จากประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ สามัญสำนึก
โดย ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคบุตร
มาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามข้อเสนอของกระทรวงอุตสาหกรรม นับเป็นการเปิดศักราชใหม่ให้กับการพัฒนาอุตสาหกรรมประเภทนี้โดยเฉพาะ
โดยอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เป็น 1 ใน 5 อุตฯ แห่งอนาคต หรือ New S-Curve ของประเทศ ที่รัฐบาลกำหนดมาตรการส่งเสริมการลงทุนจัดอยู่ในมาตรการด้านการตลาด กระตุ้นภาคอุตสาหกรรมในประเทศปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต จากใช้แรงงานคนมาใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ
ด้วยการ “ยกเว้น” ภาษีเงินได้นิติบุคคล ร้อยละ 50 ของเงินลงทุน 3 ปี ตามการจัดประเภทของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ขณะที่กระทรวงการคลังจะพิจารณา “ยกเว้น” ภาษีเงินได้นิติบุคคลตามสัดส่วนของรายจ่ายให้ผู้ประกอบการที่จ่ายเงินไป เพื่อการวิจัยและพัฒนา
นอกจากนี้ รัฐยังกำหนดมาตรการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของ System Integrator (SI) หรือรวมระบบหรือกระบวนการด้าน IT เพื่อสร้างระบบคอมพิวเตอร์ให้กับลูกค้า ให้กรมศุลกากร “ยกเว้น” ภาษีขาเข้าชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่ใช้ในอุตฯ ผลิตหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ แก้ปัญหาความลักลั่นของภาษีนำเข้าระหว่างสินค้าสำเร็จรูป กับชิ้นส่วนอุปกรณ์นำเข้ามาผลิต 5 ปี
ในขณะที่ BOI จะปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กิจการส่งเสริมการลงทุนผลิตเครื่องจักร/อุปกรณ์อัตโนมัติ ที่มีการออกแบบทางวิศวกรรม และขั้นตอนการพัฒนาและออกแบบระบบอัตโนมัติ กับขั้นตอนการออกแบบระบบควบคุมการปฏิบัติงานด้วยสมองกล ด้วยการให้สิทธิประโยชน์อยู่ในกลุ่ม A1
และให้การส่งเสริมการลงทุนในเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ จัดให้อยู่ในโครงการที่จะส่งเสริมการลงทุนเป็น “พิเศษ” ใน “กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเป้าหมาย” ภายใต้ พ.ร.บ.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย พ.ศ. 2560 อาจให้สิทธิประโยชน์ “มากกว่า” มาตรการส่งเสริมการลงทุนของ BOI มาตรการสร้างอุปทาน (Supply) เพื่อยกระดับกระบวนการผลิต มาตรฐานหุ่นยนต์ โดยจัดการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรให้มีความพร้อมรองรับเทคโนโลยีที่กำลังจะเกิดขึ้น
การเร่งจัดทำ Mutual Recognition Agreement (MRA) ร่วมกับประเทศในภูมิภาค การเข้าร่วม Center of Robotics Excellence (CoRE) จัดทำแผนและมาตรฐานการผลิต การยกระดับศูนย์ Industry Transformation Center หรือ ITC พัฒนาศักยภาพ SMEs ในอุตฯ หุ่นยนต์
มาตรการสร้าง Center of Robotics Excellence (CoRE) เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการใช้งานด้านต่าง ๆ นั้น ให้จัดตั้ง CoRE ด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ จัดทำฐานข้อมูลผู้ประกอบ ผู้ออกแบบ พัฒนาต้นแบบอุตสาหกรรม Industrial Prototype การให้คำปรึกษาและถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านนี้โดยเฉพาะ เป็นต้น เพื่อ “เร่ง” ให้ผู้ประกอบการ อุตฯ ยานยนต์สมัยใหม่, อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ, ยางและพลาสติก, แปรรูปอาหาร, สิ่งทอ, แพทย์ครบวงจร การบินและโลจิสติกส์ เปลี่ยนจากใช้แรงงานที่มีทักษะซึ่งจะขาดแคลน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเพิ่มมากขึ้น
จากข้อเท็จจริงที่ว่า อุตสาหกรรมไทยยังใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติผลิตสินค้าและบริการเพียงร้อยละ 15 จากปัจจุบันนำเข้าหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ 4,000 ตัว แต่มูลค่าของการนำเข้าสูงถึง 266,000 ล้านบาท ขาดดุลการค้า 132,000 ล้านบาท/ปี
เป้าหมายระยะสั้น (2560) ต้องมีการลงทุนในอุตฯ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ไม่น้อยกว่า 12,000 ล้านบาท ระยะกลาง (2561-2564) ลงทุนเพิ่มเป็น 200,000 ล้านบาท มีการผลิตหุ่นยนต์ระบบอัตโนมัติในประเทศ ร้อยละ 30 ของมูลค่าการนำเข้า (80,000 ล้านบาท) อุตสาหกรรมในประเทศ ร้อยละ 50 ของจำนวนโรงงานทั้งหมดใช้หุ่นยนต์ระบบอัตโนมัติ และระยะยาว (2564-2569) วางเป้าเป็นประเทศผู้นำในการผลิต/การใช้หุ่นยนต์ระบบอัตโนมัติในอาเซียน มีเทคโนโลยีเป็นของตนเอง และขยายผลไปสู่หุ่นยนต์บริการ (Service Robot) ในที่สุด
สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน