จากประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ สามัญสำนึก โดย พัฒนพันธุ์ พงษ์พันธุ์
เห็นใจคนทำธุรกิจค้าขายยุคนี้จริง ๆ เพราะมีศึกหลายด้านต้องฝ่าฟัน แต่ละด่านยังหิน ๆ ทั้งนั้น
ทั้งจากปัญหาเฉพาะหน้า อารมย์ซื้อหาจับจ่ายของ
ผู้บริโภคเหือดหาย แม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจดูดีขึ้น ตลาดหุ้นไทยเพิ่งสร้างสถิติใหม่ แต่เสียงส่วนใหญ่ยังก้ำ ๆ กึ่ง ๆ
ระหว่างเดินหน้า เพื่อเตรียมตัวเก็บยอดขายในช่วง
ปลายปี ซึ่งชี้ชัดว่าเป็นช่วงเวลาที่คน “ตัดสินใจซื้อ” ง่ายดายกว่าช่วงใด ๆ
หรือจะถนอมตัวเอาไว้
หลาย ๆ คนเข็ดไม่หายกับตลาดช่วงต้นปีที่เปิดหัวได้น่าสนใจ จากนั้นก็หนักไปทางลดลง
หากฟังเสียง ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ยืนยัน (อีกครั้ง) เศรษฐกิจไทยดีขึ้นแล้ว จากเหตุผลที่ว่า….
ตอนนี้เศรษฐกิจเริ่มดี การเมืองเราเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ พื้นฐานเศรษฐกิจเราก็แข็งแกร่ง ดังนั้นเราจะต้องรักษาโมเมนตัมนี้เอาไว้ให้ได้
แต่ถ้าไปถามคนค้าขาย ยืนยัน (เช่นกัน) ว่า กำลังซื้อของผู้บริโภคเวลานี้ยังหนืด ๆ ยอดขายต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้
โดยเฉพาะตลาดต่างจังหวัดลดลงอย่างชัดเจน
ประเด็นนี้เคยถูกอธิบายจาก ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการแบงก์ชาติ … การฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยยังมีปัญหากระจุกตัว แม้ว่าการส่งออกจะดีขึ้น แต่ยังไม่ถึงขั้นเพิ่มกำลังการผลิต เพิ่มโอทีพนักงาน ที่สำคัญคนไทยกำลังสำลัก “หนี้ครัวเรือน” จนกระดิกไม่ออก
มีเงินมาก็ต้องเอาไปจ่ายดอกเบี้ย
คำถามคือ แล้วคนค้าขายจะต้องทำตัวยังไง ถึงจะอยู่รอด
ปัญหาคนค้าขายยุคนี้ ไม่ได้มีแค่กำลังซื้อหยุดชะงัก แต่หมายถึงรูปแบบค้าขายใหม่ ๆ อย่าง “อีคอมเมิร์ซ” ที่มาแน่ ๆ และอาจกวาดคนไม่มีความพร้อมจนตกกระดาน
แน่นอนว่า บรรดา “ผู้เล่น” รายใหญ่ ๆ ต่างรับรู้ถึงแนวโน้มทิศทางการค้าใหม่ของโลกเหล่านี้
โดยเฉพาะอาลีบาบา ของ แจ็ค มาร์ ที่เดินหน้ารุกคืบ (ไม่หยุด) และไทยคือหนึ่งในเป้าหมายสำคัญ
มีผู้ตั้งประเด็นว่า การที่เราญาติดีกับแจ็ค มาร์ พยายามเชื้อเชิญให้มาปักหลักลงทุนในบ้านเรานั้น เป็นยุทธวิธีที่ถูกต้องจริง ๆ แล้วหรือไม่
การที่เจ้าตัวประกาศเป็นสะพานสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยส่งสินค้าไปขายในประเทศจีน อาจเป็นความจริงเพียงเศษเสี้ยวเดียว
ในเมื่อประตูเปิดตลอดเวลาให้เรา ในทางกลับกัน สินค้าจากจีนย่อมไหลเข้าสู่ประเทศไทยผ่านประตูที่ว่านี้ได้เช่นกัน
ดูจากทุกวันนี้ หากเราคิดจะซื้อสินค้าผ่านช่องทางของ “อาลีบาบา” ต้องบอกเลยว่า เป็นเรื่องที่สะดวกสบายเอามาก ๆ
อย่างที่บอกบรรดาผู้ประกอบการรายใหญ่ ๆ ต่างรับรู้แนวโน้มนี้ ไม่ช้าก็เร็วก็ต้องเกิด
เห็นได้จากบรรดาศูนย์การค้ายักษ์ ๆ ที่ไม่ยอมปล่อยให้ตัวเองร้างผู้คน (เพราะคนหันไปซื้อสินค้าออนไลน์) พยายามปรับปรุง รีโนเวต อยู่ตลอดเวลา เพื่อสร้างจุดขายใหม่ ๆ ที่ “อีคอมเมิร์ซ” ไม่มี รวมทั้งการตอกย้ำโพซิชันนิ่งตัวเอง วางตัวเป็นไลฟ์สไตล์เซ็นเตอร์อย่างชัดเจน
ไม่ได้เป็นแค่ “ห้าง+พื้นที่ช็อบปิ้ง” เหมือนในอดีต
อาวุธเด็ดของค่ายยักษ์อื่น ๆ ต่างกำลังทุ่มเทไปที่ “บิ๊กดาต้า” ซึ่งเชื่อกันว่า ทำให้อ่านพฤติกรรมผู้บริโภคทะลุปรุโปร่ง
รู้เลยว่าผู้บริโภคคนนั้น ๆ ในพื้นที่นั้น ๆ ชอบสินค้าแบบไหน มีพฤติกรรมการซื้ออย่างไร ฯลฯ ข้อมูลแบบนี้จะมีประโยชน์มากในการทำธุรกิจในอนาคต
ช่วยทั้งบริหารจัดการสินค้า วางสินค้าให้ “ถูกที่” และ “ถูกเวลา” สามารถสร้างโปรโมชั่นซีอาร์เอ็มที่เหมาะสมกับคนนั้น ๆ
ซึ่งเรื่องแบบนี้ คนค้าขายทั่ว ๆ ไป ไม่มีทางเอื้อมถึง
สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน