สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จดหมายแห่งอนาคต (17) ธนาคารพาณิชย์ยังจำเป็นอยู่หรือไม่ ในยุคเงิน Cryptocurrency

จากประชาชาติธุรกิจ

โดย สันติธาร เสถียรไทย santitarn.sathirathai@gmail.com

ถึงลูกพ่อ

ในตอนที่แล้ว พ่อเล่าให้ฟังว่า บิตคอยน์ ตัวแม่แบบของ cryptocurrency ถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อสร้างระบบ “ความไว้วางใจ” (trust) ระบบกระจายศูนย์ของ cryptocurrency นั้น ได้ตั้งคำถามที่ท้าทายต่อระบบการเงินปัจจุบันที่ใช้ fiat money โดยมีธนาคารกลางเป็นศูนย์กลาง

หลายคนเริ่มถามว่า แล้วบทบาทของธนาคารกลางจะหดหายไปหรือไม่ หากยุคของ cryptocurrency มาแทนที่เงินจริง ๆ เหตุการณ์อาจพลิกผันถึงขั้น แม้แต่คนคิดบิตคอยน์เองก็ไม่ได้คาดไว้ คือ เทคโนโลยี Distributed Ledger Technology (DLT) หรือ blockchain ที่เป็นรากฐานของบิตคอยน์

นั้น อาจสามารถถูกนำไปประยุกต์ใช้โดยธนาคารกลาง จนทำให้ธนาคารกลาง หรือแบงก์ชาติต่าง ๆ มีพลังและบทบาทมากขึ้นไปกว่าเดิมเสียอีก และคนที่ต้องกลัวว่าจะหมดบทบาทลงในวงการการเงินยุคใหม่ อาจกลายเป็น ธนาคารพาณิชย์ เสียเอง

เงิน ส่วนใหญ่เป็นดิจิทัลอยู่แล้ว

ก่อนอื่นคงต้องมาทำความเข้าใจก่อนว่า การศึกษาของธนาคารกลางต่าง ๆ นั้น โดยมากเป็นการดูเรื่องผลกระทบของการที่มี “เงินดิจิทัล” ใช้อย่างแพร่หลาย หรือที่เรียกว่า Central Bank Digital Currency (CBDC) โดยที่อาจจะนำเทคโนโลยี DLT ของ cryptocurrency มาใช้หรือไม่ก็ได้

เพราะแท้จริงแล้ว การใช้เงินดิจิทัลนั้นก็ไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่ เงินส่วนใหญ่ที่อยู่ในระบบการเงินปัจจุบันนั้นก็เป็นดิจิทัลอยู่แล้ว โดยไม่ได้ใช้ DLT เพียงแต่ “เงิน” เหล่านั้น คือเงินที่ใช้จ่ายระหว่างธนาคารด้วยกัน หรือกับธนาคารกลาง เช่น การซื้อขาย bank reserves ก็เป็นเพียงตัวเลขในบัญชีที่เปลี่ยนแปลง ไม่ได้เอากระดาษมาแลกกัน แต่ที่คนรุ่นพ่ออาจรู้สึกว่า เงินส่วนใหญ่ยังเป็นกระดาษ ก็เพราะ “เงิน” ที่ประชาชนทั่วไปถือและใช้จ่ายโดยมากยังเป็นเงินกระดาษอยู่

แม้แต่สำหรับคนทั่วไป โลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมาก ในหลายสังคมเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว เช่น สวีเดน กำลังก้าวเข้าใกล้ สังคมไร้เงินสด มากขึ้นทุกที ในขณะเดียวกัน เศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ เช่น จีน ก็พัฒนาอย่างก้าวกระโดด (leapfrog) มาแรงไม่ใช่เล่น เมื่อยักษ์ใหญ่อย่าง Alibaba และ Tencent ใช้เทคโนโลยี QR โค้ด เพิ่มพลังให้ Alipay และ wechat pay ผ่านมือถือ จนทำให้มูลค่าการใช้จ่ายผ่านมือถือในจีน สูงกว่าในสหรัฐอเมริกาถึง 50 เท่า ในปีที่ผ่านมา

โปรเจ็กต์เงินดิจิทัลโดย blockchainของแบงก์ชาติต่าง ๆ ที่น่าสนใจ

พ่อจึงเห็นว่าไม่ใช่เรื่องแปลกเลย หากแบงก์ชาติต่าง ๆ จะศึกษาเรื่อง CBDC กันอย่างตื่นตัว โดยความพยายามเหล่านี้เป็นเรื่องค่อนข้างใหม่มาก และยังอยู่ในช่วงเป็นตัวอ่อนอยู่ แต่พ่อคิดว่าสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มกว้าง ๆ

กลุ่มแรก-มีการศึกษาทดลองเอาเทคโนโลยี blockchain มาใช้แบบจำกัด คือ เฉพาะในการซื้อขาย ชำระเงินระหว่างธนาคารด้วยกัน หรือกับแบงก์ชาติต่าง ๆ หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ เสริม “เงิน” ส่วนที่เป็นดิจิทัลอยู่แล้วให้แข็งแกร่ง มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และปลอดภัยขึ้น ด้วยเทคโนโลยี DLT และ “สัญญาอัจฉริยะ” (smart contract คือ ข้อตกลงต่าง ๆ ซึ่งถูกใส่ไว้ในโค้ดคอมพิวเตอร์ เพื่อให้ธุรกรรมต่าง ๆ เช่น การโอนสินทรัพย์ เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติทันทีที่เกิดเหตุการณ์ตามเงื่อนไขในสัญญา เช่น การชำระเงินเสร็จสิ้น) โดยระบบเครือข่ายของ blockchain ตัวนี้ อาจไม่ได้เปิดกว้างเท่า bitcoin ที่ใครสามารถเข้ามาก็ได้ แต่อาจเป็นการจำกัดเพียงในกลุ่มธนาคารด้วยกันเท่านั้น

โดยสองธนาคารกลางที่มีการศึกษาทดลองในรูปแบบนี้อย่างใกล้ชิดก็คือ สิงคโปร์ และแคนาดา ในกรณีของสิงคโปร์นั้น มีโครงการศึกษาที่ชื่อ Project Ubin ที่ธนาคารกลางสิงคโปร์ จับมือกับ R3 สมาคมบริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยี blockchain และกลุ่มธนาคารใหญ่ในประเทศ แล้วว่าจ้าง Deloitte ศึกษา โดยเฟสหนึ่งได้ศึกษาเกี่ยวกับการชำระเงินภายในประเทศระหว่างธนาคารเสร็จสิ้นไปแล้ว และเฟสต่อไปจะเป็นการทดลองการซื้อขายสินทรัพย์ทางการเงินทั้งภายในและระหว่างประเทศ

แนวคิดแบบ “ทะลุซอย”

การศึกษากลุ่มที่สอง-คือกลุ่มที่พ่อขอเรียกว่า “ทะลุซอย” หน่อย (แต่ไม่รู้จะเป็นจริงได้ไหม) คือพยายามจะนำเทคโนโลยี blockchain มาปรับใช้ เพื่อ “ติดปีก” ให้กับเงินดิจิทัล เพื่อที่จะใช้ได้อย่างแพร่หลายสำหรับคนทั่วไปด้วย ไม่ใช่จำกัดแค่ระหว่างธนาคาร โดยแนวคิดส่วนมากจะออกมาเป็นในรูปของการใช้ blockchain แบบที่ถูกควบคุมโดยธนาคารกลางเป็นศูนย์กลาง (permissioned blockchain) แทนที่จะเป็นแบบเครือข่าย peer to peer กระจายศูนย์ที่ตัดสินใจโดยระบบการโหวตแบบ bitcoin (permissionless blockchain)

โดยแบงก์ชาติอาจจะออก เงินดิจิทัล หรือ CBDC ให้กับประชาชนทั่วไป ให้ “ถือ” กันไว้ใช้ควบคู่กับเงินสด ซึ่ง CBDC สามารถใช้จ่ายได้สะดวกเสมือนเงินสด เพียงแต่การถือ CBDC นี้อาจจะดีกว่าการถือเงินสด ตรงที่ผู้ถือสามารถได้รับดอกเบี้ยได้ด้วย เลยเหมือนเรามีบัญชีเงินฝากที่เอามาใช้จ่ายได้ตลอด มีทั้งความสะดวกและยังได้ดอกเบี้ยอีกด้วย

ซึ่งหากระบบแบบนี้ถูกนำมาใช้จริง และมีคน “ถือ” CBDC อย่างแพร่หลาย อาจเป็นการเพิ่มพลังให้กับธนาคารกลางอย่างมหาศาล ตรงกันข้ามกับที่ผู้พัฒนาบิตคอยน์ที่คาดไว้เลยทีเดียว เพราะธนาคารกลางจะสามารถส่องดู “เงินดิจิทัล” ทั้งหมดแบบ real time ว่าไปที่ไหน อยู่กับใคร เสมือนมีเซ็นเซอร์ติดอยู่ที่ธนบัตรกระดาษทุกใบ การปรับดอกเบี้ยที่เคยถูกมองว่า เป็นนโยบายทื่อ ๆ เหมือนยิงปืนลูกซอง อาจจะกลายมาเป็นปืนสไนเปอร์ เพราะแบงก์ชาติสามารถปรับดอกเบี้ยเฉพาะคนบางกลุ่มแบบเฉพาะเจาะจงได้ คล้ายกับนโยบายการคลังในปัจจุบัน

ธนาคารพาณิชย์ยังจำเป็นไหม

นอกจากนั้น การศึกษาของ Bank of England ยังมีการเสนอรูปแบบของบัญชีเงิน CBDC ที่เราอาจมีฝากไว้ที่แบงก์ชาติโดยตรง ไม่ต้องมีธนาคารพาณิชย์เป็นตัวกลางเลยก็ได้ จุดนี้เองที่อาจจะเขย่า F ตัวที่สองของระบบการเงินปัจจุบัน คือ fractional reserve banking (พ่อพูดเรื่อง F ตัวแรก คือ fiat money ในตอนที่แล้ว)

ในระบบปัจจุบันที่เราต้องฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์ แล้วธนาคารจึงเอาเงินไป “ฝาก” ต่อกับ “พี่ใหญ่” คือ ธนาคารกลาง ในรูปเงินสำรอง (bank reserve) โดยแบงก์ชาติจะมีข้อกำหนดไว้ว่า ธนาคารพาณิชย์จะต้องฝากเงินไว้กับพี่ใหญ่อย่างน้อยเท่าไร

แต่ที่สำคัญ คือ เงินสำรองนี้เป็นสัดส่วนเพียงนิดเดียวของสินเชื่อและเงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์ เพราะฉะนั้น หากคนมาถอนเงินฝากจากธนาคารพาณิชย์พร้อม ๆ กันจำนวนมาก ก็จะเกิดปัญหา bank run ได้ จึงต้องมีระบบป้องกันหลายชั้น ตั้งแต่การประกันเงินฝาก จนถึงการที่ธนาคารกลางต้องพร้อมเป็นพี่ใหญ่ ที่จะเป็นผู้ให้กู้คนสุดท้าย เพื่อค้ำจุนไม่ให้ธนาคารล้ม (lender of last resort) ดังนั้น ความไว้วางใจในระบบธนาคารก็คือ ความไว้วางใจในตัวพี่ใหญ่ ซึ่งก็คือ “แบงก์ชาติ” นั่นเอง ที่เป็นหัวใจของระบบการเงินบนฐานที่เรียกว่า fractional reserve banking ทุกวันนี้

ทว่าระบบนี้มี “ต้นทุน” สูงไม่ใช่น้อย ทั้งการประกันเงินฝาก ทั้งการที่แบงก์ชาติต่าง ๆ ต้องคอยให้ความช่วยเหลือแก่ธนาคารพาณิชย์ในเวลาที่มีปัญหา Bank of England จึงได้มีแนวคิดในการศึกษาว่า หากสุดท้ายแล้ว ระบบนี้ขึ้นอยู่กับ “ความไว้วางใจ” ที่มีต่อธนาคารกลาง ว่าจะเป็นพี่ใหญ่ที่เข้ามาช่วยเหลือธนาคารต่าง ๆ ถ้าเช่นนั้นเราเอาเงินไปฝากไว้กับพี่ใหญ่โดยตรงเลยจะดีกว่าไหม โดยในระบบนี้ธนาคารพาณิชย์ทั้งหลายก็ใช่ว่าจะหายไปหมด เพียงแต่อาจเปลี่ยนบทบาทไปทำหน้าที่คล้ายกับบริษัทไฟแนนซ์มากขึ้น คือไม่ได้ระดมทุนจากการรับฝากเงิน แต่ต้องกู้ในตลาดเงินแทน ต้นทุนการเงินก็อาจจะสูงขึ้น แต่ก็สะท้อนความเสี่ยงที่แท้จริงที่มากขึ้น

เชื่อพี่ใหญ่เราได้แค่ไหน

พ่อไม่แปลกใจเลย ที่ในสมัยของพ่อ ไอเดียทะลุซอยเช่นนี้จะถูกถกเถียงกันอย่างรุนแรงว่า ในความเป็นจริงคงทำได้ยาก และมีปัญหาหลายประการตามมา ประเด็นทางเทคนิคยังมีอีกมากมาย เช่น ธนาคารกลางจะมีความสามารถในการตรวจดู และรู้จักลูกค้าเงินฝาก (KYC) อย่างที่ธนาคารพาณิชย์ทำได้อย่างไร

แต่ประเด็นทางนโยบายที่น่าสนใจที่สุด คือสมมุติว่าทางเทคนิคเราทำได้จริง คงต้องถามตัวเองว่า เราไว้วางใจ “พี่ใหญ่” ของเราแค่ไหน ? ขนาดที่จะ “ติดปีก” เพิ่มอำนาจให้ธนาคารกลาง สามารถมองเห็นการไหลเวียนของ “เงิน” ทุกเม็ดของทุกคนแบบ real time และสามารถปรับอัตราดอกเบี้ยที่กระทบเฉพาะผู้ฝากเงินบางกลุ่ม หรือลดอัตราดอกเบี้ยจนติดลบ แบบที่หลายแบงก์ชาติของประเทศพัฒนาแล้วพยายามทำ (ยากสำหรับเงินกระดาษ ง่ายสำหรับเงินดิจิทัล) และหากแบงก์ชาติมีอำนาจล้นพ้นเช่นนั้นจริง อำนาจทางการเมืองจะยิ่งเข้ามาแทรกแซงหรือไม่ ?

พ่อไม่รู้ว่าอนาคตการเงินยุคดิจิทัลจะเป็นอย่างไร แต่พ่อคิดว่าทุกประเทศคงมีคำตอบสำหรับคำถามเหล่านี้ที่ต่างกัน ไม่มี one size fits all แต่อย่างน้อยที่พ่อพอจะเห็นเกิดขึ้นได้ก่อนยุคของลูกก็คือ การที่แบงก์ชาติต่าง ๆ จะใช้เทคโนโลยี DLT มาเสริมเงิน ที่ปัจจุบันเป็นดิจิทัลอยู่แล้ว เพื่อทำให้การชำระเงินระหว่างสถาบันการเงินมีประสิทธิภาพและปลอดภัยมากขึ้น

แล้วตกลงว่าในยุคของลูกจะเป็นอย่างไร ลูกยังจะรู้จัก “ธนาคารกลาง” กับ “ธนาคารพาณิชย์” อยู่ไหม ?


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : จดหมายแห่งอนาคต ธนาคารพาณิชย์ ยังจำเป็นอยู่หรือไม่ เงิน Cryptocurrency

view