สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การมาของ หุ่นยนต์ดีลิเวอรี่ บทบาทใหม่กับอนาคตหุ่นยนต์เต็มเมือง

จากประชาชาติธุรกิจ

ปัจจุบันพัฒนาการของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) หรือ “หุ่นยนต์” เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น จากที่ใช้ในอุตสาหกรรมเป็นส่วนใหญ่ ก็ทยอยเข้าสู่ภาคบริการ ในรูปแบบหุ่นยนต์ต้อนรับ พนักงานเสิร์ฟ และเริ่มมีการพัฒนาเป็นธุรกิจมาก ขึ้นก็คือ การใช้ “หุ่นยนต์” มาใช้ส่งอาหาร หรือที่เรียกกันว่า “ดีลิเวอรี่”หุ่นยนต์ส่งอาหาร

บริการขนส่งโดยหุ่นยนต์เริ่มขยายไปตามเมืองใหญ่ ๆ ส่วนใหญ่เน้นส่งของชิ้นเล็กและน้ำหนักเบา จึงมักจะเป็นการขนส่งอาหาร เมื่อกรกฎาคมปีที่แล้ว “Just Eat” บริษัทอาหารสำเร็จรูปขนาดใหญ่ ร่วมมือกับ “สตาร์ชิป เทคโนโลยี” ใช้หุ่นยนต์ในการขนส่งอาหารในกรุงลอนดอน โดยสามารถขนส่งได้ทีละ 10 กิโลกรัม หรือถุงช็อปปิ้ง 3 ใบ ซึ่งจะช่วยลดค่าขนส่งเหลือเพียง 1 ปอนด์ จากราคา 3-6 ปอนด์

สำหรับเมสเซ็นเจอร์ ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา “Yelp” แอปพลิเคชั่นดีลิเวอรี่อาหาร 24 ชั่วโมงจากซานฟรานซิสโก ได้จับมือกับสตาร์ตอัพ ผลิตหุ่นยนต์ “มาร์เบิล” สำหรับส่งอาหารให้ลูกค้า เชื่อจะช่วยลดค่าใช้จ่ายการขนส่ง

ล่าสุดที่กรุงโตเกียว “คาร์ริโร ดิลิเวอรี” หุ่นยนต์ส่งของจากบริษัทแซดเอ็มพี เริ่มทดลองลงสนามในกรุงโตเกียวในสัปดาห์นี้ คาร์ริโรเป็นหุ่นยนต์ทรงกล่องสูงราว 1 เมตร รองรับน้ำหนักได้มากถึง 100 กิโลกรัม มาพร้อมกับเซ็นเซอร์และกล้องนำทาง วิ่งได้เร็วที่สุดที่ 6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ภาพจาก : www.metro.co.uk


เทคโนโลยีกีดขวางทางเดิน

แม้ว่าหุ่นยนต์จะถูกสร้างมาเพื่ออำนวยความสะดวก แต่ก็สร้างผลกระทบเช่นกัน “จูเลีย แครี หว่อง” คอลัมนิสต์ของ “เดอะ การ์เดียน” เขียนถึงเจ้าหุ่นยนต์ส่งอาหารว่า การแชร์ทางเดินเท้ากับหุ่นยนต์จิ๋วเหมือนกับเดินตามหลังคนที่เดินเล่นเกมโปเกมอน โก เพราะเดินช้ากว่ามนุษย์

แม้ว่าตอนนี้ผู้พัฒนาหุ่นยนต์จะยังไม่โดนต่อว่าจากคนทั่วไป แต่หากอนาคตมีหุ่นยนต์อีกหลายพันตัวลงประจำการ นั่นหมายถึงจำนวนประชากรหุ่นยนต์บนท้องถนนจะมากขึ้น

“Renia Ehrenfeucht” ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยนิวเม็กซิโก ระบุว่า หากท้องถนนเต็มไปด้วยหุ่นยนต์ก็คงต้องมีการสร้างทางเพิ่มขึ้น ไม่ใช่แค่ทางคนเดิน เลนรถยนต์ เลนจักรยาน แต่อาจต้องมีเลนหุ่นยนต์ด้วย

นอกจากปัญหาการสัญจร ยังมีความกังวล เช่นกลัวเพราะไม่รู้ว่าหุ่นยนต์ตัวนี้คืออะไร หรือกลัวว่าหุ่นยนต์จะถูกทำลาย หรือขโมยของที่อยู่ในหุ่นยนต์

อย่างไรก็ตามผู้ผลิตทั้งฝั่งมาร์เบิลและสตาร์ชิปยืนยันว่าจะไม่มีปัญหาเรื่องการขโมย เพราะหุ่นยนต์มีกล้องติดอยู่หลายตัว ทั้งยังมีเซ็นเซอร์และเนวิเกเตอร์ เมื่อหุ่นยนต์ส่งของมาถึง ผู้ซื้อจะต้องใส่รหัสที่ส่งมาในสมาร์ทโฟนถึงจะเปิดกล่องได้

ด้าน ดอร์แดช ยังเสริมด้วยว่า การเข้ามาของหุ่นยนต์จะไม่ทำให้เมสเซ็นเจอร์ในบริษัทตกงาน เพราะหุ่นยนต์ทำการขนส่งแบบที่พวกคนขับรถไม่ต้องการ คือการส่งสินค้าขนาดเล็กในรัศมีจำกัด

หุ่นยนต์ครองเมือง ?

การเข้ามามีบทบาทของหุ่นยนต์ (เอไอ)สร้างการโต้เถียงในหลายกลุ่ม รวมไปถึง”มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก” ซีอีโอเฟซบุ๊ก และ “อีลอน มัสก์” ผู้ก่อตั้งเทสลาและสเปซเอ็กซ์ ที่ปะทะคารมผ่านโซเชียลมีเดียสัปดาห์ก่อน มัสก์มองว่าเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) จะเข้ามาเป็นอันตรายต่อมนุษยชาติและอาจกลายเป็นเครื่องจักรสังหาร จึงควรควบคุมนับตั้งแต่ตอนนี้

ซักเคอร์เบิร์ก ระบุว่า เทคโนโลยีสามารถรังสรรค์สิ่งต่าง ๆ ที่ทำให้โลกดีขึ้นได้ เอไอจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต และไม่เข้าใจคนที่ปฏิเสธมันและสร้างภาพวันสิ้นโลกที่น่ากลัวในอีก 10 ปีข้างหน้าเพื่ออะไร ?

ทั้งนี้ เฟซบุ๊กได้ใช้ระบบเอไอในการหากลุ่มเป้าหมายเพื่อลงโฆษณา ดูแลฟีดข่าวและการแท็กใบหน้าผู้ใช้งาน ขณะที่มัสก์ในปี 2015 ก่อตั้งบริษัทวิจัยที่ชื่อ “OpenAI” เพื่อวิจัยและพัฒนาเอไอที่มีประโยชน์และไม่อันตรายต่อมนุษยชาติ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : การมา หุ่นยนต์ดีลิเวอรี่ บทบาทใหม่ อนาคตหุ่นยนต์เต็มเมือง

view