จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
“บุญรอด..อยู่ไหน?” เสียงครวญจากคนรักสัตว์ยังหวั่นจะ “รอด” หรือ “ตาย” หลังถูกไถ่ชีวิตนำฝากเลี้ยงที่ปศุสัตว์ อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ แต่ถูกขายต่ออย่างมีเงื่อนงำ! ล่าสุดเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ถูกสั่งเด้ง แถมผู้นำบุญรอดไปขายถูกดำเนินคดี “กลุ่มคนรักสัตว์” เร่งจี้ “ปศุสัตว์” เปิดเผยตัวเลขบัญชีโครงการฯ จวกซ้ำมั่นใจควายบุญรอด “ไม่ใช่ตัวแรกและตัวสุดท้าย!!” “ผมช่วยกระบือให้อยู่รอด ไม่ใช่ช่วยให้ถูกฆ่า!!” ดรามาสะเทือนใจคนรักสัตว์..ยังไม่จบลงง่ายๆ! สำหรับกรณี “เจ้าบุญรอด” โคกระบือเพศเมียที่มีผู้ร่วมใจบุญไถ่ชีวิตจากโรงฆ่าสัตว์ ก่อนจะนำไปฝากเลี้ยงที่กรมปศุสัตว์ อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ ในโครงการธนาคารโค-กระบือเพื่อเกษตรกร แต่กลับไม่พบกระบือที่ฝากดูแลไว้ อีกทั้งยังพบพิรุธหลายอย่างจากเจ้าหน้าที่ เจ้าของกระบือเชื่อ “เรื่องนี้ต้องมีเงื่อนงำ!” หลังจากได้มีการพบความผิดปกติในเรื่องดังกล่าว “รพีภัค ธราธรพิทักษ์” ผู้ไถ่ชีวิตบุญรอดจึงได้มีการส่งหนังสือให้ตรวจสอบเบื้องลึกในเรื่องนี้ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ และยังแสดงเจตนาอีกด้วยว่า การที่ตนไถ่ชีวิตโค-กระบือ ก็เพื่อให้สัตว์เหล่านี้รอดชีวิต ไม่ใช่ส่งไปตาย! โดยมีใจความสำคัญระบุว่า
|
“ด้วยกระผม นายรพีภัค ธราธรพิทักษ์ ได้ไถ่ชีวิตโคกระบือเพศเมียชื่อเจ้าบุญรอด นำไปฝากเลี้ยงที่ปศุสัตว์อำเภอเขาค้อ เมื่อปี 2559 โดยตกลงกับปศุสัตว์อำเภอว่าจะรีบหาคนที่มีจิตอาสามารับเจ้าบุญรอดไปเลี้ยงโดยเร็ว และหากปศุสัตว์หาคนมารับไปเลี้ยงได้ก็ยินดี แต่กระผมต้องเข้าร่วมพิจารณาด้วยว่าเหมาะสมหรือไม่ และกระผมจะเป็นผู้ส่งมอบ ต่อมาได้แวะเวียนไปเยี่ยมเจ้าบุญรอดเป็นประจำ แต่หลังๆ ไม่เจอ เลยสอบถามทางปศุสัตว์บอกว่านำไปฝากเลี้ยงไว้หลังรีสอร์ท กระผมไปดูก็ไม่พบแต่ก็มิได้สงสัยอะไร จนกระทั่งเมื่อวันที่ 18 กรกฏาคม 2560 ได้ไปสอบถามที่ปศุสัตว์ อ.เขาค้อได้ความว่า ปศุสัตว์ให้เจ้าบุญรอดกับ “นายวรพล แก้วแดง” ไปเลี้ยง แต่จากการสอบถามนายวรพลฯ มิได้ทำอาชีพเกษตรกรแต่อย่างใด เป็นพ่อค้าขายของอยู่หน้าร้านหน้าสำนักงานปศุสัตว์ และได้นำเจ้าบุญรอดไปเลี้ยงที่ ต.ทุ่งสมอ กระผมจึงขอคืนเพื่อหาผู้เลี้ยงรายใหม่ที่มีจิตอาสาและมีที่เลี้ยงดูเจ้าบุญรอด แต่ปศุสัตว์กลับบอกว่า ต้องประมูลแข่งกับโรงฆ่าสัตว์ และให้เหตุผลว่าเจ้าบุญรอดไม่สามารถให้ลูกได้ ต่อมาสืบทราบว่า เจ้าบุญรอดถูกนำไปขายให้กับพ่อค้าโคกระบือ แต่ไม่ทราบว่าตอนนี้ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ และการกระทำของปศุสัตว์ อ.เขาค้อ พบว่ามีความผิดปกติหลายอย่าง จึงประสงค์ให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะกระผมได้ไถ่ชีวิตกระบือมา เพื่อให้เขามีชีวิตอยู่รอด มิใช่ให้นำไปขายหรือฆ่า โดยเชื่อว่ามีการทุจริตและเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฏหมาย”
|
โซเชียลฯ เอาใจช่วย “บุญรอด” ต้องไม่ตายฟรี! เมื่อเรื่องราวของเจ้าบุญรอดถูกเผยแพร่สู่โลกออนไลน์ สร้างความร้อนใจไปถึงกลุ่มคนรักสัตว์ รวมถึงผู้ที่ร่วมไถ่ชีวิตช่วยเหลือโคบุญรอด แต่กลับ“ไม่รอด” เหมือนชื่อ! จึงได้มีการนัดรวมตัวกันที่หน้ากรมปศุสัตว์ เพื่อขอคำชี้แจงจากผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งขอตรวจสอบสัตว์ที่เข้าโครงการธนาคารโคกระบือในพื้นที่ใน อ.เขาค้อ ว่ายังมีชีวิตอยู่ทุกตัวหรือไม่! นอกจากนี้ ทางประธานมูลนิธิอนุรักษ์โคกระบือไทยและให้ชีวิตใหม่แก่สัตว์ถูกทอดทิ้ง “ณัฐธยาน์ พลหาญ” ก็ได้มีการตั้งเงินรางวัลจำนวน 1 แสนบาท แก่ผู้ที่แจ้งเบาะแสหรือนำเจ้าบุญรอดกลับคืนมาอีกด้วย! เช่นกันกับกระแสในโลกออนไลน์เองก็ร้อนระอุไม่แพ้กัน ทั้งแฟนเพจกลุ่มคนรักสัตว์ หรือผู้ที่ได้ร่วมบริจาคเงินเข้าช่วยเหลือชีวิตโคกระบือ ได้แสดงความคิดเห็นกันอย่างหนักถึงเรื่องดังกล่าว บ้างก็ว่าเรื่องนี้ต้องมีผู้เกี่ยวข้องที่รู้เห็นกันดี อีกทั้งยังให้กำลังใจในหาตามหาเจ้าบุญรอดกลับมาอย่างปลอดภัย “ไร้จิตสำนึก เห็นแก่ตัว คนเขาไถ่ชีวิตวัวควายมาให้เลี้ยง ไม่ใช่ให้ไปตาย” “ต้องเอาเรื่องให้หนัก คนที่หากินบนความทุกข์ทรมานของสัตว์ ขอให้บุญรอดกลับมาไวๆ” “เรื่องนี้มันอาจไม่ใช่แค่ควายตัวเดียวก็ได้นะ ถ้าตรวจสอบดีๆ อาจมีเบื้องลึกที่ยังไม่เปิดเผยอีก”
|
|
อย่างไรก็ตาม ทางทีมข่าวผู้จัดการ Live ได้ติดต่อไปยังเกษตรกรรายหนึ่ง ที่ได้เคยไถ่ชีวิตโค-กระบือและรับมาเลี้ยงดูแลที่บ้าน ถึงความเห็นในเรื่องนี้และความน่าเชื่อถือของกระบวนการไถ่ชีวิตโค-กระบือ ว่าสามารถช่วยเหลือสัตว์ได้จริงๆ หรือไม่ โดยเกษตรกรคนดังกล่าวให้ความเห็นไว้ว่า “จริงๆ เคสลักษณะนี้เคยได้ยินมาบ้างนะครับ แต่ส่วนตัวผมเองไม่เคยไปไถ่ชีวิตโคกระบือจากโรงฆ่าสัตว์ เพราะผมไม่มั่นใจว่ามันจะช่วยได้จริงๆ หรือเปล่า ว่าสัตว์เหล่านี้จะได้ไปอยู่ที่ไหน ซึ่งอาจจะมีกรณีที่ไม่ซื่อสัตย์จริงๆ บ้าง แต่พอมีข่าวหลุดออกมา มันก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ เพราะคนช่วยกันทำบุญเขาเสียความรู้สึก แต่เท่าที่รู้ คือ โครงการธนาคารโคกระบือเพื่อเกษตรกร จะมีการนำวัวควายที่ถูกไถ่ชีวิต นำมาให้เกษตรกรไปเลี้ยงต่อ จะมีการประกาศรายชื่อเกษตรกรที่จะนำไปเลี้ยง ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าเขาจะนำไปทำอะไรบ้าง แต่เงื่อนไขของปศุสัตว์ก็คือจะต้องมีการเขียนสัญญาและต้องผ่านการตรวจสอบว่าสามารถดูแลเลี้ยงดูโค-กระบือได้ ส่วนในเคสนี้ ผมว่าในระหว่างที่คนนำมาให้เลี้ยง ทางปศุสัตว์คงขึ้นบัญชีไว้แล้วว่าจะนำไปแจกเกษตรกร มันต้องมีรายชื่ออยู่ มันเป็นโครงการที่ดีนะ แต่อยู่ที่คนว่าจะหากินกับสัตว์หรือเปล่า พอมีปัญหาที่ว่า มันจึงกลายเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี เพราะต่อไปคนจะไม่กล้าช่วยเหลือ ทั้งๆ ที่มันเป็นโครงการที่ดีและช่วยเหลือเกษตรกรที่เขาตั้งใจจริงๆ” สังคมจี้เปิด “ตัวเลข” ไม่เชื่อ “บุญรอด” เคสแรก! จากที่ได้มีการยื่นหนังสือเพื่อตรวจสอบเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ ในกรณีดัง “เจ้าบุญรอด” ความคืบหน้าล่าสุดได้มีการเข้าตรวจสอบและดำเนินการเอาผิดกับผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยมีการแยกออกเป็น 2 ส่วนด้วยกัน นั่นคือ กรณีปศุสัตว์ฟ้องผู้รับบุญรอดไปเลี้ยง ศาลตัดสินคดีให้ชดใช้เงิน 3.5 หมื่น จำคุก 1 เดือนไม่รอลงอาญา แต่ผู้ต้องหาอุทธรณ์ยื่นประกันตัว ส่วนเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับประเด็นนี้ ได้ถูกสั่งให้ไปช่วยราชการที่สำนักงานปศุสัตว์ จ.เพชรบูรณ์ พร้อมทั้งมีการตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัย ซึ่งเรื่องนี้ ถึงแม้ว่าจะถูกดำเนินการในเบื้องต้น แต่ดูเหมือนว่าสังคมจะยังคงไม่ปักใจเชื่อว่า เหตุการณ์ลักษณะนี้จะมีแค่เคสนี้เพียงเคสเดียว!
|
แม้จะมีการตั้งคำถามจากสังคมและยังคงไม่ได้รับคำตอบจากปศุสัตว์อย่างชัดเจน ถึงบัญชีตัวเลขและความโปร่งใสของเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลในส่วนนี้ก็ตาม เช่นเดียวกับคำสัมภาษณ์ของ “ประธานกรรมการมูลนิธิอนุรักษ์โคกระบือไทยและให้ชีวิตใหม่แก่สัตว์ถูกทอดทิ้ง” ได้แสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ด้วยว่า “ควายบุญรอด คงไม่ใช่ตัวแรกและตัวสุดท้ายแน่นอน และเท่าที่มีข้อมูลก็พบว่าหลายจังหวัดก็มีปัญหาเช่นกัน บางแห่งทำเป็นล่ำเป็นสันเอาโคกระบือในโครงการกว่า 40 ตัวไปขาย แม้จะมีการไล่ออกเจ้าหน้าที่ไปแล้ว แต่ยังพบว่ามีการทุจริตอย่างต่อเนื่อง อยากให้ช่วยกันเปิดโปงและช่วยกันตรวจสอบ โดยเฉพาะจำนวนโคกระบือในธนาคารที่มีอยู่ในบัญชี ว่ามีจำนวนตามบัญชีหรือไม่รวมถึงการปฏิบัติต่อโคกระบือ ซึ่งมีผู้ใจบุญช่วยไถ่ชีวิตและบริจาคมาว่าเป็นอย่างไร เพราะไม่ต้องการคนทุจริตเหล่านี้ใช้ความเมตตาของผู้คนมาเป็นช่องทางในการหากิน” ดูเหมือนว่าเรื่องนี้จะยังคงไม่จบลงง่ายๆ หากสังคมยังไม่ได้รับคำตอบที่โปรงใสยืนยันในเร็ววันนี้ อีกทั้งการตั้งคุณสมบัติของเกษตรกรที่ต้องการรับโค-กระบือมาเลี้ยง ยังคงไม่มีความเข้มงวดและไม่มีการตรวจสอบที่มากพอ คงเป็นไปได้ว่า เราอาจได้เห็นวัวควายที่ต้องประสบชะตากรรมเดียวกับ “บุญรอด” อีกเป็นพันๆ ตัว วนลูปอยู่ในวงจร “โรงเชือด” เช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า!! ข่าวโดย ทีมข่าวผู้จัดการ Live |
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน