จากประชาชาติธุรกิจ
รัฐบาล คสช.ประกาศนโยบายชัดเจนในการผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หรือพร็อพเพอร์ตี้ แท็กซ์ กฎหมายใหม่ที่มาแทนการจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่กับภาษีโรงเรือนและที่ดิน เป้าหมายเตรียมบังคับใช้จริงในวันที่ 1 มกราคม 2562 หมายความว่าเหลือเวลาไม่ถึง 2 ปีแล้ว
"ประชาชาติธุรกิจ" สอบถามข้อคิดเห็น "พี่สุ่น-สุนทร สถาพร" กรรมการผู้จัดการ บริษัทเฉลิมนคร และอุปนายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร
"ฐานภาษีมันแคบลงไปเยอะ สิ่งที่ทางสมาคมบ้านจัดสรรเคยแสดงความเห็นไป คือ ฐานภาษีกลุ่มคนที่น่าจะพอรับได้คือชนชั้นกลางขึ้นไป"
แง่มุมในฝั่งเจ้าของที่ดิน ประเมินผลกระทบจากกฎหมายใหม่ว่า เจ้าของที่ดินเดิมน่าจะมีการปล่อยที่ดินออกมาเยอะขึ้น เนื่องจากฐานภาษีสูงที่สุดใน 4 ประเภทที่รัฐเตรียมจัดเก็บ โดยที่ดินรกร้างว่างเปล่าอยู่ที่อัตราปีละ 1-5% เทียบเท่าภาระภาษีล้านละ 1-5 หมื่นบาท/ปี
"ในแง่เจ้าของที่ดินเดิม ซึ่งถ้าแค่รับมรดกนะ ถึงจะรู้ตัวว่าอนาคตที่ดินมีมูลค่าเพิ่มมากกว่าภาษี แต่อาจไม่มีกำลังชำระภาษีปีละ 1-2-3% ตอนนี้ในวงการพัฒนาที่ดินมองว่ากลุ่มผู้ดีเก่าแนวโน้มปล่อยที่ดินออกมามากขึ้นเช่นกัน"
สำหรับการประเมินผลกระทบแบบตรงไปตรงมาก็คือมีบางกลุ่มได้รับประโยชน์โดยปริยายจากกฎหมายใหม่
"สถานการณ์จะกลายเป็นว่ากลุ่มทุนใหญ่ถือครองที่ดินได้มากขึ้นเพราะเขารู้ว่า Price Appiciation การขึ้นราคาของที่ดินสามารถขึ้นได้สูงกว่าภาระดอกเบี้ย-ค่าใช้จ่ายภาษี เพราะประวัติที่ดินราคาขึ้นสูงกว่าอยู่แล้ว ถึงจะโดนภาษี 3% ก็ตาม"
สุนทร สถาพร
ในส่วนของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากที่ดินเป็นปัจจัยการผลิต หรือเป็นวัตถุดิบต้นทางในการพัฒนาโครงการ ดังนั้น การเจรจาซื้อขายที่ดินจึงเป็นงานประจำที่มีความสำคัญ
"เราประเมินเอาไว้ว่าที่ดินน่าจะมีการปล่อยออกมาวัตถุดิบมีการปล่อยสู่ตลาดมากขึ้น น่าจะเป็นอย่างนั้น ถามว่าสถานการณ์ในวงการนายหน้า (ค้าที่ดิน) เขามีการเสนอกันมากขึ้นนะ เพราะถ้าถือครองที่ดินแต่ยังไม่ได้ทำประโยชน์ตอนนี้เริ่มมีความกังวลเกิดขึ้น"
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือภาพรวมตลาดอสังหาฯ มีผลกระทบมากน้อยอย่างไร
"ทุกวันนี้บริษัทในตลาดหุ้นไม่ได้ซื้อแลนด์แบงก์เก็บไว้ ไม่เหมือนกฎเก่าที่ต้องซื้อที่ดินพร้อมรอพัฒนา 5 ปี ส่วนใหญ่สังเกตว่าซื้อแล้วจะทำโครงการโดยทันที พี่ก็ไม่คิดว่าแลนด์ดีเวลอปเมนต์จะกลับมาถือครองระยะยาวนะ ดูแคชโฟลว์เหมาะสม ยอดขายน่าจะตามเป้า จึงซื้อที่ดิน"
มีข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ นั่นคือ ไม่ว่าจะมากหรือน้อยบรรดาดีเวลอปเปอร์ต่างมีแลนด์แบงก์ถือครองในมือด้วยกันทั้งสิ้น ถามว่าเป็นปัจจัยลบหรือไม่ เพราะถ้ารอพัฒนานาน ๆ ย่อมมีภาระภาษีเป็นต้นทุนเพิ่มขึ้นมา
"(หัวเราะ) ที่ดินรอพัฒนาของเฉลิมนครก็เข้าข่าย แต่งานที่จะลงทุนในอนาคตไม่ได้วางเป้าพัฒนาอสังหาฯ จึงไม่จำเป็นต้องคายที่ดินออกมา แต่ก็ยอมรับว่ามีแรงกดดันหากเป็นที่ดินจะใช้ลงทุนทำบ้าน-คอนโดฯ กลุ่มไหนมีแลนด์แบงก์เยอะ ๆ ถือครองไว้ต้นทุนสูงขึ้นมาก ๆ ย่อมมีผลกระทบทำให้โครงการต้องเอามาพัฒนาเร็วขึ้น"
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน