จากประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ ชั้น 5ประชาชาติ โดย สาโรจน์ มณีรัตน์
การเปลี่ยนแปลงของโลกเทคโนโลยีในวันนี้ไม่เพียงสร้างแรงกระเพื่อมให้กับธุรกิจต่าง ๆ จนต้องเกิดการปรับตัว และพร้อมจะก้าวไปข้างหน้า เพื่อไม่ให้ย่ำอยู่กับที่ เพราะไม่เช่นนั้นจะตกขอบแห่งยุคสมัยโดยเฉพาะเรื่องการศึกษา
เพราะการศึกษาถือเป็นปฐมเหตุแรกๆในการสร้างคนเพื่อเข้าสู่ตลาดงาน เนื่องจากตอนนี้ภาคธุรกิจหลายแห่งเริ่มปรับตัว ด้วยการออกแบบดีไซน์องค์กรกันใหม่ บางแห่งอาจมีการปรับโครงสร้างองค์กร
ขณะที่อีกหลายแห่งเริ่มทบทวนธุรกิจหลักที่เคยเป็นแม่เหล็กชั้นดีในการเป็นหัวหอกทำเงินแต่พอเทคโนโลยีดิจิทัลเริ่มเข้ามาธุรกิจหลักกลับไม่ทำกำไรเหมือนเช่นเคย ผู้บริหารจึงต้องมานั่งทบทวนว่าแล้วควรจะนำธุรกิจไหนเป็นธุรกิจหลักดี
บางองค์กรเริ่มปรับตัวให้เห็นบ้างแล้ว...แต่บางองค์กรยังมองไม่เห็นหนทางที่จะเดินไปข้างหน้า
เช่นเดียวกับมหา′ลัยของรัฐและเอกชนหลายแห่งที่เมื่อก่อนเปิดหลักสูตร สาขาเพื่อป้อนบุคลากรให้กับตลาดแรงงาน แต่เมื่อโลกของเทคโนโลยีเริ่มเข้ามา ตำแหน่งดังกล่าวกลับไม่เป็นที่ต้องการของตลาดผลิตคนออกมาก็ไม่มีงานทำ
ผู้บริหารของมหา′ลัยจึงต้องยุบหลักสูตรและสาขานั้นๆ ลง ทางหนึ่งอาจเพราะไม่มีผู้เรียน
ขณะที่อีกทางหนึ่ง นิสิต-นักศึกษาเขารู้ดีว่า ถ้าเรียนสาขานั้น ๆ ต้องไม่มีงานทำแน่ เขาจึงหันไปเรียนในสาขาที่ตลาดมีความต้องการโดยเฉพาะสาขาการตลาดดิจิทัล ตอนนี้มีเพียงไม่กี่มหา′ลัยที่ผลิตบัณฑิตสาขานี้ออกมาและเมื่อผลิตออกมาพวกเขาย่อมมีงานทำแน่นอน ที่สำคัญเงินเดือนจะสูงกว่าตำแหน่งพนักงานการตลาดธรรมดา เพราะพนักงานการตลาดทั่วไป เงินเดือนสตาร์ตอยู่ที่ 16,000 บาท ไม่รวมสวัสดิการอื่น ๆ
แต่สำหรับพนักงานการตลาดดิจิทัล เงินเดือนสตาร์ตจะอยู่ที่ 19,305 บาท ไม่รวมสวัสดิการอื่น ๆ เช่นกันแต่ถ้าเป็นระดับหัวหน้างาน เงินเดือนสตาร์ตจะอยู่ที่ 48,333 บาท ขณะที่ตำแหน่งหัวหน้างานดั้งเดิมจะอยู่ที่ 30,000 บาท ไม่นับรวมสวัสดิการอื่น ๆ..แตกต่างกันพอสมควร
มูลเหตุเหล่านี้จึงเป็นจุดเปลี่ยนทั้งจากผู้เรียน และผู้คนในวัยทำงาน เพราะเขามองเห็นแล้วว่าโลกกำลังเทไปทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ดังนั้นอะไรที่จะเข้ามาทดแทนพนักงานที่ไม่จำเป็นต้องใช้ทักษะอะไรมากมาย จะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ต่อไปในอนาคต
เรื่องดังกล่าวนี้เอง จึงทำให้ต้องเกี่ยวข้องกับฝ่าย HR หรือฝ่ายทรัพยากรมนุษย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะบทบาทของ HR ในโลกอนาคต คงไม่ได้ทำหน้าที่แค่เป็นคู่คิดกับซีอีโอแต่เพียงอย่างเดียวแล้ว หากจะต้องออกแบบดีไซน์เส้นทาง
การเติบโตในวิชาชีพกันใหม่ เพราะโลกของคนรุ่นใหม่ เขาไม่อดทนรออีกต่อไปแล้ว
เขาอยากรู้ว่าอีก 2-3 ปี เขาจะอยู่ตำแหน่งไหน ? เงินเดือนเท่าไหร่ ? ไปทำงานต่างประเทศที่บริษัทมีสาขาอยู่ได้หรือไม่ ? ที่สำคัญ เขาอยากรู้ว่าถ้าอยู่ต่อไป เส้นทางการเติบโตในอาชีพจะไปสุดปลายทางที่ตรงไหน ? ใช้ระยะเวลากี่ปี ?
ถ้าองค์กรนั้น ๆ ตอบสนองพวกเขาได้ เขาจะอยู่ต่อ แต่ถ้าไม่สามารถตอบสนองได้ในทันที พวกเขาจะลาออกไปอยู่องค์กรอื่น ๆ ที่ตอบสนองเขาได้ดีกว่า หรือไม่ก็นำประสบการณ์จากการทำงานในองค์กรนั้น ๆ ไปประกอบธุรกิจของตัวเอง สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นให้เห็นบ้างแล้วและสิ่งเหล่านี้กำลังทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ
ผมถึงบอกว่า บทบาทของ HR ในโลกแห่งอนาคตน่าสนใจทีเดียว และตอนนี้คนที่ทำงานอยู่ในฝ่าย HR ถือเป็นมนุษย์ทองคำที่มีค่าตัวสูงมาก โดยเฉพาะ HR Director เก่ง ๆ ที่มีความสามารถครบเครื่องเพราะพวกเขาจะเป็นผู้ออกแบบดีไซน์องค์กรเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกดิจิทัล เขาต้องรู้ก่อนว่า คนไหนเป็นคนที่ "ใช่" สำหรับองค์กรในอนาคต และคนไหนถึงพร้อมที่จะขึ้นมาเป็นผู้นำ
ธุรกิจต่อไปในภายภาคหน้าไม่ใช่แค่รับสมัคร พัฒนา รักษาและสร้างการเติบโตในสายอาชีพอีกต่อไปแล้ว แต่จะต้องทำหน้าที่เป็นผู้วางแผนการเติบโตของธุรกิจ องค์กร และคน ไปพร้อม ๆ กับผู้บริหารระดับสูง
องค์กรในต่างประเทศให้ความสำคัญกับ HR อย่างมาก เพราะเขารู้ดีว่าการที่องค์กรจะประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะในช่วงของการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในโลกแห่งอนาคตจะต้องมีการวางแผนกำลังคนให้ดีเพราะ"คน"นี่แหละ ที่จะทำให้องค์กรอยู่รอดปลอดภัยอย่างยั่งยืน
เชื่อผมสิครับ
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน