จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
โปรดเกล้าฯ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร ฉบับที่ 45 พ.ศ. 2560 เพิ่มบทกำหนดโทษผู้ที่เลี่ยงภาษี ให้อำนาจ “อธิบดีกรมสรรพากร” อายัดทรัพย์เป็นการชั่วคราวเพื่อตรวจสอบความผิด ระบุเป็นไปตามความจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตามข้อบังคับ เหตุไทยเป็นสมาชิกที่จะถูกประเมินในปีนี้ กำหนดให้อาชญากรรมที่เกี่ยวกับภาษีอากรที่มีลักษณะร้ายแรงเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน วันนี้ (2 เม.ย.) มีรายงานว่า ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร ฉบับที่ 45 พ.ศ. 2560 ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยกฎหมายใหม่ฉบับนี้เป็นการเพิ่มบทกำหนดโทษกับผู้ที่เลี่ยงภาษี ที่ให้ กรมสรรพากรเข้าไปตรวจสอบการฟอกเงินได้ ทั้งนี้ เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากประเทศไทยในฐานะสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้ง Asia Pacific Group on Money Laundering (APG) มีเหตุผลความจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตามข้อบังคับ (Terms of References) ที่กำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องปฏิบัติตามข้อแนะนำของ Financial Action Task Force (FATF) ในการกำหนดให้อาชญากรรมเกี่ยวกับภาษีอากรที่มีลักษณะร้ายแรงเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และเพื่อให้เป็นไปตามเหตุผลดังกล่าว อีกทั้งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ในการปราบปรามการหลีกเลี่ยงและการฉ้อโกงภาษีอากร สมควรกำหนดให้การกระทําความผิดเกี่ยวกับ การหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีอากรและการฉ้อโกงภาษีอากรที่มีลักษณะเป็นอาชญากรรมร้ายแรง เป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ มีรายงานว่า เนื้อหาของกฎหมายใหม่ฉบับนี้ ที่ลงนามรับสนองพระราชโองการโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่า หากผู้มีหน้าที่เสียภาษีหรือนำส่งภาษี หลีกเลี่ยง หรือฉ้อโกงตั้งแต่สิบล้านบาทต่อปีภาษีขึ้นไป/ฉ้อโกง ใช้อุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใด ขอคืนภาษีโดยความเท็จตั้งแต่สองล้านบาทต่อปีภาษีขึ้นไป ให้นำส่งภาษีอากรในลักษณะที่เป็นกระบวนการหรือเครือข่าย สร้างธุรกรรมอันเป็นเท็จ ปกปิดเงินได้พึงประเมิน เพื่อหลีกเลี่ยงหรือฉ้อโกงภาษีอากร มีพฤติกรรมปกปิดหรือซ่อนเร้นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพื่อมิให้ติดตามทรัพย์สินนั้นได้ ทั้งหมดนี้ ให้ถือว่าเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ซึ่งความผิดมูลฐานจะถูกส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้กับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. ให้ดำเนินการตามกฎหมายฟอกเงิน มีรายงานว่า กฎหมายฉบับนี้ กระทรวงการคลังได้เสนอแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรเพื่อรองรับการปฏิบัติตามมาตรฐานสากล ด้านการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายของ Financial Action Task Force (FATF) ซึ่งไทยจะรับการประเมินดังกล่าวในปี 2560 นี้ โดยข้อแนะนำของ FATF ได้เสนอให้กำหนดอาชญากรรมเกี่ยวกับภาษี (Tax Crimes Related to Direct Taxes and Indirect Taxes) เป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีมาตรฐานการปฏิบัติเกี่ยวกับการป้องปรามการฟอกเงินและการทำลายระบบภาษีที่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศยิ่งขึ้น ตลอดจนเพิ่มความโปร่งใสโดยรวมให้แก่การทำธุรกรรมในประเทศไทย “ตามปกติแล้วการหลีกเลี่ยงภาษี การขอคืนภาษีอันเป็นเท็จ และการใช้ใบกำกับภาษีปลอม ถือเป็นความผิดอาญาตามประมวลรัษฎากรอยู่แล้ว แต่เพื่อให้เป็นไปตามหลักสากล ด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายของ Financial Action Task Force (FATF) ที่กำหนดให้อาชญากรรม ภาษีเงินได้ที่เกี่ยวข้องกับ ภาษีทางตรง และ ภาษีทางอ้อม (Tax Crimes Related to Direct Taxes and Indirect Taxes) เป็นความผิดตามมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน” ทั้งนี้ ประมวลรัษฎากรดังกล่าวจะกำหนดวงเงินการกระทำความผิด ที่เข้าข่ายตามร่างแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ คือ เป็นการกระทำทำนองเดียวกับการฟอกเงิน คือ กรณี 1. การหลีกเลี่ยงภาษี โดยการกระทำให้รายได้น้อยกว่าปกติ เพื่อให้เสียภาษีน้อยลง ซึ่งกรณีนี้ หากมียอดสะสมของการหลีกเลี่ยงภาษีตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป เข้าข่ายความผิดตามกฎหมายนี้ 2. กรณีการขอคืนภาษีอันเป็นเท็จตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป ถือว่าเข้าข่ายตามกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งกรณีการขอคืนภาษีอันเท็จ กำหนดวงเงินความผิดค่อนข้างต่ำ เพราะถือเป็นการล้วงเงินในกระเป๋าจากรัฐโดยตรง ซึ่งที่ผ่านมากรมสรรพากร เคยมีกรณีการขอคืนภาษีอันเป็นเท็จ สร้างความเสียหายให้แก่รัฐไปกว่า 4 พันล้านบาท 3. กรณีการออกใบกำกับภาษีปลอม โดยมีวงเงินรวมในใบกำกับภาษีปลอม ที่นำไปใช้เพื่อทำให้เสียภาษีน้อยลง ตั้งแต่ 15 ล้านบาท เข้าข่ายกฎหมายฉบับนี้ กฎหมายฉบับนี้จะให้อำนาจอธิบดีอายึดทรัพย์ เป็นการชั่วคราว เพื่อตรวจสอบความผิด แต่การที่เจ้าหน้าที่จะระบุความผิดของผู้กระทำความผิดนั้น จะต้องมีหลักฐาน โดยระยะเวลาในการตรวจสอบจะอยู่ที่ 90 วัน”
|
|
|
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน