จากประชาชาติธุรกิจ
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้เสนอ รายงานผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทย ประจำปี 2559 ต่อที่ประชุม ครม.เมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยการดำเนินการดังกล่าวเป็นผลมาจาก "ข้อเสนอแนะ 17 ข้อ" จากรายงานการค้ามนุษย์ปี 2559 ของสหรัฐ (TIP Report)
มีสาระสำคัญต้องการให้ฝ่ายไทยมีการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์รวมถึงการตัดสินและลงโทษอย่างเด็ดขาด,การเพิ่มความพยายามในการคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ที่เป็นกลุ่มเปราะบาง-ผู้อพยพ-บุคคลไร้สัญชาติ-เด็ก-ผู้ลี้ภัย,การดำเนินคดีและตัดสินลงโทษผู้ค้ามนุษย์ด้วยการบังคับใช้กฎหมายเชิงรุกและสร้างความร่วมมืออย่างเป็นระบบกับภาคประชาสังคม,การเพิ่มทรัพยากรเพื่อการสืบสวนและดำเนินคดีการค้ามนุษย์และการจัดตั้งแผนกการค้ามนุษย์ในหน่วยงานของศาลเป็นต้น
เพิ่มงบประมาณปราบปราม
โดยในปี 2559 รัฐบาลไทยได้จัดสรรงบประมาณตามนโยบายการต่อต้านการค้ามนุษย์ประจำปี 2560 เพิ่มขึ้นเป็น 3,208.91 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.88 วงเงินงบประมาณจำนวนนี้
625.75 ล้านบาท หรือร้อยละ 19.51 ถูกจัดสรรให้กับศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ส่วนอีก 253.90 ล้านบาท ถูกจัดสรรให้กับหน่วยงานที่ทำงานด้านการดำเนินคดีค้ามนุษย์โดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ศูนย์ต่อต้านการค้ามนุษย์ คณะทำงานปราบปรามอาชญากรรมทางอินเทอร์เน็ตที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดเด็กเยาวชน (TICAC) และการบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์
ดำเนินคดี-จับกุมเพิ่มขึ้น
ด้านการดำเนินคดีในปี 2559 ปรากฏมีจำนวนผู้ที่ถูกศาลพิพากษาลงโทษเพิ่มขึ้น บทลงโทษมีความรุนแรงยิ่งขึ้น และระยะเวลาที่ใช้ในการดำเนินการฟ้องร้องเพื่อดำเนินคดีค้ามนุษย์ลดลงอย่างมาก ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ดำเนินการสอบสวนคดีค้ามนุษย์จำนวน 333 คดี หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 จากจำนวน 317 คดี ในปี 2558
สามารถจับกุมและฟ้องร้องรวม 600 คน แบ่งเป็น ผู้กระทำผิดชาย 265 คน หญิง 335 คน สามารถจำแนกเป็นคนไทย 462 คน, เมียนมา 35 คน, กัมพูชา 26 คน, ลาว 41 คน และอื่น ๆ 36 คน
ขณะที่จำนวนคดีที่มีการฟ้องร้องโดยพนักงานอัยการก็เพิ่มขึ้น โดยในปี 2559 มีการยื่นฟ้องทั้งหมด 301 คดี หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.92 มีคดีสั่งไม่ฟ้องเพียง 1 คดี และอีก 9 คดีอยู่ระหว่างการพิจารณา
ส่วนผลการพิจารณาคดีของศาล ปรากฏจำนวนผู้กระทำผิดค้ามนุษย์ที่ศาลพิพากษาลงโทษ 268 คดี หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.7 แบ่งเป็น จำนวนผู้กระทำผิดที่ถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุกเกินกว่า 2 ปี คิดเป็นร้อยละ 33.5 (90 จาก 268 คดี ในปี 2559 เทียบกับ 59 จาก 205 คดี ในปี 2558) และผู้กระทำผิดที่ถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุกเกินกว่า 5 ปี คิดเป็นร้อยละ 36.5 (98 จาก 268 คดี ในปี 2559 เทียบกับ 60 จาก 205 คดี ในปี 2558)
ระยะเวลาในการพิจารณาคดีก็รวดเร็วยิ่งขึ้นนับจนถึงวันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา มีแนวโน้มการใช้เวลาลดลงจากจำนวนคดีที่ศาลพิพากษาลงโทษภายใน 3 เดือน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14 (69 จาก 330 คดีในปี 2559) จำนวนคดีที่ศาลพิพากษาลงโทษภายใน 6 เดือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 39 (169 จาก 330 คดี ในปี 2559) และจำนวนคดีที่ศาลพิพากษา
ลงโทษภายในระยะเวลา 1 ปี คิดเป็นเกือบร้อยละ 90 (295 จาก 330 คดี ในปี 2559) ส่วนจำนวนคดีที่ใช้เวลาในการพิจารณาคดีนานกว่า 1 ปี ลดลงมากเหลือร้อยละ 10 (35 จาก 330 คดี ในปี 2559)
นอกจากนี้ยังมีการแก้ไข พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินพ.ศ. 2558 ให้สามารถสืบหาและทำการยึดอายัดทรัพย์สินของผู้กระทำผิดค้ามนุษย์ และเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการค้ามนุษย์
สำหรับการติดตามผลการดำเนินคดีสำคัญ 6 คดี ประกอบไปด้วย 1) คดีเล้าหมู (คดีอาญาที่ 200/2558) ผู้ต้องหาเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจถูกกล่าวหาให้ที่พักพิงแก่แรงงานต่างด้าว บังคับเด็กทำงาน กักขังหน่วงเหนี่ยวเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จ่ายค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมาย คดีนี้ศาลจังหวัดนครปฐมพิพากษามีความผิดฐานค้ามนุษย์ลงโทษจำคุก 50 ปี ปรับ 120,000 บาท ลงโทษฐานทำร้ายร่างกายปรับ 4,000 บาท 2) คดีเรือซิลเวอร์ซี (คดีพิเศษที่ 84/2557) นายหน้าชาวไทยหลอกให้ไปทำงานบนเรือประมงซิลเวอร์ซีไลน์ 2 จังหวัดสมุทรสาคร ก่อนที่จะส่งต่อไปยังเรือมหาชัยนาวี 24 เพื่อไปทำการประมงในน่านน้ำอินโดนีเซีย ศาลอาญาได้พิพากษาจำคุกนายหน้าจำนวน 12 ปี
3) คดี พ.ต.ท.สุพัฒน์ เลาหะวัฒนะ อดีตหมอตำรวจและบุตรชาย 2 คน พร้อมลูกจ้างชาวเมียนมา ร่วมกันฆ่าคนงานชาวเมียนมานำศพไปฝังไว้ในสวนผลไม้ที่ อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุก 8 ปี 33 เดือน ความผิดฐานค้ามนุษย์ และลงโทษประหารชีวิตความผิดฐานฆ่าคนตาย แต่ พ.ต.ท.สุพัฒน์หลบหนีออกนอกประเทศ ต่อมาถูกจับกุมตัวโดยตำรวจเมียนมา ศาลมะละแหม่งพิพากษาลงโทษจำคุก 2 ปี ขณะนี้อยู่ระหว่างการโอนตัว พ.ต.ท.สุพัฒน์ กลับมารับโทษในประเทศไทย
4) คดีการบังคับใช้แรงงานเด็ก "ล้งกุ้งกิ๊ก" จังหวัดสมุทรสาคร มีผู้เสียหายเป็นชาวเมียนมา 20 คน แต่ปรากฏคดีนี้ผู้เสียหายได้รับเงินเยียวยาเบื้องต้นจากกองทุนเพื่อป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และผู้เสียหายปฏิเสธที่จะดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องในไทย และได้เดินทางกลับเมียนมาไปแล้ว 5) คดีโรฮีนจา แบ่งเป็น คดีหัวไทร-คดีองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ-คดีปาดังเบซาร์
ผู้เสียหายเป็นชาวโรฮีนจา เป็นเครือข่ายการค้ามนุษย์ มีคำพิพากษาแล้ว และบางคดีกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณา และ 6) คดีค้ามนุษย์บนเกาะในประเทศอินโดนีเซีย เกิดขึ้นที่เกาะเบนจินา-อัมบน จำนวน 19 คดี ขณะนี้สั่งฟ้องไปแล้ว 18 คดี นับจากปี 2557 มีลูกเรือประมง 1,917 ราย เดินทางกลับมายังประเทศไทย ในจำนวนนี้ 53 รายเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์
นอกจากนี้ ยังมีคดีเด่น ๆ ที่สำคัญ ๆ ที่กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีและการไต่สวนอีก 6 คดี ได้แก่ คดีอาบอบนวดนาตารี-คดีเครือข่ายบิ๊กบอสส์-คดีต้นน้ำคาราโอเกะ-ปฏิบัติการภูเก็ตการบังคับใช้แรงงานบนเรือประมง-คดีปัตตานีการบังคับใช้แรงงานบนเรือประมงข้ามชาติและปฏิบัติการฝางสื่อลามกอนาจาร
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน