จากประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ นอกรอบ โดย พ.ต.พุทธินาถ.ฐ. พหลพลพยุหเสนา
เมื่อ ชหกสิบหรือเจ็ดสิบปีก่อนโน้น สิ่งที่ได้เห็นหรือประสบมาด้วยตนเองเกี่ยวกับเรื่อง “พันธุ์ข้าว” ของไทย คือ ต้นข้าวพันธุ์ไทยที่ไม่จมน้ำ กับ ต้นข้าวพันธุ์ไทยที่ปลูกในที่นาดอน โดยการใช้วัวไถนา เรื่องของข้าวทั้งสองพันธุ์นี้ได้เขียนอยู่ในเรื่องเล่าชื่อ “เรื่องเล่าจากความทรงจำ…ตอนน้ำ”
สิ่งที่ยืนยันได้จากการพบเห็น คือประเทศไทยเราเคยมี “พันธุ์ข้าว” ดังกล่าวอย่างแน่นอน แต่ไม่ทราบว่าปัจจุบันสูญพันธุ์ไปแล้วหรืออย่างไร
สิ่งนี้น่าคิด ประเทศสหรัฐอเมริกาปัจจุบันยังสามารถนำ “นกอินทรีหัวขาว” ให้กลับคืนมามีชีวิตเป็นสัญลักษณ์ของประเทศได้อีก ด้วยการวิเคราะห์และวิจัย จนสามารถผสมพันธุ์นกดังกล่าวด้วยกรรมวิธีทางวิทยาศาสตร์
ประเทศไทยปัจจุบันมีแต่ข่าว ต้นข้าวจมน้ำ กับข่าวน้ำแล้งปลูกข้าวไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเกิดคำถามว่าเราจะมีกระทรวงเกษตรฯ กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เอาไว้ทำไม จึงไม่พยายามที่จะใช้มันสมองสร้างวิทยาศาสตร์ หรือให้นักวิเคราะห์วิจัยร่วมมือกันศึกษาวิจัย นำความรู้ทางเทคโนโลยีมาช่วยเกษตรกรของชาติ นำความรู้ที่ได้มาต่อยอดสร้างคุณภาพที่ดีของพันธุ์ข้าว นำพันธุ์ข้าวในอดีตของไทยมาผสมกับพันธุ์ข้าวในสมัยปัจจุบัน เพื่อให้ได้พันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพหลากหลาย เกิดประโยชน์กับชาวนาไทย มีคุณสมบัติช่วยลดค่าใช้จ่าย ลดต้นทุนในการเพาะปลูก ผลิตข้าวออกมาให้กับผู้บริโภค และเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะทำรายได้ให้กับชาติบ้านเมืองต่อไป
กระทรวงเกษตรฯ มีหน้าที่สนับสนุนให้เกษตรกรสามารถทำอาชีพได้อย่างเต็มที่และสมบูรณ์ ไม่ใช่การมีหน้าที่บอกห้ามเกษตรกรปลูกข้าว เพราะไม่มีน้ำ รวมทั้งกรมชลประทานที่ต้องใช้สติปัญญาในการจัดหาน้ำสำหรับสนับสนุนเกษตรกรใน การเพาะปลูก มิใช่บอกให้ชาวนาหยุดปลูกข้าวอย่างที่ผ่านมา
มีตัวอย่างให้เห็นเป็นการเปรียบเทียบสมัยสงครามเกาหลี เมื่อแรกที่รัฐบาลส่งทหารไทยไปร่วมกับองค์การสหประชาชาติเพื่อรบกับ เกาหลีเหนือและจีนแดง ทหารไทยกับทหารตุรกี และอีกหลายประเทศเดินทางไปในเรือลำเลียงขนาดใหญ่ด้วยกัน ในระหว่างการเดินทางด้วยเรือนั้น จำเป็นต้องแวะจอดตามเมืองท่าต่าง ๆ เพื่อรับน้ำจืด โดยที่ผู้โดยสารทั้งหลาย
ในเรือไม่สามารถอาบน้ำได้ เนื่องจากน้ำจืดที่มีอยู่ในเรือเอาไว้ใช้บริโภคเท่านั้น แต่เมื่อสมัยที่ผู้เขียนเดินทางไปรบที่เวียดนามใต้ (พ.ศ. 2511-2512) ได้เดินทางด้วยเรือลำเลียงของอเมริกัน ซึ่งนอกจากพลประจำเรือจำนวนกว่า 700 นายแล้ว ทหารไทยจำนวน 5,000 นาย ก็อยู่ในเรือลำนั้นด้วย ภายในตัวเรือมีอยู่ 8-9 ชั้น ทุก ๆ ชั้น และทุก ๆ ตอนในแต่ละชั้นมีห้องน้ำขนาดใหญ่ที่มีน้ำไหลแรงอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะส้วมที่นั่งเรียงกัน 5 คน น้ำไหลแรงราวกับน้ำตกตลอด 24 ชั่วโมงและเป็นน้ำจืด
เรือรบจักรีนฤเบศร ก็มีน้ำจืดให้ใช้ตลอด 24 ชั่วโมงเช่นเดียวกัน โดยนำน้ำทะเลมาทำเป็นน้ำจืดเพื่อใช้ในเรือ วันละ 250,000 แกลลอน
ประเทศไทยมีอ่าวไทยและทะเลอันดามัน หากคิดจะทำน้ำจืด ซึ่งเดี๋ยวนี้ไม่ต้องใช้วิธีต้มกลั่นในการผลิต เพราะมีเทคโนโลยีสมัยใหม่สามารถทำน้ำจืดได้อย่างมากมายตลอดเวลา น้ำจืดที่ได้ไม่ต้องไปขอซื้อที่ใด และไม่ต้องใช้วิธีการเจาะลงไปใต้ท้องทะเลลึก 90 กิโลเมตร เช่นการสูบเอาแก๊สขึ้นมา แต่สามารถตั้งโรงงานผลิตน้ำทะเลเป็นน้ำจืดที่ไหนในทะเลของไทยทั้งสองแห่ง ก็ได้ทั้งนั้น แก๊สที่สูบขึ้นมาจากอ่าวไทยยังส่งไปถึงอุดรฯ ขอนแก่นได้ น้ำจืดที่ผลิตได้ก็สามารถส่งไปเขื่อนต่าง ๆ ได้เช่นกัน ปีใดที่มีน้ำใช้อย่างเหลือเฟือโดยไม่ต้องผลิตน้ำจืด ก็สามารถตุนเก็บกักเผื่อเอาไว้ได้
แต่อย่าคิดผลิตน้ำจืดแต่เพียงอย่างเดียว โรงงานที่สร้างขึ้นควรผลิตอย่างอื่นที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ด้วย เหมือนกับญี่ปุ่นและเยอรมนีตะวันตก (สมัยนั้น) ได้ใช้โรงงานผลิตอาวุธตอนสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ยังเหลือสภาพดี นำมาซ่อมแซมให้ใช้งานได้ ผลิตสินค้าขายเพื่อนำเงินมาใช้หนี้ค่าปฏิกรณ์สงครามแก่ประเทศคู่สงครามทั้ง หลายจนหมดหนี้สิน และยังกลับกลายเป็นเจ้าหนี้ประเทศต่าง ๆ จนกลายเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจมาจนถึงปัจจุบัน
วิกฤตการณ์ของชาวนาที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ คิดว่าน่าจะเป็นโอกาสอันดีของชาวนา ที่จะเปลี่ยนแปลงสภาพฐานะและวิถีชีวิตเสียใหม่ ดังที่เคยมีอดีตนายกรัฐมนตรีกล่าวไว้ “ต้องพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส” ไม่ใช่เกิดความย่อท้อ ไม่กล้า
ผจญกับเหตุการณ์ข้างหน้าหรือปัญหาที่มี ที่สำคัญอย่าหยุดอยู่เพียงแค่นั้น แต่ต้องก้าวเดินต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการสีข้าวกันเอง ค้าขายข้าวระหว่างกันแล้วขยายโอกาสต่อไปเรื่อย ๆ ไม่หยุดยั้ง แล้ววันหนึ่งข้างหน้า
ชาวนาทั้งหลายก็จะปลดหนี้สิน มีฐานะมั่นคงเท่าเทียมกับชาวนาญี่ปุ่นและเกษตรกรชาวอเมริกันและยุโรป สิ่งหนึ่งที่อยากบอก คืออย่าไปหวังพึ่งรัฐบาลอย่างเดียว เพราะหากรัฐบาลพึ่งได้จริง ชาวนาคงไม่ตกเป็นทาสของนายทุนมาจนทุกวันนี้อย่างแน่นอน
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน