สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คุยกับแม่ทัพเอชพี (ไทย) ไอที 4.0 ไม่ใช่แค่ อินโนเวชั่น

จากประชาชาติธุรกิจ

สัมภาษณ์

หลังจากยักษ์ใหญ่ไอทีอย่าง “เอชพี” ประกาศปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ทั่วโลก เมื่อเกือบ 2 ปีที่แล้ว โดยแยกธุรกิจซอฟต์แวร์และบริการเกี่ยวกับลูกค้า ออกมาตั้งเป็น “เอชพี เอ็นเตอร์ไพรซ์” และแยกส่วนธุรกิจคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล และเครื่องพิมพ์ (พรินเตอร์) ออกมาอยู่ใน “เอชพี อิงค์”

“ประชาชาติธุรกิจ” พาคุยกับหัวเรือใหญ่ของเอชพี อิงค์ (ประเทศไทย) “ปวิณ วรพฤกษ์” เกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทั้งต่อองค์กรและภาพรวมการแข่งขันในธุรกิจไอที ดังนี้

Q : ความเปลี่ยนแปลงในองค์กร

เป็นเรื่องของโครงสร้างการบริหารจัดการในเชิงธุรกิจ ถึงแม้จะแยกแล้ว แต่เอชพีก็ยังคงเป็นบริษัทที่ติดอันดับ TOP 100 บริษัทชั้นนำของโลก โดยมียอดขายไม่ต่ำกว่า 4.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และมีพนักงานอยู่ 5 หมื่นคน ใน 170 ประเทศทั่วโลกตั้งแต่เอชพีก่อตั้งมาปีที่ 77 และเข้ามาในประเทศไทย 27 ปีแล้ว สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนคือเรื่องของอินโนเวชั่น และเรามีโปรดักต์ที่แข็งแรง ตั้งแต่ระดับโฮมยูสถึงระดับองค์กร โดยเฉพาะเรื่องอินโนเวชั่นของการพิมพ์และคอมพิวติ้ง ตอนนี้เครื่องพิมพ์ 3D ที่แค่สแกนก็สั่งพิมพ์ออกมาเป็น 3D ได้เลยก็วางขายแล้ว

เมื่อไม่นานมานี้ เรายังเข้าไปซื้อกิจการส่วนเครื่องพิมพ์ของซัมซุงเข้ามาเพิ่มเติม ยิ่งทำให้เอชพีแข็งแรงขึ้นไปอีก จากที่เป็นเจ้าตลาด A4 มีมาร์เก็ตแชร์กว่า 30% จากตลาดรวมทั่วโลก มูลค่า 55,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เท่ากับมูลค่าตลาด A3 ซึ่งเรามีมาร์เก็ตแชร์น้อยกว่า 5% ตอนนี้เท่ากับเรามีให้ลูกค้าครบวงจร

Q : เทรนด์ไปดิจิทัลแต่เครื่องพิมพ์ยังจำเป็น

เครื่องพิมพ์เดี๋ยวนี้กลายเป็นคอมพิวเตอร์ เป็นดีไวซ์ กลายเป็นอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ และยิ่งต้นทุนการพิมพ์ต่อแผ่นลดลงมาก ในการทำธุรกรรมหลายอย่างยังต้องพิมพ์ ต้องเซ็นชื่อบนกระดาษอยู่ โจทย์เครื่องพิมพ์จึงไปอยู่ที่ต้นทุนต่อแผ่น และการพิมพ์ที่มีความปลอดภัยสูง และสำหรับบ้านเรายังจำเป็นอยู่มาก

ขณะที่ในส่วนโฮมยูสจะมุ่งไปในแนวไลฟ์สไตล์มากขึ้น โมบิลิตี้มากขึ้น ไม่ได้พิมพ์แค่บนกระดาษ เดี๋ยวนี้ใช้เพื่อการตกแต่งมากขึ้น อย่างพิมพ์วอลเปเปอร์, พิมพ์บนรองเท้า, เสื้อผ้า มีพวกพรินต์คาเฟ่ ที่ตั้งตู้คีออสก์ อัพโหลดเอกสารขึ้นคลาวด์ แล้วให้ลูกค้าไปใช้บริการสั่งพิมพ์ตามจุดต่าง ๆ หรือในต่างประเทศจะเห็นการใช้เครื่องพิมพ์เฉพาะทาง เช่น ในโรงพยาบาลใช้พิมพ์ฟิล์มเอกซเรย์ ตอนนี้เทคโนโลยีรองรับแล้ว รอแค่ให้มีสเกลมากพอ ให้ต้นทุนการพิมพ์ถูกลงมาอีก

Q : ตลาดในไทยโตแค่ไหน

ในแง่ของจำนวนยูนิตไม่ได้ลด แต่ไม่ได้โตเยอะระดับ 2 ดิจิต และในบางกลุ่มโตขึ้นอย่างกลุ่มเมดิคอลเฮลท์แคร์ เมนูแฟกตอริ่งในการพิมพ์ และเห็นชัดว่ามีการเปลี่ยนจากพิมพ์ขาวดำเป็นเครื่องสีมากขึ้น 60-70% โดยกลุ่มองค์กรเป็นตัวกำหนดมูลค่าตลาด

Q : สัดส่วนรายได้พรินเตอร์กับพีซี

คอมพิวติ้งเป็นธุรกิจที่มีรายได้ค่อนข้างสูง มีมูลค่า 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี แต่กำไรมาจากด้านการพิมพ์เยอะ ทำให้พอร์ตของเราแข็งแรง เพราะมีทั้งส่วนที่รายได้สูงกับส่วนที่มีกำไรสูง ในฝั่งองค์กรเราแข็งแรงมาก แม้คอนซูเมอร์จะเป็นที่ 1 แต่ตลาดแข่งราคากันสูงมาก ทำให้ผันผวนเยอะ รายได้จากทั้ง 2 ฝั่งสูสีกัน

Q : ผลจากไทยแลนด์ 4.0

เอื้อต่อการใช้ไอที การจะทรานส์ฟอร์มไป 4.0 ได้ต้องมีดาต้า บิ๊กดาต้าจึงเป็นเรื่องสำคัญ พวกนี้จำเป็นต้องใช้ทั้งพีซี, พรินติ้งคอมพิวติ้ง ซึ่งเราตอบโจทย์การใช้ของผู้บริโภค ส่วนในฝั่งลูกค้าองค์กร เรามีระบบเช่าใช้ โดยเข้าไปช่วยประเมินความต้องการเพื่อกำหนดสเป็กและดีไซน์ฮาร์ดแวร์ที่เหมาะสมให้ลูกค้า เพื่อให้จ่ายค่าเช่าได้คุ้มค่าที่สุด เพราะสิ่งที่เจอตอนนี้คือ งบประมาณด้านไอทีโดนบีบให้ลดลง เป็น KPI ที่ผู้บริหารต้องจัดการให้ได้ คือธุรกิจโตอยู่ แต่ปริมาณด้านไอทีไม่ได้โตตามไปด้วย

และตอนนี้เราบวกกับไฟแนนเชียลซัพพอร์ตให้ด้วย โดยมีบริษัทชื่อว่าเอชพีไฟแนนเชียลเซอร์วิส ให้ดอกเบี้ยราคาพิเศษสำหรับลูกค้าเอชพีอิงค์ เพราะฉะนั้น จึงตอบโจทย์ทั้งเรื่องสินค้า และด้านการเงิน ตรงนี้พร้อมสำหรับลูกค้าทุกกลุ่ม อย่างสตาร์ตอัพและเอสเอ็มอี คือเซ็กเมนต์หนึ่งที่เรากำลังมุ่ง ตอนนี้กำลังรวบรวมข้อมูลออกแบบเซอร์วิสให้ลูกค้ากลุ่มนี้อยู่ น่าจะเห็นได้เร็ว ๆ นี้ เมื่อรวมกับช่องทางของพาร์ตเนอร์ที่เรามีอยู่ทั่วประเทศ จะทำให้เป็นบริการที่เหนือกว่าซื้อเครื่องทั่ว ๆ ไป

Q : ลูกค้าไทยต่างจากประเทศอื่นในอาเซียน

บริการ On Site ในไทยสำคัญ คือสินค้าคุณภาพดี แล้วบริการต้องดี อย่างในโน้ตบุ๊กบางรุ่น เราเตรียมระบบ Smart Friend ไว้คอยซัพพอร์ตลอด ศูนย์บริการตอนนี้เราไม่ต้องมีแล้ว เพราะวิ่งไปหาลูกค้าตอบโจทย์กว่า ทั้งคอนซูเมอร์ ทั้งองค์กร

Q : สินค้าที่เตรียมเปิดตัวใหม่

HP elite slice เป็นตัวอย่างของอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ คือ PC Full Function ที่เป็นเซ็กเมนต์ใหม่ ๆ บางลง เล็กลง ใช้พลังงานได้ดีขึ้น ซีเคียวริตี้มากขึ้น เริ่มเข้ามาทำตลาดในไทยแล้ว ใช้งานได้เหมือนคอมพิวเตอร์ทุกอย่าง แล้วก็มี HP sprout เป็นเวอร์ติคอล สแกน 3D ได้ ทัชสกรีนได้ ตอบโจทย์กลุ่มการศึกษา ดีไซน์ แมนูแฟกเจอริ่ง มีขายแล้วที่อเมริกาและฮ่องกง แล้วก็จะมี New Category ใหม่ ๆ เพิ่ม อย่าง Mobile Printer ที่ไม่ได้พิมพ์บนกระดาษ ตอบโจทย์กลุ่มไลฟ์สไตล์ คือยังคงเน้นในธุรกิจหลักไว้ก่อน

Q : เอชพีไม่ทำสมาร์ทโฟนแล้ว

ใช่ สมัยก่อนมีแบรนด์ Compaq แต่ปัจจุบันไม่มีอีกแล้ว ในส่วนที่เป็นสมาร์ทโฟน เรามี xperia x3 แต่ใช้กับองค์กรมากกว่า เพราะราคาสูง ไม่มีโปรดักต์สำหรับกลุ่มคอนซูเมอร์แล้ว ตลาดนี้จะเน้นไปที่ all-in-one พีซีเกมมิ่งอย่าง Omen เน้นสเป็กและดีไซน์เป็นหลัก

โดยรายได้จากกลุ่มคอนซูเมอร์ยังมาจากพีซีเป็นหลัก โน้ตบุ๊กก็เยอะ การเลือกซื้อดีไวซ์ตอนนี้คือการเลือกซื้อไลฟ์สไตล์มากขึ้น เราก็จะเน้นระดับตลาดกลางถึงบน เพราะมีกำลังซื้อ

Q : ตลาดไอซีทีไม่ซบเซา

อุปกรณ์บางตัวซบเซาลงก็จริง แต่มีช่องทางสร้างมูลค่า ยังมีลูกค้ากลุ่มที่ต้องการหาอะไรแปลกใหม่ที่มีดีไซน์ และตลาดก็เปลี่ยนเร็ว เมื่อก่อนคนจะกังวลว่าโน้ตบุ๊กจะฆ่าพีซี แท็บเลตจะมาฆ่าโน้ตบุ๊ก ผมมองว่าเป็นโอกาสของผู้บริโภคในการเลือกใช้ ถ้าสินค้าในพอร์ตเรามีครบ ก็ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ครบวงจรกว่า ซึ่งตลาดไทยถือว่าเป็นตลาดใหญ่ เทรนด์ไม่ต่างกับเมืองนอก แล้วเราก็ให้ความสำคัญกับทุกตลาด ทุกกลุ่มลูกค้า ทั้งคอนซูเมอร์, คอร์ปอเรต รวมถึงเกื้อหนุนพาร์ตเนอร์ให้อยู่ได้ด้วย และถ้าเทียบกับในอาเซียน ตลาดไทยยังมียอดขายเป็นอันดับ 3 คือเป็นรองแค่สิงคโปร์ กับฟิลิปปินส์ สำหรับเอชพีจึงยังเป็นตลาดสำคัญ

Q : มีโครงการสนับสนุนสตาร์ตอัพ

คงไม่ใช่การเข้าไปร่วมทุน แต่จะเข้าไปซัพพอร์ตในโครงการที่มีอยู่แล้ว และมีแนวคิดจะหาพาร์ตเนอร์มาทำแพ็กเกจให้ตอบโจทย์ความคุ้มค่าสำหรับตลาดนี้ สิ้นปีนี้น่าจะเห็นแคมเปญออกมา

Q : ทิศทางตลาดครึ่งปีหลัง

โดยรวมตลาดน่าจะคึกคักขึ้น ด้วยเทรนด์ 4.0 และปีหน้าก็น่าจะดีขึ้นอีก ซึ่งเอชพีได้เปรียบในทุกส่วน ด้วยสินค้าที่ตอบโจทย์ ช่องทางของพาร์ตเนอร์ที่ครบทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ทั้งกลุ่มคอนซูเมอร์ และคอมเมอร์เชียล


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : คุยกับแม่ทัพเอชพี ไอที 4.0 อินโนเวชั่น

view