จากประชาชาติธุรกิจ
ขณะที่ประเทศไทยและทั่วโลกกำลังสนับสนุนและส่งเสริม "ดิจิทัลอีโคโนมี" ธุรกิจต่าง ๆ ปรับทิศเข้าสู่โลกออนไลน์ โดยที่ต้องพึ่งพาแพลตฟอร์มธุรกิจของยักษ์ข้ามชาติทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นกูเกิล เฟซบุ๊ก ยูทูบ อาลีบาบา เพื่อเป็นช่องทางในการเจาะเข้าถึงผู้บริโภคทั่วโลก
เช่นกรณีธุรกิจโรงแรมทั่วโลก รวมทั้งไทยที่ต้องพึ่งพาออนไลน์แทรเวล เอเยนซี่ (OTA) เว็บไซต์จองที่พัก booking.com, agoda, expedia เป็นต้น เพื่อหวังจะเปิดประตูให้นักท่องเที่ยวทั่วโลก
ทำให้แพลตฟอร์มเหล่านี้กลายเป็นยักษ์ทรงพลังที่เข้ามาครอบงำ กุมอำนาจ มีอิทธิพลกับภาคธุรกิจ เพราะถ้าต้องการเข้าถึงลูกค้าหรือผู้บริโภคทั่วโลกก็ต้องจ่ายค่าคอมมิสชั่นจากการใช้แพลตฟอร์มเหล่านี้อย่างน้อย 10-30% แม้ว่า OTA จะช่วยเปิดตลาดได้มาก แต่ผู้ประกอบการโรงแรมนอกจากมีรายจ่ายจากคอมมิสชั่นที่เพิ่มขึ้นแล้ว
ขณะเดียวกัน ยังสร้างปัญหากับผู้ประกอบการด้วย เพราะ OTA มักใช้กลยุทธ์ตัดราคาที่มาแข่งกับเจ้าของโรงแรมเอง จนทำให้เสียราคาและเสียตลาดทำให้เว็บไซต์จองที่พักเหล่านี้เป็นเหมือนหอกข้างแคร่ของผู้ประกอบการโรงแรม
ดังนั้น ไม่แปลกที่ขณะนี้เริ่มเห็นความเคลื่อนไหวของกลุ่มเชนโรงแรมดังระดับโลกอย่างแมริออท, ฮิลตัน เวิลด์ไวด์ และอินเตอร์คอนติเนนตัล โฮเทลส์ กรุ๊ป ที่หันมาอัดแคมเปญการตลาดเพื่อดึงดูดนักเดินทางให้จองตั๋วที่พักผ่านเว็บไซต์ของโรงแรมโดยตรงมากขึ้น ด้วยการเสนอราคาห้องพักในราคาถูกลงพร้อมมอบสิทธิพิเศษต่าง ๆ ให้กับสมาชิกโรงแรม หลังจากที่ผ่านมาผู้บริโภคหันไปเลือกจองที่พักผ่าน OTA ทำให้การทำตลาดของผู้ประกอบการไม่เป็นไปตามเป้าหมาย หรือแม้จะมียอดจองท่วมท้นแต่กำไรก็อาจไม่ดีงาม
สอดคล้องกับที่ "ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" ซีอีโอแห่งบริษัท ควอลิตี้เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ขึ้นเวทีสัมมนาของหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ในหัวข้อ "เปลี่ยน...ให้ทันโลก" ระบุว่า รูปแบบธุรกิจปัจจุบันเปลี่ยนไปมาก จากบทบาทของดิจิทัลอีโคโนมีสร้างโอกาสใหม่ ๆ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องระวังเพราะเปิดช่องให้มือที่มองไม่เห็นเข้ามาล้วงเงิน และทำให้เงินไหลออกจากประเทศมากขึ้น
"ควอลิตี้เฮ้าส์ก็มีธุรกิจโรงแรม และใช้บริการของออนไลน์แทรเวล เอเยนซี่เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นบุ๊กกิ้งดอตคอม, เอ็กซ์พีเดีย ซึ่งพวกนี้โรงแรมต้องจ่ายค่าคอมมิสชั่นประมาณ 20% และทั้งหมดนี้ไม่มีใครอยู่ประเทศไทย แต่กลายเป็นบริษัทที่เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา ที่ได้รับประโยชน์จากท่องเที่ยวไทยโดยตรง"
เช่นเดียวกับเฟซบุ๊ก กูเกิล จากที่ธุรกิจทั้งหลายหันมาให้ความสำคัญกับโฆษณาออนไลน์ผ่านโซเชียลมีเดียยอดนิยมต่าง ๆ เพื่อเจาะเข้าถึงผู้บริโภคโดยตรง แต่การจ่ายเงินค่าโฆษณาออนไลน์ต่าง ๆ ให้บริษัทเหล่านี้เป็นการจ่ายตรงออกไปต่างประเทศทั้งหมด อย่างกูเกิลก็จ่ายไปที่สิงคโปร์ เฟซบุ๊กไปที่ไอร์แลนด์ หมายความว่าเฟซบุ๊กแทบจะไม่ได้จ่ายอะไรให้กับประเทศไทยเลย ทั้งที่เข้ามาทำธุรกิจสร้างรายได้มากมายจากประเทศไทย
โดยปี 2016 ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กมีรายได้รวมถึง 27,638 ล้านเหรียญสหรัฐ (940,975 ล้านบาท) และมีกำไรสุทธิ 10,217 ล้านเหรียญสหรัฐ (357,595 ล้านบาท) คิดเป็นอัตรากำไรสูงถึง 38% เพราะต้นทุนของเฟซบุ๊กต่ำมาก บริษัทยักษ์ใหญ่ขนาดนี้มีการจ้างพนักงานทั่วโลกแค่ 17,048 คน
เป็นเสมือนมือที่มองไม่เห็นเข้ามาล้วงเงินจากทุก ๆ ประเทศ เป็นโจทย์ท้าทายของทุกประเทศทั่วโลกที่ยังไม่มีคำตอบ เรียกว่าทุก ๆ วันที่ "ธุรกิจไทย" ดำเนินอยู่ต้องจ่ายหัวคิวให้กับบริษัทเหล่านี้ 10-30%นั่นก็ถือเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจของประเทศที่ไม่อาจมองข้ามเช่นกัน
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน