สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

วินัยในการลงทุน

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ จัตุรัสนักลงทุน โดย ภาคภูมิ ศิริหงษ์ทอง

วินัย เปรียบเสมือน "หัวใจ" ของการลงทุน ไม่ว่าเราจะเป็นนักลงทุนที่เก่งกาจแค่ไหน แต่ถ้าเราไม่ยึดมั่นและปฏิบัติตามหลักการที่ถูกต้อง เราก็จะไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ในระยะยาว เปรียบได้กับเมล็ดพันธุ์ที่ดี ถ้าไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมก็ไม่สามารถเติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ ที่ให้ร่มเงาและออกดอกผลได้

คนส่วนมากไม่ค่อยพูดถึงความสำคัญของ "วินัย" เพราะมันน่าเบื่อ ไม่ตื่นเต้น แต่นักลงทุนระดับเซียนที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงกว่าตลาดมาก ๆ เป็นระยะนาน ทุกคนจะมีวินัยในการลงทุนที่เคร่งครัด ยิ่งประสบความสำเร็จมาก ก็ยิ่งเป็นคนที่มีวินัยมาก นักลงทุนหลายท่านที่ผมรู้จัก ถึงจะมีพอร์ตการลงทุน 9-10 หลักแล้ว แต่ก็ยังใช้เวลาวันละ 7-8 ชั่วโมงในการศึกษาหาข้อมูล เรียกได้ว่า "วินัย" เป็นตัวบ่งชี้ความสำเร็จของนักลงทุนได้ดีที่สุดตัวหนึ่งเลย

วินัยอย่างแรกของนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จคือ"การอ่าน"การศึกษาค้นคว้าหาความรู้ มองหาไอเดียการลงทุนใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา "วอร์เรน บัฟเฟตต์" มีชื่อเสียงมากเรื่องความขยัน คุณปู่วอร์เรนใช้เวลา 80% ในแต่ละวันไปกับการอ่านข่าวหนังสือพิมพ์และรายงานประจำปี วันละ 500 หน้าทุกวัน (เยอะกว่าหลาย ๆ คนอ่านทั้งปีอีก) สำหรับนักลงทุนไทย ช่องทางในการศึกษาหาความรู้ในการลงทุนอาจจะไม่ได้ถูกจำกัดแค่การอ่าน แต่การไปฟัง Opportunity Days เข้าร่วมการประชุมผู้ถือหุ้น รวมถึงการไปสัมมนาหุ้นต่าง ๆ ก็เป็นโอกาสในการศึกษาหาความรู้ที่ดีไม่แพ้กัน

วินัยอย่างที่สองคือ "การคิด" บัฟเฟตต์บอกว่ายิ่งเขาใช้เวลาไปกับการอ่านและการคิดมากเท่าไหร่ เขาก็จะตัดสินใจโดยใช้อารมณ์น้อยลง ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้บัฟเฟตต์โดดเด่นกว่านักลงทุนคนอื่น การคิดอย่างรอบคอบหมายถึงการวิเคราะห์โอกาสและความเสี่ยงในการลงทุนให้รอบด้าน ไม่ใช่แค่เคาะราคาเป้าหมายแล้วก็ซื้อหุ้น แต่เป็นการวิเคราะห์สภาวะอุตสาหกรรม การแข่งขัน ความแข็งแกร่งของโมเดลธุรกิจ งบการเงิน รวมถึงปัจจัยความเสี่ยงต่าง ๆ นอกจากนี้การคิดจะช่วยให้เราเตรียมแผนการรับมือกับสภาวะตลาดที่ผันผวนได้ดี สามารถฉวยโอกาสในภาวะวิกฤตได้

วินัยอย่างที่สามคือ "การพัฒนาอย่างต่อเนื่อง" แนวทางการลงทุนในยุคของเบนจามิน เกรแฮม ผู้ให้กำเนิดการลงทุนแนววีไอ ถึงแม้จะสามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงมากในยุคนั้น แต่ก็ไม่สามารถนำมาใช้ในยุคการลงทุนปัจจุบันได้ แม้แต่บัฟเฟตต์ศิษย์เอกของเกรแฮมเอง ก็ยังต้องผสมผสานแนวคิดหุ้นเติบโตของฟิชเชอร์ ซึมซับไอเดียการลงทุนจากคู่หูมังเจอร์ และเรียนรู้จากข้อผิดพลาดของตัวเองในอดีต (อย่างเช่นในกรณีของ Dumpster Mill และ Bershire Hathaway) เพื่อมาสร้างปรัชญาการลงทุนของตัวเองที่ประสบความสำเร็จ

วินัยอย่างสุดท้ายคือ "การฝึกฝนจิตใจ" ถึงแม้ว่าเราจะอ่านเยอะแค่ไหน คิดวางแผนได้ยอดเยี่ยมแค่ไหน แต่ถ้าเราไม่มีสภาวะจิตใจที่แข็งแกร่งเราก็จะไม่สามารถเอาชนะอารมณ์ที่รุนแรงของตลาดได้ ผมสังเกตว่านักลงทุนที่ประสบความสำเร็จมาก ๆ มักจะสนใจในเรื่องของการฝึกสมาธิ เรียนรู้ที่จะ "รู้ทัน" อารมณ์และความคิดของตัวเอง ทำให้สามารถตัดสินใจลงทุนได้ตามหลักการที่วางแผนไว้ 

ในช่วงชีวิตการลงทุนของผม ช่วงไหนที่ไม่ได้เข้มงวดกับตัวเอง ทำการบ้านไม่มากพอ มักจะได้ผลตอบแทนไม่ค่อยดีนักจิตใจจะรู้สึกหวั่นไหวต่อสภาวะตลาดได้ง่ายขึ้น แต่ถ้าช่วงไหนที่ผมมีวินัยต่อตัวเอง นอกจากจะช่วยให้ผมมองเห็นโอกาสการลงทุนในภาวะตลาดที่ผันผวนแล้ว ผมยังมีความสุขกับการลงทุนมากขึ้น

วินัยในการลงทุนจะช่วยให้เราสามารถเอาชนะอุปสรรคในการลงทุนได้ ถ้าเราไม่รู้ว่าจะซื้อหุ้นอะไร ถามตัวเองว่าเราศึกษาหุ้นมากพอหรือยัง ถ้าเราลงทุนมานานแต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ ถามตัวเองว่าเราได้ศึกษาแนวทางการลงทุนของคนที่ประสบความสำเร็จ และเรียนรู้จากข้อผิดพลาดของตัวเองมามากพอหรือยัง

สุดท้ายแล้วในการคิดค้นสูตรความสำเร็จในการลงทุนที่จริงแล้วอาจจะไม่ได้ซับซ้อนอย่างที่คิดไม่จำเป็นต้องมีIQ 180 หรือจบปริญญาเอกจากมหา′ลัยระดับโลก แค่มีวินัยในการทำบางอย่างซ้ำ ๆ จนเป็นนิสัยก็เพียงพอแล้วที่จะสร้างผลตอบแทนที่เอาชนะตลาดได้ในระยะยาว อย่างที่บัฟเฟตต์เคยพูดว่า "คุณไม่จำเป็นต้องฉลาดกว่าคนอื่น แค่คุณมีวินัยและยึดมั่นในหลักการมากกว่าคนอื่นก็พอ"


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : วินัยในการลงทุน

view