จากประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ Market-think โดย สรกล อดุลยานนท์
วันก่อน ไปงานเปิดตัวเว็บไซต์ "เช็กก่อนแชร์.com" ตามคำเชิญของน้อง ๆ "แร็บบิท เทล" ที่คุ้นเคยกันมานาน
"เช็กก่อนแชร์" เกิดขึ้นจากความร่วมมือ
ของ 3 ดิจิทัลเอเยนซี่. คือ แรบบิท ดิจิทัล กรุ๊ป -มูนช็อท ดิจิทัล และครีเอทีฟ จูซ แบงคอก
แนวคิดของเขาน่าสนใจมากเลยครับ
เป็นการแก้ปัญหาเรื้อรังของ
โลกดิจิทัล ที่เน้นเรื่อง "ความเร็ว" เป็นหลัก
เห็นเรื่องอะไรน่าสนใจก็รีบ "แชร์" ทันที
โดยลืมตรวจสอบว่าข่าวที่ได้มานั้น "จริง" หรือไม่
เมื่อ "ความเท็จ" เริ่มกระจายออกไปหาเพื่อน
เพื่อนก็จะกระจายข่าวต่อด้วยวิธีคิดเดียวกัน
เพราะนอกจากอยากให้เพื่อนได้รู้ข่าวนี้แล้ว
ส่วนใหญ่ก็อยากแสดงตัวว่าเรารู้ข่าวนี้ก่อนใคร
โลกวันนี้แตกต่างจากโลกเมื่อ 10 ปีก่อนมาก ทั้งเรื่อง "สื่อ" และ "ความเร็ว" ในการกระจายข่าว
สมัยก่อน "ข่าว" จะมาจาก "สื่อมวลชน" ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์
ซึ่งคนที่อยู่ในวิชาชีพนี้มักจะมีกระบวนการตรวจสอบข่าวก่อนที่จะเผยแพร่ออกไป
ไม่ใช่จะไม่ผิดพลาดเลย
ผิดบ้างครับ. แต่ไม่มากนัก
และเมื่อ "ข่าว" นั้นน่าสนใจ ถ้าเราจะกระจายข่าวให้เพื่อนได้รู้ก็ทำได้ยากและจำนวนคนที่รับรู้ก็มีจำนวนน้อยไม่เหมือนกับวันนี้
วันนี้ ผู้ผลิตข่าวรายใหญ่ไม่ใช่ "สื่อมวลชน"
เดิม แต่เป็นประชาชนทุกคนสามารถผลิตข่าวได้
สังเกตไหมครับว่าข่าวใหญ่ในวันนี้จึงมาจากบุคคลธรรมดา. ที่สามารถทั้งเขียนหรือถ่ายคลิปลงในโซเชียลมีเดียและสื่อหลักก็นำ "คลิป" ไปขยายผลอีกต่อหนึ่ง
เพราะข่าวจาก "สื่อประชาชน" สดกว่าและเร็วกว่าสื่อหลัก
แต่ที่ขาดไป คือ กระบวนการตรวจสอบ
เขาไม่มีระบบเหมือนกับ "สื่อหลัก" ทั่วไป
นอกจากนั้นการกระจายข่าวของวันนี้ยังเป็นไปอย่างรวดเร็ว
จาก 1 ไป 100
จาก 100 ไป 100,000 ในเวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมง
และที่สำคัญ "ความเร็ว" ของ "ข่าวร้าย"
มักจะเร็วกว่า "ข่าวดี"
เพราะคนไทยชอบ "อาหารคาว"
มากกว่า "เมนูสุขภาพ"
ถ้า "ข่าวร้าย" เป็น "ข่าวจริง" ก็ไม่เป็นไร
แต่ถ้า "ข่าวร้าย" นั้นเป็น "ข่าวเท็จ"
คนที่เป็นข่าวก็เสียหาย
และบางครั้งก็ไม่สามารถแก้ข่าวได้หมด
หรือแม้แต่แก้ข่าวไปแล้ว แต่ "ข่าวเก่า" ที่เป็นเท็จแต่มีการกระจายออกไปแล้วยังคงค้างอยู่ในระบบโซเชียลมีเดีย
ค้นทีไรก็เจอ
คนไม่เคยโดนกับตัวเองจะไม่รู้ว่ามันหนักหนาสาหัสเพียงใด
วิธีการทำให้เรื่องนี้เบาบางลงก็มีเพียงอย่างเดียว คือ ให้ทุกคนตั้งสติก่อนแชร์
รู้จักตั้งคำถามกับ "ข่าว" บ้าง
เคยไหมครับที่รู้สึกงงมากที่มีเพื่อนแชร์ข่าวนี้มา
เพราะตรรกะมันไม่ได้เลย
อ่านปั๊บก็รู้เลยว่า "เท็จ"
นอกจากมีสติและตั้งคำถามแล้ว
ถ้าไม่แน่ใจก็ทิ้งเวลาตรวจสอบข่าวนี้ก่อน
คิดแบบใจเขาใจเรา
ถ้าเราเป็นบุคคลในข่าว เราจะรู้สึกอย่างไรถ้าข่าวนั้นไม่จริงและได้รับการเผยแพร่ต่อไป
เช็กก่อนแชร์
แบบ "ช้าแต่ชัวร์" ดีกว่า
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน