สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ก้าวแรกที่เท่าเทียม

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย สาโรจน์ มณีรัตน์

นั่งอ่านหนังสือ “ก้าวแรกที่เท่าเทียม : การศึกษาเพื่อสร้างโอกาสที่เสมอภาคแก่เด็กทุกคน” หรือในชื่อภาษาอังกฤษคือ “Giving Kids a Fair Change” ที่มี “เจมส์ เจ.เฮกแมน” นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลเมมโมเรียลไพรซ์ สาขาเศรษฐศาสตร์ ประจำปี 2000 เป็นผู้เขียน แล้วทำให้เกิดมุมมองในเรื่องการศึกษาของโลกตะวันตกหลายอย่าง

ยิ่งเฉพาะการศึกษาในสหรัฐอเมริกา

ซึ่งใครจะเชื่อละว่า ประเทศอินทรีเหล็กจะประสบปัญหาการเลือกเกิดไม่ได้คล้าย ๆ กับประเทศอินเดียที่ถือวรรณะเป็นการกำหนดชะตาชีวิตจากอดีตจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้ด้อยโอกาส กลุ่มผู้มีรายได้ต่ำ กลุ่มผู้ก่ออาชญากรรม และกลุ่มที่มีปัญหาการตั้งครรภ์ช่วงวัยรุ่น

เด็ก ๆ ที่เกิดจากพ่อแม่ ผู้ปกครองที่มาจากกลุ่มคนต่าง ๆ เหล่านี้ ไม่เพียงจะถูกแบ่งให้ไปอยู่ในพวกคนไร้ทักษะ หากยังถูกมองว่าพวกเขาถูกให้โอกาสทางสังคม เศรษฐกิจ และการศึกษาน้อยกว่ากลุ่มอื่น ๆ

ฉะนั้น ปัญหาจึงวนเวียนไม่รู้จบ จนกลายเป็นลูกโซ่ที่ทำให้หลายรัฐบาลพยายามแก้ปัญหา จนกระทั่ง “บารัก โอบามา” อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริการิเริ่มโครงการมุ่งสู่ความเป็นเลิศ (Race to the Top Initiative) ซึ่งเชื่อแน่ว่าจะช่วยบรรเทาปัญหาได้ระดับหนึ่ง โดยเฉพาะเรื่องการศึกษาสำหรับเด็กก่อนวัยเรียน

แต่ผู้ปกครองระดับรัฐ และระดับท้องถิ่นกลับไม่คิดเช่นเดียวกับ “บารัก โอบามา” จนที่สุด จึงทำให้เกิดการแบ่งขั้วของคนในสังคมอย่างชัดเจน ยิ่งในช่วงหลัง ๆ จะเห็นว่าเยาวชนของสหรัฐอเมริกาเรียนจบชั้นมัธยมปลายน้อยลงเรื่อย ๆ

หมายความว่าโอกาสที่พวกเขาจะก้าวเข้าสู่มหาวิทยาลัยจะน้อยลงตามเช่นกัน

ถามว่าพวกนี้ไปไหน ?

ทำอะไร ?

คำตอบง่าย ๆ คือคนเหล่านี้คือแรงงานไร้ทักษะที่ไปทำงานตามสถานบริการต่าง ๆ

ที่น่าตกใจกว่านั้นคือจำนวนของเยาวชนผิวดำกลับมีแนวโน้มเรียนจบมัธยมปลายมากขึ้น ๆ นั่นหมายความว่ากลุ่มเยาวชนผิวดำเหล่านี้จะมีโอกาสเรียนในมหาวิทยาลัยมากขึ้นตามไปด้วย ผลที่ตามมาคือพวกเขาจะมีโอกาสเรียนต่อปริญญาโท และปริญญาเอก

ทั้งยังมีโอกาสเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพของสหรัฐอเมริกาต่อไปข้างหน้าด้วย

“เจมส์ เจ.เฮกแมน” บอกว่าเรื่องนี้ถ้ามองให้เป็นปัญหา ก็คงเป็นปัญหา แต่สำหรับเขาแล้วกลับมองว่าเรื่องนี้ไม่น่าจะเป็นปัญหาเลย เพราะชาติกำเนิดไม่สามารถคุมกำเนิดอนาคตได้

ทุกคนสามารถเติบโตได้

ทุกคนสามารถก้าวออกจากกล่องเดิม ๆ ได้

และทุกคนสามารถดำเนินชีวิตตามความฝันได้

ไม่ใช่เกิดขึ้นมาจากครอบครัวอะไร จะต้องเป็นแบบนั้น จะเขยิบฐานะไปเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ซึ่งเรื่องแบบนี้จริง ๆ ไม่น่าจะเกิดขึ้นในสังคมอเมริกันชน แต่กระนั้น ถ้ามองในความเป็นจริงทุกประเทศบนโลกใบนี้ต่างผจญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำทั้งสิ้น

ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความเสมอภาค และเท่าเทียมกันของมนุษย์

การเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา

ความยากจน

และการเข้าถึงระบบสาธารณูปโภคที่ดี

เพราะไม่เช่นนั้น เรื่องเหล่านี้จะถูกยกให้เป็นหัวข้อสำคัญต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals-SDGs) ตามแนวทางของสหประชาชาติกระนั้นหรือ

โดยเฉพาะเป้าประสงค์ (Goals) 17 ข้อ และเป้าหมาย (Targets) 169 ข้อ ที่ต่างกำหนดให้ประเทศสมาชิกกว่า 193 ประเทศจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว ผมถึงบอกว่าสิ่งที่ “เจมส์ เจ.เฮกแมน” ตั้งข้อสังเกต พร้อมกับวิเคราะห์บนพื้นฐานของปัญหาต่าง ๆ ล้วนเกิดขึ้นมาจากครอบครัวทั้งสิ้น

ครอบครัวจะเป็นผู้หล่อหลอมเองว่า…เด็กคนนั้นจะเติบโตเป็นอะไร ?

เด็กคนนั้นจะเป็นคนดี หรือไม่ดี

หรือเด็กคนนั้นจะกลายเป็นอัจฉริยะ หรืออาชญากร ครอบครัวต่างมีส่วนเกี่ยวข้องทั้งสิ้น

ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่การศึกษาในโลกปัจจุบัน จึงพยายามเบนเข็มเข้าไปหาเรื่องของการให้โอกาส การให้ทุนการศึกษา หรือแม้แต่การอุปการะเลี้ยงดูเด็กต่าง ๆ ทั่วโลก โดยผ่านมูลนิธิไม่แสวงหาผลกำไร

แล้วประเทศไทยล่ะ ?

ผมว่าความเหลื่อมล้ำทางการศึกษายังเป็นหัวข้อที่พูดคุย และถกเถียงกันอีกนาน เพราะอย่างที่ทุกคนทราบดีกระทรวงศึกษาธิการถูกจัดสรรงบประมาณมากกว่ากระทรวงอื่น ๆ

ถามว่างบประมาณจำนวนเหล่านี้ทำการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอะไรได้ไหม ?

ได้อยู่แล้ว

แต่คำถามที่ตามมาคือแล้วทำไมตลอดช่วงหลายสิบปี ไม่รู้กี่รัฐบาลมัวแต่ทำอะไรกันอยู่ หรือมัวแต่ผลาญงบประมาณ หรือมัวแต่เกรงใจกันไปเกรงใจกันมา

หรือมัวแต่หยั่งเชิงในการปฏิรูปการศึกษา

หรือมัวแต่หว่านเงินไปที่นักวิชาเกิน จนทำอะไรไม่ได้สักที ผมเคยเขียนเรื่องนี้บ่อยครั้งมากว่าให้ยุบกระทรวงศึกษาธิการเสียเถอะ อยู่ไปก็ไม่ได้ทำอะไรให้น่าภาคภูมิใจเลย นอกจากแจกซองกฐิน ผ้าป่าไปวัน ๆ

ทั้ง ๆ ที่คนเหล่านี้มีโอกาสเดินทางไปฟินแลนด์ ไปดูระบบการศึกษาที่ดีของโลกว่าตอนสร้างประเทศเขาย่ำแย่มาก ๆ แต่เพราะรัฐบาล และประชาชนของเขาเชื่อว่าเรื่องเดียวที่จะทำให้ฟินแลนด์กลายเป็นประเทศลืมตาอ้าปากได้คือการศึกษา

ดังนั้น ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล เขาจะสานต่อนโยบายเหล่านี้ไว้ เช่นเดียวกับสิงคโปร์ เขารู้ว่าประเทศของเขาเล็กนิดเดียว ประชากรก็น้อย ทรัพยากรธรรมชาติก็ไม่มีอะไรโดดเด่น

แต่เพราะเขาเชื่อว่าการศึกษาจะทำให้ทรัพยากรมนุษย์ของเขามีคุณค่าในสักวัน

จากนั้นเขาก็วางโรดแมปการพัฒนาประเทศอย่างจริงจัง จนที่สุด ก็อย่างที่พวกเราทราบกัน สิงคโปร์เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ให้คุณค่าในทรัพยากรมนุษย์ของเขาค่อนข้างสูง

เกาหลีใต้ก็เช่นกัน

เขาเติบโตมาจากประเทศที่ยากจน แต่เมื่อช่วงสร้างประเทศเขาถูกให้โอกาสจากสหรัฐอเมริกาเข้าไปศึกษาโนว์ฮาว ความคิด วิธีคิด นวัตกรรม และเทคโนโลยี จนที่สุดเกาหลีใต้ในวันนี้ก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว

เพราะทุกคนขับเคลื่อนประเทศด้วยความจริงใจ

ไม่เล่นการเมือง

และไม่สนใจด้วยว่าจะมาสร้างอนุสาวรีย์ให้ตัวเองหรือเปล่า

ผมถึงกล้าบอกว่าลองจับตามองประเทศเพื่อนบ้านเราให้ดีเถอะ ไม่ว่าจะเป็นเมียนมา, เวียดนาม และกัมพูชา สักวันเราจะมีผู้บริหารในองค์กรที่มีสัญชาติเหล่านี้ และตอนนี้ก็เริ่มเห็นบ้างแล้ว

แต่ต่อไปจะมากขึ้นเรื่อย ๆ

จนเราอาจกลายเป็นลูกน้องเขาไปชั่วชีวิต ก้าวแรกที่เท่าเทียม


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ก้าวแรกที่เท่าเทียม

view