จากประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ คุยฟุ้งเรื่องการเงิน
โดย ทอมมี่ แอคชัวรี่
ปัญหาโลกแตกของการวางแผนในการใช้ชีวิตหลังเกษียณ คือการที่ไม่รู้ว่าจะอยู่หรือตายถึงเมื่อไหร่ หากโชคดีสุขภาพแข็งแรงมีอายุยืนเกินที่คาดไว้จะส่งผลต่อชีวิตอย่างไร จะมีเงินเพียงพอกับค่ารักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันไหม หรือสุดท้ายจะเป็นภาระให้กับลูกหลานหรือคนข้างหลังมากแค่ไหน
พูดได้ว่าชีวิตหลังเกษียณเป็นชีวิตที่ยืนอยู่บนความไม่แน่นอน โดยเฉพาะคนที่ไม่มีลูกหลาน (หรืออาจมีลูกหลานที่ไม่กตัญญูนัก…) ประกอบกับความคิดที่ว่า ชีวิตคือความไม่แน่นอน ดังนั้นจึงต้องทำงานหนักเก็บเงินเอาไว้มาก ๆ
แล้วถ้าเกิดตายก่อนได้ใช้เงินล่ะ… เท่ากับทำงานหนักไปเสียเที่ยวแท้ ๆ มิหนำซ้ำยังอาจส่งผลให้อายุสั้นตายไปก่อนจะเกษียณเสียด้วยซ้ำ
ดังนั้น การที่มีเครื่องมือทางการเงินที่คอยจ่ายเงินรายงวดให้จนกว่าจะครบกำหนดสัญญา หรือจนกว่าจะเสียชีวิต ถือเป็นการจัดการความเสี่ยงที่ตรงจุด ทำให้ไม่ต้องคอยกังวลเรื่องเงินขาดหรือเกินในการใช้ชีวิตหลังเกษียณ เครื่องมือทางการเงินในรูปแบบประกันบำนาญเหล่านี้ได้ถูกออกแบบมาเพื่อเฉลี่ยความเสี่ยงของทุกคน โดยใช้หลักการว่า คนที่ตายก่อนค่าอายุเฉลี่ย จะช่วยสมทบเงินให้กับคนที่ตายหลังอายุเฉลี่ย
พูดมาถึงตรงนี้ ผมมีสิ่งหนึ่งที่อยากแนะนำให้ทุกคนรู้จักกันครับ…
Reverse Mortgage (การกู้จำนองแบบย้อนกลับ หรือการกู้จำนองล่วงหน้าเพื่อแลกประกันบำนาญ) คือการเอาบ้านหรือที่ดินไปจำนอง เพื่อกู้เอาเงินบำนาญมาใช้จนกว่าจะเสียชีวิต และเมื่อเสียชีวิตก็จะยกบ้านหรือที่ดินนั้นให้เป็นการปลดหนี้ไป ซึ่งมองดูแล้วถือว่าเป็นทางเลือกที่ดีอีกทางหนึ่ง ของคนที่ต้องการใช้ชีวิตหลังการเกษียณโดยไม่ต้องยุ่งยาก หรือปวดหัวว่าจะเก็บเงินสะสมมากพอสำหรับยามเกษียณหรือไม่
ผมจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพกันครับ
นาย ก ขายบ้านเพื่อได้เงินก้อนมา 20 ล้านบาท ตอนอายุ 60 ปี และคาดว่าตัวเองจะอยู่ถึงไปอายุ 80 ปี จึงวางแผนที่จะใช้จ่ายปีละ 1 ล้านบาท เป็นเวลา 20 ปี (โดยจะกันเงินส่วนหนึ่งไปเช่าบ้านแทน) หมายความว่า นาย ก จะเหลือเงินใช้หลังจากอายุ 80 ปีขึ้นไป แต่ถ้านาย ก เสียชีวิตก่อนอายุ 80 ปี ก็จะเหลือเงินโดยไม่ได้นำไปใช้
นาย ข มีบ้านมูลค่า 20 ล้านบาท เลือกทำ Reverse Mortgage ตอนอายุ 60 ปี โดยจะได้เงินรายงวดให้ใช้จ่ายปีละ 1 ล้านบาท ไปตลอดชีวิต (ยังอาศัยอยู่ในบ้านเดิมตามปกติ) ซึ่งหมายความว่า ถ้านาย ข อายุยืนมากกว่า 80 ปี ก็ยังคงมีเงินให้ใช้จ่าย ไม่เหมือนนาย ก
กลับกัน ถ้านาย ข เสียชีวิตก่อนอายุ 80 ปี ก็จะทำให้นาย ข ได้รับเงินรายงวดปีละ 1 ล้าน ไม่ถึง 20 ปี (ทั้ง ๆที่มูลค่าบ้านมีค่าถึง 20 ล้านบาท) โดยเงินส่วนต่างนั้นไม่ได้ถูกคืนให้กับนาย ข แต่จะกลายเป็นเงินกองกลางของ Reverse Mortgage เพื่อเก็บไว้จ่ายให้กับคนอื่นที่อายุยืนกว่า เป็นต้น
Reverse Mortgage จึงเหมาะกับคนที่ไม่ต้องเหลือมรดกให้กับลูกหลาน เพราะครั้นจะขายเอาเงินก้อนมาเลย ก็ไม่รู้จะวางแผนใช้เงินอย่างไร ถ้าใช้เงินในแต่ละงวดมากเกินไป ก็จะทำให้มีเงินไม่พอหากอายุยืน แต่ถ้าใช้เงินในแต่ละงวดน้อยเกินไป ก็จะทำให้เวลาเสียชีวิตแล้วยังมีเงินอยู่เป็นกอง (และจะเสียดายทีหลังว่า รู้อย่างนี้ใช้ชีวิตหลังเกษียณให้สุขสบายกว่านี้ดีกว่า)
นอกจากนี้ ถ้าพิจารณาจากชีวิตของคนเราก็จะเห็นว่า ในวัยทำงานเราก็จะตั้งใจทำงานเพื่อเก็บเงินซื้อบ้าน ซื้อที่ดิน และทรัพย์สมบัติทั้งหลาย แต่เมื่อย่างเข้าสู่วัยเกษียณ จึงเริ่มคิดได้ว่าชีวิตนี้ตายไปก็เอาอะไรไปด้วยไม่ได้ ทำให้หลักการของ Re-verse Mortgage ที่เปลี่ยนบ้านให้กลายเป็นเงินรายงวด เพื่อใช้จ่ายจนเสียชีวิตนั้น มีประโยชน์และตรงความต้องการของคนวัยเกษียณที่สุด เป็นเหมือนการกู้มรดกมาใช้ให้พอดีกับอายุขัยของตัวเอง ซึ่งหมายความว่า ไม่ว่าเราจะอยู่หรือตาย เราก็ยังได้เงินมาใช้พอดีกับอายุขัย
ทั้งนี้ เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ผมได้นำแนวคิดเรื่อง Reverse Mortgage มากล่าวในงาน “วางแผนก่อนแก่ ดูแลชีวิตก่อนตาย” ของสมาคมประกันชีวิตไทย หลังจากวันนั้นก็ปรากฏว่า มีสื่อมวลชนให้ความสนใจกันมาก ทำให้ผมบรรยายเกี่ยวกับเรื่องนี้มาเรื่อย ๆ จนถึงวันนี้ก็ดีใจที่ได้เห็นว่ามันกำลังจะเกิดขึ้นจริง โดยมีข่าวว่าธนาคารออมสินวางแผนจะนำร่องออก Reverse Mortgage ในไม่ช้านี้
คนเราสักวันก็ต้องตาย แต่จะอยู่หรือตายให้พอดีได้ยังไง…วันนี้ Reverse Mortgage น่าจะเป็นหนึ่งในทางออกที่ดีที่สุดแล้วครับ
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน