จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
|
|
มันก็จะปลอมๆ หน่อย! จีนผุดนมอัดเม็ด “นมนำเหลือง” มองเผินๆ คิดว่า “นมอัดเม็ดสวนดุสิต” กูรูเมืองจีนเผยมหากาพย์ขี้ก๊อบอีกหลายชิ้น ด้วยกลยุทธ์ “ภาษาไทยงงๆ - ปลอมบาร์โค้ด - ไม่มี อย.” แถมขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ทั้งที่คนจีนก็อ่านไม่ออก บอกเลยว่านี่คือธุรกิจจีนหลอกจีน!
ปลอมบาร์โค้ด - มั่ว อย. กลยุทธ์จีนก็อบฯ!
แชร์สนั่นโลกออนไลน์ในตอนนี้ กับภาพของ “นมนำเหลือง” นมอัดเม็ดจีนแดง ที่ตั้งใจก็อบปี้ “นมอัดเม็ดจิตรลดา” โดยก๊อบหนักมาตั้งแต่แพ็กเก็จยันข้อมูลโภชนาการ จนโซเชียลฯ ถึงกับงงภาษาไทยมั่วๆ ที่ปรากฏอยู่บนซอง ว่าแท้จริงแล้ว เป็นสินค้าของประเทศใดกันแน่ จนต้องให้กูรูเมืองจีนมาไขข้อข้อใจ เพราะเหตุใดสินค้าไทยจึงถูกจีนก๊อบปี้ไปมากมายขนาดนี้!
เพื่อหาคำตอบของเรื่องที่เกิดขึ้น ว่าทำไม “นมอัดเม็ดสวนดุสิต” หรือที่คนไทยนิยมเรียกว่า “นมอัดเม็ดจิตรลดา” กลายมาเป็นสินค้ายอดฮิตในหมู่ชาวจีน จนถึงขั้นมีการทำเลียนแบบขึ้น ทีมข่าวผู้จัดการ Live ได้ติดต่อพูดคุยกับแอดมินเพจ “อ้ายจง” ซึ่งเป็นแฟนเพจที่รวมรวบทุกแง่มุมเกี่ยวกับประเทศจีนและตัวแอดมินเองก็ได้เดินทางไปศึกษาต่อในประเทศจีนมากว่า 6 ปี เขาพูดถึงกระแสนมอัดเม็ดฟีเวอร์ที่เกิดขึ้นอยู่ในครั้งนี้ว่า นมสวนดุสิตฮิตจริงๆ แต่ นมนำเหลือง แม้แต่แหล่งผลิตก็ยังหาไม่ได้ ซึ่งไม่เพียงแค่นมอัดเม็ดนี้เท่านั้น เขายังเปิดเผยข้อมูลสินค้าฉลากไทยในจีนอีกหลายตัว ที่ขายดีสุดๆ ทั้งที่คนจีนก็อ่านภาษาไทยไม่ออกด้วยซ้ำ!
“นมอัดเม็ดสวนดุสิต เรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่คนจีนมาไทยแล้วต้องซื้อกลับไป อารมณ์ประมาณนั้นเลยครับ อย่างในโลกออนไลน์จีน เวลาพูดถึงสินค้าไทย ก็ต้องมีนมอัดเม็ดสวนดุสิตตลอด เขาจะบอกไว้ประมาณว่า เป็นนมอัดเม็ดของของพระราชาไทยอะไรแบบนี้ครับ ทางผมเองก็ตรวจสอบวันนั้นเลยว่าในจีนมันมีขายจริงมั้ย ซึ่งก็มีขายจริงในร้านค้าออนไลน์ของจีนคือเถาเป่า เขาเขียนเลยว่าว่านำเข้าจากไทย แต่ก็งงว่า ทำไมภาษาไทยมันมั่วขนาดนั้น
ตอนนั้นยังไม่มีใครเห็นหลังซอง ผมก็ไปหามาดู ก็เห็นว่ามันมีภาษาไทยเขียนค่อนข้างถูกต้อง คือเขียนข้อมูลโภชนาการ มีเลขบาร์โค้ด และเลขบาร์โค้ดขึ้นก็ต้นด้วย 885 มันเป็นรหัสของประเทศไทย แล้วตามด้วยเลข 4 ตัวหลังคือรหัสของบริษัท แต่พอลองเอาไปเช็กดูในเว็บไซต์ของทางการจีน ว่ามีบาร์โค้ดของไทยตัวนี้ที่นำเข้ามามั้ย ก็หาไม่เจอ ไม่มีข้อมูลครับ อีกทั้งตัวบรรจุภัณฑ์ก็ไม่มี อย. คือปกติแล้ว ถ้านำเข้าจะเป็นสินค้าที่ผลิตในไทย มันก็ต้องมี อย. มันต้องมีเขียนว่า Product of Thailand แต่คือหลังซองเขาเขียนแค่ว่าจัดจำหน่าย ไม่ได้เขียนว่าบริษัทที่ผลิตในไทยคือที่ไหน ในร้านค้าออนไลน์ก็ระบุว่า นำเข้าจากไทย
ผมเลยสันนิษฐานว่า เขาอาจจะจ้างผลิตในไทย แต่ว่าไปบรรจุภัณฑ์ที่จีน มันก็เลยเขียนมั่วๆ หน่อย หรืออีกกรณีหนึ่งก็คือ เขาไม่ได้ทำในไทยเลย เขาอาจจะทำที่จีนแล้วปลอมบาร์โค้ดขึ้นมาด้วยมั้ย หรือว่าอาจจะไปทำที่ประเทศอื่น เพราะมีคนตั้งข้อสงสัยว่า อาจจะทำที่มาเลเซียหรือเปล่า เพราะหลังซองมีเครื่องหมายฮาลาลของมาเลเซีย ไม่ใช่ของไทยครับ เลยยังไม่ได้ฟันธงว่าเป็นสินค้าไทย หรือผลิตในจีนครับ”
ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้นมนำเหลืองกลายเป็นกระแสขึ้นมา นั่นก็เพราะ ทวิตเตอร์@PokPunnaphat ได้โพสต์ภาพนมอัดเม็ด 2 ยี่ห้อ ที่ถูกนำมาวางเปรียบเทียบกัน ฝั่งซ้ายคือนมอัดเม็ดสวนดุสิตของบ้านเรา ส่วนยี่ห้อทางขวาคาดเดาได้ว่าเป็นสินค้าของประเทศจีน แต่สิ่งที่ทำให้เป็นประเด็นพูดถึงอย่างมากนั้น ก็เพราะบนฉลากนมอัดเม็ดจากจีน มีโลโก้เป็นรูปเทพเจ้าซึ่งคล้ายพระโพธิสัตว์ อีกทั้งตัวหนังสือภาษาไทยกำกับอยู่บนซอง ไม่ว่าจะเป็นคำว่า “นมนำเหลือง (牛初乳)”, "คอลเลกชันของนมสด",“รสชาติที่สดใหม่และดี”, และ “เนื้อหาสุทธิ 25 กรัม” ซึ่งผู้โพสต์ลงภาพนี้ประกอบข้อความ “เมื่อจีนอยากมีนมอัดเม็ดเป็นของตัวเอง #กูจะไม่ยอมเห็นรูปนี้คนเดียว”
หลังจากที่ภาพดังกล่าวเผยแพร่ไปบนโลกออนไลน์ของไทย ก็กลายเป็นที่พูดถึงอย่างมาก หลายคนพากันตั้งข้อสังเกตว่า ที่ใช้ภาษาไทยแบบผิดๆ ถูกๆ อาจเป็นเพราะผู้ผลิตใช้โปรแกรมแปลภาษาจากเว็บไซต์กูเกิล ส่วนบางคนยังคอมเมนต์ติดตลกว่า เมื่อจีนผลิตได้เองก็เป็นเรื่องดี เพราะจะไม่ได้ต้องมาแย่งนมอัดเม็ดสวนดุสิตอันแสนอร่อย ที่แม้แต่คนไทยเองยังหาซื้อแทบไม่ได้
จีนหลอกจีน “นมน้ำเหลือง” กลายเป็น “นมนำเหลือง”
หลายคนอาจจะรู้สึกขบขันและมึนงงไปกับนมอัดเม็ดจีนแดงยี่ห้อ “นมนำเหลือง” เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางแอดมินเพจอ้ายจง ได้อธิบายไว้ว่า จริงๆ แล้ว ผู้ผลิตตั้งใจจะใช้ชื่อ นมน้ำเหลือง ซึ่งเป็นนมที่ได้รับความนิยมในจีนอยู่ในขณะนี้ไม่แพ้นมอัดเม็ดสวนดุสิต แต่ตกไม้โทไป จึงเหลือแค่ นมนำเหลือง ดังกล่าว
“ผมจะบอกว่ามันไม่ใช่แค่ภาษาไทยมั่วๆ นะ มันเป็นการสับขาหลอกคนจีนด้วย คือจริงๆ แล้ว เขาต้องการสื่อว่า นมน้ำเหลือง ซึ่งมันมีอยู่จริง มันคือ Colostrum (โคลอสตรัม) ถ้าผมจำไม่ผิด มันมีประเด็นดรามากันเมื่อเดือนที่แล้วอยู่เหมือนกันว่า โคลอสตรัมวัว กินแล้วสูง กินแล้วดี เป็นน้ำนมที่ผลิตใน 3 วันแรกหลังจากที่แม่ให้กำเนิดลูกมา เพราะว่ามีสารอาหารครบถ้วน แต่ว่าถ้าโคลอสตรัมของวัวนี่มันเหม็นมากและมีเกลือเยอะ มันไม่ได้มีประโยชน์ต่อคนที่กินไปขนาดนั้น”
แอดมินอ้ายจงยังเล่าต่อไปว่า นมน้ำเหลืองมีอยู่จริง อีกทั้งได้รับความนิยม เพราะคนส่วนใหญ่เชื่อว่านมน้ำเหลืองวัวมีประโยชน์มาก ซึ่งมีจำหน่ายทั้งในรูปแบบผงและแบบอัดเม็ด ที่นำเข้ามาจากนิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย รวมถึงผลิตในจีนเอง แต่ตัวที่กำลังเป็นที่พูดถึงอยู่ในตอนนี้ คาดเดาว่าผู้ผลิตน่าจะตั้งใจให้คนซื้อเข้าใจว่าเป็นนมน้ำเหลืองอัดเม็ด แต่หากได้พลิกดูหลังซอง นมนำเหลือง ก็จะเห็นว่า มันทำมาจากนมผงธรรมดา เป็นเพียงนมอัดเม็ดรสชาติหวานมันเท่านั้น ไม่ได้มีส่วนผสมของนมน้ำเหลืองเลย
“เขาอาจจะสับขาหลอกคนจีนด้วยกัน คือหลอกทั้งเป็นนมสวนดุสิต หลอกทั้งเป็นนมน้ำเหลืองด้วย คือหลอกทุกอย่างครับ แล้วประเด็นที่ใช้ภาษาไทย ที่เขาเคลมว่านำเข้าจากไทย ไม่ว่าสินค้าอะไรที่เขียนภาษาไทย คนจีนจะค่อนข้างสนใจ แล้วยิ่งตัวนี้ดูก็รู้ว่าเขาทำเลียนแบบนมสวนดุสิต คงได้แรงบันดาลใจล่ะมั้งครับ(หัวเราะ) เพราะว่านมสวนดุสิตขายดีมาก
อย่างประเด็นนมอัดเม็ด ก็ยังไม่ได้มีข้อสรุปว่าตกลงแล้ว ผลิตที่ไหนกันแน่ แต่ว่าที่สรุปได้เลยก็คือ เขาขายคนจีน เขาตั้งใจจะให้คนจีนคิดว่าเป็นนมน้ำเหลืองอัดเม็ด ซึ่งมันเป็นที่นิยมมากในจีน เลยใช้คำนี้เป็นยี่ห้อแต่ว่าเขียนผิด ตกไม้โท กลายเป็นนมนำเหลือง อีกอย่างคือส่วนผสมก็ไม่ใช่นมน้ำเหลือง เป็นแค่นมผงธรรมดา
นมอัดเม็ดที่ก๊อบปี้ขึ้นมานี้ราคาถูกมาก ขายในเถาเป่า 5 หยวน ประมาณ 25 บาท ซึ่งนมน้ำเหลืองส่วนใหญ่ที่ขายกันจะนำเข้ามา ก็มีราคาแพงอยู่นะครับ แม้จะผลิตในจีนเองก็ราคาสูงเช่นกัน ตอนนี้ผมกลับมาทำธุระที่ไทยยังไม่มีโอกาสได้ลองชิม คิดว่าถ้ากลับไปที่จีนน่าจะได้ลอง แต่ไม่รู้ผสมเมลามีนมั้ยนะ(หัวเราะ)”
ชอบแบรนด์ไทย จนต้องก๊อบ
ไม่เพียงแค่นมอัดเม็ดสวนดุสิตที่คนจีนให้ความนิยมเท่านั้น ก่อนหน้านี้สินค้าอื่นๆ ผลิตในจีน ภายใต้ฉลากภาษาไทยผิดๆ ถูกๆ ซึ่งก็มีให้เห็นอยู่บ่อยครั้งอยู่ตามชั้นสินค้าภายในซูปเปอร์มาเก็ต รวมไปถึงร้านค้าออนไลน์ต่างๆ ของจีนเป็นประจำ จากประสบการณ์ของแอดมินเพจอ้ายจงที่อาศัยอยู่ในประเทศจีนมากว่า 6 ปี ยืนยันว่า อะไรที่เป็นฉลากไทย ล้วนแล้วแต่เป็นที่นิยมของชาวจีนทั้งสิ้น แม้จะอ่านฉลากสินค้านั้นไม่ออกก็ตาม
“เจอมาเยอะมากครับ ที่เขียนมั่วๆ จะมีการสลับคำถูกๆ ผิดๆ ล่าสุดที่เจอคือเขาทำแพกเกจส้มจี๊ด แต่ไม่ได้ใช้ชื่อภาษาไทยตรงๆ ใช้เป็นโลโก้เป็นรูปวัดและมีพื้นหลังคล้ายๆ ธงชาติไทย แต่แถบสีเท่ากันทุกแถบ ถ้าคนจีนมองเผินๆ ก็อาจคิดว่าเป็นของไทยรึเปล่า ซึ่งจริงๆ แล้ว ส้มจี๊ดหรือส้มจีนก็มีในประเทศเขาอยู่แล้ว เหมือนเขาต้องการอัปเกรด เพิ่มมูลค่าให้สินค้าแบบนี้ ก็เลยทำให้คล้ายๆ นำเข้าจากไทย เพราะตอนนี้ไม่ว่าจะเป็นผลไม้ไทยหรือว่าของกินจากไทย ก็จะเป็นที่นิยมในหมู่ชาวจีนครับ ส่วนสินค้าที่ผมเคยลองเป็นน้ำมะพร้าว ซึ่งดูก็รู้ว่าเป็นของทำในจีน เพราะจะมีความเข้มข้นมากกว่าน้ำมะพร้าวของไทยมาก ของไทยมะเป็นน้ำใสๆ แต่ว่าของจีนมันจะคล้ายกับน้ำกะทิแต่ว่าเจือจางกว่า
ผู้ผลิตบางคนก็เหมือนเกาะกระแส คือเห็นสินค้าตัวนี้ดังก็ทำมั่ง ซึ่งการผลิตในประเทศ มันต้องถูกกว่านอกประเทศอยู่แล้ว ผมคิดว่ามันมีเรื่องของต้นทุนมาเกี่ยวด้วย แต่ฉลากที่เป็นภาษาไทยจะดึงดูดคนจีนได้มากกว่า คนจีนเขารู้ว่าอักษรไหนเป็นอักษรไทย แต่เขาไม่รู้ความหมายหรอกว่ามันคืออะไร ของลักษณะเดียวกัน ถ้าเป็นฉลากไทยมันสามารถเพิ่มมูลค่าได้มากกว่า เพราะอาจจะอ้างว่านำเข้ามาจากไทย ของนำเข้าก็ต้องมีราคามากกว่าของในประเทศอยู่แล้ว”
“ประเทศไทยเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันดับ 1 ที่คนจีนมาเที่ยว เขามองว่าสินค้าไทยมีคุณภาพ โดยเฉพาะพวกอาหารการกิน ผลไม้สด ผลไม้อบแห้ง ยาหม่อง ยานวด คนจีนเขาชอบมาก พวกเครื่องสำอาง พวกความสวยความงามก็ดัง ยี่ห้อไทยอย่างสเนลไวท์ก็ได้รับความนิยม สปาสบายอารมณ์ก็ดังในจีน เพราะว่าผู้ประกอบการไทยก็ไปเจาะตลาดที่จีนเยอะเหมือนกัน แต่ของพวกนี้ยังไม่เห็นแบบปลอมนะครับ”
เมื่อพูดถึงเรื่องการท่องเที่ยว ยังมีประเด็นเรื่องของ “ทัวร์ศูนย์เหรียญ” อีกปัญหาหนึ่งที่กระทบต่อการท่องเที่ยวของไทยอย่างมาก จนทางการไทยมีการปราบปรามอย่างจริงจัง ซึ่งไม่เพียงแค่ของปลอมที่คนจีนผลิตขึ้นเองเท่านั้น การท่องเที่ยวแบบทัวร์ศูนย์เหรียญก็ดูจะเป็นอีกกลวิธีที่ไม่ให้เม็ดเงินของชาวจีนรั่วไหลออกนอกประเทศเช่นกัน
“ทัวร์ศูนย์เหรียญมันส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและชื่อเสียงของประเทศไทยด้วยนะครับเอาจริงๆ เพราะเคยมีเพื่อนของเพื่อนผมที่เป็นคนจีน เขาไม่เคยมาไทยเลย อยากมาเที่ยวมาก เลยไปซื้อทัวร์มาเที่ยวเพราะเห็นว่าราคาถูก ปรากฏว่าเป็นทัวร์ศูนย์เหรียญ ก็เลยไม่ได้เที่ยวเต็มที่ ทัวร์พาไปซื้อแต่ของ ซึ่งเขาก็รู้สึกไม่ค่อยดี เขาเลยมองว่าเที่ยวเมืองไทยไม่สนุกเลย เลยพาทำให้เสียชื่อเสียงไปด้วย อย่างบางร้านค้าที่อาจจะผูกขาด บางครั้งก็เป็นสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ ก็เหมือนกับเรา เวลาเราไปเที่ยวเมืองจีนแล้วไปเจอทัวร์ชะโงก หรือว่าพาเราไม่ซื้อของอย่างเดียว ใครๆ ก็ไม่ชอบใช่มั้ยครับ เพื่อนเจอประสบการณ์ตรง เขาก็รู้ทีหลังว่าโดนหลอก แต่ก็เห็นว่าจะลองมาเที่ยวเอง เพราะว่ามาเที่ยวเองในไทยก็ง่าย และเป็นที่นิยม”
ไม่ว่าบทสรุปของนมอัดเม็ด “นมนำเหลือง” จะออกมาเป็นเช่นไร แต่เรื่องราวที่เกิดขึ้นนั้น ก็แสดงให้เห็นได้ว่า สินค้าจากประเทศไทยเป็นที่นิยมในหมู่ชาวจีนมากจริงๆ ซึ่งไม่เพียงแค่นมอัดเม็ด หรือสินค้าที่แอดมินอ้ายจงได้ยกตัวอย่าง ก่อนหน้านี้ก็เคยมีการนำภาพวัดร่องขุ่นไปเป็นภาพประกอบผลิตภัณฑ์ช็อกโกแลตจากจีน หรือการสร้างวัดที่ดูคล้ายวัดร่องขุ่น ไว้ในมณฑลยูนนานของจีน รวมถึงสินค้าอื่นๆ ที่ถูกนำไปเป็นแรงบันดาลใจของสินค้าจีนยู่หลายต่อหลายครั้ง ยิ่งเป็นการตอกย้ำประโยคที่ว่า “ไม่มีอะไรที่คนจีนทำไม่ได้” ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น...
ขอบคุณภาพประกอบ : เฟซบุ๊กแฟนเพจ “อ้ายจง”
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน