จากประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ มองข้ามชอต โดย ปิยะ ตันติเวชยานนท์
ปี 2559 มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาประเทศไทยกว่า 32 ล้านคน โดยนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ที่สุดคือเพื่อนบ้านอาเซียนที่นิยมมาเที่ยวในวัน หยุดเสาร์-อาทิตย์ และนักท่องเที่ยวจีน ที่ยูเนี่ยน เพย์ ได้ระบุว่า มากถึงเกือบ 9 ล้านคน มียอดใช้จ่ายกว่า 4 หมื่นล้านบาท ซึ่ง “ซุปเปอร์ริชสีส้ม” รับแลกเปลี่ยนเงินหยวนไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านหยวนต่อวัน ทำให้เงินหยวนเป็น 1 ใน 6 สกุลหลักที่มีการซื้อขายมากที่สุด
นอกเหนือจากยูเอสดอลลาร์ ที่ซื้อขายเฉลี่ยวันละ 1 ล้านดอลลาร์, เงินยูโร 5 แสนยูโร, เงินปอนด์ 1 แสนปอนด์, เงินเยน 50 ล้านเยน และดอลลาร์ออสเตรเลีย โดยยูเอสดอลลาร์เป็นเงินสกุลหลักที่นักท่องเที่ยวนิยมซื้อขายสูงสุด
พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ จะเน้นความสะดวกและรวดเร็ว ตั้งแต่การจองที่พัก ตั๋วเครื่องบิน บริการนำเที่ยวต่าง ๆ ซึ่งใช้ “เงินสดน้อยลง” แต่จะชำระผ่านบัตรเครดิต หรือแอปในสมาร์ทโฟน ส่วนนักท่องเที่ยวจีนชอบแลกเงินใส่บัตรเดบิตวีซ่า หรือมาสเตอร์การ์ด โดยจะถือเงินสดเท่าที่จำเป็น เพื่อชำระรายจ่ายเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างค่าอาหารหรือค่ารถ
นโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” และการผลักดันสู่ “สังคมไร้เงินสด” เป็นสิ่งที่ถูกต้อง หากมองตามกระแสที่กล่าวมา แต่ประเทศไทยยังแค่เริ่มต้น แม้ชาวต่างชาติจะใช้เงินดิจิตอล แต่ก็ยังต้องแลกถือเงินสด เพราะ “บาท” ไม่ใช่เงินสกุลหลัก
ในช่วงรอยต่อของสังคมไร้เงินสด เมื่อพิจารณาจากพฤติกรรมของผู้บริโภค “สาขา” ยังเป็นช่องทางการตลาดที่สำคัญในช่วง 2-5 ปีนี้ เพราะสาขาตั้งอยู่
ในทำเลสำคัญ ๆ สะดวก หาง่ายสำหรับลูกค้าทั้งไทยและต่างประเทศ ช่วยลดผลกระทบจากการพกและใช้เงินสดลดลงได้ จึงอยากเห็นธนาคารจับมือกับผู้ให้บริการแลกเงิน เพื่อช่วยกันเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการแก่ลูกค้า
ลองคิดดูว่า หากเงินสดที่เขาถือเข้ามา สามารถเปลี่ยนเป็นเงินบาทในราคาที่ดีกว่า การใช้จ่ายก็จะเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว อัตราแลกเปลี่ยนก็จะดีขึ้น และในภาพรวมจะส่งผลให้การค้าตามแนวชายแดนคึกคักขึ้น ที่สุดแล้วธนาคารมีแต่ได้ เพราะสินค้าคงเหลือของเรา 50-60% ก็ส่งขายให้กับธนาคารพาณิชย์อยู่ดี
พูดถึงสังคม “ไร้เงินสด” เกาหลีใต้คือโมเดลที่โดดเด่น เพราะก้าวเข้าสู่โลกไร้เงินสดไปค่อนตัวแล้ว ประชาชนมีชีวิตออนไลน์เต็มรูปแบบ มีบัตรเครดิตถึง 1.9 บัตรต่อคน “สูงที่สุด” ในโลกการซื้อของและการชำระเงินในเกาหลีใต้ล้วนทำทางออนไลน์หรือใช้สมาร์ทโฟนทั้งนั้น จนความนิยมเงินกระดาษหดเหลือแค่ 20% อีกทั้งธนาคารกลางเกาหลีใต้ได้ประกาศลดจำนวนเงินเหรียญ และจะเลิกใช้ทั้งหมดในปี 2563 ส่วนเศษเงินที่ตกค้างอยู่ให้นำไปใส่ในบัตรเติมเงิน e-Money สำหรับซื้อสินค้าและค่ารถได้
ในญี่ปุ่น “Bitcoin” เป็นสกุลเงินที่แลกเปลี่ยนและชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ความนิยมในหมู่คนญี่ปุ่นสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ
อย่างในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2560 กลายเป็นปัจจัยหลักที่ดัน “ค่าเงินดิจิตอล” นี้ได้พุ่งไปถึง 1,400 ดอลลาร์สหรัฐ โดยนักวิเคราะห์ประเมินมูลค่าตลาดรวม หรือมาร์เก็ตแคป อยู่ที่ราว 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือพอ ๆ กับบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ของโลก แต่ไม่ว่าเงินจะมีหน้าตาอย่างไร ความหวาดระแวงเรื่องการ เก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยน และ การฟอกเงิน ก็ยังแฝงตัวอยู่ จนทำให้ทางการญี่ปุ่นขอให้เพิ่มค่าธรรมเนียมการซื้อขาย Bitcoin เพื่อลดความร้อนแรงลงในประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวียน
ซึ่งเป็นผู้นำของโลกไร้เงินสด กว่าครึ่งของธนาคาร 1,600 สาขาในสวีเดน ไม่รับฝากถอนเงิน ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุดในนอร์เวย์ ได้เรียกร้องให้ประเทศก้าวเข้าสู่โลกไร้เงินสด ตัวอย่างของพัฒนาการในประเทศข้างต้นน่าจะให้ภาพที่ชัดเจนว่า ธุรกิจแลกเงินแบบเดิม ๆ ในวันนี้จะโดนกระทบจากสังคมไร้เงินสดมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในบ้านเราก็เริ่มคึกคัก เมื่อยูเนี่ยน เพย์ วีซ่า และมาสเตอร์การ์ด ได้ร่วมกันออก QR Code มาตรฐาน ที่เป็นนวัตกรรมของสถาบันการชำระเงินที่สำคัญในบ้านเรา ช่วยให้ผู้บริโภคและร้านค้าต่าง ๆ สามารถชำระเงินได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย ด้วยการสแกน QR Code ผ่านสมาร์ทโฟน โดย
ผลสำรวจของมาสเตอร์การ์ดพบว่า 50% ของผู้บริโภคที่มีอายุน้อยทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะหันมาใช้ QR Code และมั่นใจว่าแนวโน้มนี้จะเกิดขึ้นในประเทศไทยเช่นกัน
ความสามารถในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการชำระเงินจากเงินสดเป็นทางอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล มีธุรกรรมน้อย จะช่วยลดต้นทุนการบริหารจัดการเงินสดของประเทศอีกทาง ส่วนเราก็กำลังปรับปรุงในเรื่องของซอฟต์แวร์ เพราะเมื่อเทรนด์เปลี่ยน เราจะได้สามารถปรับตัวได้ทันกับยุคดิจิตอล และจะขอใบอนุญาตประกอบ ธุรกิจ e-Money ที่คาดว่าน่าจะเสร็จในปีหน้า เราจะมีฐานข้อมูลและสถิติลูกค้าที่ครอบคลุม ช่วยให้เข้าใจและคาดเดาพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวได้แม่นยำขึ้น
ความท้าทายของผู้รับแลกเงิน คือ นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นทุกปี แต่การใช้เงินสดกลับลดลงประมาณ 20% มีเงินต่างประเทศเข้าบริษัทน้อย เพราะมีช่องทางและทางเลือกมากขึ้น ประสบการณ์บอกเราว่า อีกไม่นานผู้บริโภคไทยที่สามารถปรับตัวได้เร็ว ก็จะคุ้นชินกับการแลกและชำระเงิน เพียงแค่ “กดแล้วยื่น” มือถือ ที่ง่าย สะดวก รวดเร็ว แถมปลอดภัย
เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยน พฤติกรรมผู้บริโภคย่อมเปลี่ยนแปลงไปด้วย ซึ่งในแวดวงการแลกเงินแล้ว แบรนด์แลกเงินสีส้มพร้อมเข้าสู่โลกดิจิทัลของการแลกเงินด้วย
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน