกับตัวธุรกิจ
สตาร์ทอัพที่เป็นนักประดิษฐ์หรือ เมคเกอร์ ด้วยตัวเอง จึงจะมีภาษีกว่าในบริบทนี้
ปัจจัยสู่ความสำเร็จในเรื่องที่ 2 ก็เห็นจะเป็นเรื่องของทักษะในการทำธุรกิจ เริ่มตั้งแต่เรื่องของการวางแผนธุรกิจ ความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารการเงิน ความเหมาะสมของแหล่งเงินสนับสนุนสำหรับธุรกิจที่กำลังเติบโตในระยะต่างๆ
รวมถึงเรื่องของการบันทึกบัญชี ที่มักเรียกกันว่า bookkeeping
สตาร์ทอัพควรจะต้องมีทักษะเบื้องต้นในการดูตัวเลขความเคลื่อนไหวทางบัญชีและการเงิน พอที่จะมองเห็นได้ว่า การก่อตัวของธุรกิจใช้ทรัพยากรทางด้านใดมากหรือน้อยไป เหตุผลที่ทำให้แผนธุรกิจไม่เดินไปในอัตราเร็วที่ต้องการเกิดเนื่องมาจากปัจจัยทางการเงินหรือไม่ หรือมาจากปัจจัยด้านอื่น
จะเห็นได้ว่า ทักษะทั้ง 2 ด้านที่สำคัญนี้ มีน้อยมากที่จะอยู่ในตัวคนๆ เดียวกัน และหากไม่อยู่ในตัวคนๆ เดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญทั้ง 2 ด้านนี้ มักจะขัดแย้งกันโดยธรรมชาติของเนื้องาน
ฝั่งเทคโนโลยี ก็มักจะใช้จ่ายอย่างเต็มที่เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามต้องกัน ในขณะที่ฝั่งการเงินมักจะเป็นผู้คอยเบรกอยู่ตลอดเวลา กล่าวหาว่าใช้เงินมากไปเร็วไป
ปัจจัยสู่ความสำเร็จที่สำคัญเรื่องที่ 3 ก็คือ เรื่องของความเชี่ยวชาญทางด้านการตลาดและการวางแผนการตลาด ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในด้านโมเดลการสร้างรายได้ขึ้นจากนวัตกรรมธุรกิจที่จะนำเสนอ หรืออาจเรียกโดยรวมว่า เป็นความสามารถในการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจ
ที่จะแสวงหากลไกในการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และเปลี่ยนประสบการณ์ดีๆ ที่ผู้บริโภคได้รับจากผลิตภัณฑ์หรือบริการแปลกใหม่ที่นำเสนอจากสตาร์ทอัพ ให้กลายมาเป็นมูลค่าตอบแทนในเชิงเศรษฐกิจแต่เจ้าของไอเดียหรือเจ้าของธุรกิจนั้นๆ
สำหรับสตาร์ทอัพแล้ว จะต้องพึงระลึกเสมอว่า ไอเดียที่เรียกว่าดีนั้น ต้องเป็นไอเดียที่เป็นไปได้ในเชิงเทคโนโลยี เป็นไอเดียที่มีคนยินดีสนับสนุนแหล่งเงินช่วยเหลือในการสร้างเป็นธุรกิจ และเป็นไอเดียที่สามารถสร้างผลตอบแทนเชิงพาณิชย์ขึ้นมาได้ในอัตราเติบโตที่รวดเร็วกว่าธุรกิจโดยปกติธรรมดาทั่วไป
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน