จากประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ สามัญสำนึก โดย พัฒนพันธุ์ วงษ์พันธุ์
ปี 2560 ผ่านมาแล้วเกือบครึ่งปี แต่ภาพรวม ๆ ค้าขายยังคงอึน ๆ มึน ๆ ไม่ได้แตกต่างจากช่วงต้นปีเท่าไหร่นัก
ธุรกิจห้างร้านทั้งหลายต่างจำเป็นต้องออกแรงมากเป็นพิเศษ บางเสียงสำทับด้วยว่าค้าขายปีนี้ยากกว่าที่ผ่านมาโดยเฉพาะช่วงเวลาต้องเก็บค่าซื้อสินค้า-บริการที่ปล่อยเครดิตเทอมเอาไว้ไม่ค่อยคล่องตัว หรือจ่ายเงินตรงเวลาเหมือนเมื่อก่อน
ถามไถ่คนค้าขายซึ่งมีตลาดอยู่ทั่วประเทศ ยังเป็นคำตอบเดิม ๆ "ชาวบ้านไม่ค่อยมีสตางค์" เนื่องจากราคาผลผลิตการเกษตรที่ไม่ยอมโงหัวมาหลายปีติดต่อกัน
ราคาข้าวแม้จะมีแนวโน้มดีขึ้นแต่ก็ยังทรง ๆ ส่วนยางพาราไม่ต้องพูดถึง ราคายังคงรูดตัวลงอย่างหนัก ที่พอจะดูดีขึ้นมาก็คือ ราคาผลไม้ที่ตลาดส่งออกไปได้ดีมาก มีเท่าไหร่ก็ไม่พอขาย แต่ก็ยังจำกัดตัวอยู่ในบางพื้นที่ บางจังหวัด
ส่วนมนุษย์เงินเดือน แม้จะยังมีรายได้ประจำเข้ามาทุกเดือน แต่ส่วนใหญ่การใช้จ่ายยังไม่เหมือนเมื่อก่อน เนื่องจากอุตสาหกรรมหลัก ๆ ที่เคยเป็น star ของประเทศยอดขายยังไม่ขยับ พนักงานถูกลดโอทีและโบนัส ทำให้การใช้จ่ายไม่ไหลลื่น พอได้โบนัสจะซื้อของชิ้นใหญ่ ๆ เหมือนที่เคยเป็น
แต่ที่ตอบตรงกันคือ ในกลุ่มตลาดที่มีกำลังซื้อ ถ้าหากเป็นสินค้า-บริการที่อยู่ในเทรนด์ นอกจากยอดขายไม่ตกลงแล้ว ยังดีขึ้นด้วยซ้ำ รวม ๆ แล้วบรรยากาศไม่ได้ต่างจากปีก่อน
ถามอีกว่า เศรษฐกิจไม่ดีแล้วทำไมทั้งบิ๊กซี เทสโก้ โลตัส เซเว่นอีเลฟเว่น ซึ่งค้าขายสินค้าจำเป็นต้องกินต้องใช้ ถึงยังลงทุนกันอยู่ คำตอบที่ได้รับก็คือ ทั้งหลายทั้งปวงเป็นการลงทุนเพื่ออนาคตทั้งสิ้น เพราะการขยายสาขาเดี๋ยวนี้มีขั้นตอนใบอนุญาตเยอะ อาจต้องใช้เวลาถึง 2 ปี ถ้าไม่ทำไว้ก่อนเศรษฐกิจเกิดขยับขึ้นมาจะเสียท่าคู่แข่งได้ง่าย ๆ
อย่างไรก็ตาม การขยายสาขาของยักษ์ค้าปลีกกลุ่มนี้จะเน้นตามหัวเมืองรอบนอกในระดับอำเภอ ซึ่งตลาดยังไม่มีคู่แข่งขันเข้าไปจับจอง
มองตามเนื้อผ้า รัฐบาลพยายามสุดกำลังในการยื้อเศรษฐกิจซึ่งก็ออกดอกผลได้ระดับหนึ่ง เห็นได้จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เคยร่วงต่ำสุดเมื่อ 3 ปีก่อน เหลือแค่ 0.8% ค่อย ๆ ขยับขึ้นเป็น 2.9% และ 3.2% ในปีที่ผ่านมา และล่าสุดไตรมาสแรกอยู่ที่ 3.3%
ส่วนสถานการณ์ส่งออก ตัวเลขสด ๆ ร้อน ๆ ที่กระทรวงพาณิชย์เพิ่งแถลงตัวเลข 5 เดือนแรกของปี 2560 ออกมา ปรากฏว่าเพิ่มขึ้น 7.21% สูงสุดในรอบ 6 เดือน
อย่างที่รู้ ๆ กัน พอเป็นรัฐบาลที่ไม่ได้มาตามช่องที่สมควรจะเป็น อะไรหลาย ๆ อย่างก็เลยยุ่งยากขึ้นที่ คิดว่าไม่ควรเป็นปัญหา แต่ก็เป็นปัญหาขึ้นมา
ถามเรื่องนี้กับบรรดาแบงเกอร์ได้ความว่า ระยะสั้นจุดน่าเป็นห่วงของประเทศไทยยังเป็นเรื่อง "หนี้เสีย" ที่ต้องบริหารจัดการให้ดี โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย-กลุ่มเอสเอ็มอีที่ต้องคอยสอดส่องดูแลเพราะเป็นกลุ่มที่เปราะบางที่สุด
ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้วคือโจทย์เดิม ๆ ที่พูดถึงกันมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นคนค้าขายหรือแบงเกอร์ พูดตรงกัน...โจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญ คือ ต้องประคับประคอง "มู้ดการจับจ่าย" ให้ได้ไปเรื่อย ๆ โดยเฉพาะกลุ่มรากหญ้าที่มีความ "เซ็นซิทีฟ" และนับวันจะเกิดช่องว่างมากขึ้น เพราะถ้าปล่อยไหลเมื่อไหร่จะดึงขึ้นมาแต่ละครั้งต้องใช้เวลานานมาก
แต่พอให้มองถึงอนาคตข้างหน้าไกล ๆ กลับมีเสียงหัวเราะหึ ๆ พร้อมคำตอบแผ่ว ๆ ที่ว่า...ต้องรอดูการเมืองหลังเลือกตั้งอีกที
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน