สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ดร.สมเกียรติ TDRI ชำแหละ ไทยแลนด์ 4.0 ถึงฮับดิจิทัล

จากประชาชาติธุรกิจ

สัมภาษณ์

ปักธงขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล พร้อมนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ในทุกภาคส่วน 3 ปีผ่านไป ในสายตานักวิชาการแถวหน้าอย่าง "ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์" ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) มีความคิดเห็นและมองปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้อย่างไร อ่านได้ในบรรทัดถัดจากนี้ไปใน "ประชาชาติธุรกิจ"

- ความเห็นเกี่ยวกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0

คอนเซ็ปต์ 4.0 เป็นเรื่องที่ถูกต้อง เราอย่าลดความสำคัญของการมีคอนเซ็ปต์ที่ถูก เพราะในเมืองไทยหลายเรื่องมีคอนเซ็ปต์ที่ผิด การอิมพลีเมนต์จึงมีปัญหา แต่อย่างน้อยไทยแลนด์ 4.0 คอนเซ็ปต์ถูกทาง แต่นอกจากคอนเซ็ปต์ในระดับสูงสุดแล้ว งานระดับย่อย ๆ ไม่ไปในทางเดียวกันเลย ราชการยังทำแบบเดิม คือเอาทุกเรื่องที่ตัวเองทำไปใส่คำว่า 4.0 เหมือนสมัย AEC แล้วก็ทำแบบเดิมทุกอย่าง

- ข้อบกพร่องส่งผลอะไรบ้าง


ทุกเรื่องในไทยจะติดปัญหากลไกขับเคลื่อนของราชการ เรื่อง 4.0 ก็เหมือนกัน อย่าว่าแต่ประชาชนไม่ค่อยเข้าใจเลย ซึ่งรวมไปถึงนักธุรกิจด้วย นักธุรกิจในกรุงเทพฯอาจจะเข้าใจ แต่เท่าที่ผมได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรในต่างจังหวัด นักธุรกิจก็อยากจะรู้ว่ามันคืออะไรกัน 

ฉะนั้น อย่าเพิ่งพูดกันว่าจะทำอะไร เอาเป็นว่าอธิบายก่อนว่ามันคืออะไร



- คนไม่เห็นเป้าหมายว่าต้องการอะไร

ใช่ และจริง ๆ แล้วการจะไปสู่ 4.0 เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องรีฟอร์มด้วย แต่จุดอ่อนคือรัฐบาลหวังว่าจะเกิดโดยไม่ต้องรีฟอร์มอะไรมาก หรือพยายามทำให้เป็นคนละเรื่องกัน หลายเรื่องต้องมีการปฏิรูป แต่รัฐบาลไม่ค่อยจะกล้าทำสักเท่าไร 

ง่าย ๆ ถ้าจะไป 4.0 ต้องเปิดเสรีในบางสาขา เช่น อยากให้ไทยเป็นเมดิคอลฮับตามนโยบายเอสเคิร์ฟ แต่เรากำลังขาดหมอขาดพยาบาล ซึ่งจะนำเข้ามาก็ได้ แต่รัฐบาลจะกล้าเปิดเสรีไหม เพราะกระทบกับพยาบาลบางกลุ่ม อย่างการศึกษาจะเป็น 4.0 ก็ต้องปฏิรูปการศึกษาใหม่ มีการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ ซึ่งจะกระทบกับครูที่เป็นอยู่ หรือการจะเป็น 4.0 ต้องกระทบกับรัฐวิสาหกิจที่มีอยู่ รัฐบาลกล้าไหม 

รัฐต้องเลิกอุปสรรคมากมายที่มีอยู่ เอกชนก็มีข้อเสนอเรกูลาทอรี่กิโยตีน เพื่อปฏิรูปทบทวนกฎหมายครั้งใหญ่ เกาหลีใต้เคยมีกฎหมาย 4 หมื่นฉบับ พอใช้วิธีนี้ก็ลดลงไปเหลือแค่ 2 หมื่น ไทยจะกล้าทำหรือไม่

ถ้าจะหวังให้การปฏิรูปทุกคนยังมีความสุขเหมือนเดิม มันจะไม่เกิดขึ้นหรอก

ที่สำคัญคือรัฐบาลยังใช้ข้าราชการเป็นตัวนำในการปฏิรูป

- พยายามปรับโฉม อย่างกระทรวงไอซีทีเป็นดิจิทัล

กระทรวงดิจิทัลฯ ไม่ใช่ว่าคอนเซ็ปต์ไม่ดี แต่พอไล่จากระดับนโยบายลงมาอิมพลีเมนต์ วิธีคิดต่าง ๆ ไม่ได้ตามไปแนวเดียวกับนโยบายที่วางไว้เลย จึงยังไม่ได้เห็นการปฏิรูป

- ชูธงสตาร์ตอัพมาก

ไม่ได้เป็นนโยบายที่ผิด แต่น้ำหนักของประเทศไทยถ้าจะให้ได้ผลเร็วหรือได้ผลเยอะ ขึ้นอยู่กับของที่เซ็กซี่น้อยกว่าสตาร์ตอัพเยอะ คืออยู่ที่โปรดักทิวิตี้ แปลว่าคุณยังไม่ต้องไปสู่ธุรกิจใหม่หรือมีโมเดลธุรกิจใหม่ แต่ทำธุรกิจแบบเดิม แบบมีประสิทธิภาพสูง ๆ เอาวิธีแบบลีนตัดกระบวนการที่ไม่จำเป็นมาใช้ในการเกษตร อุตสาหกรรม ธุรกิจบริการ แค่นี้ก็จะยกระดับประเทศไทยไปได้ไกลมาก แล้วค่อยต่อยอดด้วยสตาร์ตอัพหรือธุรกิจใหม่ก็ได้

แต่ถ้าคุณไปเริ่มต้นด้วยธุรกิจใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจเล็ก แล้วธุรกิจส่วนใหญ่ยังทำแบบเดิม ๆ มันก็จะไปไม่ได้

- ไม่ปฏิรูปแต่พยายามดันสิ่งใหม่

เป็นลักษณะของรัฐบาลชุดนี้ ที่มองว่าเป็นจุดอ่อน ทั้งที่มีอำนาจอยู่มาก ควรจะต้องกล้าทำในสิ่งที่บางครั้งจะเจ็บปวดบ้าง นัยของการหันไปทำสิ่งใหม่คือ จะไม่แตะของเดิม ไม่แก้ปัญหาเดิม โดยหวังว่าจะสร้างสิ่งใหม่เพื่อให้มาแทนของเดิม แต่มันแทนไม่ได้หรอกอย่างในกระทรวงไอซีที ถามว่าแคทกับทีโอทีจะไปอย่างไรกันต่อ ก็ไม่มีทางไป 

- ปฏิรูปแคท-ทีโอทีด้วยการตั้งบริษัทใหม่

วิธีที่ดีที่สุดถ้าให้แข่งขันแบบเอกชนเต็มที่โดยไม่ต้องมีรัฐเข้าไปอุ้ม ถ้าเจ๊งก็ปล่อย ถ้าไปไม่ได้แต่ขายกิจการให้ใครไปได้ก็จะดีที่สุด แต่แปลว่ารัฐต้องกล้าที่จะผ่าตัด 

วิธีที่ 2 คือ การปรับปรุงประสิทธิภาพอย่างจริงจัง โดยไม่ต้องคิดถึงการนำ 2 องค์กรมารวมกัน เพราะการนำมารวมกัน ลำพังก็ต้องมีปัญหาภายใน 2 องค์กรที่มาสู้กันเอง ด้วยวัฒนธรรมองค์กรที่ไม่เหมือนกัน แล้วก็จะจบไม่ได้

เคยมีหลายไอเดียดี ๆ ในทางทฤษฎี อย่างจะรวมกระทรวงพาณิชย์กับอุตสาหกรรม ซึ่งถ้าไทยจะเริ่มจากการรวม 2 กระทรวง ก็จะไม่ได้ทำอะไรอย่างอื่น เพราะ 2 กระทรวงจะสู้กัน จะแย่งตำแหน่งกัน เหมือนกรณีของแคทกับทีโอที 

ไอเดียนี้ผมคิดว่าใครที่อยากมีผลงาน กรุณาอย่าทำ

- รวมเพื่อไม่ให้ลงทุนซ้ำซ้อนไม่ดี

ปัญหาที่ใหญ่กว่า คือ มีหลายเรื่องที่ทั้ง 2 หน่วยงานไม่ควรต้องทำเยอะไปหมด ง่าย ๆ โครงการอินเทอร์เน็ตที่จะขยายให้เข้าถึงท้องที่ห่างไกล จะเรียกเน็ตประชารัฐหรืออะไรก็แล้วแต่ จริง ๆ มันมีกลไกของกองทุน กสทช.รองรับอยู่แล้ว ทั้ง 2 องค์กรควรเลิกทำ หรือทำโดยใช้เงินจากกองทุนตรงนั้นมาให้ทำ ไม่ใช่ให้รัฐต้องจัดสรรงบประมาณมาให้

ของที่ไม่ต้องทำแล้วมาให้ทำ ไม่ว่าจะเป็น 2 หน่วยงานหรือหน่วยงานเดียวมาทำ ก็ซ้ำซ้อนทั้งนั้น พวกนี้แก้ง่ายกว่าจะเอารวม 2 หน่วยงานอีก

-ทีโอที-แคทยังจำเป็นต้องมี

วิธีของรัฐบาลคือปล่อยทั้ง 2 องค์กรไปเรื่อย ๆ แล้วรอรัฐบาลหน้ามาเทกโอเวอร์ปัญหา ถึงจุดหนึ่งที่มีปัญหาทางการเงินไปต่อไม่ได้ ก็ปรับโครงสร้างนิดหน่อยแล้วก็ปล่อยเดินไปเหมือนที่ทำกับการบินไทย

- คนร.แยกส่วนที่ทำงานได้ออกมา 

จะทำก็ควรจะทำ แต่อย่าคิดจะเอามารวมกัน เพราะจะทำให้เดินหน้าไม่ได้ ไอเดียนี้ไม่มีทางเวิร์กในประเทศที่ไม่มีประสบการณ์ในการทำ เคยมีตัวอย่างในไทยไหมว่ารวม 2 หน่วยงานรัฐแล้วออกมาดูดีได้ การแตกหน่วยงานได้เพราะสนองประโยชน์ราชการ แต่รวมหน่วยงานไม่ใช่ จึงไม่เคยสำเร็จ ฉะนั้น อย่าเสียเวลาทำเลย

- การดึงยักษ์ต่างชาติมาลงทุนในไทย

แต่ละบริษัทมีความต้องการไม่เหมือนกัน ถ้าให้ BOI สามารถให้อินเซนทีฟได้แตกต่างกัน นอกจากแพ็กเกจมาตรฐานที่มีไว้ ก็จะสามารถเจรจาต่อรองกับแต่ละรายได้ ทำให้ยืดหยุ่นมากขึ้น เล่นเชิงรุกไปคุยกับแต่ละเจ้าเลย

- อาลีบาบาใช้มาเลเซียเป็นฮับไปแล้ว

การเข้ามาของอาลีบาบา ในแง่บวกก็ทำให้วงการอีคอมเมิร์ซของไทยคึกคัก แต่ฝั่งอีคอมเมิร์ซไทยโดยเฉพาะกลุ่ม B2C ก็เป็นห่วงว่า รัฐบาลเอาใจอาลีบาบามากไปหรือไม่ จะถูกจีนกินรวบไหม ทุกดีลมีบวกมีลบหมด

ฉะนั้น จะดึงต่างชาติเข้ามาไทยต้องชัดเจนก่อนว่าต้องการอะไร ซึ่งไทยได้กำหนด 10 เอสเคิร์ฟแล้ว ขั้นที่ 2 คือ ดึงดูดเทคโนโลยีในส่วนที่ไทยขาด แต่จะได้ประโยชน์น้อยถ้าไม่สร้างความเชื่อมโยงระหว่างบริษัทที่เข้ามาลงทุนกับบริษัทที่อยู่ในไทย รวมถึงระบบนิเวศของการสร้างนวัตกรรมในไทย อาทิ มาลงทุนด้วยแล้วต้องลิงก์กับมหาวิทยาลัย กับธุรกิจขนาดย่อมขนาดกลางในไทย มีการทำธุรกิจด้วยกัน ไม่ใช่ว่าเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่แล้วมาหล่นตุ้บอย่างเดียว ซึ่งประโยชน์จะน้อย

- รัฐพยายามดันไทยเป็นอินโนเวชั่นฮับ

อินโนเวชั่นฮับในโลกนี้ไม่ได้มีฮับเดียว ก็อยู่ร่วมกันได้หลาย ๆ ฮับ ไทยอาจไม่ใช่ฮับใหญ่ที่สุดในภูมิภาค เพราะสิงคโปร์เขาสร้างจุดนั้นไว้ได้แล้ว แต่ไทยยังสามารถยกระดับอุตสาหกรรมได้โดยเป็นฮับในบางเรื่อง เช่น เมดิคอลฮับ ที่ไทยโปรโมตมานาน ประเทศแถว ๆ นี้ก็สู้เราไม่ได้ หรืออย่างอุตสาหกรรมยานยนต์

ฉะนั้น ต้องสร้างฮับในส่วนที่เราเป็นจุดแข็ง แต่ก็มีความเสี่ยงเพราะเทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนเร็ว เช่น ยานยนต์ไทยเป็นฮับอยู่ในปัจจุบัน มีคลัสเตอร์ที่ใหญ่ในภูมิภาคนี้ แต่ถ้าเราตามยานยนต์รุ่นใหม่ไม่ทัน อย่างรถยนต์ไฟฟ้า ก็จะตกรุ่น แล้วเราก็จะเป็นผู้เล่นที่ไม่มีความสำคัญ ซึ่งรัฐบาลเห็นปัญหาจึงพยายามดึงกลุ่มยานยนต์ยุคใหม่เข้ามาด้วย แต่นโยบายจะสำเร็จได้ต้องมาทั้งแผง 

ที่ผ่านมาไทยมักเน้นแต่ใช้กลไกภาษีโดย BOI เป็นหลัก แต่เครื่องมือนี้มีราคาแพง ถ้าจะเอาชนะประเทศอื่นก็ต้องลด แลก แจก แถม จ่ายเงินจ้างมาลงทุน ซึ่งอาจได้ไม่คุ้มเสีย 

ประเทศที่อยากเป็นอินโนเวชั่นฮับแล้วทำสำเร็จ อย่างสิงคโปร์ประกาศเลยว่าใครมาลงทุนจะได้มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยของรัฐเข้าไปร่วมทำงานเพื่อสร้างอินโนเวชั่นมากขึ้นได้อย่างไร ถ้าแบบนี้เป็นดีลที่ดีมาก เพราะได้เรียนรู้ทั้ง 2 ฝ่าย ทำให้ฝ่ายไทยเก่งขึ้นด้วย

- มหาวิทยาลัยของไทยดึงดูดได้

ได้บางสาขาวิชา วิธีปฏิรูปมหาวิทยาลัยอย่างหนึ่งก็คือ ให้มหาวิทยาลัยไทยทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศ และทำงานกับภาคธุรกิจ ซึ่งสปีดเขาเร็วกว่าเรา แม้ไม่ได้เชื่อมสนิท 100% แต่ถ้าเริ่มทำให้ดี ๆ ฉลาด ๆ มหาวิทยาลัยจะเก่งขึ้น และดึงอินโนเวชั่นฮับเข้ามาได้ด้วย สิงคโปร์เริ่มทำมานาน ไทยควรเรียนรู้ และอย่าไปแข่งในสาขาที่เราสู้ไม่ได้

มหาวิทยาลัยไทยมีเก่งหลายด้าน อย่างวิจัยด้านการแพทย์ เรามีมหิดล จุฬาฯ ซึ่งต้องออกแรงเข็นให้มหาวิทยาลัยเหล่านี้กลับมาทำวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์ได้จริงในเชิงพาณิชย์ ปรับกระบวนการ ดีไซน์แพ็กเกจดี ๆ เชื่อว่าสู้ได้ 

- ยังไม่ช้าเกินไป

ไม่มีใครช้าไปหรอก เพราะโลกเปลี่ยนทุกวัน แต่การเปลี่ยนแปลงใหญ่ไม่ได้เกิดขึ้นในอัตราความเร็วที่เหมือนกันหมด อย่างตอนนี้เกิดดิสรัปชั่นเยอะ ฉะนั้น ช่วงนี้ใครช่วงชิงได้เยอะ อนาคตอีกพักหนึ่งก็จะได้เปรียบ จนกว่าจะมีดิสรัปชั่นใหม่ เพราะการเปลี่ยนรุ่นเทคโนโลยีใหม่ ๆ ก็มีทั้งโอกาสและความเสี่ยง


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ดร.สมเกียรติ TDRI ชำแหละ ไทยแลนด์ 4.0 ฮับดิจิทัล

view