จากประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ เอชอาร์คอร์เนอร์ โดย ธำรงศักดิ์ คงคาสวัสดิ์ http://tamrongsakk.blogspot.com
เรื่องที่ผมจะพูดถึงต่อไปนี้ดูเหมือนกับเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ หยุมหยิมก็จริง แต่อยากนำมาแชร์แบบเล่าสู่กันฟัง เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการบริหารค่าตอบแทนนอกตำราประเภทเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย เผื่อจะเป็นข้อคิดบางอย่างให้กับท่านที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเงินเดือนของพนักงานน่ะครับ
ในบริษัทต่างๆมักจะมีการขึ้นเงินเดือนประจำปีและการปรับเงินเดือนกันเป็นระบบเปอร์เซ็นต์ เช่น ปีนี้บริษัทจะปรับเงินเดือนขึ้นโดยเฉลี่ย 6 เปอร์เซ็นต์ เป็นต้น
การปรับเงินเดือนในระบบเปอร์เซ็นต์อย่างนี้แหละครับ จะทำให้ฐานเงินเดือนของพนักงานที่ได้รับการปรับมีเศษ ที่ไม่ลงตัว เช่น นายวิชิตเงินเดือนปัจจุบันคือ 16,230 บาท ได้รับการปรับเงินเดือน 6 เปอร์เซ็นต์ นายวิชิตจะได้เงินเดือนเพิ่มขึ้น 973.80 บาท ดังนั้น เงินเดือนใหม่คือ 17,203.80 บาทและจะมีพนักงานในบริษัทอีกไม่น้อยที่จะได้รับการปรับเงินเดือนแล้วมีเศษ ที่ไม่ลงตัวทำนองเดียวกับของนายวิชิตตามตัวอย่าง
ผมมักจะเสนอ MD (Managing Director - กรรมการผู้จัดการ) เพื่อขออนุมัติ"ปัดเศษ" เพื่อให้ตัวเลขลงตัวอยู่เสมอ เช่น กรณีของนายวิชิตผมจะปัดให้เป็น 17,205 บาทถ้วน ซึ่งบริษัทก็จะต้องจ่ายเพิ่มขึ้นอีก 1.20 บาทเพื่อปัดเศษให้ลงด้วย 0 หรือ 5 (ปัดเศษขึ้นนะครับไม่ใช่ปัดลง)
ทำไมผมถึงต้องเสนอปัดเศษ ?
เหตุผลของผมคือ
1.อัตราเงินเดือนที่ลงท้ายด้วย 0 หรือ 5 เป็นตัวเลขที่จำง่ายและการตรวจความถูกต้องของคนทำ Payroll ง่ายกว่าการปล่อยให้มีเศษเป็นจุดทศนิยม ซึ่งจะทำให้ตาลายเวลาสรุปยอดรวมของเงินเดือนแล้วยกไปใส่ในรายงาน ซึ่งมีโอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดขึ้นได้ง่ายกว่าการสรุปตัวเลขที่เป็นจำนวนเต็ม
2.ผมมีหลักคิดที่ว่าถ้าบริษัทคิดเล็กคิดน้อยกับพนักงานพนักงานก็จะคิดเล็กคิดน้อยกับบริษัทวันนี้บริษัทจ่ายเงินเดือนนายวิชิต17,203.80 บาทครบถ้วนถูกต้องก็ไม่มีปัญหาอะไรหรอกครับ
แต่ถ้าเดือนไหนนายวิชิตเปิดสลิปเงินเดือนแล้วเห็นว่าตัวเลขกลายเป็น17,203.00บาทไม่ว่าจะด้วยความผิดพลาดอย่างไรก็ตาม นายวิชิตอาจจะมาโวยกับทาง Payroll และบริษัททำนองว่า...อะไรกันแค่ 80 สตางค์ยังไม่จ่ายเลย ทำแค่นี้ก็ผิดพลาดอย่างงี้จะไว้ใจได้ยังไง บริษัทโกงหรือเปล่าเนี่ย ฯลฯ
3.ใช้งบประมาณต่อครั้งในการปัดเศษสำหรับคนที่เงินเดือนไม่ลงด้วย 0 หรือ 5 ไม่มากนักคงไม่ถึงกับทำให้บริษัทขาดทุนหรือการเงินมีปัญหา เมื่อเปรียบเทียบกับการลดปัญหาจุกจิกหยุมหยิมกวนใจที่บอกมาข้างต้น
ท่านได้อ่านมาทั้งหมดแล้ว คงขึ้นอยู่กับท่านนะครับว่าจะมีความเห็นในเรื่องนี้อย่างไรบ้าง แล้วก็อยากให้ใช้หลักกาลามสูตรลองคิดเพิ่มเติม และหาคำตอบเองว่าผู้บริหารในบริษัทของท่านจะเห็นด้วย และทำตามที่ผมแนะนำหรือไม่ เพราะเป็นเรื่องของการบริหารค่าตอบแทนที่อยู่นอกตำรา และไม่เคยมีใครพูดถึง
แต่ผมเห็นว่าเป็นเรื่องปลีกย่อยที่น่าจะพูดถึงเอาไว้บ้างก็เท่านั้นแหละครับ
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน