จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
By : Pharmchompoo
|
โดยทั่วไป เราเคยได้ยินว่า “เด็กยิ่งหกล้ม ยิ่งโต แต่ผู้สูงอายุ ยิ่งหกล้ม ยิ่งไม่ดี” เพราะฉะนั้น ประเด็นที่เราจะพูดคุยในวันนี้จะเป็นเรื่องการหกล้มในผู้สูงอายุ
|
อย่างที่ทราบกันดี การที่อายุมากขึ้นมันทำให้ปัจจัยทางกายวิภาคและสรีระเสื่อมถอยลง ลุกก็โอย นั่งก็โอย หูตาฝ้าฟาง การทรงตัวก็ไม่ค่อยจะดี หลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไปไม่เหมือนเดิม สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยพื้นฐานเดิมที่เป็นความเสี่ยงในผู้สูงอายุ กอปรกับผู้สูงอายุมักจะเป็นช่วงวัยที่กินยาเยอะ มียาที่ต้องกินเป็นจำนวนมาก ซ้ำร้ายยังเป็นช่วงวัยที่มีความไวต่ออาการข้างเคียงจากยามากด้วย เช่น ไวต่อฤทธิ์ง่วงซึมจากยาแก้แพ้ ประเภทกินสิบง่วงร้อย ไม่ใช่ว่าผู้สูงอายุสำออย แต่ปัจจัยทางสรีระทำให้เป็นแบบนั้นเอง เหล่านี้เมื่อรวมๆ กัน ก็ทำให้ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงที่จะหกล้มมากกว่าคนวัยอื่น เราอาจเคยได้ยินข่าวผู้สูงอายุล้มในห้องน้ำ หรือกระทั่งล้มหรือตกเตียงในสถานพยาบาล แล้วตามมาด้วยความพิการ ทุพลภาพ นอนติดเตียงแล้วต่อมาก็เสียชีวิต นั่นเป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยกัน ซึ่งก็เป็นเรื่องจริง เพราะในผู้สูงอายุเมื่อเกิดหกล้มแล้ว กระดูกของผู้สูงอายุซึ่งอาจจะเปราะ หรือพรุนอยู่เดิม ก็หักและคืนสภาพเดิมได้ยากหรือไม่ได้เลย สูญเสียการเคลื่อนไหว การนอนติดเตียงเคลื่อนไหวไม่ได้นำมาสู่การเกิดแผลกดทับ และการติดเชื้อในที่สุด หรือหากเกิดปัญหาการกลืนก็ยิ่งเป็นความเสี่ยงในการเกิดอาการสำลัก ติดเชื้อในปอดและเสียชีวิตได้ ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า การหกล้มในผู้สูงอายุมีนัยสำคัญอย่างมากทีเดียว ในบทความนี้ เราอยากเน้นประเด็นที่ว่ายาอะไรที่อาจเป็นความเสี่ยงทำให้หกล้มในผู้สูงอายุ หรือผู้สูงอายุต้องระวังให้มากเมื่อกินยาเหล่านี้ 1. ยาสำหรับโรคความดันโลหิตสูง เพราะยาเหล่านี้มีผลลดความดันโลหิต โดยเฉพาะยาบางกลุ่มที่มีฤทธิ์ขยายหลอดเลือด อาจจะทำให้ความดันลดลงอย่างรวดเร็ว เลือดไปเลี้ยงสมองไม่ทัน เกิดอาการ “วูบ” ลุกนั่งหน้ามืด เป็นลมและหกล้มได้ หากไม่ระวัง วิธีการป้องกันคือ ลุกนั่งช้า ๆ การเปลี่ยนท่าทาง จากนอนเป็นนั่ง จากนั่งเป็นยืน ต้องช้าๆ ค่อยๆ ไปเรื่อยๆ อย่าใจร้อน
|
2. ยาแก้แพ้ แก้หวัดรุ่นเก่าๆ เช่น คลอเฟนิรามีน (chlorpheniramine) บรอมเฟนิรามีน (brompheniramine) ไทรโพลิดีน (tripolidine) เหล่านี้ทำให้ปากคอแห้ง ใจสั่น ง่วงซึม และทรงตัวลำบากได้ ต้องระวัง หรือบางครั้งยารุ่นใหม่ที่บอกว่า “ไม่ง่วง” ผู้สูงอายุบางคนอาจจะไวต่อฤทธิ์ยาแล้วเกิดอาการง่วงได้เช่น ยาเซทิริซีน (cetirizine) 3. ยาแก้ปวดคลายกล้ามเนื้อ เช่น ออร์เฟนาดรีน (orphenadrine) โทลเปอริโซน (tolperisone) หรือยาแก้ปวดที่มีฤทธิ์เสพติดอย่าง โคเดอีน (codeine) หรือ ทรามาดอล (tramadol) ก็ทำให้ผู้ป่วยง่วงซึมได้ 4. ยาที่ใช้รักษาอาการเกี่ยวกับระบบประสาท หรือแก้ปวดเส้นประสาท เช่น กาบาเพนติน (gabapentin) พรีกาบาลิน (pregabalin) คาร์บามาเซพีน (carbamazepine) พวกนี้ก็สามารถทำให้เกิดอาการง่วงซึมได้ โดยเฉพาะอย่างคาร์บามาเซพีนอาจจะทำให้เกิดอาการเดินเซได้ด้วย 5. ยาคลายวิตกกังวล ยานอนหลับ อันนี้ตรงไปตรงมา ยาเหล่านี้มีฤทธิ์ทำให้ง่วงซึม กล้ามเนื้อคลายตัว มีผลอย่างมากต่อการเดินและทรงตัว เป็นความเสี่ยงที่ทำให้หกล้มโดยเฉพาะหากกินซ้ำๆ ติดต่อกันนาน ๆ หลายวัน เช่น ไดอะซีแพม (diazepam) ลอราซีแพม (lorazepam) คลอราซีเพต (clorazepate) หรือยาอะมิทริปไทลีน (amitriptyline) อย่างในกรณีผู้ป่วยที่ admit ในสถานพยาบาลอาจจะมีการได้รับยาเหล่านี้ก่อนเข้าห้องผ่าตัด เมื่อพยาบาลให้ยาไปแล้ว พยาบาลจะต้องติดป้ายเตือนว่าผู้ป่วยมีความเสี่ยงในการหกล้ม (fall) ขึ้นเป็นสัญลักษณ์เช่น ตัวเอฟ (F) เพื่อให้ญาติและพยาบาลระวัง ให้ผู้ป่วยไม่ลุกเดินไปไหนโดยไม่จำเป็น จะเห็นได้ว่า เป็นเรื่องไม่ไกลตัวเลยระหว่างเรื่องผลข้างเคียงจากยากับความเสี่ยงที่ทำให้หกล้ม เป็นสิ่งที่เราดูแลและหลีกเลี่ยงได้ง่ายๆ หากใส่ใจทั้งยาที่กินและตัวผู้สูงอายุ
|
หมายเหตุ : Pharmchompoo เป็นนามปากกาของเภสัชกรท่านหนึ่งซึ่งเรียนจบมาทางด้านเภสัชศาสตร์โดยตรง ปัจจุบันประจำอยู่ที่โรงพยาบาลชื่อดังแห่งหนึ่ง และบทความเชิงสาระความรู้เพื่อการตระหนักเกี่ยวกับการใช้ยาให้ถูกต้องเหมาะสม จะมาพบกับคุณผู้อ่านเป็นประจำอย่างน้อยสองครั้งต่อเดือน |
|
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน